ปอเนาะ สมานฉันท์ และ สันติวิธี
: แรงขับของกระบวนการสร้างคุณธรรม[1]
สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร[2]
สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายภายใต้ วิถีคิดที่หลากหลายแตกต่างกันบนพื้นฐานมิติความอคติด้วยเหตุมูลฐานภายในจิต ใจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ แม้กระทั่ง ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มิอาจปฏิเสธเหตุผลดังกล่าวข้างต้น[3]
ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจัดว่าเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทาง วัฒนธรรม (Culture diversity) ซึ่งความหลากหลายนี้ครอบคลุมถึงเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ศาสนา และความเชื่อ กล่าวคือ ไม่ได้มีเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้นหากแต่ยังประกอบด้วยพี่น้องชาวไทย พุทธซึ่งแม้จะเป็นนกลุ่มน้อยในพื้นที่แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน และการลงทุนมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่าจะพัฒนาสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ แบบไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความรู้สึกว่าเธอเป็นศัตรูกับฉัน ฉันเป็นศัตรูกับเธอแต่เราคือพี่น้องกันภายใต้ร่มธงไตรรงค์เดียวกันและการ พัฒนาเชิงความรู้สึกนั้นจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร และหากจะมองในด้านสถาบันที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความ สมานฉันท์ท่ามกลางความหลากหลายสำหรับในด้านการศึกษาของพี่น้องชาวไทยมลายู มุสลิมในพื้นที่นั้น มีสถาบันการศึกษาอิสลามที่เก่าแก่ที่สุด[4] และมีบทบาทมากตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเรียกว่า “ปอเนาะ” ปอเนาะเป็นศูนย์รวมทางอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวมุสลิม เป็นสถาบันการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กับสังคมไทยมากกว่า ๕๐๐ ปี ปอเนาะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการพัฒนาสังคมและความเปลี่ยนแปลงที่ เปรียบเสมือนกับเกียรติและศักดิ์ศรีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของพี่น้องชาว มลายูมุสลิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมือง การปกครองหรือเศรษฐกิจ แต่ปอเนาะก็ยังคงอยู่ในสังคมของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถาบันศึกษาปอเนาะ[5] จำนวน ๒๕๕ แห่ง (ณ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗)[6] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงของเราได้มีพระราชดำรัสเกี่ยว กับปอเนาะไว้ตอนหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อวันพุธที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๒ ว่า[7]
“ข้าพเจ้า ปรารถนาที่จะได้เห็นทุกคน มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปรับ ปรุงหลักสูตรและวิชาการต่างๆที่สอนในปอเนาะ เพราะเยาวชนในแต่ละจังหวัดจะมีอนาคตแจ่มใสได้ก็โดยได้เข้าเรียนในโรงเรียน ที่ดี มีโอกาสได้รับความรู้พื้นฐานสำหรับนำไปสู่การศึกษาระดับสูงยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งถึงขั้นอุดมศึกษา..."
เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องการจัดระบบโรงเรียนปอเนาะนั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จนขยายกลายเป็นกรณีความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนปีเดียวกัน และสะสมจนกลายมาเป็นเหตุการณ์ประท้วงที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม
นอกจากนี้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ชายแดนใต้ในประวัติศาสตร์ซึ่งมักมีคำว่าปอเนาะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา สถาบันศึกษาปอเนาะจึงถูกมองจากรัฐบาลและคนทั่วไปตลอดจนสังคมภายนอก (Emic View) ว่าเป็นสถานศึกษาที่บ่มเพาะความคิดบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นสถานศึกษาที่ขาดการควบคุมดูแล ขาดระเบียบกฎเกณฑ์ และขาดมาตรฐานทางการศึกษา
หากจะมองอีกมุมผ่าผ่านการพยายามทำความเข้าใจเป็นที่ชัดเจนว่าปัญหาความไม่ สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานภาครัฐในทุกรัฐบาลตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา พยายามแก้ไขเยียวยาทั้งในภาคนโยบายและการปฏิบัติงาน คำว่า “สมานฉันท์” (Reconciliation) กลายเป็นคำพูดสวยงามที่มักได้ยินตามสโลแกนต่างๆ และใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวางเสียจนบางครั้งสูญเสียความหมายที่แท้จริงไป
สำหรับในแวดวงนักวิชาการ การขับเน้น “แนวทางสันติวิธี” (Non-violence) และ “การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” (Coexistence in a multicultural society) ซึ่งมีที่มาจากการพัฒนาการของปรัชญาสังคมในโลกตะวันตก กลายเป็นวาทกรรมหลักเมื่อกล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ แม้ว่าในระดับประชนคนธรรมดาและชาวบ้านในพื้นที่ฯจะพบความอิหลักอิเหลื่อใน การสนธิแนวคิดเหล่านี้ให้เข้ากับวิถีชีวิตในท้องถิ่นของตน พวกเขาไม่เห็นถึงความเข้ากันได้ (Compatibility) ระหว่างแนวคิดที่นำเข้าจากสังคมต่างบริบทกับวิถีชีวิตพื้นฐานของพวกเขาที่ ผ่านการพัฒนาการด้วยปัจจัยแวดล้อมภายใน
