Skip to main content

บีบีซีไทย - BBC Thai 

 

 

มัสยิดบ้านท่าด่านติดป้ายผ้าไว้หน้าอาคารเป็นภาษามลายู “ประเทศที่เจริญคือประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอย่างเป็นธรรม” มัสยิดเล็กๆแห่งนี้ตอนนี้ได้ต้อนรับผู้มาเยือนทุกวัน ผู้คนมากันจากหลายสารทิศเพื่อมาเยี่ยมครอบครัวแวมะนอ อดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยาที่เพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในมัสยิด

บันยาล แวมะนอ ลูกชายในครอบครัวแวมะนอบอกว่า คนมาเยี่ยมบางกลุ่มมาไกลถึงแถวจะนะ จังหวัดสงขลา และคนเหล่านี้เขาไม่รู้จัก พวกเขาจะมาเยี่ยมเยียน ถามไถ่ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแวมะนอและโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา ที่ซึ่งครอบครัวเพิ่งจะย้ายออกมาได้ไม่นานนักหลังจากที่ศาลแพ่งตัดสินยึดที่ดินของโรงเรียนไว้เป็นทรัพย์ของแผ่นดินเพราะศาลเชื่อว่ามีการใช้ที่ดังกล่าวสนับสนุนการก่อการร้าย

เรื่องราวของปอเนาะญีฮาดกลายเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ หลังจากที่ครอบครัวตัดสินใจย้ายออกและไม่อุทธรณ์คำสั่งศาล บันยาลลูกชายอดีตผู้บริหารโรงเรียนที่ติดคดีบอกว่าเมื่อปรึกษาหารือกับชาวบ้านที่เขาถือว่าเป็นเจ้าของร่วมของโรงเรียนเพราะช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจนเป็นของสาธารณะหรือ “วากัฟ” และชาวบ้านเห็นชอบให้ย้ายออก ก็ได้ช่วยกันขนข้าวของไปอยู่มัสยิดเป็นการชั่วคราว รอการระดมทุนจากชาวบ้านเพื่อหาที่อยู่ใหม่ “ตอนสู้คดีเราก็บอกกับศาลว่าครอบครัวไม่เกี่ยวข้องกับความผิดของพ่อ เจ้าของที่ดินทั้งห้าคนก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และไม่เกี่ยวข้องเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมก็ยอมรับคำตัดสินนั้น”

หลังข่าวคราวการย้ายออกจากที่ดินโรงเรียนแพร่ออกไป บันยาลได้ต้อนรับผู้ไปเยือนทุกวันจนแทบไม่มีเวลาว่าง ความสนใจในเรื่องราวของโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยาของคนในพื้นที่ดูจะมีมาไม่จบสิ้น คำว่าปอเนาะดูจะเป็นจุดดึงดูดเพราะความเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่อยู่คู่กับพื้นที่ และสถานการณ์ที่ทำให้ปอเนาะเป็นจุดสนใจเสมอมา บวกกับคำว่าเป็นของสาธารณะหรือวากัฟ วันที่ 29 ก.พ. เขามีกลุ่มผู้ไปเยี่ยมเป็นเด็กนักเรียนจากรามัญ ยะลา นักเรียนที่ไปก็เป็นนักเรียนโรงเรียนปอเนาะ

“ผมก็ดูข้อมูลจากที่เพื่อนๆแชร์กันมา” หนึ่งในเด็กหนุ่มที่ไปเยี่ยมกล่าว “ก็คิดว่าจะมาให้กำลังใจพวกเขา พร้อมกับเอาของมาบริจาค” เขาบอกว่า ได้ยินเรื่องราวของปอเนาะญีฮาดแล้วก็เสียใจ มันตอกย้ำข้อมูลที่เขามีอยู่นั่นคือโรงเรียนปอเนาะมักถูกเพ่งเล็ง เขาเชิญชวนคนที่ไปเยี่ยมว่าให้ช่วยกันบริจาคช่วยเหลือครอบครัวแวมะนอ ผู้ไปเยือนมักขอให้บันยาลเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น เขาก็จะเล่าซ้ำๆเดิมเรื่องคดีของพ่อที่ถูกข้อหาใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกซ้อม และที่ดินถูกศาลสั่งยึดแต่พ่อไม่ใช่เจ้าของที่ดิน หลายครั้งที่เล่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมรับฟังอยู่ด้วย

“เจ้าหน้าที่ก็ยังมาหาตลอด วันนี้ก็มีมาตั้งแต่เจ็ดโมงกว่า ตอนแรกมาบอกให้อุทธรณ์ ต่อมาก็มาบอกให้ไปหาเจ้าหน้าที่คนนั้นคนนี้ ผมก็บอกผมคงไม่ไปเพราะทุกๆวันมีคนมาหามากมายจนแทบจะไม่มีเวลาว่างอยู่แล้ว ทั้งต้องดูแลครอบครัว แล้วผมก็ไม่รู้จะไปทำไม” บางทีมีเจ้าหน้าที่ไปบอกว่าจะพัฒนาที่ดินเดิมให้เป็นศูนย์การศึกษา “ผมก็บอกเจ้าหน้าที่จะเอาที่ดินไปทำอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของเขา ผมไม่เกี่ยวข้องเพราะมันไม่ใช่ของผมแล้ว”

