อิมรอน โสะสัน
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประชาคมอาเซียนเปิดแล้วอย่างเป็นทางการ ความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนหกร้อยล้านคนคงต้องเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไรและจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของประชาชนภายใต้ประชาคมใหม่มากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีใครจะคาดเดาได้
ผมคิดว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนส่วนหนึ่งคือการให้คนไทยและคนในอาเซียนหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาของตนเองในภูมิภาค บางคนอาจจะมั่นใจด้วยซ้ำว่า ประชาคมอาเซียนตั้งขึ้นมา บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ คือผู้ที่ได้รับประโยชนน์สูงสุด ซึ่งน่าจะจริงอยู่ไม่น้อย เพราะอาชีพค้าขายคืออาชีพหนึ่งที่พร้อมจะปรับตัวเพื่อรองรับโอกาสทางการค้าและเปิดรับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้มากที่สุดอาชีพหนึ่ง
เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว การเป็นประชาคมคือความต้องการที่จะให้คนในประชาคมทบทวนตัวเองและคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น พร้อมที่จะเป็นผู้ให้มากขึ้น ผมหมายถึง การคิดให้กว้างและไกลจากผลประโยชน์ที่จะได้ในระดับชุมชนและประเทศของตนเองเป็นที่ตั้ง
ความเปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้าน ชุมชน และเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นตัวชี้วัดได้ในระดับหนึ่งว่า ความเปลี่ยนแปลงได้มาเยือนแล้ว เท่าที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนในรอบเดือนที่ผ่านมา ถนนหนทางตามชายแดนไทย-ลาว ชายแดนไทย-พม่า เริ่มขยายกว้างขึ้น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังเปลี่ยนไป การค้าการขายเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ผู้คนตามเมืองชายแดนกำลังตื่นเต้นรองรับประชาคมที่กำลังมาเยือนอย่างจดจ่อ
สำหรับประชาคมมุสลิมที่อาศัยติดกับเพื่อนบ้านชายแดน ที่มีวิถีชีวิต ความเชื่อต่างจากชุมชนมุสลิม ผมอยากจะนำเสนอในที่นี้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดขึ้น เช่น ถนน ตลาดชายแดน ฯ สามารถช่วยให้พี่น้องมุสลิมชายแดนมีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับเพื่อนบ้านมากขึ้น (อาจจะมากขึ้นกว่าอดีตที่ระบบการคมนาคมไม่เอื้อมากนัก) ผ่านการค้า การขาย การลงทุน หรือผ่านการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆด้วย ผมขอเน้นย้ำว่า “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับเพื่อนต่างศาสนิก ต่างวัฒนธรรมริมชายแดนย่อมมีส่วนสำคัญที่นำมาสู่การเข้าใจ การอยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุขของคนทั้งสองพรมแดนในระดับที่กว้างกว่าเมืองชายแดนอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว”
ผมคิดว่า การเปิดประชาคมจะส่งผลให้ชาวมุสลิมมีพื้นที่ทางการค้า การลงทุนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะโดยนิสัยส่วนตัวของชาวมุสลิมชายแดน (หรือมุสลิมทั่วๆไป) ที่ผมพอจะรู้จักอยู่บ้าง พวกเขามักสนใจอาชีพค้าขาย อาชีพการบริการ และสนใจการเดินทางข้ามแดนเป็นชีวิตประจำวันเป็นทุนเดิม
ด้วยกับคุณลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การเปิดเสรีของประชาคมอาเซียน จะมีส่วนช่วยอย่างยิ่งที่ชาวมุสลิมชายแดนจะฉกฉวยโอการนี้ทำความเข้าใจถึงคำสอนต่างๆที่อาจมีการบิดเปือนและสื่อไปในทางที่คลาดเคลื่อนสมอ (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) แต่หน้าที่ของมุสลิมคือการหาโอกาสชี้แจงมากกว่าการโต้ตอบด้วยความรุนแรง
ชาวมุสลิมชายแดนอาจต้องคิดถึงการเปิดร้านอาหารฮาลาลที่มีการบริการอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในประชาคมมุสลิมเอง กล่าวคือ มุสลิมที่อยู่ในเมืองหลักๆและเป็นชนชั้นกลางที่พอมีกำลังจ่าย คงมีความสนใจที่จะท่องเที่ยวตามตลาดชายแดนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การทำธุรกิจห้องพักและอาชีพบริการอื่นๆอาจจะได้รับความสนใจจากชาวมุสลิมไม่มากก็น้อย ซึ่งอาชีพบริการที่ผมยกตัวอย่างมานั้น คือ “กลยุทธ์” อันหนึ่งที่จะช่วยลดความตึงเครียดของความเข้าใจอิสลามและมุสลิมที่ผิดเพี้ยนไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า มุสลิมจะเห็นช่องทางในการทำหน้าที่นี้ได้ดีพอหรือไม่ โดยวิธีคิดที่ผมนำเสนอมานี้อาจจะดูง่าย แต่ในความเป็นจริง การบริการที่มีคุณภาพของผู้ประกอบการมุสลิมอาจจะยังถูกตั้งคำถามในเรื่องของมาตรฐานอยู่ไม่น้อย
ด้วยเหตุดังนี้ ผมจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวมุสลิมหันมาสนใจอาชีพด้านบริการให้มากขึ้น เพราะมันจะช่วยสื่อสารให้เพื่อนต่างศาสนิกของเราได้เข้าใจและได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้นผ่านการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะนี้
การเปิดพรมแดนอาจจะมีทั้งแง่บวก แง่ลบ ซึ่งถ้ามองในแง่บวก อาจหมายถึง การสร้างพื้นที่ทางธรุกิจ การค้าการลงทุนขึ้นใหม่ แต่...ถ้าลองพลิกเหรียญอีกด้านจะเห็นได้ว่า ยิ่งพรมแดนเปิดกว้างขึ้น ปัญหา และความไม่เข้าใจกันของคนที่ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม ฯ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะการแข่งขันย่อมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว การแข่งขันที่ดีคือการแข่งขันที่คำนึงถึงหลักคุณธรรม จริธรรม มีน้ำใจนักกีฬาทางการค้า การลงทุนต่อคู่แข่ง การเปิดประชาคมอาเซียนกำลังรอคอยผู้มีความสามารถเชิงการแข่งขันที่มุ่งหวังกำไรสูงสุดก็จริง
ในทางกลับกัน ถ้าพ่อค้า นักธุรกิจ นักลงทุนเหล่านั้นขาดคุณสมบัติที่เห็นใจผู้อื่นและไม่มีความเอื้ออาทรต่อกัน การเปิดประชาคมอาเซียนคงหมายถึงการเปิดศักราชใหม่ของความขัดแย้ง และความรุนแรงในอนาคตอย่างน่ากังวลไม่น้อย (วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะลัม)