Skip to main content

อิมรอน  โสะสัน 

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   ม.ขอนแก่น 

 

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “ภาวะผู้นำ” คือส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งของความสำเร็จที่ทุกองค์กรพึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสนทูตในอิสลามและบรรดาคอลีฟะฮ์ทั้งหลายจะให้ความเอาใจใส่อย่างยิ่งต่อการแต่งตั้งบุคคลที่จะต้องทำหน้าที่ “ในฐานะผู้นำ”ตามวาระที่พวกเขาได้รับหมอบหมาย

ทุกครั้งที่ถึงวาระแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้นำท่านศาสนทูตและบรรดาคอลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมจะยึดมั่นในหลักการที่เน้นความรู้ความสามารถในการทำงานที่แต่ละคนพึงมี ไม่ได้มองที่ชนชั้นหรือสิทธิพิเศษใดๆ และเปิดโอกาสให้มีความเสมอภาคในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างเต็มที่ หลักการนี้เรียกว่า“ระบบคุณธรรม” (Meritocracy) และความเลื่อมใสศรัทธาที่พวกเขามีต่อศาสนา (Piety) เป็นสองเกณฑ์มาตราฐานในการคัดสรรหาบุคคลเพื่อทำหน้าที่รับใช้ประชาชาติ (อุมมะฮ์) ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งคอลิดบินวาลิด (ผู้ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งเข้ารับอิสลามได้ไม่นาน) และการแต่งตั้งเด็กหนุ่มอายุวัยย่าง 18 ปี อุซามะฮ์ บิน เซด ให้เป็นผู้นำทัพในการต่อสู้กับศัตรูนอกเขตการปกครองของรัฐอิสลามในสมัยนั้น ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจต่อการให้ความสำคัญในการใช้ “ระบบคุณธรรม” เข้ามาพิจารณาคัดสรรผู้นำ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าการพิจารณาบุคคลทั้งสองได้นำความสำเร็จมาสู่อุมมะฮ์อิสลามอย่างไม่ต้องสงสัย ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ให้ความใส่ใจกับการได้มาซึ่งผู้นำ (wrong appointment ) อาจเป็นภัยมาสู่องค์กรและสังคมในวงกว้างได้เช่นกัน

อิสลามไม่สามารถยอมรับการแบ่งแยกระหว่างภารกิจทางโลกกับศาสนาออกจากกันได้ ทุกๆการกระทำที่พึงมีต่อความสำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร (ภารกิจส่วนตน) ถือว่านั่นคือ “ความรับผิดชอบทางศาสนา” ที่เราทุกคนจะต้องเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่าไม่ควรละเลยต่อการกระทำต่างๆที่จะนำมาสู่กันพัฒนาองค์กร ในทางเดียวกัน พฤติกรรมเฉื่อยชา (Act of Indifference ) ต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆในองค์กรคือโรคร้ายที่มุสลิมจำเป็นจะต้องหลีกห่างและไม่ควรที่จะเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้นำมุสลิม (ผู้นำในทุกองค์กร)

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ความสำเร็จ ได้สะท้อนเหตุการณ์ในขณะท่านคอลีฟะฮ์อุมัร บิน อัลดุลอะซิซได้พยายามที่จะนำพารัฐอิสลามหวนกลับคืนความยิ่งใหญ่ ความเจริญอีกครั้ง หลังจากอยู่ในภาวะล้าหลังมานาน (Backwardness) อันเนื่องจากความอ่อนแอของภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวผู้นำก่อนหน้าท่าน สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าสถาณการณ์ที่ไม่พึงประสงค์สามารถที่จะกลับคือสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความจริญได้ ถ้าเราใส่ใจต่อภาวะผู้นำของผู้นำที่เราคัดสรร

แน่นอนที่สุด “โอกาสสำหรับอุมมะฮ์ย่อมเปิดกว้างเสมอ แต่อุมมะฮ์จะต้องเข้าใจว่าการมี “ทัศนคติที่ถูกต้อง” เพื่อนำไปสู่ “ความเป็นเลิศ” และความตระหนักรู้ต่อ “ความรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ” ถือเป็นรากฐานอันสำคัญของการนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของอุมมะฮ์อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ การวางแผนที่รัดกุมย่อมเป็นสาเหตุสู่การเปลี่ยนแปลงและมันคือความจำเป็นของการอยู่รอดและความรุ่งเรือง” ซึ่งหลักการนี้ ได้รับการยืนยันจากอัลกุรอานบทอัรเราะฮ์ดุ โองการที่ 11 ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์จะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง”

องกรค์หนึ่งๆจะประสบความสำเร็จได้นั้นจุดเริ่มต้นมาจาก “คุณภาพของผู้นำ” บุคคลที่สามารถวางวิสัยทัศน์ พัทธกิจ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างถูกต้อง ภารกิจที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอาจมาจากโอกาสอันน้อยนิดแต่มักแบกไว้ด้วยความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ในทัศนคติอิสลามสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “อะมานะฮ์” (a trust) ซึ่งใครก็ตามที่ถูกวางตัวให้รับผิดชอบต่ออะมานะฮ์จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้วยการทำงานหนัก และคำนึงถึงการมีประสิทธิภาพในการทำงาน

ในยุคที่มีการแข่งขันเพื่อยกระดับองค์กรสู่ความสำเร็จอันหนักหน่วง  การทำงานหนักเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย แต่จำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้นำที่มีความปราดเปรื่อง (smart) ในการนำองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) เพื่อชัยชนะในที่สุด

สำหรับหลักการของอิสลาม มุสลิมทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำภารกิจที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้ ความพยายามอย่างถึงที่สุดต่อการสร้างความโดดเด่น/ความเป็นเลิศให้กับองค์กร (ชุมชน สังคม ประเทศชาติ) ของผู้นำ (หรือผู้ตาม) ให้ถือว่าเป็นการนมัสการต่อผู้ทรงสร้าง (อิบาดะฮ์)

