Skip to main content

เมื่อภาคประชาชนชายแดนใต้ในนามเครือข่าย PERMATAMAS และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เดินทางบุกกรุงเทพ เพื่อแสดงเจตนารมย์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จึงเป็นที่มาขอยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ดังเนื้อหาสาระที่เข้มข้นอย่างยิ่งดังต่อไปนี้

 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

                                                                                                   เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ

                                                                                     16 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่อง ขอคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา

สืบเนื่องจากการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดย กฟผ.และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่กล่าวคือ

·       ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวท่าเรือและการใช้น้ำทะเลและปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล ส่งผลต่อทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง การดำรงชีวิตของปูปลากุ้งหอย ทำลายการประมงพื้นบ้าน ทำให้ป่าชายเลนผืนสำคัญเสื่อมโทรมลงไป รวมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อันจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

·       ด้านสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศจากฝุ่น โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มาก ทำให้จำนวนมลพิษสะสมในพื้นที่อย่างมาก

·       ด้านสังคม ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิดและกุโบร์(สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง

·       ด้านความมั่นคง โครงการดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในชุมชน จากการที่ กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพาและชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้

ในปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้กับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)แล้ว การศึกษาผลกระทบฯในรายงานของ กฟผ.นั้น ได้ใช้วิชามารในการจัดทำรายงานและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายและวิชาการ กล่าวคือ

  1. ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร จึงควรที่จะตีกลับทั้งหมด เพื่อให้ไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ให้ครอบคลุมรัศมี 100 กิโลเมตร
  2. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด

ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)  ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลจึงขอให้ทางท่านนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาสั่งการให้หยุดกระบวนการการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ฉ้อฉล ไม่มีหลักวิชาการ ไม่เป็นธรรมในทันที อย่าให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลายเป็นภัยแทรกซ้อนใหม่ที่จะทำให้สถานการณ์การสร้างสันติสุขในพื้นที่ต้องถอยหลัง ลำพังภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้สร้างความทุกข์ความลำบากให้กับประชาชนมากพอแล้ว ทำไมต้องเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มากมายด้วยมลพิษและการทำลายวิถีชุมชนมาซ้ำเติมคนพื้นที่อีก  อย่าให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องหมดศรัทธาในรัฐบาลและกองทัพ ซึ่งจะยากที่กู้กลับคืนมา

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

              ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

  (นายดิเรก เหมนคร)

      ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

                                                     ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)