จรัญ มะลูลีม
เห็นด้วยและเห็นต่างของปัญญาชนมุสลิมและผู้คุ้นเคยกับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ (ต่อ)ศ.ดร.สมชาย วิรุฬหผล กล่าวว่า ถ้ามันเป็นประเด็นทางการเมือง แล้วเราก็รู้ว่าปัญหาของภาคใต้นี่มันมีความสลับซับซ้อนกันมาอย่างต่อเนื่อง แล้วมันก็มีองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเชิงศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี แล้วก็ยังมีเรื่องอื่นๆ สอดแทรก รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ข้อเสนอของพลเอกชวลิต ที่เสนอนี่ จริงๆ ก็ถูกนำไปบิดเบือนพอสมควร ไปเติมคำว่านครรัฐปัตตานีบ้าง ซึ่งความหมายมันต่างไปเลย เพราะการเป็นนครรัฐมันเป็นเขตปกครองอิสระไม่ได้ขึ้นต่อรัฐบาลกลาง และไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันไม่ใช่รูปแบบที่จะยอมรับได้
เราพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะปี 2540 หรือ 2550 ต่างก็มีมาตรการและนโยบายต่างๆ สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจนี่เป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การกระจายอำนาจที่เป็นมานี่มันถูกบิดเบือน เพราะมันถูกจำกัดเลยให้เป็นรูปของ อบต. กับ อบจ. ซึ่งจากประสบการณ์ของผมในฐานะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน บอกได้เลยในเรื่องทุจริต ว่าเกิดจากการที่ไม่มีองค์ความรู้พอในการบริหารจัดการ ไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการ
ความจริงเราก็มีรูปแบบอื่น คือ เทศบาลเรื่อง กทม. เองตอนนี้ก็มีปัญหาว่า มันใหญ่เกินไปรึเปล่า กำลังจะซอยย่อย แล้วผมถามว่า อบต. กับ อบจ. มันเล็กเกินไปรึเปล่าเพราะมันไม่สามารถระดมคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานได้ อย่างเก่ง พอเข้าไปก็แค่ปลัด อบจ. แล้วจะเอาใคร ที่ไหนมา
แต่อย่าง กทม. เขาเริ่มและไต่เต้าไปจนเป็นผอ.เขต เป็นผู้ช่วยปลัด รองปลัด เขามีขั้นตอนซึ่งสามารถระดมคนได้
ในอีกมุมมองหนึ่ง การแบ่งเขตอย่างเรื่องนครปัตตานีมันก็เป็นรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะพิเศษเหมือนกับกทม. ไม่ได้มีการแบ่งแยกอะไรเลย แต่ว่ารูปแบบไม่เหมือนเลยทีเดียว เพราะมันต้องสอดรับกับขนบธรรมเนียม ประเพณีของคนในท้องถิ่น
หากมีการจัดรูปแบบ นครปัตตานี ซึ่งผมมีการวางแผน และเตรียมการกันพอสมควรแล้วก็มีคณะทำงานเป็นรูปธรรม มันก็มีขนาดประชากรประมาณ 2 ล้านคนน่าจะเหมาะสมเพราะสามารถระดมคนมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีนี้ต่อรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทบวงหรือการปรับกฎหมายเรื่อง ศอ.บต. ให้มีอำนาจมากขึ้น ในทรรศนะของผมยังมองว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ไม่ใช่การกระจายอำนาจเป็นการกระจุกอำนาจ
อย่างเรื่องทบวงนี่ เขาก็อ้างว่ามีการวิจัย ผมก็ถามว่า คุณวิจัยนี่มีสมมุติฐานอะไร แล้วคุณมาบอกว่าการทำทบวงนี่เหมาะสม มีตัวอะไรเทียบเคียง รัฐมนตรีทบวงนี้นี่ต้องเป็นมุสลิมรึเปล่า ทางกฎหมายนี่คุณเขียนบังคับไม่ได้เลยแล้วก็ไม่มีหลักประกันด้วย อย่างธนาคารอิสลามตอนนี้ทั้งประธานและผู้บริหารก็ไม่ใช่มุสลิมเหมือนในเรื่ององค์กรต่างๆ
พ.ร.บ.ฮาราลก็เหมือนกันที่จะมีเลขาธิการซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้ว่า ต้องเป็นมุสลิม
ผมมองว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ศอ.บต. รูปแบบใหม่ หรือทบวงไม่ใช่เป็นการกระจายอำนาจ แต่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ แล้วทุกวันนี้ ที่ประเทศไทยไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี เพราะเป็นการกระจุกตัวของอำนาจศูนย์กลางของอำนาจนี่อยู่ที่กรุงเทพฯ
ดังนั้น ถ้ามองเรื่องอำนาจอาจไม่ชัดเจน มองเรื่องเศรษฐกิจครับ 50% ของ GDP อยู่ที่ กทม.ที่เหลือนี่แบ่งเศษกันไปทั้งนั้น มันเหลือเท่าไร
เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจจะสร้างให้มันมีการถ่วงดุล มีการปรับตัว ให้ไปเข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนท้องถิ่น แล้วมีหลักคิด การพัฒนาที่เหมาะสมกับคนพื้นที่
อย่างภาคใต้สภาพัฒน์คิดไปเลยว่าจะเอาเชาธ์เทิร์นซีบอร์ดไปลง ถามว่ามันสอดรับกับวิถีชีวิตของคนใต้รึเปล่า แล้วจะมีปัญหาเหมือนมาบตาพุดรึเปล่า?
