Skip to main content

วิจารณ์หนังสือร่วมสมัย ฟิกฮุ อัล ญิฮาดเขียนโดย ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ

วิจารณ์โดย ชัยคฺ รอชิด อัล-ฆ็อนนูชียฺ แปลโดย อบุล อิซซฺ

 

 

ความสำคัญของหัวข้อการวิจารณ์ในครั้งนี้ เกิดจากการความน่าสนใจต่อแนวคิดสำคัญที่สุด แนวคิดหนึ่งในความคิดอิสลามร่วมสมัย นั่นคือการญิฮาด ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญ ในโครงสร้างของศาสนาอิสลาม ญิฮาดตามที่กล่าวไว้ในหะดีษ เป็น "จุดสูงสุดของอิสลาม หรือยอดของศาสนา" โดยปรากฏมุมมอง และท่าทีที่แตกออกไป อย่างกว้างขวาง ทั้งจากสายตาข้างใน และภายนอกอิสลาม เป็นมุมมองที่มีผลกระทบอย่างยิ่ง ืต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในแง่ของบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอิสลาม ในระดับสากล

ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองต่างๆ เหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมเอง กับรัฐบาลของพวกเขา และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม, รวมทั้งในมุมมองของการตื่นตัวทั่วโลกมุสลิม ทั้งในระดับของความเชื่อและการปฏิบัติ อันนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ระหว่างอิสลาม ในฐานะที่เป็นศาสนาหนึ่ง (ความเชื่อ, พิธีกรรม, ศีลธรรม) และเป็นอุดมการณ์หนึ่ง ที่มีอิทธิพลสูง ต่อความคิดและการประพฤติปฏิบัติ ทั้งในทางสังคม และการเมือง หรือที่เรียกว่า"การเมืองอิสลาม” อันมีญิฮาดเป็นแกนกลาง ในฐานนะที่เป็นแนวทางหนึ่ง

งานวิจารณ์ชื้นนี้ เป็นผลจากสถานะอันสำคัญ ของบุคคลที่ได้นำเสนอมุมมอง ต่อแนวคิดที่สำคัญ แนวคิดนี้ – นั่นคือ ชัยคฺ ยูซุฟ อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ในโลกอิสลามร่วมสมัย ซึ่งยืนยันได้จากบทบาทของท่าน ในระดับต่างๆ ท่านมีงานเขียนกว่า 150 เล่ม ครอบคลุมแนวคิดทุกด้าน ของอิสลาม นอกจากจะเป็นสมาชิกสภานิติศาสตร์ และสำนักคิดสำคัญหลัก หลายแห่งแล้ว ท่านยัง ได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (President of the International Union of Muslim Scholars) รวมทั้งเป็นประธานสภายุโรป เพื่อการวิจัย และฟัตวา (The chairman of the European Council for Fatwa and Research) และองค์กรการกุศล จำนวนมาก ตลอดจนเป็นสมาชิกคณะกรรมการ สถาบันอิสลามศึกษาต่างๆ รวมไปถึงศูนย์ออกซ์ฟอร์ด เพื่ออิสลามศึกษา (The Oxford Centre for Islamic Studies) ในฐานะของ "อิสลามการเมือง" ท่านเติบโตขึ้นในขบวนการ "ภราดรภาพมุสลิม" ดำรงตำแหน่งในระดับแกนนำคนสำคัญ ท่านยังเป็นผู้ที่โดดเด่น ในโลกของสื่อสมัยใหม่ ผ่านเว็บไซต์ที่สำคัญที่สุด ของมุสลิมเว็ปไซต์หนึ่ง นั่นคืออิสลามออนไลน์ (islamonline.net) รวมทั้งผ่านโปรแกรมประจำสัปดาห์ ที่มีชื่อเสียงของท่าน ทางสถานีโทรทัศน์อัลญะซีเราะฮฺ Aljazeera ในรายการ "ชะรีอะห์ วัล หะยาต (ชะรีอะฮฺกับชีวิต) ที่มีผู้เฝ้าชมจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ในแต่ละสัปดาห์

ชัยค์ อัลเกาะเราะเฎาะวีย์ ได้พัฒนาทฤษฎีพื้นฐาน ในอิสลามร่วมสมัย ผ่านมุมมองและจุดยืนทั้งหมดของเขา อีกทั้งยังเรียกร้องออกไปอย่างกว้างขวาง โดยไม่เหน็ดเหนื่อยในประเด็นของแนวคิด “วะสิฏิยะฮฺ” หรือทางสายกลาง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจ จากซูเราะฮฺที่สองของอัลกุรอาน "และเราได้ทำให้พวกเจ้า เป็นประชาชาติสายกลาง

ท่านจึงได้เสนออิสลาม ในฐานะที่เป็นทางสายกลาง ระหว่างกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ กับกลุ่มที่แข็งทื่อ เป็นทางสายกลาง ระหว่างวัตถุนิยมและจิตนิยม ทางสายกลาง ระหว่างปัจเจกนิยม (individualism-ยึดตนเองเป็นหลัก) กับคติรวมหมู่ ((collectivism-ยึดส่วนรวมเป็นหลัก หรือกระทำอะไรตามๆกัน)) ระหว่างคตินิยม กับความจริงนิยม ฯลฯ ท่านนำเสนอการอิจญติฮาด ในด้านต่างๆ ทั้งหมดของท่าน โดยเริ่มจากมุมมองวะสิฏิยะฮฺ รวมไปถึงการอิจญติฮาด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการญิฮาดด้วย ดังปรากฏในหนังล่าสุดของท่าน “ฟิกฮุล-ญิ ฮาด” การศึกษาร่วมสมัยของกฏเกณฑ์ และปรัชญาผ่านกุรอานและซุนนะฮฺ

ท่านได้กล่าวถึงการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ว่า “ใช้เวลาศึกษาค้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาหลายปี และสาละวนอยู่กับแนวคิดของท่าน เป็นเวลานับทศวรรษ” ผลจากความพยายามของท่าน ทำให้เกิดหนังสือที่สำคัญขนาดสองเล่ม ซึ่งท่านได้วางแนวคิดผ่านมุมมองวะสิฏิยะฮฺ มุมมองของท่านต่อประเด็นที่สำคัญเรื่องนี้ ทำให้ทฤษฏีญิฮาดของท่านมีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งท่านหวังว่า จะเป็นการอุทิศสู่การวินิจฉัย ต่อประเด็นที่เผ็ดร้อนนี้ หนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่อันตราย และเสียหายอย่างยิ่ง ในเข้าใจญิฮาดผิดพลาด การละเมิด ด้วยการหลั่งเลือดในนามของญิฮาด การละเมิด ทรัพย์สินและชีวิต อีกทั้งสร้างมลทิน มีการกล่าวหาอิสลาม ว่า มีความรุนแรงและการก่อการร้าย ขณะที่อิสลามบริสุทธิ์จากสิ่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพวกเราในประเด็นเผ็ดร้อนดังกล่าว คือการที่ความจริงได้สูญหายไป ระหว่างความเลยเถิดสองด้าน คือความสุดโต่งและความหย่อนยาน”

การอธิบายของเราต่องานสำคัญชิ้นนี้ จะมุ่งเน้นสร้างความกระจ่าง ต่อมุมมองทั่วไป ของการญิฮาดในอิสลาม ตามทรรศนะของ ชัยคฺเกาะเราะเฎาะวีย์ ที่วางอยู่บนอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตลอดจนเชื่อมโยงกับมรดกด้านตัฟซีรฺและฟิกฮฺ ดังปรากฎอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานี้ รวมทั้งสภาพความเป็นจริง ของรัฐประชาชาติมุสลิม ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลให้มีการกดขี่ภายใน หรือการรุกรานจากภายนอก

ภายใต้กระแสอำนาจในปัจจุบัน วัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ให้คุณค่าอย่างยิ่งกับเสรีภาพ อีกทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งให้การยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัฐ และสิทธิในการทำสงครามปกป้องตนเอง จากบริบทดังกล่าวนี้เอง ที่มุมมองต่อญิฮาดของชัยคฺอัลเกาะเราะเฎาะวีย์ ได้ปรากฏขึ้น สิ่งที่เราจะสำรวจมิใช่รายละเอียดของเนื้อหา แต่เป็นภาพกว้างโดยทั่วไป, ประเด็นที่แปลกใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำถาม ทั้งจากภายในและภายนอกสังคมมุสลิม เช่น รากฐานของแนวคิดญิฮาดคืออะไร? ญิฮาดคืออะไร? รูปแบบเป็นอย่างไร? มีเป้าหมายอะไร? เป็นการปกป้องหรือการยึดครองก่อน? เป็นสงครามระหว่างดารุลอิสลาม กับดารุลกุฟร์หรือไม่? ญิฮาดอยู่ที่ใด เมื่อพิจารณาจากกระแสของอุมมะฮฺในปัจจุบัน