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าโลกทัศน์และวิธีคิดของคนในท้องถิ่นไม่ได้มีรากฐาน มาจากแนวคิดตะวันตก ระบบคุณค่าทางจริยธรรมที่ปรากฎในพื้นที่ไม่ได้งอกเงยมาจากแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) ทว่า รากฐานของศาสนานิยมในแบบโลกตะวันออกยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนยึดถืออยู่เป็น ส่วนใหญ่ ดังนั้น การพยายามที่จะยัดเยียดแนวคิดที่แปลกแยกจากความเป็นท้องถิ่นและฐานรากของ วัฒนธรรมจึงยังไม่เห็นหนทางที่จะบรรลุเป้าประสงค์ในอนาคตอันใกล้[8]
สรุป แม้เรื่องราว ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งสายหมอก การผสมผสานความพยายามทำความเข้าใจในพื้นที่แห่งนี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สำคัญอันเก่าแก่ของนครทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ปอเนาะ” ยังคงต้องสร้างแรงขับที่ต้องเข้าใจอย่างเข้าใจผ่าผ่านประสบการณ์เรื่องราว ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ควรตระหนักและเรียนรู้เพราะคุณธรรมที่บ่มเพาะ จาก “ปอเนาะ” คือเรื่องของการสร้างความสมานฉันท์ สันติวิธี และเรื่องราวทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในหลักการสร้างคุณธรรม(ความดีทั้ง ปวง)อย่างแท้จริง หลักคุณธรรม ท่านศาสดามุหัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ให้คำจำกัดความของคุณธรรมไว้อย่างชัดเจน ว่า
«الإحسانأنتعبداللهكأنكتراه،فإنلمتكنتراهفإنهيراك» متفق عليه
คุณธรรม คือ การที่เจ้าทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ประหนึ่งว่าเจ้ามองเห็นพระองค์ มาตรแม้นว่าเจ้ามองไม่เห็นพระองค์ แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงเห็นเจ้า (รายงานโดย อัลบุคอรีและมุสลิม)
จะเห็นได้ว่า หลักคุณธรรมนี่เองที่เป็นบ่อเกิดของความยำเกรงต่อบาป (ตักวา) การมีความสำนึกในความรอบรู้ของพระเจ้าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ระมัดระวัง และมีสติในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่เสมอ เมื่อจิตสำนึกดังกล่าวเกิดขึ้นและงอกงามในจิตใจ หลังจากนั้น ความยุติธรรมและความดีงามก็จะปรากฏขึ้นในทุกการกระทำและทุกย่างก้าวของชีวิต เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของความดีงามทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่า หลักคุณธรรมเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาดผ่องแผ้ว ปราศจากความโลภ โกรธ หลง และมัวเมาในกิเลสตัณหา มีจรรยามารยาทงดงาม ไม่เบียดเบียนฉ้อฉลต่อเพื่อนมนุษย์
หากทว่าสังคม ณ ปัจจุบันหลงลืมเรื่องราวความเป็นจริงข้างต้น...?
วัลลอฮฺอะลัม
[1] บทความเรียบเรียงข้อแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนจากการผสมผสานบทนำในรายงาน การวิจัยที่กำลังขับเคลื่อนสองเรื่อง คือ การมีอยู่จริงขององค์ความรู้ที่บ่มเพาะท่ามกลางความหลากหลายต่อ การสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาสถาบันศึกษาปอเนาะภูมีวิทยา ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ของ สุรชัย ไวยวรรณจิตร นูรมาน จินตารา และรุ่งโรจน์ ชอบหวาน (ทุนสนับสนุนประจำปี ๒๕๕๓ จากสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า) และ การปลูกฝังคำสอนของศาสนาอิสลามที่ส่ง เสริมสันติสุขและความเข้าใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนมุสลิมในตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ของ วรพงษ์ เจริญวงษ์ และ อิสยัส มะเก็ง (ทุนสนับสนุนประจำปี ๒๕๕๓ จากสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า)
[2] อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
[3] สุรชัย ไวยวรรณจิตรและคณะ. ๒๕๕๓. การ มีอยู่จริงขององค์ความรู้ที่บ่มเพาะท่ามกลางความหลากหลายต่อการสร้างความ สมานฉันท์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาสถาบันศึกษาปอเนาะภูมีวิทยา ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี. บทนำของรายงานการวิจัย.
[4] อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต.๒๕๔๘. “ปอเนาะกับการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”, ในปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้การจัดการ ศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม.หน้าที่ ๓.
[5] เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎระเบียบกระทรวงว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ ๒๕๔๗ เพื่อเปิดโอกาสให้ปอเนาะต่างๆมาจดทะเบียนขึ้นเป็นสถาบันศึกษาปอเนาะที่ถูก กฎหมาย หลังจากจดทะเบียนแล้วให้เรียกว่า “สถาบันศึกษาปอเนาะ” ไม่ใช่ “ปอเนาะ” อย่างที่เรียกกันมาแต่ก่อน
[6] อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต.๒๕๔๘. ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนใต้ .หน้า ๗๕
[7]มัสยิดกา มาลุลอิสลาม. ๒๕๕๒. สร้างความ สมานฉันท์(ออนไลน์) . สืบค้นจากhttp://www.kamalulislam.com/main/content.php?page=sub& amp;category=18&id=153 [เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓].
[8] วรพงษ์ เจริญวงษ์ และ อิสยัส มะเก็ง. ๒๕๕๓. การปลูกฝังคำสอนของศาสนาอิสลามที่ส่งเสริมสันติสุขและความเข้า ใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนมุสลิมในตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา. บทนำของรายงานการวิจัย.