Skip to main content

อิมรอน  โสะสัน 

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ดร.ตอริก อัสสุวัยดาน นักคิด นักเขียนมุสลิมคนสำคัญด้านการจัดการและภาวะผู้นำจากประเทศคูเวต  ได้บรรยาย เรื่อง "ความท้าทายของภาวะผู้นำสำหรับสหัสวรรษ" เอาไว้น่าสนใจหลายเรื่อง ท่านได้กล่าวถึง 5 ปัญหาหลักที่กำลังท้าทายประชาชาติมุสลิมในปัจจุบันได้แก่  (1) พฤติกรรมของมุสลิมที่ไม่ได้ยึดถือตามแบบอย่างคำสอนของอิสลาม  (2) สภาวะไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน (3) สภาวะล้าหลัง (4) ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดการมองโลก และ (5) ขาดภาวะผู้นำ ซึ่งทั้ง 5 ประการนี้ผมคิดว่า มีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำมาสำรวจและประเมินสังคมมุสลิมของพวกเราเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน อินชาอัลลอฮ์

อันที่จริง สังคมมุสลิมของเราในทุกระดับ ทุกประเทศอาจกำลังประสบกับปัญหาที่เหมือนกันและต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยภายในสังคม เช่น วิธีคิด วิธีปรับตัว การปฏิสัมพันธ์ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอก ฯลฯ และปัจจัยภายนอก เช่น การถูกกล่าวหาว่าเป็นแบบนั้น แบบนี้ และอ่อนแอด้านนั้น ด้านนี้ อาทิ ความยากจน ปัญหาสุขภาวะ ความไร้ระเบียบ ไม่พัฒนา ไม่มีอารยะ และความรุนแรงที่เป็นภาพติดกับความเป็นมุสลิม เป็นต้น

ผมเข้าใจว่าปัญหาต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของสังคมมุสลิมหรือบางทีสังคมอื่นๆก็สามารถมองมาที่สังคมมุสลิมได้ โดยผ่านสื่อ ผ่านเรื่องเล่า อื่นๆ  แต่...ความท้าทายที่ผมให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านั้นคือ...เรา (มุสลิม) จะตอบสนองกับสิ่งเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

แน่นอน...เราสามารถที่จะหาเครื่องมือ หาเหตุผลที่จะรับมือต่อปัญหา หรือถ้าจะให้ง่ายขึ้นมาก คือ เราก็จะบอกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดมันไม่จริง ไม่มีมูล และก็ไม่จำเป็นที่จะไปแก้ไขมัน เพราะเราถูกใส่ร้าย ป้ายสี ถูกกล่าวหา หรือเราถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมฯ

เหตุผลนี้ (อาจจะ) เป็นจริง ที่เรามักจะบอกว่ากับตัวเราเองว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด ที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องคิดอะไรให้มันยุ่งยากเลย อยู่แบบนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว (คงมีแนวคิดแบบนี้อยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่นอน...และที่สำคัญเราต้องเคารพแนวคิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน)

ไม่ว่าเราจะตอบสนองต่อปัญหาแบบใด สิ่งที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราตัดสินใจในการตอบสนองต่อปัญหานั้นไปแล้ว และเราเองก็ต้องรับผลที่จะตามมาด้วย

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา (ในทัศนะของผมที่มีความรู้ ความเข้าใจจำกัด) สังคมมุสลิมของเราไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และระหว่างประเทศ ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราเองก็ได้ทุ่มเททรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ในการบริหาร จัดการ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน อาทิ ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเน่า การศึกษา โรคภัย ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ความยากจน การอพยพย้ายถิ่น และ อื่นๆ ผมเชื่อว่า สังคมมุสลิมมีประสบการณ์ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยในการรับมือ แก้ไข เผชิญกับประเด็นปัญหาที่กล่าวมา  แล้วอะไรเล่าที่คิดว่าจะเป็นความท้าทายของสังคมมุสลิมของเรา ก็ในเมื่อเราก็ทำดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ?

ผมอยากจะแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านว่า ปัญหาต่างๆเริ่มมีความซับซ้อน (complex) มากขึ้น มีความเกี่ยวโยงใกล้ชิด (relevant) กับตัวเรามากขึ้น บางทีปัญหาหนึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา ยกตัวอย่าง ปัญหาความยากจน อาจส่งผลต่อปัญหาขาดการศึกษา ภาวะไม่มีงานทำ ซึ่งส่งผลต่อปัญหาการจัดการชุมชนในมิติอื่นๆอีกมากมาก เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ สำรวจประสบการณ์ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญและความพร้อมของเครื่องมือที่เรามีต่อการรับมือกับปัญหาอีกครั้งอย่างระมัดระวังและใส่ใจ

ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ ถ้าสังคมของเรามีองค์กรหรือหน่วยงานที่เขาทำเรื่อง “การแก้ไขปัญหาความยากจน” หรือ “ส่งเสริมด้านสุขภาวะ” อย่างมีประสิทธิภาพและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว สังคมควรจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยทรัพยากรและความสามารถที่มี หรือองค์กรใดที่เขาจัด “ระบบเด็กกำพร้า” ได้ดีอยู่แล้ว สังคมก็ควรที่จะเข้าไปช่วย สนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองในวงกว้างมากขึ้น

