Skip to main content

Abdulloh Wanahmad ; Awan Book

ดูเหมือนว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี อาจต้องลุ้นกันอีกหลายเหือดใจ ด้วยอุณหภูมิของการเมืองภายในของไทยเอง ที่ยังอยู่ในห้วงยุคถอยหลังเข้าคลองอยู่ทุกระเบียบนิ้ว ถึงแม้การแก้ปัญหาเฉพาะกาลของระบบการเมืองไทย จะยุติด้วยการทำรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นวัฏจักรแห่งการเมืองไทย ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปเสียแล้ว

ภายหลังการเข้ามากุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหาร ภายใต้การกุมบังเหียนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สถาปนาตัวเองจากผู้บัญชาการทหารบกสู่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช) ซึ่งต่อมาได้แปรสภาพเป็นนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย ที่ค่อนข้างดุดันในบุคลิกและความเด็ดเดี่ยวในการปล่อยหมัด ทำให้หลายฝ่ายต่างคดงอราวไส้เดือนที่โดนแดด

http://img.tnews.co.th/tnews_1434512835_2806.jpg

ปัญหาภาคใต้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมิสิ้นสุด นับตั้งแต่การปะทุขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธเป็นเครื่องต่อรอง ในการเรียกร้องความสนใจจากสังคมทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งเมื่อมีการเปิดเผยท่าทีของรัฐไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีความเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้คร่าชีวิตของผู้คนทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปแล้วนับพันชีวิต ด้วยการสมยอมอย่างมิใยดีในการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มที่ต่อสู้ที่มีอุดมการณ์เพื่อเอกราชปาตานี ตามที่สังคมได้รับรู้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการมาตลอดต่อเนื่องอย่างปิดลับ ซึ่งไม่ง่ายนักที่สังคมภายนอกและคนในพื้นที่เองจะสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ นอกจากการติดตามอ่านจากบทวิเคราะห์จากทางหน้าหนังสือพิมพ์ จะด้วยเหตุบังเอิญหรือจงใจติดตามข่าวสารก็แล้วแต่

อย่างที่เราได้ทราบอย่างทั่วกันว่า การเจรจาสันติภาพปาตานีที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการนั้น ได้ปรากฏขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องประสบกับอุปสรรคมากมายนานาประการ ทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่พยายามจ้องล้มทุกย่างก้าวแม้กระทั่งประเด็นความมั่นคงทางภาคใต้ ต่างออกมาคัดค้านแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ไปในทางที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการตัดสินใจของรัฐบาล ในการยอมรับคู่ต่อสู้ที่ได้ก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ ซึ่งมันไม่คู่ควรอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลไทย ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าไม้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร

และที่สำคัญกลุ่มที่ฝ่ายเป็นฝ่ายหลักก็คือกลุ่มสายทหาร ที่มีบทบาทโดยตรงในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางอาวุธ ที่กำลังต่อกรกับรัฐไทย โดยการหมุนลิ่วล้อการต่อสู้ในรูปแบบสงครามจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร ที่พร่ำออกมาขัดขวางกระบวนการสันติภาพปาตานีอยู่เนืองนิจ

ซึ่งโดยสัญชาติญาณของทหารแล้ว ผู้ที่ถูกปลูกฝังด้วยอุดมการณ์แห่งการรักชาติห่วงแหนแผ่นดินเกิดสุดชีวิต ที่ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและวิญญาณก็ยอม และโดยหลักการแล้วหากการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มที่พยายามบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ ด้วยการก่อการปฏิวัตรโดยประชาชนเพื่อประชาชนชาวปาตานีทั้งมวล ตามแผนการเรียกร้องของกลุ่มขบวนการ ที่จะนำไปสู่การเสียดินแดนของประเทศ ถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงของทหาร นั่นคือปัจจัยที่ทำให้ทหารมิค่อยเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ ในเมื่อโดยรวมของกระบวนการสันติภาพที่วางอยู่บนหลักการพื้นฐานของกฏหมายมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลก  ล้วนจะลงเอยด้วยการประนีประนอมและสุดท้ายหยุดตรงที่การส่งมอบอำนาจและอธิปไตยแก่ผู้ครอบครองอันเป็นเจ้าของดินแดนเดิม อันเป็นการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างถาวร

