Febuary , 14 2016
ครอบครัวเจ้าของย้ายออกไปอยู่มัสยิดพร้อมตัดสินใจไม่อุทธรณ์
"เราโดนมามากแล้ว อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบคนปกติเสียที”
วันนี้ 14 ก.พ. ครอบครัวแวมะนอเก็บข้าวของทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านที่ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ. ปัตตานี มีชาวบ้านที่อยู่รอบๆไปช่วยพวกเขาเพื่อจะย้ายออกจากบ้านซึ่งก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนปอเนาะด้วย พวกเขาต้องออกจากที่ดินผืนนี้หลังจากที่แพ้คดีในศาล ถูกคำสั่งให้ยึดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 ว่าด้วยการยึดทรัพย์ที่ถูกใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้ายด้วยการเป็นที่ฝึกอาวุธของผู้ก่อเหตุ
“ผมเคารพการตัดสินใจของศาล” บันยาล ลูกชายของดอเลาะ แวมะนอบอก ส่วนเรื่องที่ว่าคนที่มีหมายจับและเป็นต้นตอของการยึดทรัพย์หนนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินหรือเป็นเจ้าของโรงเรียนนั้น เขาเชื่อว่าศาลรู้แล้ว “ครอบครัวก็ไม่ทราบว่าพ่อไปทำอะไร แต่เรื่องที่ดินผมก็ชี้แจงไปแล้วว่ามันเป็นของคนอื่น แต่ศาลคงคิดว่ามีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เมื่อศาลตัดสินผมก็ยอมรับ ผมบอกแต่แรกแล้วว่า เมื่อเราสู้คดี ไม่ว่าแพ้หรือชนะเราก็จะยอมรับคำตัดสิน”
“โรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา” ชื่อที่เคยมีสื่อรายงานว่าเป็นตัวปัญหาตั้งแต่แรก เพราะทำให้คนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ไว้ใจ แม้มุสลิมทั่วไปจะบอกว่าคำว่า “ญีฮาด” เป็นเรื่องของการต่อสู้กับตัวเองและเป็นการพยายามมุ่งมั่นทำความดีก็ตาม แต่ 11 ปีที่โรงเรียนเจอคดียึดทรัพย์อันเนื่องมาจากคดีที่เกี่ยวพันไปถึงครูใหญ่ของโรงเรียนคือ นายดอเลาะ ทำให้คนในครอบครัวต่างถูกเพ่งเล็งจนอยู่ไม่เป็นสุข สมาชิกบางคนถูกยิงเสียชีวิตยิ่งทำให้เส้นทาง 11 ปีเต็มไปด้วยปัญหา
จากคดีที่เริ่มต้นเมื่อปี 2548 ที่เชื่อมโยงมาจากการซัดทอดของบุคคลสองคนที่บอกเจ้าหน้าที่ว่า พวกเขาได้ฝึกอาวุธภายในบริเวณโรงเรียน คดีนี้มีกลุ่มบุคคล 36 คนถูกออกหมายจับในข้อหาก่อความไม่สงบ เป็นกบฎและอั้งยี่ ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่หลบหนี อีก 18 คนเข้ามอบตัวสู้คดีและได้รับการปล่อยตัวหมดเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่หลบหนีมีนายดอเลาะ ครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยารวมอยู่ด้วย นอกจากคดีอาญาแล้ว อีกด้านหนึ่ง ปปง.โดยมีอัยการเป็นตัวแทน ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่งร้องขอให้ยึดทรัพย์เพราะเห็นว่าเป็นการใช้ที่ดินไปสนับสนุนการก่อการร้าย หลักฐานสำคัญในคดีนี้คือคำให้การของผู้ต้องหาสองคนในคดีอาญาดังกล่าวที่ระบุว่าพวกตนเคยไปฝึกอาวุธในโรงเรียน ต่อมาศาลแพ่งตัดสินเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาให้ริบทรัพย์เป็นของแผ่นดินตามที่ปปง.ร้องขอ
