Skip to main content

ICJ แถลงเนื่องในโอกาสครบ 12 ปีการหายตัวไปของ “ทนายสมชาย” ชี้กระบวนการสืบสวนล่าช้า พร้อมกดดันให้ไทยต้องสืบหาความจริงต่อไปแม้ศาลจะยกฟ้องไปแล้ว และต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสากลป้องกันการบังคับสูญหาย (อุ้มหาย) โดยด่วน

 

 

          คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) แถลงเนื่องในโอกาสครบ 12 ปีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยระบุว่าการยกจำเลยทั้ง 5 คนในคดีทนายสมชายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เป็นการด่วน

          ทั้งนี้ ICJ ยืนยันว่าแม้คดีความของครอบครัวนีละไพจิตรและจบลง แต่รัฐบาลไทยยังคงต้องสืบหาความจริงต่อไป โดยนายแซม ซาริฟี่ ผู้อํานวยการ ICJ สํานักงานเอเชียกล่าวว่า “คําพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ได้ทําให้คดีทนายสมชายยุติลง รัฐบาลไทยยังมีพันธกรณีที่ต้องสืบหาและสอบสวนข้อเท็จจริงรวมถึงนําความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชายและครอบครัว”

          นอกจากนี้ ICJ ยังย้ำเตือนด้วยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รัฐบาลไทยได้ให้คํามันสัญญาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ไว้ว่า “จะดําเนินการอย่างสุดความสามารถและละเอียดถี่ถ้วนในการนําความยุติธรรมมาสู่คดีทนายสมชาย” โดยขณะนี้ ICJ รับทราบแล้วว่ากระทรวงยุติธรรมของไทยกำลังอยู่ในระหว่างยกร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย ซึ่งนิยามและกำหนดให้การบังคับให้สูญหายและทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญา

          ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภรรยาทนายสมชายกล่าวว่า “คําพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินว่าจําเลยทั้งห้าไม่มีความผิด และปฏิเสธสิทธิของดิฉันและลูกๆ ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดีนั้น แสดงให้เห็นว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายไม่มีที่พึ่งที่จะเรียกร้องความยุติธรรมในประเทศไทย และก็เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จนกว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยด่วน รวมทั้งแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันสิทธิของเหยื่อ”


แถลงฉบับเต็ม ภาษาไทย

แถลงฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.amnesty.or.th