 

ระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย

ในบทนำ ผู้เขียนได้กำหนดพื้นฐานต่างๆ สำหรับการศึกษาดังต่อไปนี้

ก. การอาศัยอัลกุรอาน ในฐานะที่เป็นตัวบทอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ซึ่งทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานสำหรับแหล่งที่มาอื่นๆ รวมไปถึงอัซซุนนะฮฺของท่านนบี ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ โดยใช้ตรรกะทางภาษาเดิม คือภาษาอาหรับ ที่ไม่จำเป็นต้องปรับความหมายให้เข้ากับตัวบท และบนพื้นฐานที่ว่า อายะฮฺทั้งหมดในอัลกุรอานนั้น ถูกประทานลงมาเพื่อการนำไปใช้ “ดังนั้น เราได้ตั้งคำถามอย่างยืดยาว ต่อการเรียกร้องของผู้ที่กล่าวว่า ในอัลกุรอานมีอายะฮฺหนึ่ง ที่พวกเขาเรียกว่า “อายะตุซ-ซัยฟฺ” (โองการแห่งดาบ) ซึ่งได้ยกเลิกไ ปหนึ่งร้อยสี่สิบอายะฮฺ หรือมากกว่า โดยที่พวกเขาเอง ยังมีความเห็นต่างกันว่า เป็นอายะฮฺใด” ผู้เขียนจึงทำให้หลักการยกเลิก ในอัลกุรอานของพวกเขา เป็นโมฆะเกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการยับยั้งกลุ่มนิยมความรุนแรง ที่ทำให้อายะฮฺต่างๆ ดังต่อไปนี้ แทบใช้การไม่ได้ เช่น อายะฮฺที่ส่งเสริมความเมตตากรุณา การให้อภัย การปฏิสัมพันธ์ กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ด้วยวิทยปัญญา คำสอนที่สวยงาม และการรู้จักแยกแยะ ระหว่างคนไม่ใช่มุสลิมส่วนน้อย ซึ่งเป็นศัตรูที่อธรรม โดยสามารถทำการญิฮาดปกป้องได้ กับคนไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่ที่รักสันติภาพ และมีความยุติธรรม ตลอดจนมีใจกรุณา

ข. การอาศัยอัซซุนนะฮฺที่เชื่อถือได้ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับหลักฐานที่แข็งแรงกว่า เช่น อัลกุรอาน ดังนั้น ผู้เขียนจึงถือว่าคำกล่าวต่อไปนี้ ขาดน้ำหนัก เช่น “ฉันถูกส่งมาพร้อมกับดาบ” และคำพูดอื่นๆ โดยใช้วิธีการที่ปรากฎอยู่ในศาสตร์วิชาหะดีษ ท่านยังได้อธิบายหะดีษศอฮี้ฮฺ ที่บัญชาให้ต่อสู้กับผู้คน จนกระทั่งพวกเขากล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด ที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะ นอกจากอัลลอฮฺ” โดยนำคำทั่วไปของคำว่า “ผู้คน” ไปใช้ในความหมายกับกลุ่มเฉพาะ นั่นคือพวกตั้งภาคีชาวอาหรับที่ตั้งตนเป็นศัตรู

ค. ประโยชน์จากมรดกอันทรงคุณค่าของฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) โดยไม่อคติต่อสำนักคิดทางฟิกฮฺ (มัซฮับ) หรือยึดติดเพียงแค่สำนักคิดทางฟิกฮฺใด สำนักหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านวางหลักการอยู่บนการเปรียบเทียบ วิเคราะห์ การวิพากษ์วิจารณ์ และเลือกเอาเฉพาะทรรศนะที่เหมาะสมเท่านั้น ท่านได้แยกแยะระหว่างฟิกฮฺ อันเป็นผลผลิตจากความอุตสาหะด้วยสติปัญญา เพื่อดึงกฏเกณฑ์ออกมาจากชะรีอะ ฮฺกับชะรีอะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺประทานลงมาโดยตรง ฟิกฮฺที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกคัดลอกมาจากตำรา แต่มันเป็นการวินิจฉัย ของนักนิติศาสตร์เองเสียมากว่า ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำเสนอสิ่งที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับวันเวลาและสถานที่เฉพาะ โดยเฉพาะในยุคสมัยของเรา การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆได้เกิดขึ้น

ง.การใช้วิธีการเปรียบเทียบ ระหว่างอิสลามกับศาสนาอื่น และระบบกฎหมายต่างๆ

จ. ความสัมพันธ์ของฟิกฮฺ ที่มีต่อความจริงแห่งยุคสมัย นักนิติศาสตร์อิสลาม เมื่อพูดถึงญิฮาด ก็ต้องรู้ถึงหลักการที่ถูกกำหนดในเรื่องนี้ เช่น หลักของการปกป้องร่วมกัน (อัต ตะดาฟุอฺ) หน้าที่ในการเตรียมความพร้อมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อต่อกรกับศัตรู และจะต้องต่อสู้กับบรรดาผู้ที่เริ่มต่อสู้กับมุสลิม การห้ามการล่วงละเมิด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นอื่นๆที่ปรากฏออกมา (ถือว่าเป็นมุตะฆ็อยยิเราะฮฺหรือเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง) อย่างเช่น การประณามสงคราม การแสวงหาสันติภาพ และการออกกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ และอำนาจอธิปไตยของรัฐ ในประเด็นนี้ผู้เขียนยืนยันว่า “ภายใต้อิสลาม เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ ในโลกที่ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัย มากกว่าความหวาดกลัว ความสมานฉันท์แทนความเป็นจารีตนิยม ความรักแทนความเกลียดชัง เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่อันมีสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ในความเป็นจริง ปัญหาหลักของเรา ซึ่งมีพี่น้องที่แข็งทื่อของเรา ได้ปิดประตูทั้งหมด และยืนกรานอยู่บนจุดยืนเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือพวกเขายังคงอยู่ในโลกแห่งอดีตไม่ใช่โลกปัจจุบัน อยู่ในโลกแห่งหนังสือ มากกว่าโลกแห่งความจริง”

ฉ. การยึดหลักการสายกลาง ในการดะอฺวะฮฺ การสอน การฟัตวา การศึกษาวิจัย การปฏิรูปและการฟื้นฟู ท่ามกลางวิธีการที่หลากหลายทางฟิกฮฺนั้น จะต้องฟื้นฟูศาสนาจากภายใน ผ่านการอิจญติฮาดใหม่ๆสำหรับยุคสมัยของเรา เช่นเดียวกับที่นักปราชญ์ของเราในอดีตได้ทำการวินิจฉัยในยุคของพวกเขา ผ่านการตีความตามตัวบทโดยอาศัยความมุ่งหมายเป็นรากฐาน มีความหนักแน่นเมื่อสืบสานไปถึงอุศูล (รากฐาน) และการยืดหยุ่นในเรื่องปลีกย่อย การแสวงหาวิทยปัญญาที่มีอยู่ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม และความสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย กับรากฐานทางชะรีอะฮฺ

