ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปเนื้อหาสาระสำคัญที่ได้จากเวทีถอดบทเรียน ‘การถอดบทเรียน 11 ปี พัฒนาการและบทบาทของประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้’ และการจัดทำ Roadmap สภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนจากสภาสังคมประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI ซึ่ง การถอดบทเรียนดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและจะมีการสื่อสารออกเป็นตอนๆ ในตอนที่สอง เป็นการสรุปสาระสำคัญการจากการประชุมหารือประเมินการทำงานและข้อเสนอเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ของสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ : บททวนบทบาทและยุทธศาสตร์เพื่อก้าวไปข้างหน้า
ในปี พ.ศ. 2554 สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เกิดขึ้นตามมติของที่ประชุมนักพัฒนาและนักกิจกรรมเพื่อสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลาย ทางศาสนาและชาติพันธุ์ ต้องการให้จัดตั้งองค์กรสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เพื่อเป็นองค์กรประสานงานกลางของเครือข่ายองค์กรประชาสังคมซึ่งดำเนินกิจกรรมพัฒนาสังคมอย่างถาวรขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดย ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 20 องค์กร นับตั้งแต่ปี 2554 สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประการในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
1.ดำรงประชาธิปไตย
2.ดำเนินงานมิติความรุนแรง
3.ดำเนินกลไก พัฒนาส่งเสริมเรื่องของอัตลักษณ์วัฒนธรรม
4.ดำเนินการพัฒนากลไกความเข้มแข็งภาคประชาสังคม
การดำเนินงานในห้วงเวลาที่ ผ่านมาพบว่าสภาประชาสังคม ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ที่มีความโดดเด่น คือ การดำรงประชาธิปไตย และมิติของความรุนแรง คือในเรื่องการสนับสนุน การกระจายอำนาจและการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็น การจัดเวทีฟังความเห็น 6 รูปแบบปกครองท้องถิ่นพิเศษ 200 เวที การออกแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ในกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญต่างๆ อีกทั้งสามารถมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อคู่ขัดแย้งโดยเฉพาะการยุติความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ เด็กและสตรี นอกจากนี้ สภาฯ ยังเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวของผู้คนที่หลากหลาย ทั้ง พุทธ และมุสลิม และให้ความสำคัญกับเสียงของผู้หญิงในพื้นที่อย่างมาก จุดเด่นของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คือ เป็นพื้นที่มีการทำงานของผู้คนที่หลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ สามารถเปิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา ได้ทุกเรื่องทุกมิติ สภาฯ สามารถเชื่อมต่อกลุ่มประชาชนระดับฐานราก และผู้นำระดับสูง โดนเฉพาะอย่างยิ่ง สภาฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากภาคส่วนต่างๆ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของการทำงานของสภาประชาสังคม คือ การมีฐานสมาชิกที่ยังน้อยและยังขาดคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มเยาวชน และการยังไม่มีระบบประเมินวิเคราะห์การทำงานขององค์กรที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ในทุกยุทธศาสตร์ของสภาประชาสังคม อีกทั้งยังขาดสื่อสารระหว่างสภาประชาสังคมและสังคมในวงกว้าง เพื่อทำให้สังคมได้รับรู้หรือเรียนรู้ในประเด็นปัญหาสำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง จากสถานการณ์การเมืองของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เนื่องจากมีการยึดอำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้แผนการขับเคลื่อนองค์กรของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ให้เป็นองค์กรกึ่งราชการ โดยได้มีการผลักดัน พระราชกฤษฎีกาพัฒนาชายแดนใต้ในช่วงต้นปี 2558 ต่อรัฐบาล สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดผลใดๆ
จากบทเรียนดังกล่าวสมาชิกองค์กรประชาสังคม ได้ประเมินว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลง และปรับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชน สุดท้ายหากมุ่งหวังการขับเคลื่อนจาก กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นอันดับแรกคงจะไม่สามารถผลักดันและขยับยุทธศาสตร์ภาคประชาชนได้ได้ เนื่องด้วยสภาวะทางการเมืองที่เปลี่ยนไปดังกล่าว สิ่งที่สภาประชาสังคมและภาคประชาสังคม อื่นๆ จะทำงานขับเคลื่อนต่อไปได้คือ ขับเคลื่อนจากต้นทุนที่สภาประชาสังคม ดำเนินการอยู่แล้วก่อนหน้านี้ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้เน้นย้ำในเวทีนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้จังหวัดชายแดนใต้เดินหน้า ไปสู่สันติภาพได้ ซึ่งสิ่งที่สภาฯ ต้องดำเนินการคือ เป็นพื้นที่ที่กลุ่มประชาสังคมทุกกลุ่มเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่ใช้ความรุนแรงและใช้สติในการแก้ปัญหา ซึ่งการเป็นพื้นการทำงานร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย นั้นเป็นพื้นฐานไปสู่การขยายไปสู่ประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การให้พื้นที่บริหารจัดการตัวเอง
ข้อเสนอของสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในอนาคต ที่รวมรวมจากการประชุมระดมความคิดเห็น จากสมาชิกสภาฯ 20 องค์กร มีดังนี้
1. สภาฯ ควรสนับสนุนวาระเร่งด่วน คือ การสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ การรณรงค์ด้านพื้นที่ปลอดภัย และ การขยายฐานสมาชิก และพันธมิตรเครือข่ายให้มากขึ้น
2. สภาฯ ควรมีจุดยืนอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐ ฝ่ายขบวนการฯ โดยเป็นฐานการทำงานของประชาชน ที่สามารถสร้างดุลอำนาจต่อรองต่อคู่ขัดแย้งได้
3. สภาฯ ควรรักษายุทธศาสตร์เดิมและมีเป้าหมายในการหาความสำเร็จจากยุทธศาสตร์ต่างๆให้มากขึ้น เปลี่ยนโดยเปลี่ยนกระบวนการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง องค์กรสภาประชาสังคม เครือข่ายพื้นที่ และนโยบายระดับสูง
4. สภาฯ ไม่ควรขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่เอง ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่องค์กรสมาชิกที่มีความถนัดในเรื่องนั้น
5. สภาฯ ต้องขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้นกว่านี้ หากเป็นไปได้ คือ 100 องค์กรในอนาคต
6. สภา ฯ ควรจะต้องเพิ่มเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลายมากขึ้นได้แก่ เครือข่ายยุติธรรม เครือข่ายพหุวัฒนธรรม กลุ่มผู้หญิงองค์กรผู้หญิง (เพราะผู้หญิงเป็นพลังด้านอ่อน สื่อสารได้ เชื่อมต่อได้) กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลุ่มประชาสังคมที่ทำงานใกล้กับฝ่ายรัฐและขบวนการฯ กลุ่มนักธุรกิจ
7. สภาฯ ควร ทำงานสื่อสารเชื่อมต่อกับองค์กรภายนอกและภายในเครือข่ายสภาฯประชาสังคมให้ได้
8. สภาฯ ควรทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการในพื้นที่ โดยสามารถขับเคลื่อนงานความรู้ควบคู่ไปกับงานของสภาฯ ต้องสร้างความร่วมมือ ในลักษณะของการมี MOU ร่วมกันเพื่อเป็นฐานในการรองรับการปฏิบัติงานซึ่งในอนาคตอาจมีการขยายโครงสร้างยุทธศาสตร์การทำงานมากขึ้น
9. สภาฯ รักษาความสัมพันธ์กับสมาชิกและเครือข่ายภายในองค์กร เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
10. สภาฯ ควรขยายแหล่งการสนับสนุนงบประมาณจากหลายๆแหล่ง ไม่ควรผูกขาดงบประมาณการสนับสนุนจากแหล่งเดียว
11. สภาฯ ควรพัฒนาศักยภาพการทำงานของสมาชิกให้มากกว่านี้
โดยสรุป ข้อเสนอต่างๆ จากสมาชิกสภาประชาสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะมาสร้างและขับเคลื่อน Roadmap และยุทธศาสตร์ การทำงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ผ่านมาสภาฯ สามารถทำงานที่มีจุดแข็งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานขับเคลื่อนด้านสันติภาพ แต่ก็ต้องเสริมในส่วนที่สำคัญสำคัญมากๆ เช่นการรุกเชิงข้ามแดน จะต้องเพิ่มเติมกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มองค์กรผู้หญิง ภาคส่วนธุรกิจ ซึ่งการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นการทบทวนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการรับฟังและยอมรับร่วมกันภายในสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้เองเพื่อเกิดการมียุทธศาสตร์ใหม่ในอนาคต