Skip to main content

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องญิฮาด

 

บทความโดย  ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 

 

ประเด็นที่หนึ่ง : นิยามและความหมาย

      ในด้านภาษา "ญิฮาด" เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า "ญะฮฺดุน"(جَهْد) ซึ่งหมายถึง "การทำอย่างยากลำบาก, การปฏิบัติย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า" หรือมาจากคำว่า "ญุฮฺดุน"(جُهْد) ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจังเพื่อบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ    คำว่า “มุญาฮิด” (مجاهد)หรือ “ มุญาฮิดีน “ (مجاهدين)ก็คือคนที่ดิ้นรนต่อสู้ในหนทางของพระเจ้าและทุ่มเทความพยายามที่ทำให้เขาต้องเหนื่อยล้าเพื่อการนั้น

      ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลายเพื่อเทิดทูนคำสั่งแห่งอัลลอฮฺ หรือการใช้ความพยายามในหนทางของอัลลอฮฺเพื่อบรรลุถึงความดี และการป้องกันความชั่ว

      ญิฮาดสามารถปฏิบัติได้ในหลายๆ ด้าน โดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือ โรคภัยไข้เจ็บ และการต่อสู้กับพลังความชั่วในโลกทั้งหมด  

 

ประเด็นที่สอง : ระดับและประเภท

นักวิชาการมุสลิมแบ่งการญิฮาดออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน  

1. ญิฮาดโดยหัวใจ หมายถึง การต่อสู้กับตัณหาราคะในตัวเอง หรือการทำจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

2. ญิฮาดโดยวาจา  หมายถึง การชักชวนคนให้หันมายอมรับแนวทางที่ถูกต้องและให้เขาหลีกเลี่ยงจากการกระทำความชั่ว แบบฉบับของท่านศาสนทูตได้แสดงให้เห็นว่าท่านชอบวิธีนี้มากกว่าวิธีการใช้กำลังหรือการบังคับ

3. ญิฮาดโดยมือ หมายถึง การสนับสนุนความถูกต้อง และแก้ไขสิ่งที่ผิดโดยใช้กำลังทางร่างกาย

4. ญิฮาดโดยอาวุธ ในฐานะที่สงครามเป็นวิธีการสุดท้ายในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างมนุษย์ อิสลามจึงอนุญาตให้มุสลิมตอบโต้การกดขี่ได้ ในกรอบที่กว้างไปอีก อาจแบ่งการญิฮาดออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ :

 1) ญิฮาดน้อย (جهاد أصغر) คือ การต่อสู้กับศัตรู และ

2)  ญิฮาดใหญ่ (جهادأكبر) คือ การปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ ด้วยการทำความดีและละเว้นความชั่ว        

          แม้กระนั้นก็ตาม ในส่วนของญิฮาดน้อย หรือการต่อสู้กับศัตรู อัล-กุรอานก็มักจะใช้คำว่า “กิตาล” ( قتال) และ “ หัรบฺ “  (حرب) ซึ่งหมายถึง การสู้รบ เพื่อบ่งบอกถึงการทำศึกสงคราม

ท่านอิบนุลก็อยยิมได้แบ่งการญิฮาดออกเป็น 5 ประเภทคือ

1. การญิฮาดกับอารมณ์ของตนเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการญิฮาดอื่นๆทั้งหมด มี4ระดับคือ

ก. ญิฮาดเพื่อการศึกษาและเรียนรู้

ข. ญิฮาดเพื่อปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้

ค. ญิฮาดเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้ยังผู้อื่น

ง. ญิฮาดเพื่อให้อดทนต่อความยากลำบากต่างๆในหนทางดังกล่าว

2. การญิฮาดกับชัยตอน

3. การญิฮาดกับผู้ปฏิเสธ

4. การญิฮาดกับมุนาฟิก

5. การญิฮาดกับมุสลิมผู้ประพฤติผิดหลักศาสนา 

         ในกรณีการญิฮาดกับผู้ปฏิเสธนั้นสามารถทำได้หลายระดับ และหลายวิธี เช่น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม การตอบโต้ และชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน การเชิญชวนด้วยวิทยปัญญา และการทำสงครามต่อสู้กับการถูกกดขี่ข่มเหง

 