ช. เมื่อศึกษา “ฟิกฮฺ อัล ญิฮาด” มีสิ่งหนึ่งที่สามารถรับรู้ถึงความเอาใจใส่ของผู้เขียนได้ไม่ยาก ท่านไม่ได้นำเสอนตัวเองว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว เหนือฟุเกาะฮาอฺคนอื่นๆ อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้น ในการอ้างอิงทรรศนะที่ได้รับการสนับสนุน จากบรรดาปวงปราชญ์ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าทรรศนะเหล่านี้ จะถูกทอดทิ้งหรือถูกเพิกเฉยไปแล้วก็ตาม เป็นการปัดฝุ่นสิ่งที่ถูกเก็บรวบรวมเอาไว้ แล้วทำการอธิบาย นำเสนอในรูปแบบที่น่าดึงดูดใจกว่า เป็นการมอบชีวิตใหม่ให้ ท่านมีความระมัดระวัง ในการสนับสนุนทรรศนะต่างๆ ของท่าน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า และความชำนาญในวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งได้รับประโยชน์จากความรู้ที่ลึกซึ้งของท่าน จากแหล่งที่มาของคำสอนอิสลาม และความคุ้นเคยของท่าน ที่มีต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ขัดแย้งในตนเอง และฝังรากลึกต่อมุมมองแห่งยุคสมัย ในเรื่องการญิฮาดในอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางในสังคม ผ่านวัฒนธรรมสมัยใหม่ในเรื่องสงคราม และสันติภาพ สิ่งใหม่ๆ จากมุมมองนี้ ไม่ใช่ประเด็นรายละเอียดปลีกย่อย เพราะประเด็นเหล่านั้นกระจัดกระจายและฝังอยู่ในหนังสือต่างๆ แต่เป็นการให้เห็นภาพโดยรวม และทำให้งานนี้ กลายเป็นมติที่เห็นร่วมกัน ซึ่งฝ่ายต่างๆ ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้เกิดความคุ้นเคย และทำให้พวกเขายอมรับสิ่งที่ไม่มักคุ้นได้ง่าย ความสามารถในการสร้างมติร่วมกันนี้ เป็นวัฒนธรรมพิเศษของอุละมาอฺยิ่งใหญ่ตลอดยุค ดังนั้น ผู้เขียนมิได้พูดเกินเลย เมื่อพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วน ท่ามกลางนักนิติศาสตร์ คนทำงานอิสลาม นักประวัติศาสตร์ นักบูรพาคดี นักการทูต

 

แก่นของญิฮาดและรูปแบบของมัน

คงจะไม่มีแนวความคิดใดในอิสลาม จะตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การกล่าวหาคำสอนอิสลามและมุสลิม ได้อย่างมากมาย เท่ากับแนวคิดญิฮาด ซึ่งนำไปสู่ความเลยเถิดสองด้าน คือการสุดโต่งจนเกินจริง กับหย่อนยานจนเกินเหตุ

ความเลยเถิดในรูปแบบที่สอง ได้รับการสนับสนุน จนถึงกับต้องการจะลบล้างญิฮาดออกจากวิถีของอุมมะฮฺ เผยแพร่แนวคิดการเชื่อฟังและการยอมจำนน ภายใต้การเรียกร้องที่เสแสร้งต่างๆ เช่น อดทนและสันติภาพ ซึ่งชัยคฺยูซุฟ อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ เรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า “เป็นตัวแทนของพวกล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นปรปักษ์กับญิฮาด จนกระทั่งได้สร้างกลุ่มใหม่ ซึ่งได้กุอิสลามขึ้นมาใหม่ เป็นอิสลามที่ปราศจาก ญิฮาด และอุทิศตนเองเพื่อส่งเสริมแนวคิดนี้ ตัวอย่างเช่น พวกบาไฮและกอดยานีย์”

กลุ่มสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง เป็นกลุ่มที่สร้างแนวคิดญิฮาด ว่าเป็นการสงครามอันเดือดดาลเพื่อต่อสู่กับโลก ทั้งใบ โดยเห็นว่าผู้คนทั้งหมด ล้วนเป็นศัตรูของมุสลิม ตราบใดที่พวกเขายังไม่ได้เป็นมุสลิม กลุ่มหลังนี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับนิยามของพวกตะวันออกศึกษา (Orientalists) อย่างยิ่ง ซึ่งนิยามญิฮาดเอาเองว่า เป็นการเผยแพร่ด้วยคมดาบและญิฮาด เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ราวกับว่านั่น เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานข้อที่หก (Encyclopaedia of Islam, ฉบับแปลเป็นภาษา อาหรับ, หน้า 2778)”

ชัยคฺ ยูซุฟ อัลเกาะเราะเฎาะวียฺ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้รับมือกับแนวคิดสองด้าน ผ่านการวิเคราะห์ทางภาษาของคำว่า “ญิฮาด” ซึ่งความหมายรากฐานดั้งเดิม หมายถึง ความพยายามอย่างสุดความสามารถ รวมทั้งได้ศึกษาเหตุการณ์ ที่ปรากฏในอัลกุรอานและหะดีษ และความเข้าใจของนักนิติศาสตร์มุสลิม

ท่านได้สรุปว่าระหว่างการญิฮาดและกิตาล(ต่อสู้)แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นคำสั่งให้ร่วมญิฮาดที่ประทานมาในมักกะฮฺซึ่งไม่มีการสู้รบแต่อย่างใด แต่เป็นการญิฮาดด้วยการดะอฺวะฮฺผ่านอัลกุรอาน

“ดังนั้น เจ้าอย่าเชื่อฟังพวกปฏิเสธศรัทธา และจงต่อสู้ดิ้นรน กับพวกเขา ด้วยมัน (อัลกุรอาน) โดยการต่อสู้ดิ้นรนอันยิ่งใหญ่” (อัลฟุรกอน 25:52) (ดูหน้า 50-52)

คำนี้มีใช้ในอัลกุรอานและหะดีษ โดยมีความหมายหลากหลาย เช่น การที่คนหนึ่งมุมานะที่จะต่อต้านศัตรู ต่อต้านความชั่วร้ายหรือต่อต้านกิเลสของตนเอง เป็นต้น ดังนั้น คำว่าญิฮาดจึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่าการสู้รบ สำหรับญิฮาดนั้นผู้เขียนคือชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎอวียฺได้ยกคำกล่าวของอิบนุตัยมิยะฮฺว่า “อาจด้วยหัวใจ การเรียกร้องสู่อิสลาม ข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้ง ด้วยการแนะนำหรือลดข้อยุ่งยากเพื่อประโยชน์แก่มุสลิม หรือด้วยร่างกายนั่นคือการต่อสู้”

ผู้เขียนยังได้หาข้อสนับสนุน จากนักวิชาการที่โดดเด่นอีกท่านหนึ่ง คือ อิบนุก็อยยิม ลูกศิษย์ของอิบนุตัยมิยะฮฺ เพื่อที่วางขอบเขตโดยทั่วไปของญิฮาด ซึ่งนั่นทำให้มุสลิมทุกคน เป็นมุญาฮิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ใช่มุกอติล

อิบนุ ก็อยยิม ได้สรุปจากการศึกษาของท่าน เกี่ยวกับกระบวนการเรียกร้องสู่อิสลาม ว่า ประกอบด้วยการญิฮาด 13 ระดับ (ย่อย ) ระดับแรกคือ ญิฮาด อันนัฟสฺ (ญิฮาดตัวตน) ซึ่งประกอบจากสี่ระดับ คือ ญิฮาดหรืออุตสาหะเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ทางนำ, ญิฮาดโดยปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้น, ญิฮาดเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้ยังผู้อื่น และญิฮาด เพื่อให้อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ในหนทางดังกล่าว

ระดับที่สองคือญิฮาดกับชัยฏอน ซึ่งมีสองระดับ คือญิฮาดกับความลังเลสงสัย ในความศรัทธาซึ่งชัยฏอน เข้ามากระซิบกระซาบ และต่อสู้กับกิเลสและความชั่วร้าย ที่ชัยฏอนเรียกร้อง

ระดับที่สามคือผู้ปฏิเสธและมุนาฟิก ประกอบด้วยสี่ระดับคือ ด้วยหัวใจ ด้วยลิ้น ด้วยทรัพย์สินและร่างกาย

ระดับ ที่สี่คือ ญิฮาดกับผู้กดขี่และความชั่วร้าย ซึ่งมีสามระดับ คือด้วยมือหากเป็นไปได้ หากไม่ก็ด้วยลิ้น และหากยังไม่ก็ด้วยหัวใจ

ผู้เขียนมีความเห็นแตกต่างเล็กน้อย เกี่ยวกับประเด็นการญิฮาดกับผู้กดขี่ และความชั่วร้าย เช่นเดียวกับญิฮาดผู้ปฏิเสธการการรุกรานจากภายนอก ขณะเดียวกันได้เน้นการเผชิญหน้าด้วยสันติวิธี โดยวิธีการที่เป็นไปได้ เช่นการเผชิญหน้ากับผู้ปกครองฉ้อฉล ผ่านระบบรัฐสภา พรรคการเมือง หรือการแยกขั้วอำนาจเป็นต้น (หน้า198 )

ชัยคฺยังได้เน้นย้ำการญิฮาดทางปัญญา และวัฒนธรรม “ผ่านการจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาอิสลาม ระดับผู้เชี่ยวชาญ, การจัดตั้งหนุ่มสาวหัวกะทิ ทั้งทางด้านการศึกษาและจริยธรรม เพื่อเป็นการตระเตรียมสู่สถาบันการศึกษา และความคิดอันเป็นวิธีการบูรณาการ มรดกทางความรู้ของเรา กับวัฒนธรรมสมัยใหม่ เราไม่เรียกร้องให้ถอนตัวจากสังคมโลก แต่ให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม และความก้าวหน้า เราเลือกที่จะรับเอาบางสิ่ง และละทิ้งบางสิ่ง โดยอาศัยแนวคิดและมาตราฐานของเรา เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยหยิบยืมแนวคิด และการประดิษฐ์ต่างๆจากเรา แล้วนำไปพัฒนา และใช้ เพื่อสร้างความก้าวหน้าของพวกเขา สิ่ง ใดที่เรารับมาจะถูกเติมด้วยจิตวิญญานของเรา ด้วยบุคคลิกลักษณะของเราและมรดกทางศีลธรรมของเรา” (หน้า 190-192)

ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฏอวียฺ ได้สรุปในการศึกษาเรื่องฟิกฮฺแห่งญิฮาดในอิสลามว่า :ญิฮาดมีสองประเภท คือญิฮาดพลเรือนกับญิฮาดกองทัพ โดยญิฮาดกองทัพหมาย ถึงการต่อสู้กับศัตรูที่รุกรานมุสลิม ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ เมื่อมีความจำเป็นญิฮาดนี้เป็นเรื่องของรัฐ ส่วนการญิฮาดด้วยจิตวิญญาณนั้น “ครอบคลุมทั้งสถาบันการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม เศรษฐศาสตร์ การศึกษา สุขภาพ การแพทย์ สิ่งแวดล้อมและการสร้างความเจริญก้าวหน้า จุดประสงค์ของญิฮาดพลเรือน เป็นความมุมานะของคนหนึ่ง โดยมีความบริสุทธิ์ใจ เพื่ออัลลอฮฺ ทั้งนี้เพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ขาดความรู้ สร้างงานแก่ผู้ว่างงาน อบรมคนงาน ให้อาหารและเสื้อผ้าแก่ผู้ขัดสน จัดที่อยู่ให้คนไร้บ้าน ช่วยเหลือคนป่วย พัฒนาตัวเองในส่วนที่สังคมต้องการ สร้างโรงเรียนให้แก่นักเรียน สร้างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา สร้างมัสญิดให้คนได้อิบาดะฮฺ สร้างสโมสรกีฬา ให้กับคนรักกีฬาได้ฝึกฝน” (หน้า 215)

 

วัตถุประสงค์ของการทำญิฮาด

อิสลามนั้นเรียกร้องไปสู่สันติภาพ นั่นหมายความว่าอิสลามรังเกียจการทำสงคราม แต่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งสงครามไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อจะรับมือกับสิ่งนี้ แต่จะไม่มีการร่วมสงคราม เว้นแต่จะถูกบีบบังคับ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริง ของหลักการของอิสลาม และอิสลามตระหนักในเรื่อง “ซุนนะฮฺ อัต ตะดาฟุอฺ” (ร่วมกันต่อต้าน)

แต่อย่างไรก็ตาม อิสลามแสวงหาหนทาง ที่จะจำกัดขอบเขตของผลที่เกิดขึ้น โดยการล้อมกรอบด้วยกฎระเบียบ และจริยธรรมต่างๆ อิสลามไม่ได้ยกเว้นจากการสงคราม เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นท่ามกลางศาสนาอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงศาสนาคริสต์ ซึ่งผู้นับถือศาสนานี้ มีส่วนในการขัดแย้ง และการทำสงครามมากที่สุด ทั้งกับคริสเตียนด้วยกันเอง และกับศาสนาอื่น คัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับของลูกา (Luke’s Gospel ) กล่าวว่า “ฉันมาเพื่อที่จะนำมาซึ่งไฟบนโลกนี้ พวกท่านคิดว่าฉันมา เพื่อจะนำมาซึ่งความสันติภาพบนโลกนี้ กระนั้นหรือ?” พันธะสัญญาเก่า ได้มีการเรียกร้อง จนไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้จำนวนมาก ซึ่งกระทำกับ 7 ชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ จนถูกถอนรากถอนโคนอย่างสิ้นเชิง เรียกกันในศัพท์สมัยใหม่ว่า “การขนย้าย (transfer)” และมีการสังหารหมู่ ที่กระทำโดยไซออนิสต์ยุคปัจจุบัน แต่นั่นก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ญิฮาดในอิสลาม มีเป้าหมายอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะ ดังที่ ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎอวียฺ ได้สรุปว่า เป็นการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง การยับยั้งความเสื่อมเสียที่แพร่กระจาย การรับประกันถึงความอิสรภาพ ของความศรัทธาสำหรับมุสลิมและคนอื่นๆ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง นั่นหมายถึงการลงโทษบรรดาผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืน และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นภายในอุมมะฮฺ ด้วยเหตุนี้ การขยายอาณาเขต และการยึดครองดินแดนนั้น ไม่ใช่เป้าหมายของการทำญิฮาด ไม่ได้เป็นการขจัดการปฏิเสธศรัทธา ออกไปจากโลกนี้ เพราะมันขัดกับกฎหมายของพระเจ้า และต้องทำการต่อต้านร่วมกัน ญิฮาดไม่ได้มีเป้าหมายที่จะยัดเหยียดอิสลาม ต่อบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา เพราะนั่นเป็นการฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า ว่าด้วยความหลากหลายและการเป็นพหุสังคม (หน้า 423 จากหนังสือ ฟิกฮฺ อัล ญิฮาด)

 

ระหว่างการญิฮาดเชิงรุกและเชิงรับ

เมื่อพิจารณาผ่านนักนิติศาสตร์ในอดีต และนักนิติศาสตร์ร่วมสมัย ชัยคฺ อัลกอรอฎอวียฺ ได้ตั้งคำถามถึงธรรมชาติ และสถานะของการญิฮาดในอิสลามที่ว่า เป็นธรรมชาติของศาสนาหรือไม่ หมายความว่า เป็นความจำเป็นสำหรับมุสลิม ที่จะต้องต่อสู้กับผู้ปฏิเสธศรัทธา จนกว่าพวกเขาจะเข้ารับอิสลาม หรือยอมจำนน ต่อผู้ปกครองของอิสลาม ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ญิฮาด อัล ฏอลับ นั่นคือการญิฮาดเชิงรุก? หรือว่ามันเป็นธรรมชาติทางการมือง ที่มีความจำเป็น ในการปกป้องดินแดนของอิสลาม กับผู้ที่รุกราน และการปกป้องมุสลิมจากผู้ที่ขัดขวางเสรีภาพ ในความเชื่อของพวกเขา รวมทั้งสภาพการถูกกดขี่ข่มเหงโดยทั่วไป ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “ญิฮาด อัล ดะฟะอฺ” นั่นคือการญิฮาดเชิงรับ? ซึ่งหากมุสลิม จะต้องทำการญิฮาด พวกเขาต้องต่อสู้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และจะต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรม ที่เคร่งครัด ซึ่งไม่สามารถละเลยได้

นักนิติศาสตร์ในอดีตและยุคปัจจุบัน แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ซึ่งชัยคฺ ยูสุฟ อัลกอรอฎอวียฺเรียกว่านักวิชาการกลุ่ม “ฮุญูมิยีน” (สนับสนุนญิฮาดเชิงรุก)กับกลุ่ม “ดิฟาอิยีน” (สนับสนุนญิฮาดเชิงรับ) ซึ่งท่านเห็นด้วยกับกลุ่มที่สอง พวกฮุญูมิยีน เห็นว่าการญิฮาดเป็นวาญิบเหนือประชาชาติอิสลาม ในการจู่โจมดินแดนของผู้ปฏิเสธศรัทธา อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่จะเรียกร้องไปสู่อิสลาม และเพื่อการขยายดินแดน

พวกเขาตัดสินว่า การปฏิเสธศรัทธาในตัวมันเอง นับว่ามีเหตุผลที่เพียงพอแล้ว ที่จะริเริ่มก่อทำสงคราม และการสังหาร อย่างชอบธรรม แม้ว่าผู้ปฏิเสธศรัทธา จะไม่ได้โจมตี หรือทำอันตรายมุสลิมก็ตาม พวกเขาถึงกับเลยเถิด ไปโดยถือว่า มุสลิมจะมีบาปหากพวกเขามิได้กระทำเช่นนั้น ผู้ที่สนับสนุนทัศนะนี้ เป็นนักนิติศาสตร์จำนวนมาก และหนึ่งในอุลามาอฺชั้นแนวหน้าที่มีชื่อเสียง คือ อิมามชาฟีอียฺ และในหมู่นักคิดร่วมสมัยนั้นคือ ซัยยิด กุฏบฺ และ อบุล อะอฺลา อัลเมาดูดียฺ พวกเขาสนับสนุนความเห็นด้วยหลักฐานจากอัล กุรอาน อัซ ซุนนะฮฺและวิถีปฏิบัติในอดีต

อายะฮฺอัล กุรอานที่เรียกร้องให้ต่อสู้กับพวกตั้งภาคีทั้งหมด เช่นอายะฮฺที่ 36 ของซูเราะฮฺอัต เตาบะฮฺซึ่งกล่าว ความว่า

“...และจงต่อสู้บรรดามุชริกทั้งหมด เช่นเดียวกับที่พวกเขากำลังต่อสู้พวกเจ้าทั้งหมด และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”

“...จงประหัตประหารมุชริกเหล่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา...” (ซูเราะฮฺ อัต เตาบะฮฺ 5)

“พวกเจ้าจงต่อสู้บรรดาผู้ที่ไม่ศรัทธา ต่ออัลลอฮ์และต่อวันปรโลก และไม่งดเว้นสิ่งที่อัลลอฮ์และร่อซูลห้ามไว้ และไม่ปฏิบัติตามศาสนาแห่งความสัจจะ อันได้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ จนกว่าพวกเขาจะจ่ายอัล-ญิซยะฮ์ จากมือของพวกเขาเอง ในสภาพที่พวกเขาเป็นผู้ต่ำต้อย” (ซูเราะฮฺ อัต เตาบะฮฺ 29)

พวกเขามีความเห็นต่างกันในอายะฮฺต่างๆ เหล่านี้ว่า อายะฮฺใดที่เรียกว่า “อายะฮฺ อัล ซัยฟฺ” หรือโองการแห่งดาบ ตามความเห็นของพวกเขา อายะฮฺนี้ได้ยกเลิกอายะฮฺอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับอายะฮฺ อัลซัยฟฺ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 200 อายะฮฺ อันเป็นอายะฮฺที่เรียกร้อง ไปสู่ความเมตตา การให้อภัยและเสรีภาพในความเชื่อ ห้ามมีการบังคับในเรื่องศรัทธาและความเคร่งครัด และการมอบหมายการตัดสินความศรัทธาของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว พวกเขาหาข้อสนับสนุนจากคำพูด ของท่านนบี เช่น “ฉันถูกส่งมาเพื่อให้ต่อสู้กับผู้คน จนกว่าพวกเขาจะกล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นเว้นแต่อัลลอฮฺ” (รายงานโดย อิมาม บุคอรียฺ) 

พวกเขาเห็นว่า การพิชิตของอิสลามในช่วงแรกๆ นั้น เป็นหลักฐานสำหรับทัศนะของพวกเขา ในเรื่องสงคราม มากกว่าสันติภาพ นั่นคือสภาวะโดยปกติในการรับมือของมุสลิมที่มีต่อผู้อื่น
ความเห็นที่ต่างออกไป ของชัยคฺอัลเกาะเราะเฎาะวีย์ กับกลุ่มดังกล่าว มิได้ทำให้ท่านละเลยเหตุผลที่มีต่อพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการในอดีต อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่มีกับรัฐในขณะนั้น ซึ่งวางรากฐานอยู่บนอำนาจและสงคราม และเนื่องมาจากการคุกคามจากภายนอก นับตั้งแต่ที่อิสลามปรากฏตัวในคาบสมุทรอาหรับ

 

ชัยคฺ อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ ได้เน้นย้ำทั้งจากนักวิชาการในอดีต และนักวิชาการร่วมสมัย ต่อฟัตวาที่ว่า ญิฮาดจะตกเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน หากดินแดนมุสลิมถูกรุกราน หรือมุสลิมต้องเผชิญกับฟิตนะฮฺ (การกีดกันด้านศรัทธา) และถือว่ามุสลิมทุกคน จะต้องทำญิฮาดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การต่อสู่กับกิเลส ความชั่วร้าย ตลอดจนใช้ความพยายาม ในการส่งเสริมความดี และค้ำจุนศาสนา อย่างสุดความสามารถ อย่างไรก็ตาม ตลอดการศึกษา และการวิเคราะห์วิจัย ของอัลเกาะเราะเฏาวีย์ จากตำราอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับญิฮาด ตลอดจนมุมมองของนักวิชาการในอดีต และนักวิชาการร่วมสมัย ท่านได้ให้ข้อสรุปดังนี้

1. อัลลออฮฺกล่าวไว้ในอัล กุรอาน ความว่า

“พวกเจ้าจะไม่ต่อสู้กระนั้นหรือ ซึ่งกลุ่มชนที่ทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา และมุ่งขับไล่ร่อซูลให้ออกไป ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เริ่มปฏิบัติ แก่พวกเจ้าก่อนเป็นครั้งแรก” (อัต-เตาบะฮฺ 9:13). อายะฮฺอัลกุรอาน โดยเฉพาะซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ ที่สั่งใช้ให้ต่อสู่กับผู้ตั้งภาคี นั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นปฏิกิริยา และการตอบสนองอย่างเท่าเทียมกัน และมิใช่คำสั่งทั่วไป และหลักการพื้นฐานในการปฏิสัมพันธ์ กับผู้ที่มิใช่มุสลิม แต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับชาวอาหรับ ที่ตั้งภาคี ซึ่งประกาศสงครามกับอิสลาม นับจากที่อิสลามปรากฏตั้งแต่เริ่มแรก เป็นการขับไล่มุสลิมออกไป แล้วไล่ล่าไปยังทีพำนักแห่งใหม่ ทำลายสิ่งครอบครอง และยังได้ระดมกำลังเพื่อกวาดล้างมุสลิม

“พวกเจ้าจะไม่ต่อสู้กระนั้นหรือ ซึ่งกลุ่มชนที่ทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา และมุ่งขับไล่เราะซูลให้ออกไป ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เริ่มปฏิบัติ แก่พวกเจ้าก่อนเป็นครั้งแรก...” (อัต-เตาบะฮฺ 9:13) ซึ่งเป็นซูเราะฮฺเดียวกัน เช่นเดียวกับในซูเราะฮฺอื่น ได้มีการจำกัดและมีเงื่อนไข ที่เข้มงวด ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคำสั่งโดยทั่วไป

“และหากพวกเขาโอนอ่อนมา เพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตาม เพื่อการนั้นด้วย” (อัลอันฟาล 8:61) จะไม่มีการขัดแย้งของอายะฮฺหนึ่ง กับอีกอายะฮฺอื่น ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องมีการพิจารณาอายะฮฺอัลกุรอาน และหะดีษอย่างครอบคลุม ซึ่งจะเห็นว่าทั้งหมดนั้น ยืนยันกฎเกณฑ์ที่ถือว่าอิสลาม มุ่งแสวงหาสันติภาพ กับผู้ที่ต้องการสันติภาพ และต่อสู้กับผู้ที่ต้องการต่อสู้

2. การญิฮาดด้วยกองทัพ มิได้เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ในระดับเดียวกับหน้าที่ของการกล่าวปฏิญาณชะฮาดะฮฺ (ปฏิญาณความศรัทธา) การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตและการทำฮัจญ์ แม้ว่าญิฮาดจะมีความสำคัญมากก็ตาม แต่ไม่ถูกนับเป็นบุคลิก หรือลักษณะประจำตัว ของผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ดังปรากฏในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ และไม่ใช่ลักษณะประจำตัว ของผู้ศรัทธาดังที่แจกแจงไว้ในซูเราะฮฺอัลอันฟาล และ ซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูน และไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจ ดังที่อธิบายไว้ในซูเราะฮฺอัรเราะดฺ ไม่ใช่ลักษณะของบ่าวของผู้ทรงเมตตา ดังแจกแจงไว้ในซูเราะฮฺอัลฟุรกอน ไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่เคร่งครัด ดังในซูเราะฮฺอัซซาริยาต และไม่ใช่ผู้ทรงคุณธรรม ดังอธิบายไว้ในซูเราะฮฺอัลอินซาน ดังนั้น หน้าที่ญิฮาดในกองทัพ จะกลายเป็นหน้าที่บังคับเหนือมุสลิม ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเกิดขึ้น เช่น มุสลิมถูกรุกรานดินแดนของพวกเขา หรือศาสนาของพวกเขา ในด้านหนึ่งการเตรียมพร้อม สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหน้าที่เหนือพวกเขา ตามกำลังความสามารถ ทั้งนี้ เพื่อขัดขวางศัตรูและควบคุมสันติภาพ

3. ไม่ใช่หน้าที่ของมุสลิม ที่จะไปรุกรานดินแดน ของผู้มิใช่มุสลิม หากมุสลิมปลอดภัยจากการรุกราน พอเพียงแล้วสำหรับมุสลิม กับการมีกองทัพที่อานุภาพซึ่งติดอาวุธสมัยใหม่ และฝึกฝนพวกทหารในการป้องกันชายแดน และขับไล่ศัตรู เพื่อศัตรูจะได้ไม่คิดรุกรานอีก ซึ่งถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ (ดูหน้า 91) เป็นที่น่าสนใจว่า ชัยคฺกอรอฎอวีย์จะใช้คำว่า ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม มากกว่าที่จะใช้คำว่า กุฟฟารฺ หรือผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะจะเห็นได้กุรอานจะใช้คำว่า “โอ้ชาวคัมภีร์” “โอ้ประชาชนทั้งหลาย” “โอ้มนุษยชาติเอ๋ย” “โอ้บุตรอิสราเอล” “ประชาชาติของฉัน” “โอ้ลูกหลานของอดัม” จะไม่ใช้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมว่า “ผู้ปฏิเสธศรัทธา” ยกเว้นในกรณีที่มีการปฏิเสธ ในเรื่องของความเชื่อ

4. อิสลามตระหนักในเสรีภาพของความเชื่อ และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล สำหรับความเชื่อของพวกเขาต่อหน้าอัลลอฮฺ จากหลักพื้นฐานข้อนี้ สังคมอิสลามโดยรวม จึงไม่ต้องเผชิญกับสงครามศาสนา ภายใต้หลักการดังกล่าว ความเชื่อหลากหลายต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ภายใต้ระบบซิมมะฮฺ ได้ยอมรับความเป็นพลเมือง ของผู้ที่มิใช่มุสลิม ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม สิ่งที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับสิทธิดังกล่าว และการปกป้อง จากรัฐมุสลิม เช่นเดียวกับมุสลิม ที่ได้รับการปกป้อง คือการจ่ายญิซยะฮฺ โดยที่พวกเขามีความสามารถพอที่จะจ่าย ซึ่งเที่ยบเท่าได้กับภาษีบริการกองทัพ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสมัยใหม่ ตามความเห็นของอัลกอรอฎอวีย์ การกระทำดังกล่าว มักทำให้เกิดความเข้าใจผิด และนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องโดยไม่จำเป็น

5. สิ่งที่ทำให้นักวิชาการบางส่วน เชื่อว่าการญิฮาด โดยรุกเข้าไปในดินแดนของผู้ไมใช่มุสลิม ก่อนที่เขาจะรุกรานนั้น เป็นวาญิบ เกิดจากเงื่อนทางประวัติศาสตร์ มากกว่าตัวบทของอิสลาม เนื่องจากประชาชาติมุสลิม ถูกข่มขู่จากสองมหาอำนาจ คือเปอร์เซียและโรมัน อย่างต่อเนื่อง (ดูหน้า 82) ตลอดจนขณะนั้น ยังไม่มีกฏหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ และการห้ามรุกรานระหว่างกันเหมือนในทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีการละเมิดจากมหาอำนาจอยู่บ่อยครั้งก็ตาม

6. กิจการระหว่างรัฐมุสลิม กับรัฐอื่น วางอยู่บนสันติภาพ และร่วมมือกันในเรื่องความดี อิสลามรังเกียจสงคราม เป็นการเข้าร่วมโดยไม่ใช่เพราะความชอบ แต่เฉพาะเมื่อจำเป็นอย่างแท้จริง

“การสู้รบนั้นได้ถูกกำหนด แก่พวกเจ้าแล้ว ทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจ แก่พวกเจ้า...(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:216) สันติภาพคือแก่นลักษณะของอิสลาม เป็นคำอวยพรระหว่างมุสลิม เป็นคำอวยพรของชาวสวรรค์ เป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺ นามที่อัลลอฮฺทรงรังเกียจที่สุด คือ ฮัรบฺ ซึ่งหมายถึงสงคราม อันเป็นชื่อหนึ่งของบรรพบุรุษอาหรับ ในฐานะที่เป็นอาหรับนักรบ นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้รับทราบจากบุตรเขยของท่านว่า ลูกสาวของท่านคือฟาฏิมะฮฺคลอดลูกเป็นชาย แล้วบุตรเขยของท่านตั้งชื่อว่า ฮัรบฺ ท่านได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อ เป็นฮะซัน (หมายถึงดี)

7. อิสลามยินดีต้อนรับการพูดคุยระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันการรุกราน และเพื่อส่งเสริมสันติภาพระหว่างชาติ พร้อมทั้งยินดีต้อนรับองค์กรระหว่างประเทศ ที่ปกป้องหลักการดังกล่าว เช่น องค์กรสหประชาชาติ ยูเนสโก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ตะวันตกยังคงเชื่อในหลักการของอำนาจ ในความสัมพันธ์กับรัฐอื่นหรือประชาชาติอื่น ตัวอย่างในเรื่องนี้ได้แก่สิทธิวีโต้ของบางประเทศ อันเป็นความฉาวโฉ่ของหลักการพื้นฐาน ในเรื่องความเสมอภาพ ซึ่งเป็นการประกันผลประโยชน์ของพวกเขา และเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงการละเมิดของพวกเขา ดังที่อเมริกาและอังกฤษได้กระทำไว้ในการรุกรานอิรัก โดยไม่มีกฏหมายใดๆ มารองรับ และโดยที่พวกเขาไม่ต้องรับโทษใดๆ จากการประณาม เช่นเดียวกับที่พวกเขาปกป้องการข่มเหงทุกรูปแบบ ของไซออนิสต์ที่มีต่อปาเลสไตน์ มาโดยตลอด

8. ภายใต้การตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในระดับนานาชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงเสรีภาพในความเชื่อและการเผยแพร่ เช่นเดียวกับเสรีภาพในการจัดตั้งสถาบัน หรือองค์กรและปกป้องชนกลุ่มน้อย การใช้ญิฮาด อัลเฏาะลับ ถือว่ามีความเหมาะสม และมีเหตุผลอย่างเหลือเฟือแล้ว อันเป็นการรุก เพื่อให้การเรียกร้องอิสลามเกิดขึ้นได้อย่างเสรี โดยการรื้อถอนการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งเคยกีดกันผู้คนมิให้มีความคิดอิสระ และเลือกนับถือศาสนา ได้อย่างเสรี อันเป็นศาสนาที่แตกต่างจากผู้ปกครอง ดังที่ฟิรฺเอาน์ประณามบุตรอิสราเอล ที่เลือกศรัทธา โดยไม่ขออนุญาตจากเขาเสียก่อน

“เขากล่าวว่าพวกท่านศรัทธาต่อเขา ก่อนที่ฉันจะขออนุญาตให้แก่พวกท่าน กระนั้นหรือ” (ฏอฮา 20:71) ตรงข้ามกับทุกวันนี้ ซึ่งไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนที่มัสญิด และมุสลิมชนกลุ่มน้อย จะปรากฎอยู่ทุกมุมโลก ทำให้ความจำเป็นด้านต่างๆของเรามีมากขึ้นสำหรับ “กองกำลังขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยนักเผยแพร่ ครูผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อต่างๆ การฝึกอบรม และความสามารถในการสื่อสาร กับโลกนี้ด้วยภาษาที่แตกต่างกัน และใช้วิธีการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งเรามีสิ่งนี้น้อยไม่พอเพียงกับความต้องการที่มีมากกว่าถึงหลายร้อยพันเท่า” (ดูหน้า 16) อัลกอรอฎอวีย์รู้สึกอาลัยอย่างยิ่ง ดังที่เราได้พบเห็นว่า ผู้คนจำนวนมากยอมตายเพื่ออัลลอฮฺ แต่น้อยนิดเหลือเกินที่มุ่งมั่นจะมีชีวิตเพื่อพระองค์