นอกจากนี้ “ผู้นำ” จำเป็นจะต้องมีการวางเป้าหมายสำหรับการนำองค์กรไปสู่อนาคตและสามารถที่จะประคององค์กรให้บรรลุเป้าหมายแห่งอนาคตได้เช่นกัน ผู้นำจะต้อง “อ่านสถานการณ์ขององค์กร” ให้ออกว่าเป็นอย่างไร เปรียบดังกัปตันเรือที่จะต้องคอยปรับใบเรือเพื่อรองรับทิศทางลมและเตรียมพร้อมสำหรับสถาการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาท่ามกลางทะเลอันเวิ้งว้างและน่ากลัว

“ผู้นำที่มีคุณภาพ” มักจัดวางลำดับความสำคัญของภารกิจอย่างแม่นยำ (Priorities) โดยถือว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือความสำคัญอันดับหนึ่งขององค์กร และเขาสามารถวางระบบองค์กรโดยใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีในการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดประสิทธิผล

“ผู้นำ” จะต้องมองสมาชิกขององค์กรด้วยทัศนคติเชิงบวก จะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรใช้ศักยภาพที่มีในการทำงานให้เต็มที่ และสร้างทีมด้วยการยอมรับว่า “ทุกคนในทีมมีคุณภาพเพียงพอต่อการสร้างองค์กร”

“การยอมรับศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา” ของผู้นำคือก้าวสำคัญขององค์กร ความสามารถในการดึงศักยภาพเหล่านั้นถือว่าเป็น “ศิลปะที่ผู้นำพึงมี”  “สัมพันธภาพ” ในองค์กรจำเป็นที่จะต้องอาศัยศิลปะ เพราะต้องเข้าใจว่า มนุษย์คือสิ่งถูกสร้างที่ซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ แต่ละคนต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้นำจึงต้องอาศัยเรียนรู้และเข้าใจต่อวิธีการประสานงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในองค์กร

การเคารพต่อผู้นำของสมาชิกภายในองค์กรไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะผู้นำสั่งให้เคารพ แต่การเคารพนั้นจะต้องเกิดมาจากความเต็มใจของสมาชิกหรือผู้ใต้บังคับบัญชาพึงมีต่อผู้นำโดยความสมัครใจ และการที่จะทำในลักษณะนี้ได้ ผู้นำจะต้องแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของภาวะผู้นำที่มี ผู้นำจะต้องมีแนวคิดที่ดีเลิศได้รับการยอมรับ สามารถนำแนวคิดเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติได้จริง นำมาซึ่งการได้มาของผลิตภัณฑ์ โครงการต่างๆ ซึ่งจะสามารถทำแบบนี้ได้จำเป็นที่จะต้องอาศัยประสบการณ์ (Experiences)และทักษะ (Leadership Skills) ของผู้นำเป็นการเฉพาะ หลายองค์กรประสบความล้มเหลวเนื่องมาจากผู้นำขาดคุณลักษณะเหล่านี้

“ผู้นำคุณภาพ” จะต้องแสดงให้เห็นว่าภารกิจยากๆสามารถเป็นไปได้ถ้าพวกเขาเอาจริงเอาจังและกัดไม่ปล่อย อย่างไรก็ตาม ผู้นำต้องตระหนักให้ดีเสมอว่า เขาคือกระบอกเสียงขององค์กร ดังนั้น การสื่อสารเพื่อให้เกิดความชัดเจนในองค์กร ทั้งเรื่องวิสัยทัศน์ ภารกิจ แนวคิดต่างๆต้องถูกถ่ายทอดออกมาให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เขาจะต้องเรียนรู้การเป็น “นักสื่อสารที่ดี” ในองค์กรเพื่อเปิดการขายและโฆษณาสินค้าให้แก่ลูกค้าและสังคมได้ถูกต้องและเป็นเลิศ

คุณลักษณะที่ผู้นำขาดไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือ เขาจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี มีความอดทน และประสานความแตกต่างของคนในองค์กร เขาจะต้องปรับทัศนคติเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆภายในองค์กร โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องปฏิเสธมัน ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการ “รักษาดุลยภาพของคนในองค์กร” จึงถือว่าเป็นศิลปะอีกข้อผู้นำ

กล่าวโดยสรุป อิสลาม ให้ความสำคัญต่อภาวะผู้นำที่พึงประสงค์ตามที่กล่าวมา และยอมรับโดยหลักการว่า บุคคลที่มีคุณธรรม มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อหลักการ ย่อมสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ เนื่องจากว่า ถ้าผู้นำมีคุณธรรม เขาจะต้องมีการตรวจสอบ ประเมินความสามารถของเขาเอง ว่า เขาควรจะเป็นผู้นำหรือไม่ หากเขาประเมินแล้ว เขาไม่มีคุณลักษณะเพียงพอต่อการเป็นผู้นำ เขาก็สามารถตัดสินใจได้ว่า เขาไม่ควรจะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำ เพราะความรับผิดชอบในฐานะผู้นำของเขาหมายถึง “อะมานะฮ์” ที่เขาพึงมีต่อการทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดสำหรับศาสนาที่เขาเคารพและศรัทธา อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชาติทั้งมวลด้วยเช่นกัน…….

 

(หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียงจากบทความชื่อ  Attributes of A Leader เขียนโดย Prof. Datuk Dr. Syed Othman Alhabshi นักวิชาการคนสำคัญในโลกอิสลามร่วมสมัย ในหนังสือ Islamic Management for Excellence: Revitalizing people for the future ปี 1998 พิมพ์โดย INMIND)