ประเด็นที่สาม : ญิฮาดกับสงคราม

          จากคำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าการทำสงครามเป็นรูปแบบหนึ่งในหลายรูปแบบของการญิฮาดซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมแห่งอัลลอฮฺในสังคม และวิถีชีวิตมุสลิม และการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวอาจสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการทำสงครามแต่อย่างใด   คำ ญิฮาด จึงมีความหมายกว้างกว่าสงครามมาก ญิฮาดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสงคราม และสงครามก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นญิฮาด เพราะสงครามในอิสลามต้องอยู่ภายใต้จุดประสงค์ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และจรรยาบรรณอันสูงส่ง                          

 

ประเด็นที่สี่ : การบัญญัติเรื่องการทำสงคราม

           ท่านนบี  ได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนสู่อิสลามตลอดระยะเวลา13ปีที่นครมักกะฮฺด้วยสันติวิธี ท่านไม่เคยตอบโต้ และไม่เคยใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น ครั้นเมื่อท่านอพยพมายังนครมะดีนะฮฺ การทำสงครามจึงได้ถูกบัญญัติขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีขั้นตอน คือ

 

ขั้นตอนที่หนึ่ง ทำสงครามเพื่อป้องกันการรุกรานดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า

“สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้นได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง” (22/39)

และอีกโองการหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า

“จงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ต่อสู้สูเจ้า แต่จงอย่ารุกราน เพราะอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน” (2/190)

 

ขั้นตอนที่สอง ทำสงครามกับศัตรู ผู้รุกรานได้ทุกเมื่อ ยกเว้นเดือนที่ฮะรอมดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า

“ครั้นเมื่อบรรดาเดือนต้องห้ามเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็จงทำสงครามกับมุชริกีนเหล่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบเขา” (9/5)

 

ขั้นตอนที่สาม ทำสงครามกับศัตรูผู้รุกรานโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า

          “และจงประหัตประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออก และการก่อความวุ่นวายนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก” (2/191)

 

 ประเด็นที่ห้า :จุดประสงค์ของการทำสงคราม

           สงครามเป็นที่อนุมัติในอิสลามแต่เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการสันติอย่างเช่นการพูดคุย การเจรจาและการทำสัญญาได้แล้วเท่านั้น สงครามจะต้องเป็นวิธีการสุดท้ายและจะต้องหาทางหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด

           สงครามในอิสลามมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับคนให้เปลี่ยนศาสนาหรือล่าอาณานิคมหรือแสวงหาดินแดน ความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่ แต่มันมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อป้องกันชีวิต ทรัพย์สิน ดินแดน เกียรติยศและเสรีภาพของตนเช่นเดียวกับการป้องกันคนอื่นให้พ้นจากความไม่เป็นธรรมและการกดขี่

 

 การทำสงครามในอิสลามจะต้องทำเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1. ตอบโต้ความอยุติธรรม และการรุกราน ปกป้อง และพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนา และมาตุภูมิ

2. ปกป้องเสรีภาพในด้านการศรัทธา และปฏิบัติตามหลักศาสนา  ที่บรรดาผู้รุกรานพยายามใส่ร้าย หรือกีดขวางมิให้มีเสรีภาพด้านความคิด และการนับถือศาสนา

3. พิทักษ์การเผยแผ่อิสลามที่ค้ำชูความเมตตา ความสงบสันติแก่มนุษยชาติ ให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึงแก่มนุษย์ทั้งมวล

4. ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญาหรือศรัทธา หรือผู้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับคำสั่งของอัลลอฮฺ และปฏิเสธความยุติธรรม การประนีประนอม

5. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่แห่งใด ปลดปล่อย และปกป้องเขาจากการรุกรานของเหล่าผู้ถูกกดขี่

 

จากวัตถุประสงค์ข้างต้นนั้นสามารถแยกประเภทของสงครามในอิสลามออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1) สงครามป้องกัน ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อศัตรูของมุสลิมโจมตีศาสนา เกียรติยศ ทรัพย์สินและดินแดน เป็นต้น

2) สงครามปลดปล่อย ซึ่งทำเพื่อปลดปล่อยบรรดาผู้ถูกกดขี่ เช่น ทาส สงครามประเภทนี้เป็นสิ่งปกติในยุคแรกของอิสลาม