แต่การที่มีคนไปเยี่ยมมากมาย โพสต์ภาพแชร์ภาพในเฟสบุ๊กทุกวันทำให้กลายเป็นประเด็นใหม่ “เขาบอกว่าผมกำลังเป่าหูคน เจ้าหน้าที่บางคนก็มาบอกจะให้ผมช่วยอธิบายชาวบ้านเรื่องคำสั่งศาล ผมบอกไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปอธิบาย มันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่มากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่เป็นคนเดินเรื่องให้ยึด” ในวันนี้เขาจึงมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ่อยยิ่งกว่าเดิม สวนทางกับความหวังที่เคยคิดไว้ว่า เมื่อย้ายออกจากที่ดินของโรงเรียนและตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีแล้วเรื่องจะจบ

นอกจากนั้นเมื่อ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ประธานกรรมการอิสลามสี่จังหวัดใต้รวมทั้งผู้นำสถาบันสำคัญทางการศึกษาและศาสนาร่วมกันแถลงข่าวกรณีปอเนาะญีฮาดวิทยาว่า แม้ที่ดังกล่าวจะถูกยึดไปแต่ทางการมีเจตนารมย์จะให้ใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาแก่ชุมชน เป็น “วากัฟ” หรือของสาธารณะต่อไป พร้อมกันนั้นระบุว่า จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์ ในแถลงการณ์ แสดงความวิตกว่า กำลังมีการใช้กรณีปอเนาะญีฮาดสร้างกระแสให้เห็นเป็นว่า “รัฐได้ใช้อิทธิพลเข้าคุกคามโรงเรียนปอเนาะ” และการกระทำเช่นนี้เป็นการชี้นำและบิดเบือนความจริง

บันยาลยืนยันว่าการออกแถลงการณ์ไม่กระทบเขา และเขายังเห็นใจผู้ที่ออกมาแถลง การที่เจ้าหน้าที่เองพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยการผลักดันหลายฝ่ายให้ทำหลายอย่างนั้นเขาบอกว่า “สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำ ผมว่ามันไม่ดีสำหรับเขา คนเขาจะมองยังไง ถ้าเขาอยู่เฉยๆสักพักมันคงจะเงียบไปเอง”

การมีคนไปเยี่ยมทุกวันทำให้บันยาลบอกว่าเขาแทบไม่มีเวลาที่จะคิดเรื่องอะไรอีก ไม่มีเวลาจะเสียใจกับการสูญเสียลูกแฝดที่เพิ่งคลอด เพราะภรรยาที่ทั้งเครียดและทำงานหนักในการย้ายบ้าน ในบรรดาคนที่เข้าไปเยี่ยมเยียน บันยาลเล่าว่าบางคนตั้งคำถามกับเขาว่าทำไมไม่สู้ต่อให้ถึงที่สุด “ผมก็เหนื่อยแล้ว สิบเอ็ดปีที่ผ่านมามันมากพอแล้ว ผมต้องดูแลครอบครัว ผู้หญิงทั้งนั้น ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยได้อยู่ดี สิบกว่าปีที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้านจะโดนล้อมทุกครั้ง แล้วบางทีผมไม่อยู่ มีแต่ผู้หญิงอยู่ที่บ้าน ส่วนเรื่องคดีเราสู้มาสามปี ที่จริงทนายก็อยากให้สู้ หลายคนที่มาตั้งคำถามบอกว่าทำไมผมไม่สู้ให้ถึงที่สุด ผมก็ทำเต็มที่แล้ว แต่เรื่องนี้แค่ศาลชั้นต้นก็รู้แล้ว”

ชาวบ้านและภาคประชาสังคมยื่นมือเข้าไปช่วยเตรียมจัดงานกินข้าวยำระดมทุนในวันที่ 19 มีนาคม เพื่อหาที่อยู่ใหม่และหาที่ทางเพื่อจะสร้างโรงเรียนใหม่ให้เป็นของส่วนรวม บันยาลบอกว่าเขาไม่ได้กลับไปที่ปอเนาะอีกตั้งแต่ออกมา ขณะที่ผู้ที่ไปเยี่ยมแทบทุกรายจะต้องแวะเวียนไปดู หลายคนถ่ายรูปกระท่อมไม้หลังเล็กๆที่อยู่ของเด็กนักเรียนที่กำลังผุพังลงมา ปอเนาะญีฮาดวิทยากำลังเปลี่ยนสถานะของตัวเองอีกครั้งหลังถูกสั่งยึดที่ดิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559