บันทึกโดย อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ
4 กุมภาพันธ์ 2559
เหตุปะทะและผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน คือ นายสุไฮมี เซ็น นายซัดดัม วานุ นายคอลิด สาแม็ง (นักศึกษา) และนายมะดารี แมเราะ (นักศึกษา) บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 25 มีนาคม 2558 ใกล้จะครบรอบ 1 ปี แล้ว หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่สำหรับครอบครัวและญาติพี่น้องของพวกเขายังไม่ลืมและกำลังพยายามไขว่คว้าหาความยุติธรรมโดยการข้าร่วมในการพิจารณาคดีการไต่สวนการตาย เพราะเป็นเหตุวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเริ่มมาครั้งที่ 1 เมื่อ12 ตุลาคม และ 9 พฤศจิกายน 2558
เมื่อวันที่ 2 และ 3 ก.พ. 2559 ได้มีการไต่สวนเจ้าหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการไต่สวนพยานของญาติผู้เสียชีวิต ในวันที่ 3 ก.พ. 2559 ข้าพเจ้าได้เข้าไปร่วมรับฟังที่ศาลปัตตานีก็เกิดความไม่เข้าใจหลายประการถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการไต่สวนการตาย การดำเนินการของพนักงานของรัฐ และที่สำคัญคือการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ตาย เพราะอะไรที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ เพราะทุกฝ่ายผลักภาระของการให้ความเป็นธรรมกับผู้ตายเป็นภาระของญาติผู้ตาย โดยมีการย้ำตลอดเวลาว่าการไต่สวนการตายคือการพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย ตายเพราะอะไร และย้ำว่าการกล่าวหาผู้กระทำให้ตายเป็นคดีหลักค่อยว่ากันในคดีหลัก ซึ่งไม่เคยปรากฏที่อัยการจะดำเนินการฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหามีแต่ญาติผู้เสียชีวิตจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดเอง หากมองถึงคดีในจังหวัดชายแดนใต้แทบจะไม่มีเลย อาจเป็นเพราะผู้เสียชีวิตจากการปะทะคือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และทางครอบครัวส่วนใหญ่ก็คิดว่า ไม่สามารถสู้กับอำนาจรัฐได้ ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ไม่รู้ภาษาไทย และในเหตุการณ์ปะทะส่วนใหญ่ก็มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว จึงทำให้ไม่มีกำลังใจและพลังที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่
นับว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่ครอบครัวทั้ง 4 ได้ร่วมกันต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้รับรู้ว่าลูกๆของพวกเขาไม่มีอาวุธและถูกกระทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และที่สำคัญลูกๆของพวกเขาจะได้ไม่ถูกตีตราโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ มีผู้คนสนใจไปเยี่ยม ให้กำลังใจ และทำข่าวพวกเขาเยอะมาก แต่ในเวลาไม่นาน ข่าวคราวของพวกเขาก็เลือนหายไปกับกาลเวลา แม้แต่เวลาที่พวกเขาต้องการกำลังใจมากที่สุดคือการเข้าร่วมไต่สวนการตายที่ศาลปัตตานีมีเพียง ทนายความและน้องๆจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายความและน้องๆจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นักศึกษา1 คนจากทางภาคเหนือ นักข่าว BBC นักข่าวจาก DSJ และครอบครัวของพวกเขา ในแต่ละครั้งในห้องพิจารณาคดี เราต้องนั่งเงียบเก็บอาการ เก็บความรู้สึกไม่อย่างนั้นจะถูกไล่ออกจากห้อง เราทุกคนต่างได้แต่ส่งยิ้ม และสื่อกำลังใจให้กันในห้องที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ
เจ้าหน้าที่ที่ถูกร้อง มาด้วยข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน คำพูดที่ว่า ไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น ยิงเพราะเขายิงก่อน ตำแหน่งที่ยิง เวลาที่ยิง บลาๆๆๆๆ ในทางกลับกันชาวบ้านก็ให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ยิงก่อนถึงลำธาร เสียงปืนนัดแรกมาจากด้านหลัง ชาวบ้านไม่มีอาวุธ และอื่นๆอีกมากมาย เราจะเชื่อใครดี
เวลาที่เจ้าหน้าที่ให้การ ชาวบ้านได้แต่พูดคำว่า บาหง บาหง ที่แปลว่าโกหก และมีสีหน้าเจ็บปวดรวดร้าว เมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าเขายิงคนนั้นคนนี้ ซึ่งเป็นลูกๆของพวกเขา มามาแม่ของคอลิด ตกบันไดจนกระดูกร้าวทั้งสองข้างจนไม่สามารถเดินได้ แต่เธอก็นั่งรถเข็นมาที่ศาลเพื่อมาเป็นพยานในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกของเธอ อาเยาะของซัดดัม พ่อแม่ของสุไฮมี พ่อแม่ของมะดารี มาทุกครั้งที่มีศาล
ชาวบ้านคนหนึ่งที่เล่าว่า พวกเด็กๆวิ่งมาจนใกล้ถึงบริเวณลำธาร และเลี้ยวมาทางที่เขายืนอยู่ แล้วเขาก็เห็นคนใส่ชุดดำ ใส่ไอ้โม่งที่วิ่งตามมายิงใส่พวกเด็กๆ เขาใช้คำว่าไอ้วิญญาณร้ายมาถึงก็ยิงๆๆๆๆๆและทำท่าประกอบ
ข้าพเจ้าเชื่อในกฎหมาย ในกระบวนการยุติธรรม แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อในอุดมการณ์ เจตนา บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่โหยหาความยุติธรรมในแดนดินมลายู ดินแดนที่เรียกขานว่าฟาตอนี ที่ยึดมั่นและเรียกร้องสันติวิธี และสันติภาพ ได้ร่วมกันเป็นพยานและร่วมเดินทางในการแสวงหาความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องเดินทางอย่างเดียวดายอีกเลย