แน่นอน องค์กรต่างๆย่อมมีข้อดี ข้อเสีย แต่สังคมควรจะเข้าไปสนับสนุนให้องค์กรเหล่านั้นสามารถทำงานเพื่อตอบสนองต่อประเด็นที่พวกเขาสนใจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ในมุมกลับกัน องค์กร หรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็น เพื่อการพัฒนา ปรับปรุง และสามารถตรวจสอบการทำงานขององค์กรจากสังคมได้อย่างเปิดเผย

ต้องไม่ลืมว่า ทุกองค์กร สถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานรับใช้ประชาชาติ (อุมมะฮ์) ต้องยอมรับกระบวนการตรวจสอบอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพราะการทำงานที่มีความโปร่งใส (transparency) มีความรับผิดชอบ (responsibility) และมีสามัญสำนักในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด (accountability ) ถือเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกปัจเจก องค์กร สถาบัน ที่ขันอาสาเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ส่วนรวม (Public service) จำเป็นต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้อย่างถึงที่สุด

  ถ้าเราสามารถที่จะจัดระบบ ระเบียบ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญขององค์กร หน่วยงาน สถาบันต่างๆที่เรามีในสังคมได้ เราจะรู้ว่า ขณะนี้ สังคมมีทรัพยากรอะไรบ้าง เครื่องมือที่มีอยู่แล้วสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเพียงใด และจะต้องสร้างองค์กร สร้างความเชี่ยวชาญ หรือสร้างเครื่องมืออะไรเพิ่มเติม เพื่อรับมือต่อปัญหา ความท้าทายที่ยังไม่ได้รับการจัดการและแก้ไขอย่างทันท่วงที

เท่าที่ผ่านมา...เราอาจจะคิดว่า เราอยากจะทำอะไร สนใจประเด็นปัญหาใดไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆราวกับว่าแต่ละส่วนไม่มีความเกี่ยวพันกัน  ในความเป็นจริง เมื่อมองในภาพกว้างระดับอุมมะฮ์ของเรา ย่อมส่งผลทำให้คนอื่นสามารถเห็นถึงปัญหา จุดอ่อนที่ยังเกาะติดกับสังคมของเรา จนเข้าใจและสรุปว่า “เราไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ทั้งๆที่เราอาจจะทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์ แรงคิด แรงกาย แรงใจอย่างมากมายไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกๆองค์กร ชุมชน สังคม กำลังเผชิญอยู่”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสำรวจตัวเอง สำรวจความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ประสบการณ์ ทรัพยากรของสังคม เพื่อแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบอย่างชัดเจนให้มากขึ้น  ใคร องค์กรใด หน่วยงาน หรือสถาบันใดจะเป็นผู้นำขบวน และผู้สนับสนุนด้านใดกันบ้าง คงหมดเวลาเสียทีที่จะคิดว่า เราอยากจะทำอะไรก็ได้หรือไปขัดกับใครก็ไม่สน

 เราอาจจะไม่ได้คิดวิเคราะห์ดีพอว่า องค์กรของเรามีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ การยอมรับทางสังคม มีทรัพยากรอะไร มีความถนัดเรื่องใด ที่สามารถเป็นผู้นำองค์กรอื่นๆได้

สังคมเอง...จะต้องสนับสนุนให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่เป็นผู้รอดู หรือรอรับประโยชน์เท่านั้น แต่ต้องเข้าไปมีส่วนให้ข้อคิดเห็น และข้อทักท้วงที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรเหล่านั้นด้วย สิ่งนี้จะทำให้เราเห็นถึง “พลังของเครือข่ายประชาชาติ”  (Power of the Ummah) ได้ชัดขึ้น (ซึ่งผมยังมีความหวังกับเรื่องนี้อยู่ครับ)

 ข้อระวังคือ.....บุคคล องค์กร หรือ สถาบันที่ได้รับการยอมรับให้เป็นองค์กรนำในด้านต่างๆจะต้องเปิดใจให้กว้าง รู้สึกถ่อมตน เข้าใจในข้อจำกัดที่มี  และต้องไม่คิดว่า ต้องเป็นฉัน องค์กรฉันเท่านั้นที่จะทำเรื่องนี้คนเดียว ฉันดีที่สุด เก่งที่สุด คนอื่น องค์กรอื่นไม่เกี่ยว อย่ามายุ่งกับฉันนะ...

 ถ้าคิดได้เพียงแค่นี้...พลังในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (reform) ในสังคมของเรา คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะปัญหามันไม่ได้หยุดรอเราให้แก้ไข แต่มันพัฒนาไปเรื่อยๆจนซับซ้อนขึ้นทุกวัน

ท้ายที่สุด.... เราก็อาจจะสาละวนกับปัญหาทั้ง 5 ประการ ที่ ดร.ตอริก อัสสุวัยดาน ได้กล่าวไว้ข้างต้น (หรือมากกว่านั้น ) อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่เราจะยอมรับมันหรือไม่ อย่างไร ก็เท่านั้น

(วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะห์กัม)