Skip to main content

ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีนั้นมีตัวละครที่ถือเป็นตัวแสดงหลักในภาวะความขัดแย้งนี้อยู่หลายตัวแสดง ซึ่งบรรดาตัวแสดงเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นตัวแสดงที่เรียกว่า Party B หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ผู้เห็นต่างจากรัฐ จุดเริ่มต้นในการเรียกว่า ผู้เห็นต่างจากรัฐ Party B คือ การลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันภาพ General consensus ระหว่างตัวแทนคณะพูดรัฐบาล ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ โดย อุซต๊าซฮาซัน ตอยยิบ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ซึ่งมี ดาโต๊ะโมฮัมเหม็ด ทายุดดิน บิน อับดุล วาฮับ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งมาเลเซีย เป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนั้น จนสืบเนื่องมาในวาระปัจจุบัน มีการพูดคุยสันติสุข ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากคำสั่งนายกรัฐมนตรี 230/2557 จัดตั้งกลไกลขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่าย Party A มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝ่าย Party B ซึ่งในที่นี้หมายถึงกลุ่มมาราปาตานี (MARA PATANI) องค์กรร่มของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีมีนายอาวัง ญาบะ จากขบวนการ BRN เป็นประธาน

จากข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้เราทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงภาวะและความเป็นไปรวมไปถึงสถานการณ์ความคืบหน้าของฝ่ายต่างๆ อีกทั้งจำเป็นที่ต้องทำการประเมิน วิเคราะห์ จุดยืน เป้าหมาย ของทุกฝ่ายในกระบวนการข้างต้น เรามาเริ่มทำความเข้าใจ การประเมินสถานการณ์และจุดยืนสำคัญ เป้าหมาย ของฝ่าย Party A กันว่าเป็นอย่างไร

Party A คือใคร

ในคำนิยามของคำว่า Party A คือใคร หมายถึงใคร รวมไปถึงใคร จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และเป็นที่เข้าใจกันในสาธารณะนั่นก็คือ รัฐบาลไทย (คำว่ารัฐไทยเป็นคำแสลงต่อฝ่ายความมั่นคง)และหมายถึงบุคคลใด อาจจะตีความได้สองหลักการ หลักการที่ 1.ตีความตามหน้าที่ต้องผู้ที่ถูกแต่งตั้งให้ดำเนินตามนโยบายการพูดคุย ซึ่งไม่ชัดกระจ่างมากนักเนื่องจากทางการไทยมักจะใช้หลักการปัจเจกบุคคลที่ถูกแต่งตั้ง ดังนั้นหลักการที่ 2.หมายถึงบุคคลที่ถูกแต่งตั้งให้ดำเนินตามนโยบายในคำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการพูดคุยในแต่รัฐบาลสั่งการออกมา ซึ่งในปัจจุบันนั้นสามารถให้คำนิยามได้ว่า Party A นั้นหมายถึงรัฐบาลไทยซึ่งมีตัวแทนมาจาการแต่งตั้งโดยหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ตามคำประกาศแต่งตั้งจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี 230/2557

การนิยามคำว่า Peace

การนิยามคำว่า Peace หรือการให้ความหมายในภาษาไทยต่อบริบทความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีความหมายว่าอะไร ซึ่งความหมายที่ให้โดย Party A ย่อมมีผลทางการเมืองและนัยยะแอบแฝง ซึ่งอาจจะเรียกว่า มีผลต่อการต่อสู้ในทาง วาทกรรมทางการเมือง การให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า Peace นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมอันดีงาม อะไรคือสิ่งที่ดีงาม ก็ย่อมหมายถึง Peace จะให้เข้าใจในอีกระดับก็คงหมายถึง Morality of life is peace คุณธรรมในชีวิตคือ Peace ที่คนไทยกำลังตามหา หากไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรมแล้ว ชีวิตก็ไร้ Peace เมื่อชีวิตไร้ Peace สังคมก็จะไร้ Peace ตามไปด้วย ดังนั้นการเสาะหา Peace ต้องคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามก่อน