3) สงครามที่เริ่มต้นบุกก่อน ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมุสลิมรู้แน่ชัดว่ามีการทรยศต่อสัญญาสันติภาพที่ทำไว้กับศัตรู เมื่อศัตรูมีแผนที่จะโจมตีมุสลิมอย่างจริงจัง

 

ประเด็นที่หก :เงื่อนไขของการทำสงคราม

 ญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.  ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม

2.  ถูกลิดรอนสิทธิด้านศาสนา

3.  จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน

4.  จะต้องไม่ทำสงครามกับกลุ่มผู้ปฏิเสธ 3 ประเภทคือ

     ก. อัลมุสตะอฺมัน ( المستأمن ) ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำธุระในรัฐอิสลามชั่วคราว เช่น นักการทูต พ่อค้า นักธุรกิจ และนักศึกษา เป็นต้น  

     ข. อัลมุอาฮัด (  المعاهد ) ได้แก่ กลุ่มผู้ปฏิเสธที่มีสัญญาสงบศึก หรือมีสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

     ค. อัซซิมมี่  ( الذمّي ) ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม และจ่ายยิซยะฮฺให้แก่รัฐอิสลาม     

5.  อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม เช่น ต่อสู้กับบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่ไม่เป็นฝ่ายเริ่มการเป็นศัตรูก่อน แท้จริง "อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน" (ดูอัลกุรอาน 2:190)  

          ไม่ทำลายศพ ไม่ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง  และนักบวช ไม่ตัด หรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล ไม่ฆ่าสัตว์ เช่น แกะ วัว หรืออูฐ นอกจากเพื่อเป็นอาหาร และปฏิบัติต่อเชลยสงครามด้วยดี

      

ประเด็นที่เจ็ด : ญิฮาดกับการก่อการร้าย

          เพราะฉะนั้น สงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศ หากไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือการก่อการร้าย(ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ) ญิฮาดจึงมิใช่การก่อการร้าย อิสลามไม่อนุมัติการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะโดยการรุกรานหรือโดยวิธีการพลีชีพ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม อิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่ และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด     การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาด" (    فساد في الأرض) การก่อความเสียหาย และความหายนะต่อสังคมโลก ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม

 

ประเด็นที่แปด : กฎพื้นฐานของการทำสงคราม

 กฎพื้นฐานของสงครามในอิสลามมีดังนี้ :

1) จะต้องเข้มแข็งเพื่อที่ศัตรูของสูเจ้าจะได้เกรงกลัวสูเจ้าและไม่โจมตีสูเจ้า

2) จงอย่าเริ่มต้นการเป็นศัตรูก่อน แต่จงทำงานเพื่อสันติภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

3) จงต่อสู้กับคนที่ต่อสู้สูเจ้า ไม่มีการลงโทษแบบเหมารวม จะต้องไม่ทำร้ายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามและจะต้องไม่ใช้อาวุธทำลายร้ายแรง

4) ยุติการเป็นศัตรูทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งมีแนวโน้มที่จะยอมรับสันติภาพ

5) รักษาสัญญาและข้อตกลงตราบใดที่ศัตรูยังปฏิบัติตามสัญญา

 

ประเด็นที่เก้า : การแบ่งประเภทของดินแดน 

นักนิติศาสตร์อิสลามได้แบ่งดินแดนในโลกออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

 1)   “แดนสันติ” (دارالإسلام) หมายถึงดินแดนที่ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม และมีระบอบการปกครองและกฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐาน

2)   “แดนข้าศึก” (دارالحرب) หมายถึงดินแดนที่มีการประกาศสงครามและการต่อสู้ระหว่างมุสลิมกับศัตรู

3)   “แดนสัญญาพันธไมตรี” ( دارالصلح أودارالعهد) คือ ดินแดนของรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีสนธิสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

          การจัดประเภทดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในอิสลามตั้งแต่ต้น แต่เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ในสมัยนั้นเป็นปัจจัยหลัก กล่าวคือ ในขณะที่อาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายออกไป   โลกอิสลามต้องเผชิญกับการสู้รบกับข้าศึกผู้รุกรานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในขณะเดียวกันก็จะต้องปลดแอกดินแดนที่ประชากรได้รับการกดขี่ข่มเหงโดยผู้ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม  ต่อเงื่อนไขดังกล่าว เจ้าเมืองต่างๆ ที่นิยมใช้อำนาจเผด็จการ จึงจัดเตรียมกำลังรบเพื่อทำศึกกับรัฐอิสลาม โดยหวังจะบดขยี้อิสลามให้สิ้นไป ทั้งนี้เป็นเพราะมุสลิมมีนโยบายที่จะปลดแอกประชากรที่ถูกกดขี่ข่มเหง โดยจะธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพแห่งมนุษย์ และวางรากฐานแห่งความเสมอภาคระหว่างบุคคล ซึ่งนโยบายดังกล่าวย่อมขัดกับนโยบายแสวงหาอำนาจเพื่อความยิ่งใหญ่ของบุคคลและของนครรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของระเบียบโลกในยุคกลาง บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายในยุคนั้นจึงได้โจมตีดินแดนมุสลิมจากทุกสารทิศ และมุสลิมก็ต้องต่อต้านป้องกันตนเองในขอบข่ายแห่งบทบัญญัติอิสลาม

          อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวได้เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง แทนที่ฝ่ายมุสลิมจะเป็นฝ่ายตั้งรับเฉยๆ ก็เปลี่ยนเป็นยกกำลังออกไปปราบปรามรัฐที่ฝักใฝ่ในการขยายอำนาจแบบไม่หยุดหย่อน  ตามนัยที่นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “แดนสันติ” และ “แดนข้าศึก” นั้น ท่านอบูหะนีฟะฮฺ (d.150/767) ได้ให้นิยามคำว่า “กลุ่มชนที่ไม่ใช่มุสลิม” ไว้ว่า จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการอย่างครบถ้วน หากยังขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดินแดนแห่งกลุ่มชนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็น “แดนข้าศึก” ลักษณะดังกล่าว ได้แก่

     1. มีการฝักใฝ่หมกมุ่นในพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหลักการแห่งอิสลามได้โดยเสรี เช่น การค้าประเวณี การดื่มสุรา การพนัน และการกระทำที่ต้องห้ามอื่นๆ

     2. มีพรมแดนติดต่อกับรัฐอิสลาม และมีท่าทีหรือพฤติกรรมที่ส่อว่าอาจโจมตีรุกรานรัฐอิสลามได้ทุกขณะ หรือมีการปิดกั้นทางสัญจรมิให้มุสลิมใช้ผ่าน ตามความหมายของอบุหะนีฟะฮฺ เขตทะเลทรายที่ประชิดพรมแดนรัฐมุสลิมจะต้องเป็นแดนสงบด้วย ในทำนองเดียวกัน น่านน้ำนอกชายฝั่งทะเลของรัฐอิสลามออกไปเท่าที่จะใช้สัญจรไปมาได้ก็จะต้องไม่อยู่ใน “แดนข้าศึก” ด้วย

     3. สภาพการณ์ที่ทำให้มุสลิมหรือผู้อยู่ในปกครองไม่อาจอยู่ได้โดยมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (เว้นแต่ฝ่ายปกครองแห่งดินแดนนั้นจะให้หลักประกันความปลอดภัยอย่างเป็นทางการและเชื่อถือได้)

          ลักษณะทั้ง 3 ประการจะต้องปรากฏอย่างครบถ้วน จึงจะถือว่าแดนนั้นเป็น “แดนข้าศึก” ได้ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ เช่นในกรณีที่รัฐใดไม่ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แห่งอิสลาม แต่มิได้สั่งห้ามมุสลิมให้เปลี่ยนความศรัทธา รัฐนั้นก็ยังไม่นับว่าเป็น “แดนข้าศึก”

 

           อัล-กัสซานี ได้ขยายความในข้ออธิบายของอบูหะนีฟะฮฺเกี่ยวกับคุณลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมว่า

