Skip to main content
อิมรอน  โสะสัน  
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ดร.ตอริก รอมฎอน ศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้เดินทางไปยังประเทศศรีลังกาเพื่อบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “พหุนิยม และ ความท้าทายร่วมสมัย” (Pluralism and its Contemporary Challenges) (ผู้อ่านสามารถรับฟังฉบับเต็มได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=hBE-zIUWzcE) จัดโดย ศูนย์บาเกียร์ มาร์การ์ เพื่อความเอกภาพของชาติ (Bakeer Markar Centre for National Unity -BMCNU) ซึ่งประเด็นสำคัญที่ ศ.ดร.ตอริก รอมฎอน ได้กล่าวเน้นคือ “ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับชุมชนหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันแต่ละชุมชนก็มีความรู้สึกปลอดภัยที่จะธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนเอาไว้”

ท่านกล่าวว่า....เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของ “ชนกลุ่มน้อย” (Minorities) เรามักได้ยินคำถามที่เกี่ยวข้องกับ “นโยบายกลืนกลาย” (Assimilating) และ “นโยบายผสมผสาน” (Integrating) ที่นำมาใช้เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยสามารถปรับตัวและอาศัยอยู่ร่วมกันกับชนกลุ่มใหญ่ได้นั้นเริ่มถูกตั้งคำถามว่า นโยบายเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงใดที่จะนำมาใช้สำหรับโลกยุคปัจจุบัน

ศ.ดร. ตอริก รอมฎอน สะท้อนว่า...กรณีประเทศศรีลังกา นโยบายผสมผสานยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? ชาวศรีลังกาในปัจจุบันต้องผสมผสานกับใคร? เพราะชาวศรีลังกาไม่ได้เป็นผู้อพยพมาใหม่ (Migrants) พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้มานานแล้ว เราต้องแยกแยะให้ออกว่า ระหว่างคนพื้นเมืองเดิม (Indigenous people) ที่อยู่มานานกับคนอพยพเข้ามาใหม่นั้นมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราต้องตั้งคำถามเรื่องนี้ให้ถูกว่า มันเกี่ยวกับเวลาและคำถามทางด้านประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเข้าใจถึง นโยบายที่เรียกว่า “พหุนิยม” (Pluralism) เพราะ “มันคือความเป็นจริงของสังคม” (pluralism is a fact) เราต้องยอมรับว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของสังคม (We live in pluralistic societies) หมายถึงว่า เราอาศัยร่วมกับคนอื่นๆที่มีประวัติศาสตร์ มีพื้นเพ ความทรงจำและศาสนาที่ต่างกัน ความแตกต่างเหล่านี้แหละที่กำลังปรับโฉมหน้าของประเทศต่างๆ เราควรที่จะเข้าใจว่าถึงเวลาแล้วที่ความหลากหลายจะร่วมกันการเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อกำหนดอนาคตและความหวังของชาติร่วมกันเสียที

ด้วยเหตุนี้ การเปิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของความแตกต่างหลากหลายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างนโยบายพหุนิยมในความเป็นจริง

คำถามที่สำคัญของความเป็นพหุนิยมมีอยู่ว่า เรารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน? และ เราหวาดกลัวอะไรบ้างถ้าเราไม่สามารถบอกได้ว่าเราคือใคร?

เราสามารถนิยามได้หรือไม่ว่า สิ่งแรกที่เราคิดคือ เราคือใครกันแน่?  (Who we are first) และใครคือคนแรกที่เราจะจงรักภักดี? (To whom are we loyal to first?) ด้วยเหตุนี้ เราควรที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่เรายึดมั่น เราต้องใช้ความเป็นพหุลักษณ์ที่เรามีในการต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม สมมุติว่า ท่านเป็นคนศรีลังกาคนหนึ่ง และท่านก็มองเห็นว่า รัฐบาลของท่านกำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านจำเป็นที่จะต้องใช้อัตลักษณ์ของท่านในฐานะพลเมืองศรีลังกาเพื่อการเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น หรือ สมมุติว่า ท่านเป็นมุสลิม ถ้าท่านเห็นว่าสังคมมุสลิมของท่านกำลังทำในสิ่งที่อยุติธรรมท่านก็จำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน หลักการนี้ สามารถปรับใช้ได้กับทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือชาวฮินดูก็ตาม ซึ่งมันหมายถึงสิ่งที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงของค่านิยมสากล (Universal values)    ให้เกิดขึ้น หมายถึง ค่านิยมสากลที่ทุกศาสนา ทุกความเชื่อให้การยอมรับว่าสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ เช่น ค่านิยมในการให้เกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม และอิสรภาพที่มีขอบเขต มนุษย์ทุกคนย่อมมีค่านิยมสากลร่วมกันได้ ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาและความเชื่อต่างกันก็ตาม

“พหุนิยมอยู่ในตัวของทุกคน” เราควรต้องศึกษาเรียนรู้และให้การยอมรับพหุนิยมผ่านมิติต่างๆที่หลากหลาย อันที่จริงแล้ว ความหลากหลายของอัตลักษณ์ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน

ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ประเด็นด้านจริธรรมและคุณธรรมที่มีต่อการอยู่ร่วมกันของคนต่างความเชื่อ ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรมกำลังได้รับความสนใจหยิบยกมาพูดคุย ถกเถียงในทางวิชาการอย่างเอาจริงเอาจังในหลายสังคม รวมทั้งประเทศศรีลังกาด้วยเช่นกัน

“การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายพหุนิยม จำเป็นต้องอาศัยความคิด การวิเคราะห์อย่างถึงแก่น มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาลอยๆอย่างมหัศจรรย์” เราต้องเข้าใจว่า เรากำลังค้นหาอะไรและมันมีความหมายอย่างไรต่อประเทศของเรา สิ่งเหล่านี้อาจมีความขัดแย้งในตัวของมันได้เช่นกัน เพราะมันเป็นมุมมองต่อการมองอนาคตของประเทศ ทุกคนย่อมมีข้อจำกัดต่อการเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง แน่นอนที่สุดทุกปัญหาในสังคม ในประเทศของเราย่อมมีทางออกเสมอ เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับกับมุมมองที่หลากหลายในการตีความ “ความเป็นอัตลักษณ์ของคนในชาติ” เพราะการตีความก็มีความหลากหลายในตัวของมันเอง...นั่นคือที่มาของแนวคิดการกำหนดนโยบายพหุนิยม

....ประเทศศรีลังกาผ่านช่วงเวลาที่ยุ่งยากและลำบากมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจต่อประชาชนที่อาศัยในประเทศนี้ด้วยเมตตาธรรม และเรียนรู้ที่จะอภัยให้แก่กันและกัน เพราะหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้คือต้องแก้ไขด้วยความยุติธรรม และเคารพต่อผู้ที่มีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ผ่านการอภัยและสุดท้ายประเทศก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีความหวัง........ศ.ดร.ตอริก รอมฎอน กล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเหตุ บทความนี้ตีพิพม์ครั้งแรกในหนังสือกัมไปไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2558