นอกจากนี้การให้คำนิยามของคำว่า Peace ยังให้ความหมายบนพื้นฐานของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรจึงจะเรียกว่า Peace วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความสุขจากรอยยิ้ม หรือวิถีชีวิตที่ยังคงไว้ซึ่งรอยยิ้มก็คือวิถีแห่ง Peace ชีวิตที่มีความสุข ซึ่งความสุขสามารถประเมินจากรอยยิ้มของประชาชนได้ เมื่อประชาชนมีรอยยิ้ม นั่นย่อมหมายถึงประชาชนมีความสุข และเมื่อประชาชนมีความสุข สังคมนั้นคือสังคมที่มีวิถีชีวิตแห่ง Peace

พื้นที่สาธารณ (Common space)

การมีพื้นที่สาธารณที่แท้จริง ความหมายของคำว่าพื้นที่สาธารณที่แท้จริงในที่นี้หมายถึง การมีพื้นที่สาธารณที่ไม่เข้าข้างใครจากคู่ขัดแย้งหลัก (รวมไปถึงการจำแนกให้ชัดด้วยว่าใครคือคู่ขัดแย้งหลัก) ต้องเป็นพื้นที่สาธารณที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่อ้างถึงพื้นที่สาธารณแต่เข้าข้างหรือฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรืออีกความหมายหนึ่งย่อมหมายถึงว่า พื้นที่สาธารณนี้ ต้องไม่ฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงจะเรียกว่าพื้นที่สาธารณได้ หากพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณแต่ฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน พื้นที่สาธารณนั้นก็ไม่ใช่พื้นที่สาธารณอีกต่อไป คำถามสำคัญต่อการให้คำนิยามของคำว่าพื้นที่สาธารณคือ มีมาตรวัดใดไหมที่จะวัดว่าพื้นที่สาธารณใด ฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือพื้นที่สาธารณไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมีโมเดลพื้นที่สาธารณใดบ้างที่จะอ้างได้ว่า นั่นคือพื้นที่สาธารณจริงๆในนิยามนี้

ตัวแสดงสำคัญในกระบวนการสันติสุข

ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขมีตัวแสดงที่สำคัญอยู่เพียงสองตัวแสดงเท่านั้น คือ 1.ตัวแสดงที่เป็นรัฐ (State) หมายถึงรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเป็นอำนาเต็มแห่งราชอาณาจักรไทย และมีความเป็นรัฐ ที่ชัดแจ้งสมบูรณ์ตามทฤษฎีรัฐ ราชอาณาไทย มีอาณาเขตที่ชัดเจน ราชอาณาจักรไทยมีประชากร ราชอาณาไทยมีอธิปไตย ราชอาณาจักรไทยมีผู้ใช้อำนาจตามอธิปไตย ดังนั้นราชอาณาจักรไทย จึงเป็นตัวแสดงที่เป็นรัฐ(State) โดยใช้อำนาจอธิปไตยแห่งราชอาณาจักรไทย ผ่านผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ในการนี้ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่ว่า การเป็นตัวแทนของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมหรือไม่เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ถือว่ารัฐบาลก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของกลไกแห่งรัฐ จึงมีอำนาจเต็มในการจัดการเรื่องต่างๆในรัฐและเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย

ตัวแสดงที่ 2. คือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐแต่ไม่ใช่องค์กรระหว่างประเทศ (Sub state) ในมุมมองของ Party A กลุ่มที่ต่อสู้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นกลุ่มก้อนที่หวังผลทางการเมืองบางอย่าง ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศในเขตแดนของราชอาณาไทย และมีการจัดตั้งกลุ่มการต่อสู้แบบผิดกฎหมายเนื่องจากมีหวังผลทางการเมืองที่ขัดต่อหลักบูรณภาพแห่งดินแดน แต่ไม่ใช่องค์กรที่ได้รับการรับรองว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งการให้ความหมายเช่นนี้ต่อขบวนการต่อสู้นอกระบบในพื้นที่ชายแดนใต้ มีผลทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความชอบธรรมในการปราบปราม กวาดล้าง เนื่องเป็นกลุ่ม(การเมือง)ที่ตั้งขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีผลต่อสถานะทางการเมืองของ ฝ่ายขบวนการด้วย

