Skip to main content
Abdulloh Wanahmad
 
จากกรณีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาริบทรัพย์สินที่ดินของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะบ้านท่าด่าน ม.3 บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง คดีแพ่งในคดีแดงที่ ฟ.160/2558 ซึ่งมีความผิดฐานก่อการร้าย ทำให้ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวตัดสินใจย้ายจากพื้นที่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ศาลได้เปิดโอกาสให้ญาติหรือเจ้าของที่ดินได้ยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการของกฏหมาย ตามที่ทางทนายได้ขอยืดระยะเวลาต่ออีกสามวันจนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2559 ดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่ทางครอบครัวเจ้าของปอเนาะญีฮาดได้ตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่ อันเนื่องมาจากที่ทางครอบครัวตัดสินใจมิขอยื่นอุธรณ์ตามกระบวนการของกฏหมาย ที่ยังเปิดช่องทางให้ทางผู้เสียหายได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อีกครั้ง
 
http://www.publicpostonline.net/wp-content/uploads/2015/12/photo-5-1.jpg
 
การยึดที่ดินปอเนาะญีฮาดในครั้งนี้ ถือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมมลายูปาตานี ต่างตั้งคำถามมากมายถึงเหตุและผลในการริบที่ดินของปอเนาะญีฮาดให้ตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนี้ ที่สำคัญทรัพย์สินที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินวากัฟ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสวนรวม ที่เป็นการได้มาโดยการบริจาคเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมร่วมกัน โดยไม่มีใครสามารถครอบครองถือกรรมสิทธิ์เป็นของใครคนใดคนหนึ่งได้ นี่คือช่องว่างของบริบทของกระบวนการยุติธรรมของกฏหมายไทย ที่ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงความละเอียดอ่อนของบริบทสังคมเช่นนี้ได้ ที่ข้องเกี่ยวกับหลักการของศาสนาความศรัทธาของผู้คน ที่พึงได้รับการละเว้นในบางกรณี
ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายรัฐ(ศาล)จะตัดสินริบที่ดินดังกล่าว อันเนื่องมาจากการตัดสินตามกระบวนการกฎหมายของไทย ที่ได้ตัดสินคดีด้วยการสั่งริบที่ดินให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาคือ รัฐได้อายัดทรัพย์สินของพี่น้องมลายูโดยรวม เพราะขึ้นชื่อว่าปอเนาะ ล้วนเป็นสถาบันที่มีความผูกพันกับความรู้สึกของพี่น้องประชาชนมานับตั้งแต่อดีตมาหลายชั่วอายุคน ที่เป็นดั่งแหล่งบ่มเพาะสังคมที่สำคัญของคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการตัดสินริบที่ดินที่เป็นที่ตั้งของปอเนาะถือเป็นการตัดสินที่สร้างความหดหู่ต่อพี่น้องประชาชนอย่างทั่วกัน
 
ถึงแม้ว่าการตัดสินคดีปอเนาะญีฮาดในครั้งนี้จะผ่านการต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมายทุกขั้นตอน ที่ได้ตัดสินคดีบนฐานเหตุและผลของความผิด ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่า สถาบันดังกล่าวเป็นสถานที่ใช้สำหรับฝึกอาวุธของกลุ่มก่อความไม่สงบ ตามหลักฐานและคำให้การของผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ แต่กลับตรงกันข้ามที่คดีนี้มีกลุ่มบุคคล 36 คนที่ถูกออกหมายจับในข้อหาก่อความไม่สงบ เป็นกบฎและอั้งยี่ ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่หลบหนี และอีก 18 คนเข้ามอบตัวสู้คดีและได้รับการปล่อยตัวหมดเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ !
 
ซึ่งหากพิจารณาจากบุคคลที่เข้ามอบตัวสู้คดีตามกฎหมาย จนศาลไม่สามารถจะตัดสินเอาผิดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้คำพิพากษาของศาลที่มีต่อปอเนาะญีฮาดค่อนข้างมีกลิ่นอายของความไม่เป็นธรรมและไม่มีความชอบธรรมเอาเสียเลย กล่าวคือการใช้อำนาจนิติรัฐมาตัดสินคดีโดยปราศจากหลักนิติธรรม เพราะหากข้อกล่าวหาที่ว่าสถาบันดังกล่าวเป็นสถานที่ฝึกอาวุธให้กับกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อความไม่สงบ ตามที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เหตุใดผู้ที่เข้ามอบตัวสู้คดีเหล่านั้น ถูกปล่อยตัวออกมา เพียงเพราะไม่มีหลักฐานที่เพียงที่จะเอาผิดตามข้อกล่าวหาได้ ทว่าสถาบันแห่งนี้ถูกสั่งปิดและริบทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งในทางกฎหมายแล้วการริบที่ดิน ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงประการหนึ่ง ยิ่งเป็นสถานศึกษาแล้วยิ่งควรได้รับการปกป้องและละเว้นในเรื่องนี้
 
