Skip to main content

จริยธรรมนักการเมืองกับแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย*

 

สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองไทยในปัจจุบันมีความคลี่คลายลงบ้างแล้วและได้มีการพิจารณาถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ด้วยแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยด้วยวิธีการต่างๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองนั้นจากทุกภาคส่วนของสังคม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิรูปตัวนักการเมืองเองในเรื่องปัญหาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง  ซึ่งที่ผ่านมานั้นจะเห็นพฤติกรรมและการประพฤติปฎิบัติตัวของนักการเมืองบางส่วนทั้งในสภาและนอกสภา ได้สะท้อนภาพออกมาในแง่ลบเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

คำว่า จริยธรรมนั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้ว่า จริยธรรมหมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ,ศีลธรรม,กฎศีลธรรม และคำว่า คุณธรรมหมายถึงสภาพคุณงามความดี ส่วนคำว่า นักการเมืองนั้น หมายถึง ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง,ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี  สมาชิกรัฐสภาเป็นต้น เมื่อสรุปความโดยรวมแล้วจริยธรรมของนักการเมืองนั้น หมายถึง หลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติที่ดี หรือการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามของผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง

การนำจริยธรรมมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการการเมืองหรือนักการเมืองไทยนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 13 ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในมาตรา 279 และมาตรา 280 เนื้อหาโดยสรุปคือ การจัดให้มีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าหากข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่าฝืนมีความผิดทางวินัย ผู้ดำรงตำแหน่งฝ่าฝืนและเป็นความผิดร้ายแรงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และถือเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยมติวุฒิสภาได้  

จนกระทั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551ซึ่งระเบียบนี้ได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมาและให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2543 นั้น ระเบียบนี้ ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองไว้ในหมวด 2 ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ ได้แก่ ข้อ 7 ถึงข้อ 29 เมื่อพิจารณาถึงหัวข้อที่สำคัญ เช่น  

-             ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-             ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

-             ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

-             ต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

-             ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด

-             ต้องรักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

-             พึงพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

-             ต้องไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

-             ต้องรักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ เท่านั้น

-             ต้องแสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เป็นต้น 

                  ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการการเมืองที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 นั้นถือว่าเป็นหลักที่ข้าราชการการเมือง นักการเมืองต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ได้บัญญัติไว้  แต่หากว่านักการเมืองบางส่วนทั้งการอภิปรายในสภาและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนอกสภาได้มีการประพฤติปฏิบัติตัวตรงกันข้ามกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ได้กำหนดไว้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อระบบรัฐสภาและบั่นทอนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนในประเทศ

                 ถ้านักการเมืองปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้นี้ย่อมส่งผลดีต่อการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี สามารถยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองให้ดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนทั้งประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยต่อไป



 

* บุญยิ่ง ประทุม, [email protected]