9. ตามหลักการพื้นฐาน อิสลามได้แบ่งแผ่นดิน ออกเป็นสามประเภท ดารฺอัลอิสลาม (ดินแดนสันติ) แผ่นดินอิสลามซึ่งกฏหมายการบริหารปกครอง ธรรมเนียมการปฏิบัติ ตลอดจนผู้ยึดมั่นในหลักการอิสลาม และนักเผยแพร่อยู่ในความปลอดภัย ดารฺอัลอะห์ดฺ (ดินแดนสัญญาพันธไมตรี) เป็นดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่ ไม่ใช่มุสลิมแต่สนธิสัญญาที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ และสุดท้ายดารฺอัลหัรบฺ (แดนสงคราม) อัลเกาะเราะเฎาะวีย์ ถือว่ามุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของระบบสหประชาชาติ ในฐานะรัฐที่มีกติกากับรัฐอื่น ยกเว้นกับรัฐไซออนิสต์ เนื่องจากพวกเขา ได้เข้ายึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ และปล้นชิงทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ และนับเป็นเรื่องที่โชคร้าย ที่เหตุการณ์นี้ได้รับการหนุนหลังโดยรัฐมหาอำนาจ ดังนั้น อัลเกาะเราะเฎาะวีย์ จึงมองว่าปัญหาสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ของเรา กับตะวันตก คือการสนับสนุนอิสราเอลอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่จำกัด รวมทั้งกดขี่ชาวปาเลสไตน์มาโดยตลอด

10. อัล กอรอฎอวีย์ ได้ทำการแยกแยะระหว่างญิฮาดกับอิรฺฮาบ (ก่อการร้าย) หรือระหว่างอิรฺฮาบที่ถูกต้อง (การข่มขู่ศัตรูมิให้รุกราน) กับอิรฺฮาบที่ละเมิดซึ่ง เป็นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ดังที่ก่อขึ้นโดยกลุ่มต่างๆ โดยใช้นามอิสลาม ซึ่งประกาศสงครามกับทั้งโลก ใช้ญิฮาดในทางที่ผิดพลาด ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก่อการร้ายผู้บริสุทธิ์ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยหวังที่จะบรรลุผลสำเร็จทางการเมือง ทั้งในดินแดนและนอกดินแดนมุสลิม ดังนั้น อัลกอรอฎอวีย์ จึงประณามความรุนแรง ที่กระทำโดยกลุ่มสุดโต่ง ที่มีต่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งในและนอกประเทศมุสลิม ท่านยังได้ปอกลอกการฆ่าที่ไม่รู้จักแยกแยะ และหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำโดยละเมิดบทบัญญัติ โดยกลุ่มเหล่านี้

11. อัล กอรอฎอวีย์ มีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ในการแยกแยะกลุ่มแรกซึ่งสุดโต่ง (ที่ประกาศสงครามทั่วทุกมุมโลก การฆ่าโดยไม่มีการแยะแยะ และสร้างมลทินให้กับอิสลาม ในทางหนึ่ง พวกเขาได้ทำให้ศัตรู หันมาใช้อาวุธที่ร้ายแรงกว่า กับกลุ่มสอง ซึ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ที่ปกป้องดินแดนตัวเอง ท่านได้ประณามกลุ่มแรก และรื้อล้างความชอบธรรม (delegitimizes) ต่อรากฐานของกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันท่านได้ปกป้องกลุ่มต่อมา และเรียกร้องอุมมะฮฺให้สนับสนุนพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปาเลสไตน์ ตราบใดที่ปฏิบัติการของพวกเขา ยังคงมุ่งเน้นต่อกำลังทหาร ท่านไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า นั่นเป็นปฏิบัติการชะฮีด ที่กระทำต่อศัตรู เป็นการปฏิบัติที่พวกเขาไม่มีทางเลือกเนื่องจากถูกปลดอาวุธ เป็นการปกป้องดินแดนและบ้านเกิด ความยุติธรรมของพระเจ้า ย่อมจะไม่ยินยอมให้ฝ่ายที่อ่อนแอกว่า ถูกคร่าอาวุธไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ฝ่ายหลังจึงใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธขัดขวาง แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม จริยธรรมในการญิฮาด จะต้องได้รับการเคารพ และจะต้องมีเป้าหมายไปที่หน่วยรบ หรือกองกำลังทหารเท่านั้น

12. ดังที่ท่านได้เน้นไว้ว่า ญิฮาดแรกที่เป็นสิ่งจำเป็นเหนืออุมมะฮฺในยุคนี้ คือ การปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปาเลสไตน์ อัลกอรอฎอวีย์ เตือนถึงความกดดัน และเหตุผลผิดๆ ของผู้ที่เชื่ออย่างผิดๆ ว่า ความขัดแย้งระหว่างพวกเรา กับอิสราเอล เกิดจากเรื่องของเผ่าพันธุ์เซเมติก เพราะทั้งสองล้วนแล้วมาจากเซเมติก นั่นคือล้วนเป็นลูกหลานของนบีอิบรอฮีม หรือเป็นความขัดแย้งประเด็นศาสนา เนื่องมุสลิมถือว่าชาวยิวเป็นชาวคัมภีร์ ซึ่งอนุญาตให้ทานอาหารได้ การแต่งงานระหว่างกันโดยพื้นฐานแล้ว เป็นที่อนุญาต และ อาศัยอยู่ท่ามกลางมุสลิม ด้วยความปลอดภัย อีกทั้งเมื่อสเปนและยุโรป ได้ขับไล่พวกยิวในอดีตพวกเขาก็ไม่ได้หันไปพึ่งใคร ที่ไหนนอกจากดินแดนมุสลิม ที่ให้การคุ้มครองพวกเขา ในความเป็นจริงความขัดแย้ง ระหว่างเรากับไซออนิสต์ เริ่มต้นด้วยสาเหตุเดียว นั่นคือการที่พวกเขาได้เฉือนดินแดนปาเลสไตน์ และแย่งชิงจากชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งยังได้ยัดเยียดความรุนแรง ความขัดแย้งนี้จะยังมีตลอดไป ตราบใดที่สาเหตุยังคงอยู่ ไม่มีใครยอมยกดินแดนมุสลิมไปได้ แต่มีความเป็นไปได้ ที่จะพักรบกับอิสราเอลในช่วงเวลาที่ตกลงกัน อย่างไรก็ตาม หลักการ “ดินแดนแห่งสันติภาพ” แท้จริงแล้ว เป็นหลักการที่แปลกประหลาด ซึ่งศัตรูที่ชอบใช้กำลังข่มเหงได้นำเสนอ แต่เนื่องจากดินแดนนี้ เป็นดินแดนของเรา ไม่ใช่ของศัตรู ดังนั้นจึงสามารถต่อรองเพื่อให้สันติภาพกลับคืนมา (ดูหน้า 1090)

13. อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ และที่ปรึกษาของท่าน มุฮัมมัด อัลเฆาะซาลีย์ มีบทบาทระดับแนวหน้า ในการเผชิญกับกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง และป้องกันพวกเขา จากการใช้อิสลามเป็นตัวประกัน และเบี่ยงเบนอิสลาม ออกจากอิสลาม กระแสหลัก ด้วยการปอกเปลือกการปฏิบัติของพวกเขา จากความถูกต้องตามกฏหมายว่าด้วยเรื่องญิฮาด ทั้งในและนอกดินแดนมุสลิม อัลกอรอฎอวีย์ได้ยกย่องการเปลี่ยนมุมมองใหม่ของแกนนำสำคัญจากกลุ่มดังกล่าว ซึ่งท่านให้การสนับสนุนเป็นอย่างสูง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของพวกเขา ซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นความกล้าหาญและความกระจ่างชัด โดยก่อนหน้านี้พวกเขาได้โจมตี และปฏิเสธมุมมองต่างๆ ของท่าน (ดูหน้า 1168)

 

จริยธรรมในการญิฮาด

สงครามในอิสลามเป็นเรื่องของจริยธรรม เช่นเดียวกับเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการทำงาน ซึ่งไม่ได้แยกออกจากเรื่องของจริยธรรม ตรงข้ามกับสงครามในอารยธรรมตะวันตก ที่ไม่มีหลักจริยธรรมใดๆ เข้ามากำหนดกรอบ สำหรับมุสลิมแล้ว เรื่องของสงครามถูกควบคุมด้วยรูปแบบของศีลธรรม เนื่องจากศีลธรรมนั้น ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นส่วนที่สำคัญของศาสนา ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ก) อิสลามห้ามการใช้วิธีที่ไร้จริยธรรม ในการแฝงตัวเข้าไปปะปนกับข้าศึก และล้วงความลับของพวกเขา ตลอดจนเรื่องเพศและของมึนเมา เป็นต้น

ข) ห้ามการล่วงละเมิด ดังที่อัลกุรอานมีบัญชา ความว่า “และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” อัล บะกอเราะฮฺ 190 นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน อธิบายว่าการละเมิดนั้น หมายถึงการฆ่า คนที่ไม่มีทางสู้ เช่น การฆ่าผู้หญิง เด็ก คนแก่ คนป่วย ชาวสวนชาวไร่ และคนอื่น ที่ไม่ได้ร่วมต่อสู้ในสมรภูมิ (หน้า 728) หลักจริยธรรมของการญิฮาด ยังครอบคลุมถึงการห้ามทำให้ศัตรูพิกลพิการอีกด้วย

ค) การปฏิบัติตามข้อตกลง และห้ามการทรยศ และการหักหลัง

ง) ห้ามการตัดต้นไม้ และทำลายสิ่งก่อสร้าง 

จ) เรื่องที่ผิดตามหลักการอิสลาม ในการใช้อาวุธที่มีอำนาจ ในการทำลายล้างสูง อย่างเช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ ที่ฆ่าคนเป็นเรือนแสน หรือเป็นล้าน ในครั้งเดียว โดยปราศจากการแยกแยะ ระหว่างคนทำผิดกับคนบริสุทธิ์ ซึ่งทำอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด อิสลามห้ามใช้อาวุธที่รุนแรงนี้ เนื่องจากว่าอิสลามห้ามการฆ่าคน ที่ไม่ใช่ทหารหรือนักรบ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ตำหนิอย่างรุนแรง กับการฆ่าผู้หญิง ในสงครามครั้งหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้กีดกั้นประชาชาติอิสลามนี้ จากการแสวงหาให้ได้มาซึ่งอาวุธรุนแรงนี้ แต่ประการใด เนื่องจากฝ่ายอื่น ก็ครอบครองมัน และทำให้ประชาชาติอิสลาม ต้องหวาดกลัวกับอาวุธเหล่านั้น โดยเฉพาะพวกศัตรูไซออนนิสต์ ที่เข้ายึดครองดินแดนของประชาชาติอิสลามนั้น ก็ด้วยการครอบครองอาวุธเหล่านี้ และคัมภีร์ของพวกเขาระบุว่า การทำลายล้างประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ให้สูญสิ้นไปนั้น ถูกต้องตามบทบัญญัติ แต่เป็นเรื่องที่ประหลาด ก็คือว่าอเมริกาและชาติมหาอำนาจอื่น ห้ามชาติอื่นๆ ครอบครองอาวุธเหล่านี้ ขณะที่พวกเขาเอง กลับครอบครองมัน

พวกเขาสกัดกั้นชาวอาหรับ และประเทศมุสลิม จากการครอบครองอาวุธเหล่านี้ ขณะที่อิสราเอล มีหัวระเบิดนิวเคลียร์ มากกว่าสองร้อยลูก การสกัดกั้นร่วมกันระหว่างตะวันตก กับตะวันออก ได้กีดขวางการสนับสนุน ต่อการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพแห่งโลกนี้ ในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้น ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน อาวุธเหล่านั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ ยกเว้นในสภาวะที่ไม่ปกติอย่างที่สุด เมื่อชาติหนึ่งได้รับสัญญาณเตือน ถึงความมั่นคงของชีวิต (ดูหน้า 592)

ฉ) อิสลามสั่งให้ “มุญาฮิดีน” ปฏิบัติต่อเชลยศึก อย่างมีความเมตตา หลังจากที่มีการถกเถียง ถึงรายละเอียดของตัวบททั้งหมด และทัศนะทางนิติศาสตร์ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับสงครามแล้ว โดยเฉพาะคำถามที่ว่า พวกเขา (หมายถึงเชลยศึก) จะถูกประหารหรือไม่ นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน สรุปว่าบทบัญญัติช่วงสุดท้าย ที่ถูกประทานลงมา ในซูเราะฮฺ มุฮัมมัดที่ว่า “...หลังจากนั้นจะปล่อย(พวกเขา)เป็นไทหรือเรียกค่าไถ่ก็ได้...” (ซูเราะฮฺ มุฮัมมัด 4) ยกเว้นอาชญากรสงคราม เมื่อพิจารณาถึงสิ่งนี้ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานก็เห็นพ้องกับมาตราหนึ่งในสนธิสัญญาเจนีวาในเรื่องการปฏิบัติกับเชลยศึก

สรุป การศึกษาของชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎวียฺ ในเรื่อง “ฟิกฮฺ ญิฮาด” นับได้ว่าเป็นการอิจญติฮาดที่เชื่อถือได้ เป็นการยืนยันหลักการญิฮาด ว่า เป็นวิธีการหนึ่งของอิสลาม ในการป้องกันอันมีความหมายที่กว้าง ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับการเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การทำให้ภาพพจน์ของอิสลาม มีความด่างพร้อย 

ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎอวียฺ ได้ดึงเอาความมีประสิทธิภาพ และความเป็นสายกลางของวิธีการนี้ กลับคืนมา ท่านดึงมันออกมาจากเงื้อมมือของกลุ่มหัวรุนแรง ชัยคฺ กล้าเผชิญหน้าอย่างอาจหาญ ต่อยุทธการการเข้าร่วมสงคราม ที่ขัดกับแนวคิดอิสลาม เป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ ชัยคฺกล้าในการปฏิเสธเหตุผลของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ประกาศสงครามกับโลกทั้งหมด 

ชัยคฺกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่จำนวนมาก ที่สนับสนุนหลักการของการญิฮาดในเชิงรุก (ญิฮาด อัล ฏอลับ) และท่านไม่เคอะเขิน ที่จะแสดงตนว่า เห็นด้วยกับกลุ่มที่เชื่อมั่น ในการญิฮาดในเชิงรับ (ญิฮาด อัล ดะฟะอฺ) ท่านยังคงทำการคัดค้าน กับเหตุผลของกลุ่มแรก โดยปราศจากความกลัวและความลังเล ไม่มีความลำเอียงหรืออยุติธรรม และการทำลายชื่อเสียง หรือการบิดเบือนทัศนะของบรรดาผู้ที่ท่านไม่เห็นด้วย มิหนำซ้ำท่านกลับแสวงหาการให้อภัยจากพวกเขา

ท่านยังคงกระทำสิ่งนั้น จนกระทั่งเหมือนเกือบจะลบล้างกับสิ่งที่รู้จักกันว่า “ญิฮาด อัล ฏอลับ” ที่จะสถาปนาการญิฮาดในเชิงรับ ขึ้นมาแทน ญิฮาดมิได้มีความเกี่ยวพัน กับการก่อการร้าย ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจน กับขบวนการที่ต่อต้านการถูกยึดครอง ญิฮาดนั้นมีหลักจริยธรรม ที่สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์ คุณค่าต่างๆ และกฎหมายที่ห้ามการละเมิด ห้ามการยึดครอง การใช้อาวุธที่ทำลายล้างมนุษย์ และการทรมานเชลย เป็นญิฮาดที่เปิดรับกับโลกที่เปิดกว้าง ให้กับแนวความคิดและบุคคลต่างๆ ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ โดยดำเนินการผ่านข้อพิสูจน์ และเหตุผล มากกว่าความรุนแรง และการใช้กำลัง จนกระทั่งมีชัยชนะที่ถูกต้อง

การนำเสนอหลักการญิฮาดนี้ ชัยคฺ ยูสุฟ อัลกอรอฎอวียฺ ได้เปิดพื้นที่กว้างสำหรับการสานเสวนา ความอดทนอดกลั้น ข้อตกลง และการอยู่ร่วมกันระหว่างอิสลาม กับศาสนาอื่นๆ, คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และความสามัคคี ปรองดองระหว่างชาติ เป็นการตอบสนองการเรียกร้องของอัลกุรอานที่กล่าวว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้า จากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้า แยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้ อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัล หุญุร๊อต 49:13)

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.piwdee.net