Skip to main content

 

บีบีซีไทย - BBC Thai 

 

 

นายคิงสลีย์ แอบบ็อต จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ เรียกร้องให้ทางการไทยรื้อฟื้นการสอบสวนคดีการหายตัวของนายสมชาย ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยให้ผลักดันให้เกิดความคืบหน้าสำหรับการสอบสวนในส่วนของการฆาตกรรมและการบังคับให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

นายแอบบ็อต กล่าวถึงการตัดสินของศาลฎีกาให้ยกคำร้องของครอบครัวที่ขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีการหายตัวไปของนายสมชายด้วยว่า คดีดังกล่าวที่ดำเนินการกันนั้น เป็นการฟ้องในความผิดฐานข่มขืนใจ ทำให้เสียเสรีภาพและปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่คดีฆาตกรรมและการบังคับให้สูญหาย อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางการไทยจะต้องรื้อฟื้นการสอบสวนคดีนี้เสียใหม่และทบทวนว่ากระบวนการสอบสวนที่ผ่านมาเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ 
ทั้งนี้ เขาเห็นว่ามีหลักฐานที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนมาก อาทิ บันทึกการใช้โทรศัพท์ระหว่างนายสมชายกับกลุ่มจำเลยที่มีกว่า 75 ครั้ง ในวันที่เขาหายตัวไป

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งรับคดีนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2548 เป็นเวลาเกือบ 11 ปี หาทางนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะไม่มีความคืบหน้า และการดำเนินคดีฆาตกรรมก็ยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น

นางอังคณาเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เร่งให้สัตยาบันต่อการคุ้มครองการถูกบังคับการสูญหาย และให้มีกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหาย กับอนุญาตให้คณะทำงานด้านการบังคับบุคคลสูญหายของสหประชาชาติเข้ามาเยือนประเทศไทยด้วย

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่ามีข้อมูลพบว่ามีคดีที่บุคคลตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายกว่า 80 คดี กรณีล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.ปัตตานีซึ่งเหยื่อการอุ้มหายถูกนำตัวไปขณะที่กำลังแจกการ์ดแต่งงานของตัวเอง ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. นายสุนัยเรียกร้องให้ทางการไทยแสดงความกล้าหาญในการทำให้การยุติการสูญหายเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการรื้อฟื้นคดีของนายสมชายขึ้นมาใหม่ สอบสวนตามสภาพความเป็นจริงของคดี และต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา

ด้านนายสมชาย คมกริส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ระบุว่า ทางกรมไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ พร้อมกับบอกว่า กรมกำลังยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งได้กำหนดนิยามศัพท์ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการทรมานและการอุ้มหาย ไว้อย่างสอดคล้องกันกับการกำหนดบทลงโทษจำคุก 20 ปี และให้มีการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะพบผู้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าถึงแก่ความตายเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ การควบคุมตัวบุคคลจะต้องแจ้งให้ญาติและ ทนายความทราบถึงสถานที่คุมขัง กำหนดวันเวลาการคุมขัง บันทึกเหตุผล และบันทึกข้อมูลการตรวจร่างกายด้วย

‪#‎Forceddisappearance‬

 

 

ภาพโดย thiti meetime

 

 

เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559