Skip to main content

บีบีซีไทย - BBC Thai 

 

 

จัดเทศกาลหนังสั้นครั้งแรกจากฝีมือคนสามจังหวัดภาคใต้ ระดมทุนช่วยครอบครัวปอเนาะญีฮาดวิทยา

นายนิรันดร เลาะนะ ผู้ผลิตหนังอิสระในนราธิวาสเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้จะร่วมมือกับหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ จัดฉายหนังสั้นที่ผลิตโดยกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ ถือว่าเป็นครั้งแรกในการรวบรวมความพยายามนำเสนอผลงาน โดยการฉายหนังหนนี้จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและเชิญชวนให้บริจาคเงินตามศรัทธา เป้าหมายนั้นนอกจากต้องการแสดงผลงานของคนในพื้นที่แล้ว ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจจะผลิตหนังสั้น รวมทั้งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวอดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยาที่กำลังรวบรวมทุนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะขึ้นมาใหม่ด้วย

“หลังจากที่เสนอความคิดนี้ออกไปได้มีผู้แสดงความสนใจช่วยเหลือให้ทุนมาจัดงาน โดยบอกว่าถ้าเงินเหลือจากการจัดงานก็ให้สมทบบริจาคให้ครอบครัว”

นายนิรันดรเปิดเผยว่า การจัดฉายหนังสั้นจะเริ่มในวันที่ 14 มีนาคม หลังจากนั้นจะเวียนไปหลายที่รวมทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงแรมซีเอส ปัตตานี บ้านฮัจยีสุหลง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายแห่งที่แสดงความสนใจ เช่นกลุ่มผู้สนใจหนังสั้นในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ แม้แต่ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

สำหรับหนังสั้นที่จะนำมาฉายนั้น เขาเปิดเผยว่า เป็นผลงานของผู้ผลิตสมัครเล่นและหน้าใหม่ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น หนังของเด็กนักเรียนมัธยมชื่อ “มะแอเพื่อนฉัน” ซึ่งได้รับรางวัลจากกรมประชาสัมพันธ์ หนังสั้น 2 เรื่องจากโครงการอบรมทำหนังสั้น มีเรื่อง “สันติแค่ภาพ” ของผู้ผลิตหน้าใหม่กูยิ อีแตและเพื่อนซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่ต้องจำขัง กับเรื่อง “แว้งที่รัก” ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อเดียวกันโดยในเรื่องหลังนี้นิรันดรกล่าวว่าเขาเป็นผู้ผลิตเอง หนังเรื่อง “สามเกลอแห่งสายบุรี” เรื่องราวของสามเกลอที่ต่างความเชื่อก็จริงแต่เป็นเพื่อนรักอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ยังมีสารคดีสั้นเรื่องราวของนักสิทธิและครอบครัวที่ติดตามทวงถามความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่ตายจากการซ้อมทรมานชื่อ “เขาชื่ออัสฮารี” ทั้งยังมีหนังสั้นชื่อ “เสียงแห่งความเงียบ” เป็นเรื่องราวของปอเนาะญีฮาดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่เวลานี้ กับอีกเรื่องเป็นตัวอย่างจากหนังใหม่ที่เตรียมจะเปิดโครงการผลิตเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฮัจยีสุหลงซึ่งคนในพื้นที่เห็นว่าเป็นวีรบุรุษของพวกเขา

นิรันดรชี้ว่า การผลิตหนังสั้นนับว่าได้รับความสนใจอย่างสูงจากคนในพื้นที่ในเวลานี้ ตัวเขาเองที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมหนังในกรุงเทพฯถึง 26 ปี เมื่อกลับไปยังบ้านเกิดในจังหวะที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊กได้รับความนิยม บวกกับโอกาสในทางเทคนิคที่เปิดเพราะกล้องราคาถูกลง โทรศัพท์มือถือก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่มาพร้อมโทรศัพท์ ทั้งหมดนี้ทำให้การผลิตหนังไม่ต้องลงทุนมากเช่นเดิม เพียงแต่ต้องนำองค์ความรู้ในเรื่องนี้ไปให้คนที่สนใจเพื่อให้เข้าใจวิธีการและการนำเสนอเนื้อหา เขาและกลุ่มเพื่อนๆที่สนใจอีกหลายคนพยายามสนับสนุนให้มีการอบรมทำหนังสั้นมาแล้วหลายหน