แต่ในขณะเดียวกัน การสั่งริบที่ดินของปอเนาะดังกล่าวในครั้งนี้ ถือเป็นการลงโทษสังคมมลายูปาตานีในทางจิตวิทยาโดยรวม ที่ยิ่งเกิดความช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อปอเนาะล้วนเป็นดั่งจิตวิญญาณของคนมลายู เพราะหากการตัดสินคดีมีความยุติธรรม สถานที่หรือทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ย่อมได้รับการยกเว้น นอกจากตัวบุคคลเท่านั้น ยิ่งเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมแล้ว ย่อมมีความเปราะบางในความรู้สึกระหว่างรัฐและประชาชน ที่อาจยิ่งมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญบทเรียนครั้งนี้ จะกลายเป็นบันทึกหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงฝังลึกในจิตใจอีกนานเท่านาน
ปอเนาะญีฮาดจากวันนั้นถึงวันนี้
 
เพราะหากศึกษาประวัติเกี่ยวกับปอเนาะดังกล่าว ถือว่าเป็นสถาบันปอเนาะหนึ่งที่ถูกเพ็งเล็งจากรัฐมาโดยตลอด ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ที่สุดท้ายต้องลงเอยด้วยการถูกปองร้ายถึงชีวิต กล่าวคือ
นายบือราเฮง เจะอาแซ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งปอเนาะญีฮาดวิทยา ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.2520 ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ กรณีที่สองเป็นการลอบยิงนายริฏวาน แวมะนอ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นพี่ชายของบัลยาน แวมะนอ ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ปอเนาะญีฮาดถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อมตรวจค้นเมื่อ 19 พ.ค.2548 และทางการมีคำสั่งปิดการเรียนการสอนในอีก 2 วันถัดมา
 
 
ผลกระทบที่ปอเนาะญีฮาด ได้ประสบเจอตั้งแต่ปี 2547
 
เริ่มจากปลายปี 2547 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาปิดล้อมโรงเรียน ค้นปอเนาะแต่ไม่ได้ตั้งข้อหาแต่อย่างใดเนื่องจากไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย
ต่อมา กลางเดือน พฤษภาคม 2548 เจ้าหน้าที่ทหารได้มาอีกครั้ง ครั้งนี้ก็ไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน แต่ครั้งนี้เข้ามาพร้อมกับหมายจับ นาย ดุลเลาะ แวมะนอ ซึ่งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน แต่ครั้งนั้นบังเอิญ ครูใหญ่ดุลเลาะ ไม่อยู่เนื่องจากไป เยี่ยมญาติ ซึ่งป่วยที่ อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาส 2 วันก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลา 4 วันในการตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่เวลานั้นมีการออกข่าวว่า ทางเจ้าที่ได้ ตำราบันได 7 ขั้นและวีซีดีการฝึกอาวุธของ นายอุซมะห์ บิน ลาเดน ซึ่งเป็นวีซีดีที่การวางขายตามตลาดทั่วไป  พร้อมกับอาวุธปืน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งเรื่องนี้นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาครูใหญ่ดุลเลาะ ยืนยันว่า เป็นปืนของอดีตกำนัน ชื่อ มะนุ ศรีท่าด่าน โดยเจ้าหน้าที่นำมาแถลงข่าวด้วย ทั้งๆที่อาวุธนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนญีฮาดแต่อย่างใด
จากนั้นก็ได้นำตัว นายอาดือนัน เจะอาแซ ที่เพิ่งกลับจากมาเลเซียได้สองวัน  อาดือนันเป็นน้องเขยครูใหญ่ดุลเลาะ แวมะนอ และเป็นลูกบาบอเฮง พร้อมเด็กนักเรียน 3 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร บ่อทอง ปัตตานี และยึดรถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งเป็นรถของน้องชายครูใหญ่ดุลเลาะ และอีกคันเป็นของครูใหญ่ดุลเลาะเอง  เพื่อนำไปตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาว่า ในโรงเรียนญีฮาดวิทยาเป็นที่ฝึกกองกำลัง RKK
หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ รายการวิทยุนายกทักษิณ คุยกับประชาชน ได้มีการประกาศยึดใบอนุญาตโรงเรียนผ่านรายการที่ออกอากาศในวิทยุทั่วประเทศ แม้ยังไม่ทราบถึงรูปของคดีก็ตาม
และหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ก็ได้มีคำสั่งจากกระทรวงการศึกษาให้มีคำสั่งเปิดโรงเรียนต่อไปได้ แต่ทางโรงเรียนไม่อยากเปิดเนื่องจากขาดบุคลากร และคดีที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวหาก็หนักมาก จึงยังไม่พร้อมทำใจเปิดโรงเรียนหลังจากมีคำสั่งดังกล่าว (อ้างอิงจากเว็บไซต์วาร์ตานี)
http://www.publicpostonline.net/wp-content/uploads/2015/12/photo-4-1.jpg
 