“ที่ดิน 14 ไร่นี้เป็นของพี่น้องในตระกูลห้าคน” บันยาลกล่าว “เจ้าของที่ก็อยู่ในที่ต่างๆ กระจัดกระจายกันไปเพราะต่างก็มีครอบครัว มีแต่เราที่อยู่ที่นี่และสานต่อโรงเรียนปอเนาะ” แม่ของเขาเป็นหนึ่งในพี่น้องห้าคนนั้น แต่ส่วนพ่อเป็นลูกเขยที่แต่งเข้ามาในครอบครัว และได้รับหน้าที่ดูแลโรงเรียนเพราะในครอบครัวไม่มีผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ดอเลาะไม่ได้มีสิทธิในที่ดิน เขาทำหน้าที่ครูใหญ่ ความข้อนี้ทิ้งความคลางแคลงใจไว้กับครอบครัวและคนรอบข้างว่า ในเมื่อกฎหมายชี้ความผิดกับเจ้าตัว เหตุใดจึงยึดในสิ่งที่ไม่ใช่ของเขา
นอกจากที่ดินที่ไม่ใช่ของนายดอเลาะ ทรัพย์สินบนที่ดินคือโรงเรียน อาคารต่างๆรวมไปถึงสถานที่ละหมาดล้วนเป็นทรัพย์สินที่ทางครอบครัวถือว่าเป็นของส่วนรวม เนื่องจากชาวบ้านรอบข้างเข้าไปช่วยก่อสร้างและนำวัสดุสิ่งของไปช่วย “ตอนที่ครอบครัวมาทำปอเนาะ คนที่นี่ดีใจเพราะจะมีคนมาเผยแพร่ความรู้ ที่นี่ถือว่าเป็น “วะกัฟ” (ของสาธารณะ) ก็ว่าได้” บันยาลบอก มาตอนนี้เมื่อครอบครัวแพ้คดี พวกเขารู้ว่าต้องย้ายออกเพราะถ้าอยู่ต่อไป หากมีคนไปฟ้องร้องก็จะมีความผิด แม้ว่าหนทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการอุทธรณ์แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำ
“มีเจ้าหน้าที่หลายคนมาพูดคุยบอกให้เราอุทธรณ์ ครอบครัวก็รู้สึกแปลก ทำไมเจ้าหน้าที่มาบอกให้พวกเราอุทธรณ์ ในเมื่อพวกเขาเองเป็นคนฟ้องร้องเรา มันเหลือจะบรรยาย ตกลงเจ้าหน้าที่จะเอายังไงกับเรากันแน่” ครอบครัวประชุมกับชาวบ้านเพื่อหารือกัน บันยาลบอกว่า ทั้งชาวบ้านและศิษย์เก่าเสนอทางออกว่าจะหาที่อยู่ให้ใหม่ แต่ในระหว่างนี้พวกเขาจะไปอาศัยอยู่ในมัสยิดเป็นการชั่วคราว
“วันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาถาม พอเห็นเราจะย้ายไปอยู่มัสยิดก็บอกว่า ทำไมไม่ไปบอกทหารก่อน ผมก็บอกว่ามีชาวบ้านที่จะช่วยเราอยู่แล้ว ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผมบ้าง”
นอกจากพ่อที่หนีไป พี่ชายของบันยาลซึ่งเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศคืออินโดนีเซียถูกยิงเสียชีวิตขณะที่กลับมาเยี่ยมบ้าน กลายเป็นอีกคดีหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ที่ยังหาตัวผู้ลงมือไม่ได้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเคยเสนอให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวในกรณีนี้ แต่ครอบครัวแวมะนอปฏิเสธ โดยชี้แจงว่าสิ่งที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรกคือ หาตัวผู้ลงมือก่อเหตุให้ได้มากกว่า นอกจากนั้นก่อนที่จะมีการอายัดที่ดินของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถกะบะที่บันยาลซื้อมาได้สามเดือนไปโดยระบุว่าเป็นรถที่ใช้ในการก่อการร้าย จนบัดนี้เขายังไม่ได้คืน “ผมก็ไม่รู้จะไปฟ้องร้องใคร ไม่รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับใคร”
ด้วยเหตุดังนั้นครอบครัวจึงตัดสินใจว่าจะไม่อุทธรณ์ “ผมอยากให้คดีมันสิ้นสุด คือทนไม่ได้แล้วกับสิบเอ็ดปีที่เจอมา มีทั้งเจ้าหน้าที่มาล้อม ผมเองเคยโดนเชิญตัว พี่ชายโดนยิง ถ้าอุทธรณ์ก็คงจะไม่สิ้นสุด จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาเรื่อยๆ เราไม่อยากอยู่แบบนี้แล้ว อยากจะมีชีวิตปกติแบบชาวบ้านทั่วไปบ้าง”
.