“ผมมีความคิดว่า ศิลปะ ความงาม วัฒนธรรม มันสามารถจะช่วยดับไฟใต้ได้ ที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กจนแก่ การใช้ปืนสู้มันไม่สำเร็จ มันมีแต่เสีย ไม่เคยมีใครได้ ถ้าลองเปลี่ยนวิธีดูบ้าง เอาศิลปะ ความงาม วัฒนธรรมมาสู้ อาจจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวก็ได้”

เมื่อถามว่าคนที่สนใจทำหนังสั้นในพื้นที่จำนวนมากมักจะทำเรื่องอะไร นิรันดรตอบว่าส่วนใหญ่มักจะเสนอทำเรื่องที่เกี่ยวกับทหาร เช่นการถูกจับที่ด่าน หรืออื่นๆ เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่อยู่ในใจผู้คนและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างมากก็คือการติดต่อปฎิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ทหารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และส่วนใหญ่มักจะเสนอในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในแง่ของหนังก็มักจะทำออกมาเป็นแนวตลกขำขันเสียมาก "อย่างเช่นมีคนเสนอเรื่องชาวบ้านขับรถผ่านด่านแล้วถูกทหารจับ เพราะว่าพอทหารถามว่าจะไปไหน ก็บอกจะไปซ้อมรบ ทหารก็เลยจับ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโดนจับ คือประเด็นมันอยู่ที่ว่าชาวบ้านพูดไม่ชัด แทนที่จะพูดว่าไปซ่อมรถ กลับไปพูดว่าไปซ้อมรบ คือมันปกติที่คนในพื้นที่นี้พูดไทยไม่ชัด และการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดกันก็มีมากในพื้นที่นี้” อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการจะพัฒนาฝีมือทำหนังให้จริงจังมากขึ้นยังต้องการการทำงานอีกมากเนื่องจากผู้คนที่สนใจยังขาดองค์ความรู้ การอบรมก็ทำได้ไม่มากพอไม่ต่อเนื่องเพราะไม่มีทุน

นิรันดรระบุว่า การจัดฉายหนังสั้นครั้งแรกหนนี้ได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างมากไม่ใช่เพราะความสนใจในเรื่องหนังจากฝีมือผู้ผลิตในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นเพราะเป็นเรื่องของการระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวแวมะนอ อดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยาซึ่งถูกทางการยึดที่ดินไปตามคำตัดสินของศาล เนื่องจากศาลเห็นว่า ที่ดินถูกใช้ไปในการสนับสนุนการก่อการร้าย แม้ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีแต่เมื่อสูญเสียที่ดินก็ต้องย้ายออก และไปพำนักในมัสยิดใกล้เคียง ขณะนี้มีคนจำนวนมากทะยอยไปเยี่ยมและมอบเงินให้เพื่อจะได้นำไปซื้อที่ดินจัดสร้างโรงเรียนปอเนาะใหม่รวมทั้งหาที่อยู่ให้กับครอบครัวด้วย นิรันดรชี้ว่า ความสนใจของประชาชนในอันที่จะช่วยเหลือครอบครัวนี้ส่งผลให้โครงการจัดฉายหนังสั้นได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก

 

 

ภาพประกอบ ภาพแรกการถ่ายทำหนังสั้นโดยผู้ผลิตในพื้นที่ ภาพถัดมา ปอเนาะญีฮาดวิทยาที่ปิดไปและที่ดินถูกยึด

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559