หลากทัศนะต่อกรณีการยึดที่ดินปอเนาะญีฮาดวิทยาให้ตกเป็นของแผ่นดิน
 
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) และองค์กรเครือข่าย ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ปอเนาะ: แหล่งอารยธรรมสันติภาพ (อวสานโรงเรียนญีฮาดวิทยา)” ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
(ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ประชาไท)
 
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ โดยที่รัฐใช้อำนาจนิติรัฐมาตัดสินคดีโดยปราศจากหลักนิติธรรม จึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐชัดขึ้น
 
ขณะที่ นายวิทยา บูรณศิล มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวถึงการดำเนินคดีโดยศาลแพ่งโดยมิชอบ ทั้งๆ ที่ควรที่จะเป็นศาลอาญา เพราะศาลอาญาจะต้องพิสูจน์พยานก่อนเสมอ ทั้งนี้จากพยานบุคคลและพยานหลักฐานจากศาลไม่มีความชัดเจนและไม่สามารถพิสูจน์ได้
 
นายศราวุธ ศรีวรรณยศ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการยึดที่ดินวากัฟของศาล เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมด้วยหลักการศาสนาอิสลาม และเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างยิ่งของรัฐในการตัดสินคดีดังกล่าว
 
ด้านนายอาลิฟ มาแฮ เครือข่ายพลเมืองปาตานีนอกมาตุภูมิ (PATANI viewers) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีนั้นเป็นปัญหาทางการเมือง จึงไม่ควรนำนโยบายทางทหารมาแก้ไขปัญหา และหากจะแก้ปัญหาก็ไม่ควรนำสถาบันปอเนาะมาเป็นเครื่องมือ เพราะสถาบันเปาะเนาะเกิดขึ้นจากการผลักดันของชุมชน จึงไม่ต้องแปลกใจหากทุกวันนี้ชาวบ้านในละแวกปอเนาะญีฮาดจะออกมาปกป้องและรักษาเจตนารมณ์ของปอเนาะให้คงอยู่โดยการสร้างปอเนาะขึ้นมาใหม่ (อ้างอิงจากเว็บ–ไซต์ประชาไทย)
 
ซี่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การตัดสินคดีปอเนาะญีฮาดวิทยา จนนำไปสู่การสั่งริบที่ดินให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ถือว่าเป็นการตัดสินที่ปราศจากความเป็นธรรมและขาดความจริงในรายละเอียดของตัวปัญหาและบริบทของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ ในฐานะเป็นสถานศึกษา เป็นทรัพย์สินวากัฟ ที่มีความหมายมากกว่าของส่วนรวมแห่งรัฐ และการตัดสินยึดที่ดินให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยปราศจากซึ่งความยืดหยุ่นในการไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกที่ดีกว่าการตัดสินยืดที่ดินวากัฟอันเป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมยิ่งนักตามหลักการของศาสนาอิสลาม กล่าวคือ การยืดที่ดินวากัฟของรัฐถือว่าเป็นการยืดทรัพย์สินของพี่น้องทั้งมวล ซึ่งเป็นสิ่งที่มิน่าเกิดขึ้นเลยในสังคมที่มีหลักธรรมคำสอนเป็นสรณะในการปกครองบ้านเมือง เพื่อทำนุบำรุงความผาสุกและความร่มเย็นในสังคม อันเป็นบรรยากาศแห่งสันติและสันติภาพที่ทุกฝ่ายกำลังตามหา
__________________________________________________________
อ้างอิง http://wartani.com/dev/
อ้างอิง http://prachatai.org/journal/2016/02/64201
เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.fatonionline.com/1719