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจใน Peace ที่เหมือนกัน

ระหว่างการที่มีการพูดคุยสันติสุขที่กำลังเดินหน้าอยู่นั้น เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าเราเองต้องมีการผลักดัน เป็นแรงหนุนให้การพูดคุยรุดหน้าไปด้วยดี ทั้งนี้ต้องมีรายละเอียดและหลักการ ประเด็นสำคัญคือการเห็นพ้องต้องกันว่า Peace ที่ต้องการ หรือที่หวังไว้ ต้องมีความเข้าใจ Peace ที่เหมือนกันด้วย หรือจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆคือ Peace ในชุดความคิดเดียวกัน ไม่มีความเห็นต่างใน Peace หรือมีข้อเสนอที่แตกต่างออกไป

ประเด็นสำคัญต่อมา คือการรับข้อมูลของกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุย ต้องมีข้อมูลชุดเดียวกันด้วย ไปในความหมายเดียวกัน หากกล่าวว่า ชายแดนใต้วันนี้ดีขึ้นแล้ว ก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน ข้อมูลเหมือนกันว่า ชายแดนใต้วันนี้ดีขึ้นแล้วจริงๆ ไม่มีการซ้อมทรมาน ไม่มีการบังคับให้สูญหาย ไม่มีการบังคับให้ยอมรับสารภาพ ไม่มีการจับแพะ ในทำนองนั้น

เราต้องไปข้างหน้าเพื่อ Peace

อนาคตของชายแดนใต้คือสิ่งที่ทุกคนฝันหา และหวังถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่เองที่อยู่กับความรุนแรงมานานนับสิบปี ยังรวมไปถึงคนนอกพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้  ยังคงหวังว่าที่นี่จะสงบในสักวัน แต่การเดินไปข้างหน้านั้น ต้องไปข้างหน้าอย่างแท้จริง เราเดินหาอนาคต จึงไม่สำคัญอะไรมากมายนัก ถึงอดีตที่เคยเป็น ไม่ว่าที่นี่จะเคยเป็นอะไร ในอดีตที่นี่จะเคยเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราช หรือรัฐอิสระก็ไม่สำคัญเท่ากับอนาคตที่ชายแดนใต้จะต้องเป็นให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่เคยเป็นในอดีต อะไรที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ แต่สิ่งที่เรากำลังทำและแก้ไข คือแก้ไขสู่อนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะมีข้อถกเถียงถึงสถานภาพของรัฐปาตานีในอดีต ไม่ว่าที่นี่จะเคยเป็นรัฐอิสระ ประเทศราช หรือเมืองขึ้นของสยามประเทศ ถึงอย่างไรเราก็ยังคงเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน การพูดถึงอดีตที่เจ็บปวด ประวัติศาสตร์ที่เจ็บแค้น ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง สิ่งเหล่านั้นไมได้ช่วยให้สถานการณ์ที่นี่ดีขึ้นเลย จะเป็นการหนุนเสริมที่ดีและการร่วมกันหาทางออก ก็ต้องเอาปัจจุบันและอนาคตมาคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับอนาคตชายแดนใต้

โมเดลการจัดการความขัดแย้งและสภาพหลังความขัดแย้ง

การเรียนรู้พื้นที่ความขัดแย้งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้พื้นที่ใดๆนั้นเป็นรายละเอียดที่สำคัญในการเรียนรู้ นอกจากโมเดลที่สำเร็จแล้ว ต้องเน้นไปถึงโมเดลที่ภาวะหลังความขัดแย้งแล้วกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวในการจัดการ เช่นติมอร์ตะวันออก หรือโมเดลการจัดการความขัดแย้งจาก บันดารอาเจะฮฺ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ที่รัฐต้องการให้เรียนรู้มากๆ มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่ไม่น้อย(ผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้)แต่รูปแบบที่ไม่อยากให้เป็นต้นแบบสำหรับความขัดแย้งในชายแดนใต้ หรือรูปแบบที่เตือนใจในคนชายแดนใต้ว่าอย่าฝันล้มๆแล้ง เฉกเช่น มินดาเนา ความแตกต่างระหว่าง รูปแบบการจัดการความขัดแย้งใน ติมอร์ตะวันออก บันดารอาเจะฮฺ และมินดาเนา ล้วนมีรายละเอียดและสถานะทางการเมืองที่ต่างกัน กล่าวคือ การจัดการความขัดแย้งมีหลายรูปแบบตามแต่บริบทและปัจจัยที่มีอยู่  ต้องชั่งประมาณระหว่างการจัดการที่ผ่านไปด้วยดีและจัดการแล้วภาวะหลังความขัดแย้งล้มเหลวในการบริหารจัดการ แต่รัฐมุ่งเน้นไปทางภาวะล้มเหลวหลังการแปรเปลี่ยนขัดแย้งแล้ว แต่รูปแบบของการจัดการความขัดแย้งนั้น มีนัยยะทางการเมืองที่ต่างกันด้วย

มุมมองที่สำคัญต่อความขัดแย้งในชายแดนใต้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีข้อเสนอใดๆจากสังคมหรือประชาชนไทยทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และพื้นที่อื่นๆทั่วภูมิภาคของประเทศไทย การจัดการความขัดแย้งในชายแดนใต้ จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานของบูรณภาพแห่งดินแดนไว้ จะทำให้ราชอาณาจักรไทยสูญเสียความเป็นเอกภาพ หรือสูญเสียบูรณภาพแห่งดินแดนมิได้ นอกจากนั้นสิ่งสำคัญต่อการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ตัวแทนของกลุ่มขบวนการต่อสู้นอกระบบนั้นมิใช่องค์ระหว่างประเทศและมีสถานะเป็น Sub state ถือว่ายังคงเป็นความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาล(รัฐไทย)กับกลุ่มการเมือง(ที่เป็นกลุ่มการเมืองผิดกฎหมาย)จึงจะต้องมีการปราบปรามผู้ที่คิดคดต่อหลักบูรณภาพแห่งดินแดน และในท้ายที่สุดต่อมุมมองนี้ การพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งหลักในส่วนข้อเสนอและหลักการสำคัญก็จะไม่เลยเถิดจนเกินขอบเขตของหลักบูรณภาพแห่งดินแดน เอกภาพของราชอาณาจักร อีกทั้งอาจจะมีการออกกลไกพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายการพูดคุยเพื่อการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งนำไปสู่การยุติการใช้ความรุนแรงในความขัดแย้งในชายแดนใต้ และการกลไกพิเศษที่จะออกมาเพื่อสนองต่อข้อเสนอในการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งหลักนั้น จะยังคงอยู่ในหลักการสำคัญที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินไปของงกระบวนการพูดคุย สิ่งที่ Party A จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดละเป็นสำคัญคือ

1.รัฐบาลไทยต้องออกกลไกทางการเมืองแบบพิเศษเพื่อให้คู่ขัดแย้งหลักสามารถทำงานการเมืองได้

2. Party A ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อรับฟังข้อเสนอทางการเมืองจากประชาชนในพื้นที่

3. Party A ต้องเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างคนในพื้นที่และต่างพื้นที่เพื่อสนองต่อการออกนโยบายเกี่ยวกับชายแดนใต้

4. Party A ต้องเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่าง Party Aและประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อรับฟังข้อเสนอทางการเมืองของประชาชน ทุกกลุ่มก้อนในชายแดนใต้

 

หมายเหตุ

*คำทับศัพท์บางคำผู้เขียนไม่อาจจะให้ความหมายในภาษาไทยที่เข้าใจง่ายได้

*คำทับศัพท์บางคำผู้เขียนจงใจให้เกิดการถกเถียงในสาธารณถึงคำนิยาม

*ข้อเท็จจริงที่เขียนมานั้นเพื่อเป็นข้อถกเถียงในสังคมเพื่อนำไปสู่การหนุนเสริม Peace talk process

*ผู้เขียนเขียนจากสรุปการเสวนาทางวิชาการในหลักสูตรการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยวิทยาลัยประชาชน