มีคนเคยบอกกับผมว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยของเราคือ “การขาดความคิด ความริเริ่มใหม่ๆ หรือที่ศัพท์สมัยใหม่เขาเรียกว่า “นวัตกรรม” หรือ Innovation ในการจัดการ การบริหารและการพัฒนาสังคม” ซึ่งข้อสังเกตนี้เป็นประเด็นที่ผมสนใจอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
ในฐานะนักสังเกตการณ์สังคม ผมนั่งเฝ้ามอง ติดตามความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย โดยในที่นี้ผมของเน้นย้ำเฉพาะสังคมมุสลิมเป็นตัวอย่างในการเขียนถึง......
มีคำถามเกิดขึ้นในใจอยู่ข้อหนึ่งที่ผมเองก็ใช้ความพยายามที่จะหาคำตอบให้กับคำถามนี้....ประชาคมมุสลิมในยุคปัจจุบันมี ความคิดริเริ่มใหม่ๆ นวัตกรรม อะไรบ้างที่สังคมทั่วไปนำไปใช้..และพวกเขาก็อ้างอิงว่า สิ่งนี้แหละ ที่พวกเขาได้รับมาจากโลกมุสลิม?
ในอดีตมุสลิมได้สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม ความคิดริเริ่มใหม่ๆให้กับโลกอย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดระยะประวัติศาสตร์ของการสร้างอารยธรรมมนุษยชาติ..ข้อนี้ผมคิดว่าไม่มีใครเถียงและคัดค้าน...และยอมรับอย่างชัดเจนกับสิ่งที่โลกมุสลิมทิ้งมรดกต่างๆให้กับโลกได้คิด ได้ขยายความคิด ความริเริ่มต่างๆเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคแห่งดิจิตอลและโลกา ภิวัตน์
ก่อนที่ผมจะเขียนเลยเถิดมากกว่านี้ ผมขอย้อนกลับมาสำรวจตัวตนของสังคมมุสลิมเสียก่อนว่า เรามีจุดอ่อน จุดแข็ง อะไรบ้างที่จะเข้าใจตัวตนของเราได้มากพอ...การรู้จัก “จุดอ่อนจุดแข็งของสังคม” ย่อมทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราจะขยับหรือเคลื่อนสังคมของเราไปในทางทิศใด อย่างไร ได้ชัดขึ้นด้วยเช่นกัน
ผมอยากลองให้สังคมมุสลิมลองคิดที่จะทบทวนตัวเองด้านจุดแข็ง จุดอ่อน ให้มากขึ้น ผมคิดว่า การทบทวนสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการวางแผน การจัดการ การบริหาร และการสร้างนวัตกรรมของสังคมได้ละเอียดและประณีตขึ้น ใช่ครับ... ผมกำลังหมายถึง สังคมมุสลิมของเราควรจะต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) เพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านองค์ความรู้ การบริหาร การจัดการ การพัฒนาทางสังคมให้รัดกุมและสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้
ถามว่า ทำไม ? เราต้องคิดเรื่องนวัตกรรมอีกครั้ง คำตอบที่ง่ายและสั้น คือ สิ่งแวดล้อมรวบตัวเราเปลี่ยนไปมากเกินกว่าที่เราจะปรับตัวโดยใช้เครื่องมือ วิธีคิด วิธีบริหารจัดการเดิมๆเหมือนยุคที่เรายังอยู่ในสังคมที่มีลักษณะพึ่งพิงวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมเต็มขั้น แบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Agricultural Society เป็นสังคมที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆมากนัก เราเองยังควบคุมปัจจัยนำเข้าต่างๆจากภายนอกได้ แต่...ขณะนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผมอาจเสริมอีกนิดว่า จุดแข็ง จุดอ่อน ของทุกๆสังคม ถือเป็นเรื่องปกติมากที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ทุกสังคมต้องยอมรับมัน และควรต้องเข้าใจว่าจะใช้มันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อน พัฒนาสังคมไปข้างหน้า
โดยภาพรวมแล้ว ผมไม่แน่ใจนักว่า สังคมมุสลิมของเรา ณ ตอนนี้ เรามีแผนงาน แผนบุคลากร เป้าหมาย และวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเราอย่างไรบ้าง และอะไรที่เราจะเรียกมันได้ว่า “เป้าหมายสูงของสังคมมุสลิม” ซึ่งสิ่งนี้ไม่ง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจมันในระดับภาพใหญ่ (A Big Picture for Muslim Communities as a while) มันอาจจำเป็นต้องใช้เวลาอธิบายและขยายความอีกไม่น้อย แต่ ณ จุด นี้ ผมก็ยังมั่นใจอยู่ดีว่า หลายชุมชนได้พยายามคิด ริเริ่ม กับแนวทางนี้มากแล้ว
หลายชุมชนที่ผมเข้าไปเรียนรู้การทำงานได้พยายามที่จะศึกษา หาแนวทางในการทำงานของตน พยายามที่จะสร้างบุคลากรใหม่ๆของตนขึ้นมาเพื่อรับช่วงการพัฒนาชุมชนจากคนรุ่นก่อนๆในวิถีที่พวกเขาสามารถทำได้ รับได้ บางชุมชนได้ใช้พลังของชุมชนทั้งทรัพยากรมนุษย์ ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ซึ่งพวกเขาทำได้ดีมากๆด้วย
ที่ผ่านมา เราอาจละเลยไม่ได้ทบทวนหรือวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน สังคมของพวกเรามากนัก ซึ่งจากการสังเกต (ทัศนะส่วนตัว) ผมพบว่า ทุกครั้งที่สังคมมุสลิมของเราเกิดปัญหา หรือ วิกฤตใดๆขึ้น (ซึ่งผมอยากให้ทุกท่านลองพิจารณาตัวอย่างของทุกท่านเองเป็นองค์ประกอบ) บ่อยครั้งที่เรามักจะชี้ไปที่ปัจจัยภายนอกชุมชนของพวกเรา...แต่ ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในชุมชน สังคมของพวกเราเป็นหลัก และพยายามทำความเข้าใจกับมันว่า ประเด็น หรือปัญหาเหล่านั้นเกิดมาจากอะไร และต้องทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นได้ ซึ่งประเด็น ปัญหา บางครั้งเกิดจากสาเหตุที่เป็นจุดอ่อนของชุมชน หรือสังคมของพวกเราเอง
การวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน ตามสภาพความเป็นจริงและไม่เข้าข้างตัวเอง หรือสังคมของตนเอง จึงมีความสำคัญไม่น้อยต่อกระบวนการจัดการ การบริหารชุมชน สังคม
ในระดับต่อมา การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน สามารถช่วยให้เราค้นพบ “แนวคิดต่อยอด” จากสิ่งที่เรามีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือค้นพบแนวคิดใหม่ๆต่อการบริหารจัดการ และการพัฒนาชุมชน สังคมของเราได้
เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แนวคิดที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน (Analytical Procedure) ผ่านสมาชิกชุมชน สังคม คือแนวคิดที่ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดจากมุมมองที่หลากหลาย กว้างและครอบคลุม การได้แนวคิดที่ตกผลึกมาจากกลุ่มคนที่หลากหลายทางสาขาอาชีพ การศึกษา ประสบการณ์ อายุ เพศ ฯ นั้น จะช่วยสร้างฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาได้ครอบคลุม รอบด้านอย่างไม่ต้องสงสัย ในทางเดียวกัน การสร้างนวัตกรรมของชุมชน สังคม ควรต้องเกิดมาจากฐานรากของการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนในลักษณะการมีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุดของสมาชิกด้วยเช่นกัน
“การขาดนวัตกรรม” ด้านการบริหาร การจัดการ การพัฒนา ชุมชน สังคม บางทีสะท้อนให้เราเห็นว่า เรายังขาดกระบวนการวิเคราะห์ ศึกษาจุดอ่อน จุดแข็งของชุมชน สังคม อย่างจริงจังและเป็นระบบ ถามว่า ทำไม ? คำตอบอย่างหนึ่งที่พอจะเห็นได้ชัดคือ “จุดอ่อน” อาจนำมาสู่การเปิดเผยสภาพที่แท้จริงว่า เรากำลังอ่อนแอ ชุมชน และสังคมกำลังเผชิญกับปัญหารายล้อม เช่น ปัญหาภาวะผู้นำ ปัญหาการจัดการ ปัญหาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การยอบรับว่า เรามีจุดอ่อนจึงอาจเป็นสภาวการณ์ที่เราทำใจรับมันได้ไม่ง่ายนัก....
ดังนั้น....ถ้าเรารีรอ ไม่พร้อมที่จะยอมรับการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการวิเคราะห์ชุมชน สังคมที่ทำได้เลย ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องการการลงทุนด้านงบประมาณใดๆทั้งสิ้น เรา ชุมชน สังคม ก็ไม่อาจก้าวข้ามความอ่อนแอต่างๆ จนขาดกระบวนคิดที่จะสร้างนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สังคมอื่นๆรับเอาเป็นแบบอย่างหรือเป็นโมเดลที่จะก้าวเดินตาม อย่างเช่นบรรพบุรุษของเราได้ทิ้งมรดกด้านนวัตกรรมไว้ให้แก่โลกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สุดท้ายตัวเราก็จะกลายเป็นเหยื่อของการรีรอ การไม่พร้อมที่จะประเมินตัวเองอย่างที่คิดไม่ถึง.........
วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะฮ์กัม......