Skip to main content

ฟารีดา ปันจอร์

อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

 

ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปเนื้อหาสาระสำคัญ ที่ได้จากเวทีถอดบทเรียน "11 ปี พัฒนาการและบทบาทของประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" และการจัดทำ Roadmap สภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI  ซึ่ง การถอดบทเรียนดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะมีการสื่อสารออกเป็นตอนๆ ครั้งที่สามนี้ เป็นการสรุปสาระสำคัญการจากการประชุมหารือประเมินบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งในครั้งนี้เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนของเครือข่ายองค์กรเยาวชนชายแดนใต้ 11องค์กร ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดชายแดนใต้  โดยได้จัดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2559 ณ โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดปัตตานี

เวทีศึกษาและถอดบทเรียนพัฒนาการ 11 ปีกลุ่มพัฒนาการองค์กรภาคประชาสังคมกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ  กลุ่มเยาวชนจากพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งไทยพุทธและมุสลิมจาก ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสรวม 12 องค์กร ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและสำรวจความคิดเห็น บทบาทของเยาวชน ต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ โดย 12 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา ที่มีการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ  ภาคประชาสังคมหลายองค์กร เติบโต และได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน จนสามารถที่จะเสนอวาระสำคัญๆ ต่อสังคมได้  กระนั้นสำหรับองค์กรเยาวชนต่างๆ ยังไม่ได้ยินเสียง หรือความคิดเห็นของพวกเขา ที่ชัดเจนนักต่อประเด็นด้านกระบวนการสันติภาพ

แม้องค์กรเยาวชนจะทำงานที่กลุ่มเยาวชนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เด็กเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ เด็กกำพร้า  เด็กนอกระบบ  หรือเด็กด้อยโอกาส  และงานของพวกได้ สัมผัสกับชุมอย่างแท้จริง แต่ข้อเสนอต่างๆ ยังไม่ถูกผลักดันไปสู่ประเด็นสาธารณะและเชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพ   เวทีในครั้งนี้เป็นการประเมินความกังวลและความคาดหวังของเยาวชนในกระบวนการสันติภาพในช่วงแรก เป็นการนำเสนอนิยามสันติภาพในมุมมองของเยาวชน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

1.  สันติภาพ คือ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนได้สะท้อนความคิดและความต้องการโดยไม่ถูกคุกคาม

2.  สันติภาพ คือ ความเป็นอิสรภาพการใช้ชีวิต  ศาสนา  การศึกษา วัฒนธรรม ภาษา

3.  สันติภาพ คือ การเคารพความแตกต่าง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

4.  สันติภาพ คือ  ความเข้าอกเข้าใจกันและการสร้างความเข็มแข็งร่วมกัน

5.  สันติภาพ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเพื่อเดินหน้าสันติภาพร่วมกัน

ในช่วงที่สองเป็นการแลกเปลี่ยนประเด็นความกังวลและความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ  กลุ่มเยาวชนได้สะท้อนในเรื่องของความกังวลและความคาดหวัง

ความกังวล

1.  มีความกังวลต่อความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมที่เป็นเวทีเปิดหรือเวทีสาธารณะของเยาวชน

2.  มีความกังวลว่าเสียงเยาวชนถูกมองข้าม

4.  มีความกังวลว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพจะไม่ยั่งยืน  ภายใต้รัฐบาลทหารและการขาดความต่อเนื่อง

5.  มีความกังวลต่อกาทำงานร่วมมือและความจริงใจในแต่ละฝ่ายเพื่อผลักดันสันติภาพ

6.  มีความกังวลต่อคนที่ทำงานด้านสันติภาพว่าจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าตัว

7.  มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากผู้ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ

8.  มีความกังวลต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ เช่น ยาเสพติด ของหนีภาษี

9.  มีความกังวลการทำงานร่วมกับคนในชุมชนในการสร้างสันติภาพ

10. มีความกังวลต่อข้อมูลสาธารณะที่เสนอภาพลักษณ์ของจังหวัดชายแดนใต้ในแง่ความรุนแรง และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

11. มีความกังวลต่อการขาดการทำงานที่ขาดร่วมมือ และความต่อเนื่องขององค์กรภาคประชาสังคม

12. มีความกังวลในด้านการแย่งพื้นที่มวลชน ในการทำงานจากฝ่ายต่างๆ และการทำงานที่ไม่ลงรอยกัน

13. มีความกังวลต่อการขาดองค์ความรู้ในการหาแหล่งทุน โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศ

 

ความหวัง (และความต้องการ)

1.  มีการเปิดใจยอมรับความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย

2.  กระบวนการสันติภาพที่เดินหน้าไปแล้วได้สร้างความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ต่อกระบวนการ

3.  ต้องการให้การพูดคุยสันติภาพได้สะท้อนเสียงของชาวบ้านได้สะท้อนความกังวลของตนเอง

4.  ต้องการให้ประเด็นความยุติธรรมมีความชัดเจน

5.  ต้องการให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นกว่านี้

6.  ต้องการให้เครือข่ายประชาสังคมมีการรวมตัวที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

7.  ต้องการให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานของนักกิจกรม

8.   ต้องการให้เยาวชนเป็นแกนหลักร่วมในการขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

ในส่วนของความคาดหวังในต่อสภาฯประชาสังคมในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ องค์กรเยาวชนมี ความคาดหวังดังนี้

1.  สภาฯ ควรเป็นตัวเชื่อมระหว่างหน่วยงานต่างๆ และกลุ่มเยาวชน

2.  สภาฯ ควรเป็นเชื่อมต่ออย่างหลวมๆ ที่ทำงานประสานระหว่างองค์กรประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ  ทั้งในแง่ของข้อมูลและการดำเนินงาน

3.  สภาฯ ควรผลักดันข้อเสนอต่างๆ ให้ใช้ได้จริง

4.  สภาฯ ควรขับเคลื่อนผู้นำท้องถิ่นในการทำงานสันติภาพ

5.  สภาฯ ควรมีตัวแทนเยาวชน อยู่ในคณะกรรมการสภาประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ และดูแลเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน

6.  สภาฯ ควรเชื่อมต่อการทำงานกับสภาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน

โดยสรุปองค์กรเยาวชน มีความเห็นว่ากระบวนการสันติภาพควรเดินหน้าต่อ แต่สิ่งที่ท้าทายต่อสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ ยังต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนมากขึ้นในฐานะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำงานเชื่อมต่อองค์กรภาคประชาสังคมสู่การทำงานกับชุมชนท้องถิ่น

 

อ่านตอนที่ 1, 2 และ 3 ได้ตามลิงค์ด้านล่าง

 

ภาคประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : การประเมินและก้าวต่อไปข้างหน้า (1)

ภาคประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : การประเมินและก้าวต่อไปข้างหน้า (2)

ภาคประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : การประเมินและก้าวต่อไปข้างหน้า (3)

  •