          ในกรณีที่จะกำหนดให้รัฐใดเป็นแดนข้าศึกนั้น ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของความปลอดภัยต่อพลเมืองมุสลิมด้วย กล่าวคือ หากรัฐใดที่ให้ความปลอดภัยแก่พลเมืองที่มิใช่มุสลิม แต่ไม่ให้ความปลอดภัยแก่มุสลิม รัฐนั้นถือว่าเป็นรัฐที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม ทั้งนี้โดยถือเกณฑ์แห่งความไม่ปลอดภัยและความหวาดผวาเป็นเกณฑ์สำคัญ ไม่ใช่ถือความแตกต่างทางศาสนาแต่อย่างใด  ในทางกลับกัน หากกรณีที่พลเมืองมุสลิมได้รับการคุ้มครอง โดยไม่มีความหวาดกลัวใดๆ และมีการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม ก็ไม่ถือว่ารัฐนั้นเป็น “แดนข้าศึก” อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงอีกว่ารัฐนั้นจะยังคงรักษาอธิปไตยไว้ให้รอดพ้นจากรัฐอันธพาล (Rogue State) ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันได้มั่นคงเพียงใดด้วย

           คำจำกัดความดังกล่าวได้เน้นถึงภัยจากการรุกรานข่มเหงเป็นข้อใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะในดินแดนเช่นนี้ มุสลิมย่อมรู้สึกหวั่นวิตกต่อภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นหากมีสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐที่จะประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองได้เท่าเทียมกัน ถึงแม้หลักประกันนี้จะมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด อบูหะนีฟะฮฺก็ไม่ถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนข้าศึก อัล-กัสซานี ได้ย้ำถึงข้อนี้ว่า “เพียงแต่สงสัยหรือคิดว่าอาจเป็นไปได้ ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนข้าศึก” ดังนั้น จากคำนิยามข้างต้นพอจะสรุปความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามได้เป็นสองนัย ในกรณีที่จะวินิจฉัยว่ารัฐใดเป็นแดนข้าศึก

     1. หากกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ เป็นไปตามหลักการแห่งอิสลาม รัฐนั้นก็ถือเป็นแดนสันติ มิฉะนั้นก็ถือว่าไม่ใช่แดนสันติ แม้รัฐนั้นจะเรียกตนเองว่าเป็นรัฐอิสลามก็ตาม

     2. หากความเป็นมุสลิมของผู้ใดดำรงอยู่ได้ด้วยความปลอดภัยในรัฐใด ก็ถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนสันติ มิเช่นนั้นจะถือเป็นแดนศัตรู

           อย่างไรก็ตาม มาญิด คาดูรี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิมได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ สงครามและสันติภาพในอิสลาม หน้า 214 ว่า อิสลามได้เปลี่ยนแนวคิดแบบเก่าของชาวอาหรับในเรื่อง ดารุล-ฮัรบฺ หรือ แดนข้าศึก มาเป็น ดารุล-อิสลาม หรือ แดนแห่งสันติ แล้ว ซึ่งพยายามที่จะนำเสนอศาสนาอิสลามให้แก่ทุกคนในโลก

           ความสำเร็จอันดับแรกสุดคือ การรวมเอาชาติต่างๆ ที่ยอมรับนับถืออิสลามมาอยู่ภายในกลุ่มของตนเอง เพื่อว่าจะได้เลิกมีสงครามกลางเมืองเสียที และยังดำเนินต่อไปเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างประชาชาติอิสลามต่างๆ อิสลามมุ่งที่จะนำเอาความสงบเช่นนั้นมาสู่โลก ดังนั้น ความมุ่งหมายของญิฮาด ก็คือ สันติภาพในโลก และนั่นก็คือผลของมันในขั้นสุดท้าย

 

 * ข้อมูลส่วนหนึ่งในเอกสารชิ้นนี้เรียบเรียง และคัดลอกมาจากบทความเรื่อง ญิฮาดหรือการก่อการร้ายของ อ.อับดุลสุโก ดินอะ บทความ เรื่อง ญิฮาด: ระหว่างสงคราม และสันติภาพ ของ ศราวุฒิ อารีย์ และจากหนังสือ ชี้แจงข้อเท็จจริง การบิดเบือนคำสอนศาสนาอิสลามในเอกสาร เบอร์ญีฮาด ดิ ปัตตานี (การต่อสู้ที่ปัตตานี) โดย สำนักจุฬาราชมนตรี

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.islammore.com