ยากจะเรียนว่า ที่เราเสนอแบบนี้นี่ เราศึกษามาพอสมควร มีคณะทำงาน แต่เราจะสะท้อนความรู้สึกของคนพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มประชาสังคมด้วย ในการที่เขาเสนอข้อมูลต่างๆ เพราะขั้นตอนในการดำเนินงานนี้ใครจะบอกให้เอาพิมพ์เขียวมาดู เอารายละเอียดมาดู แล้วบางคนออกพ.ร.บ. มาแล้วนี่ ผมคิดว่ามันเร็วเกินไป
จริงๆ แล้ว มันต้องดูการตอบสนองของคนในพื้นที่
เวลานี้เราอาจจะร่างกรอบของ พ.ร.บ. ไว้ก่อน เขตปกครองพิเศษมหานครปัตตานี ยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะประกอบด้วยคำปรารภมีหลักการและเหตุผล มีคำจำกัดความ แล้วหมวดที่ 1 นี่ว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารจัดการนครปัตตานี หมวดที่ 2 ว่าด้วยการบริหารนครปัตตานีสภามหานคร การบริหารนครปัตตานี นครยะลา นครนราธิวาส และนครสตูลและเขตพิเศษ เพราะเราจะรวมสี่จังหวัดกับอีกสี่อำเภอคือ จะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย,นาทวี เข้ามาอยู่ในปริมณฑลของนครปัตตานีมีหมวดต่างๆ มีหมวด 4 หมวด 5 ว่าด้วยการจัดระเบียบทั้งหลาย
เรามีความพร้อมจากมหานครนี่มันก็จะแบ่งเป็นนคร ก็มีนครปัตตานี, นครยะลา, นครนราธิวาส, นครสตูล และก็เขตพิเศษคือ 4 อำเภอ
แล้วสิ่งที่อาจจะแตกต่างจาก กทม. ก็คือนอกจากสภาแล้ว จะมีสภาผู้รู้ทางศาสนา ซึ่งตามหลักอิสลามนี่ เราเรียก สภาอุละมาอ์ อันนี้เป็นกรอบ
เรื่องรายละเอียดของ พ.ร.บ. ก็ต้องเอามาสะท้อนจากความเห็นของประชาชนก่อนแล้วเอามาร้อยเรียงเอามาเขียน ไม่ใช่เรื่องยาก คณะทำงานเรามีสถาปนิก เรามีวิศวกร เวลานี้ก็มีการออกแบบคร่าวๆ ด้วยซ้ำว่า ในทางภูมิสถาปัตย์ควรจะเป็นรูปแบบอย่างไร ไม่ใช่ว่าฝันแล้วเอามาพูดกัน
ในบริบทที่เรียนถึงนี่คือสภาผู้รู้ทางศาสนาจะมีโยงใย ไม่ใช่มีแค่มหานคร แต่ระดับนครก็มี ระดับเขตก็มี แล้วแต่ละสภาที่ทำหน้าที่ต่างกันจะมีการเชื่อมโยงกัน คือจะมีตัวแทนจากเขตขึ้นไปเป็นสัดส่วนหนึ่งในสภาของนคร แล้วตัวแทนของสภาของนครส่วนหนึ่งจะไปเป็นสมาชิกของมหานคร จะมีการโยงยึดกันอยู่ ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างอยู่ เหมือน กทม. สภาเขตกับสภากทม. ไม่ได้เกี่ยวโยงกันเลย ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ แต่ต้องสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน
ทีนี้ขั้นตอนต่อไป สมมุติว่าเมื่อมีการดำเนินการทางการเมืองหรือดำเนินการในเรื่องนี้ซึ่งผมเรียนแล้วว่า มันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าใครจะเสนอ ถ้าเป็นสิ่งที่ดีและสามารถจะแก้ปัญหาได้ ทำไปเถอะครับ ผมไม่ว่า แต่ถ้าพลเอกชวลิตได้มีอำนาจทางการเมืองท่านก็จะดำเนินการ ขั้นตอนก็คือ หลังจากมีพ.ร.บ. มีรูปแบบแล้ว ก็จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อสะท้อนความรู้สึกของประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไร
แล้วหลังจากนั้น ก็จะทำประชามติสำหรับประชาชนในสี่จังหวัดและสี่อำเภอ ถ้าเป็นความต้องการของประชาชนก็ดำเนินการไป
บางจังหวัด อย่างสตูล ถ้าไม่ต้องการร่วมก็ไม่เป็นไร หรืออีกสี่อำเภอไม่ต้องการก็ไม่เป็นไรสามจังหวัดก็อาจจะเป็นแกนหลักอยู่แล้ว ไม่ต้องมาโต้เถียงกันเลยว่าเป็นอย่างไร
จริงๆ มันมีแผนภูมิ ผมอยากเรียนว่า ทุกวันนี้มีการกล่าวอ้างว่าการแก้ปัญหาภาคใต้มาถูกทางแล้ว เพราะฉะนั้น อยากจะดำเนินการอย่างนี้ต่อไป ซึ่งวิธีการเท่าที่มีคือการล้อมปราบกับอีกด้านหนึ่งก็คือการพัฒนา โดยอ้างว่าการพัฒนาจะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะประชาชนมีความยากจน
แต่พวกเราเอง ถ้าพูดตรงๆ มันจริงรึเปล่าว่าเพราะคนในภาคใต้จนถึงเกิดปัญหาแบบนี้ถามตัวเองให้ดีว่าเป็นเพราะจนหรือเปล่า
ทีนี้ ถ้ามันไม่ใช่การไปแก้ปัญหาที่จะทุ่มเงินลงไปเวลานี้จะเพิ่มไปอีกหกหมื่นล้าน เราเสียไปปีหนึ่งงบพัฒนาประมาณห้าหมื่นสี่พันล้าน งบความมั่นคงห้าหมื่นหกพันล้าน แล้วจะเพิ่มไปอีกหกหมื่นล้าน เราหมดไปเป็นแสนๆ ล้าน ทหารอีกหกหมื่นคน แล้วเราบอกว่าเราแก้ถูกทางแล้วสถานการณ์ดีขึ้น
แต่ทำไมเงินมันมากขึ้น แล้วก็ต้องทุ่มเทอะไรลงไปอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนานั้นจริงหรือเปล่า 1.แก้ปัญหายากจนได้ไหม2.สอดรับกับวิถีชีวิตประชาชนรึเปล่า ขณะเดียวกัน ที่เขาอ้างว่า เหตุการณ์มันดีขึ้น เพราะไปนับจำนวนของการก่อการร้าย การเกิดเหตุแต่ได้ดูไหมว่าขณะที่มันน้อยลงแล้วแต่ความรุนแรงมันมากขึ้น
นี่เป็นข้อสังเกตที่อ้างหรือพูดกันมันจริงไหมอย่างไร คิดว่าความเห็นมันถูกต้องไหม การแก้ปัญหาเรื่องนครปัตตานีคือ การแก้ปัญหาโดยทางการเมืองให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหา นี่คืออันที่หนึ่ง
อันที่สอง แน่นอนว่าต้องใช้เงินเยอะ แต่เป็นการใช้เงินสร้างขึ้นมา ไม่ใช่เอาไปปราบปรามนั่นสูญเสีย มันเป็นการสร้าง การขยาย รวมทั้งการวางแผน การพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดรับกับความต้องการ หรือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ให้เขาดำเนินการเอง
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าแนวคิดนี้ ถ้าเราเปิดใจกว้างมันมีนัยยะที่สำคัญอยู่ แต่แน่นอน เราอาจจะได้รับการระแวง เพราะคนคิดว่าถ้าสร้างมหานครแล้วพอมันแข็งแรงแล้วมันจะแยกออกไป แต่ผมว่าถ้าเราได้ใจเขา เขาจะไปไหมถ้าเราให้ความเป็นธรรม ให้เขาได้มีบทบาทหน้าที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติในการแก้ปัญหาของเขา เขาจะไปไหมข้อหนึ่ง
ข้อที่สองนี่ ถ้าเราตั้งบนพื้นฐานของความระแวง วิธีการในปัจจุบันจะหยุดยั้งขบวนการต่อเนื่องที่จะแบ่งแยกได้รึเปล่า
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พ.ค. 2553