ด้วยเหตุผลดังกล่าวฝ่ายผู้กุมอำนาจอย่างทหารค่อนข้างมีความหวาดระแวงต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ ที่อยู่ในความสนใจของประชาคมทั้งในส่วนภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก กลัวจะเสียจังหวะเดินของหมากรุก เพราะการเสียจังหวะในแต่ละช่วงสมัยบางครั้งมันอาจหมายถึงการเสียกลเกมส์ทางการเมือง อันเป็นความจริงของระบบยุติธรรมสากล ที่สามารถที่จะเข้ามาทำหน้าที่เคลียร์ปัญหาแทนได้อย่างเต็มอานุภาพและประสิทธิภาพ ในฐานะคนกลาง

แต่นั่นใช่ว่าฝ่ายทหารจะไม่เอาด้วยและปฏิเสธกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างปิดหูปิดตา แต่ด้วยเป็นฝ่ายที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบและความมั่นคงของชาติ จะต้องมีความละเอียดถี่ยิบในการอ่านเกมและเดินหน้าในการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยอันเป็นวิธีที่สันติที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมืองในระยะยาวสืบไป

เหนือสิ่งอื่นใดเพื่อมิให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิม จะไม่ต้องเสียชีวิตและเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ สังคมก็ต้องติดตามและให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งเป็นรัฐบาลทหารสังคมยิ่งให้ความสนใจเข้าไปอีก ในฐานะเป็นตัวแปรสำคัญและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพปาตานี ที่จะเปิดไฟเขียวหรือหยุดระหว่างทาง

เมื่อการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ โดยพลการ ทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านั้น พลอยสะดุดลงไปด้วย ทำให้สิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้าได้ริเริ่มพยายามอย่างแข่งขัน ต้องจบลงอย่างมิมีท่า ซึ่งสาเหตุมาจากการเมืองภายในของไทยเอง

ถึงแม้ก่อนหน้าหรือระหว่างนั้น จะมีคลิปวิดีโอตอบโต้จากกลุ่มที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มของขบวนการต่อสู้ทั้งหมด จะออกมาแถลงอยู่เป็นช่วงๆ ตามระยะเวลาอันเหมาะสม ทำให้ทางฝ่ายไทยต่างคาดการณ์มิถูก ถึงความเป็นไปได้ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี ที่จะดำเนินการต่อไปหรือหยุดชะงักลงอยู่เช่นนั้น

ยิ่งเมื่อทางฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานียังย้ำข้อรียกร้องห้าข้ออยู่เช่นเดิม เพื่อปูทางให้กระบวนการสันติภาพได้เดินหน้าต่อไป ทำให้เป็นเรื่องลำบากใจต่อฝ่ายไทยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างฝ่ายต่างรักษาท่าทีไว้อย่างคงมั่นได้อย่างแนบแน่น

หากจะว่าไปแล้วฝ่ายขบวนการเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเหนือรัฐไทย ในแง่ของการเข้าร่วมโต๊ะเจรจาในครั้งนั้น ที่มีเพียงฝ่ายรัฐไทยเท่านั้น ที่พยายามบีบเร่งเพื่อให้เกิดเวทีการพูดคุยเพื่อให้ปรากฏต่อสาธารณะ การที่ฝ่ายขบวนการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวในช่วงที่เขายังไม่พร้อม(ไม่อยากจะคุย) ถือเป็นไม้เด็ดในการขับเคลื่อนวงล้อการต่อสู้ในระยะยาว ซึ่งวันเวลาเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างเป็นรูปธรรมและตรงจุด

เมื่อทหารเข้ามามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกอย่างน่าจะราบรื่น(ในแง่การคัดค้าน) เพราะไม่มีฝ่ายที่กล้าออกมาขัดขวางอย่างที่รัฐบาลพลเรือนเคยประสบ และคงจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งของรัฐบาลไทยในยุคที่ทหารครองเมืองว่าจะไปได้สักกี่น้ำ ในการบังคับทิศทางเรือแห่งสันติภาพ เพื่อให้มุ่งสู่ข้างหน้าได้อย่างราบรื่นปราศจากอุปสรรคที่คอยมารังควานระหว่างทางท่ามกลางมหาสมุทรของความขัดแย้งที่นับวันยังคงโฉบชีวิตของเหล่าทหาร ตำรวจ และข้าราชการชั้นผู้น้อยเกือบทุกวัน

หากการดำเนินการของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนเป็นสันติสุขก็ตาม ได้วางอยู่บนหลักการที่เที่ยงแท้และบริสุทธิ์ คงไม่เหลื่อบ่ากว่าแรงของกองทัพไทยที่จะนำสันติสุข สันติภาพ และภราดรภาพกลับสู่ผืนดินปาตานีได้อย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ ; บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.pataniforum.com/single.php?id=473