เอกรินทร์ ต่วนศิริ
ภายใต้ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เกือบทั่วประเทศ ได้มีการประกาศจับบุคคลที่น่าสงสัยและเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐทั้งแนวความคิดและการกระทำ ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ หมายเรียก พรก. สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ทว่า กรณีสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เรื่องเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยผ่านชุดความคิดความเข้าใจของรัฐต่อขบวนการหรือแนวคิดที่ปฏิปักษ์ต่อรัฐไทย โดยไล่เรียงมาจาก แนวคิด แผนปฎิบัติการ 7 ขั้น ของ กลุ่ม BRN จนถึงแผนผังล้มเจ้า ที่โยงใย เชื่อมร้อย อย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมคำอธิบาย ว่าเป็นพวกก่อการร้าย และพร้อมที่จะจับตัวเพื่อมาเค้น สอบสวน ตามความเชื่อของ แนวความคิดข้างต้น จนทำให้หลายคนที่ไม่รู้อิโน่อิแหน่ ได้ถูกโยงใยเข้ากับแผนข้างต้น
หลังช่วงเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการหมายเรียก จับกุม ผู้ต้องสงสัยหลายคน ที่ได้เคลื่อนไหวทางด้านการเมือง รวมถึงกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้มีการเรียกร้อง ทำจดหมาย ล่ารายชื่อ เพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ได้ถูกจับกุมในหลายๆกรณี จนในที่สุดบางรายได้รับการปล่อยตัวสู้อิสรภาพ โดยไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่กรณีที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับส่วนทางมีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการกุมขังในค่ายทหารอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
นายสุไลมาน แนซา ไม่เคยประกาศอดข้าวประท้วง ในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ตาม พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีใครเคยบอกให้เขาไปกินเจเล่ แทนกินข้าว แต่การเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการผูกคอตาย จากการการพิสูจน์ศพเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่าสุไลมาน ได้ฆ่าตัวตาย โดยใช้ผ้าเช็ดตัวที่ญาติฝากมาให้ใช้ในการปลิดชีพตัวเอง ซึ่งสร้างความสงสัยและความคลางแคลง ให้แก่ญาติพี่น้อง และภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างมาก
หลังจากเพื่อนพ้องกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่ ได้เก็บภาพจากการลงพื้นที่ มาให้ผมดู ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตจากช่างภาพที่ไปลงพื้นที่ มีหลายจุดที่พวกเค้า “ไม่แน่ใจ” และนำไม่สู่การ “ไม่เชื่อ” ว่านายสุไลมาน จะปลิดชีพตนเอง เช่น ศพมีรอยซ้ำหลายจุด สภาพลิ้นของนายสุไลมาน ไม่เหมือนลิ้นคนที่ผูกคอตาย อวัยวะเพศมีคราบเลือด คอและต้นขามีรอยจุดๆ ขาของนายสุไลมานติดพื้น ไม่ได้ลอยเหนือจากพื้นที่ และที่สำคัญ การฆ่าตัวตายของคนมุสลิมถือว่าเป็นการบาปและไม่ได้กลิ่นอายของสรวงสวรรค์ตามทรรศนะทางด้านศาสนา และน่าสังเกตว่า หากสุไลมาน เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ (ฮิญาด) ที่ยอมทุ่มเทพลังกายและพลังใจให้ขบวนการต่อสู้ ที่แม้ยอมเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อความเป็นธรรม (ในสายตาของขบวนการ) ยิ่งทำให้เหตุผลของการฆ่าตัวตายแทบจะไม่น่าเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของขบวนการฮิญาดทั่วโลก ถือว่าการตายจากกระทำของฝ่ายศัตรูย่อมถือส่วนหนึ่งของการตายในหนทางศาสนา (ชะฮีด)
และดูเหมือนว่า หลายคนๆในพื้นที่ ยังไม่ทิ้งประเด็นเรื่องของการซ้อมทรมานที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ ในระหว่างการดูแลของเจ้าหน้าที่ อย่างช่น กรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า การเสียชีวิตขึ้นจากโรคประจำตัว หลังจากการสียชีวิตของอิหม่ามยะผา ได้ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
การฆ่าตัวตาย: จาก อีมิล เดอร์ไคม์ ถึง สุไลมาน แนซา
มองการฆ่าตัวตายของสุไลมาน ผ่าน อีมิล เดอร์ไคม์ Emile Durkheim นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส สาเหตุของการฆ่าตัวตาย ซึ่ง Social Theories : Durkheim เป็นนักสังคมศาสตร์ ผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตาย เชื่อว่ามีสาเหตุมาจาก สาเหตุรวมไม่ใช่สาเหตุใด สาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว และมีสาเหตุหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความรู้สึกเป็นคนแปลกถิ่น เป็นคนนอกสังคมและความรู้สึกเป็นคนละพวกกับคนกลุ่มใหญ่ จึงได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
1 Egoistic Suicide การฆ่าตัวตาย ที่เกิดจากบุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นคนนอกกลุ่ม มีความสัมพันธ์และผูกพันธ์กับคนในสังคมน้อยเป็นผู้ที่ถูกตัดจาดจากกลุ่ม
2 Altruistic Suicide จะตรงข้ามกับกลุ่มแรก จะมีความผูกพันกับกลุ่มมากเกินไป จนขาดความเป็นตัวของตัวเองไม่สามารถแยกตัวออกจากกลุ่มฆ่าตัวตาย เป็นการเสียสละเพื่อกลุ่มและสังคม เช่น การอดอาหารประท้วง การระเบิดปลิดชีพตนเองของนักรบชาวตอลีบัน ซามูไรที่ทำฮาราคิรี เป็นต้น
3 Anomic Suicide เป็นการตัดขาดจากกลุ่มที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอ่อนแอลง เช่น นักธุรกิจผู้เคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เกิดภาวะขาดทุน ทำให้สถานภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำ เขาจะแยกและถอนตัวออกจากกลุ่มและสังคมเดิม การฆ่าตัวตายจะเกิดภายหลังการแยกตัว
คำอธิบายทางด้านแนวความคิดของ อีมิล เดอร์ไคม์ ดูเหมือนว่า หากพิจารณากรณีของสุไลมาน เจ้าหน้าที่ได้เปิดเผยข้อมูลว่า นายสุไลมาน เป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ และมีการก่อเหตุหลายครั้ง หากพิจารณาดูแล้วสิ่งที่สุไลมาน น่าจะเลือกก็คือวิธีการที่สองมากที่สุด ที่น่าตอบสนองกับความต้องการทั้งตนเองทางด้านศาสนา ตัวอย่าง เช่น การต่อสู้อย่างถึงที่สุด มากกว่าการยอมให้จับตัว หรือการที่นำพาเจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านตนเอง เหตุการณ์นี้ชวนให้เราขบคิดและเกิดคำถามที่หนักแน่นขึ้นว่า การปริศนาการตายครั้งนี้ ทำไมเข้าจึงเลือกที่จะฆ่าตัวตาย ??? หรือนายสุไลมาน ไม่ได้ฆ่าตัวตายเอง ???