Skip to main content

บีบีซีไทย - BBC Thai 

 

 

วันนี้ (3 มี.ค.)ได้เกิดเหตุการณ์ยิงกันเสียชีวิต 4 รายด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นเป็นทหารพราน ส่วนอีก 3 ใน 4 รายเป็นคนพุทธ รายแรกคือนายฉัตรชัย แซ่ทอง วัย 55 ปีอยู่ที่ตำบลบาโระ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ถูกยิงขณะกรีดยางและถูกเผาเมื่อเวลาประมาณ 6.30 น. 

ต่อมาเวลาใกล้เคียงกันมีผู้พบศพทหารพรานอานัส ดามูซอ วัย 26 ปีทำงานด้านการข่าวให้กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 41 นอนเสียชีวิตอยู่ข้างทางที่ถนนสายเปาะยานิ - เจาะบองอ ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในสภาพศพที่ถูกยิงหลายนัด 

ถัดจากนั้น เวลาประมาณ 13.45 น. มีผู้ลอบยิงนายสุทัศน์ ไกรวรรณ เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปัตตานี เสียชีวิตที่หมู่ 2 บ้านบาซาเวาะเซ็ง ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ปัตตานี และท้ายสุดเวลาประมาณ 18.00 น. ในท้องที่อำเภอยะรัง ปัตตานี มีผู้ใช้อาวุธปืนยิงข้าราชการเกษียณแล้ว พ.ต.อ.องอาจ ทองมา วัย 82 ปีขณะไปปั่นจักรยานออกกำลังกายจนเสียชีวิตและยังถูกเผาด้วย 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 มี.ค. มีผู้สังหารประชาชนเสียชีวิตที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ชื่อนายอิบรอฮีม ราแดง และที่รือเสาะ นราธิวาส ก็มีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตไปอีกหนึ่งรายที่ตำบลบาตงโดยเหตุเกิดในวันเดียวกัน 

ขณะที่การยิงกันรายวันทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งวิตกกับการแก้แค้นของคนต่างกลุ่ม เหตุการณ์ยิงคนพุทธและเผาก็สร้างความวิตกในหมู่ผู้จับตาสถานการณ์ภาคใต้ ในบรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการแบ่งปันข้อมูลและร่วมกันประณามการกระทำดังกล่าว 

นายรักชาติ สุวรรณ์ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนพุทธเกรงว่าจะส่งผลกระทบทำให้คนพุทธในพื้นที่ที่ขณะนี้มีเหลือน้อยอยู่แล้วยิ่งพากันย้ายออกไป ในขณะนี้ สิ่งที่อยากเห็นคือเจ้าหน้าที่ตรวจตราให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ให้ทำโดยโปร่งใสและยุติธรรม ไม่ใช้อำนาจเกินหน้าที่เพราะเกรงจะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากนั้นอยากเห็นเจ้าหน้าที่สร้างความชัดเจนว่า เหตุการณ์ใดเป็นเรื่องส่วนตัว ประชาชนจะได้รับรู้ว่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับการสร้างสถานการณ์มีมากน้อยเพียงใด 

“เพราะหากรัฐไม่ชัดเจนตรงนี้ เหตุการณ์นี้จะถูกนำมาสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งได้ทันที” เขายอมรับว่าการสังหารประชาชนด้วยวิธีการฆ่าและเผานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ก็ยากจะฟันธงลงไปได้ว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่ นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ต้องหาความชัดเจนให้ได้ไม่เช่นนั้นจะถูกใช้เป็นเงื่อนไขขยายความขัดแย้ง 

เหตุการณ์รุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เกิดท่ามกลางความพยายามในอันที่จะสร้างบรรยากาศของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการพูดคุย หลายองค์กรเรียกร้องในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และขอให้ผู้ใช้อาวุธทั้งสองฝ่ายเคารพกฎเกณฑ์ของการปะทะตลอดจนไม่ใช้ชีวิตของเป้าหมายอ่อนแอเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง 

นอกเหนือจากนั้นหลายกลุ่มเช่นกลุ่มนักกฎหมายเสนอให้ขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ให้ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่หารือไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุติการซ้อมทรมาน และยุติการกระทำอื่นใดที่จะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม รวมทั้งบางกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้หญิงเสนอให้ดูแลปากท้องของชาวบ้านเพื่อเพิ่มศักยภาพประชาชน 

อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเตือนว่า ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยของไทยกล่าวไว้ว่า ขณะนี้ทั้งในหมู่ผู้ก่อเหตุและฝ่ายไทย มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยและพร้อมคัดค้าน ส่วนดาโต๊ะซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียก็ระบุชัดว่า ในกลุ่มผู้เห็นต่างมีผู้ที่พร้อมดำเนินการเพื่อขัดขวางการพูดคุย 

(ภาพเหตุระเบิดรถยนต์ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2559)

 

เผยแพ่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559