Skip to main content

 

อินโดนีเซีย ในความรู้สึก [๒] เวทีที่เรียนรู้

หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อย ก็เริ่มเข้าสู่เวทีของการประชุม หากดูตามรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว จะมีผู้ถูกเชิญเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประมาณ ๑๒๐ คน ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากหลายๆ ประเทศ

บรรยากาศของการประชุม จัดเป็นโต๊ะกลม โต๊ะนึงมีสมาชิกประมาณ ๑๐ คน เริ่มด้วย การพูดถึงปัญหาด้านมนุษยธรรม กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธ และปัญหาโลกร้อน ซึ่งในแต่ละองค์กรที่ทำงานในแต่ละประเทศ มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นแบบตรงๆ กันบนเวที

ต่อมามีการพูดถึงภัยพิบัติต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นซึนามิ หรือแผ่นดินไหว การเรียนรู้การทำงานและได้รับการสนับสนุนการทำงานของผู้คนในท้องถิ่น หรือแม้แต่แนวคิดเรื่องการเงินอิสลาม ทำไมซากาด มักจะถูกเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

หรือแม้แต่ประเด็นของ ICRC ที่ทำงานพื้นฐานที่เป็นกลาง และไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่มักจะถูกตั้งคำถามมากกว่าเป็นกลาง

มาถึงสถานการณ์ในอาเจะห์ มีผู้เสียชีวิตจากซึนามิ ๑๒๐,๐๐๐ คน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีนักมนุษยชน ประมาณ ๘,๐๐๐ คน เข้าช่วยเหลือ ซึ่งปัญหาของที่นี้ นอกจากจะมีภัยพิบัติธรรมชาติ ยังมีภัยพิบัติที่เกิดจากคนทำอีกด้วย

ที่อาเจะห์ จะมีทุกศาสนาเข้าไปทำงานพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะมี พุทธ กลุ่มไม่สังกัดศาสนา หรือ ICRC ทุกองค์กรมีวาระของตนเอง เป็นอิสระ ทุกองค์กรสร้างบ้าน แต่ก็เป็นแบบบ้านขององค์กรตัวเอง

แต่สิ่งหนึ่งที่ผม พอจับทิศทางได้ (โดยผ่านคอมพิวเตอร์ของ หน่อย) ในภาวะที่มีภัยพิบัติ หรือความขัดแย้งในที่ต่างๆ นั้น คือ "คอรัปชั่น" ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในภาวะแบบนี้

แต่ที่ต้องแบ่งกันคิดคือ ในภาวะภัยพิบัติ ผู้คน หรือองค์กรต่างๆ กลับมีความเชื่อมั่นในองค์กรของทหาร และ ICRC (ในภาวะภัยพิบัตินะครับ) ด้วยความที่ ทั้ง ๒ องค์กร มีวินัยในการทำงาน ซึ่งอาจจะมีอีกหลายๆ องค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือ เพียงแต่อาจจะขาดความรู้ ขาดความมีระบบ และขาดการมีวินัย

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเองคิดว่าจะต้องจดจำยามเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ คือ อย่าให้คนอดตาย หรือติดโรคตาย เพราะมีคนตายจากภัยพิบัติ มากพอแล้ว และต้องทำความสะอาดเมืองให้กลับมามีชีวิตเหมือนเดิม

เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงแค่บางส่วนที่ ผมเองต้องตัดทอนในบางเรื่อง บางประเด็นเท่านั้น เนื่องจากมีข้อตกลงในที่ประชุมห้ามมิให้เผยแพร่ชื่อ ตัวบุคคล ครับ

เอาละครับ ได้เวลาต้องไปเติมกาแฟ (Coffee-Break) แล้วละครับ ไว้โอกาสหน้า จะมาเล่าให้ฟังกันต่อนะครับ