Skip to main content

 

 

จดหมายเปิดผนึก
กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
                                        วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553
เรื่อง      ขอให้เปิดเผยรายชื่อ และสถานที่ควบคุม ของผู้ถูกจับตามหมายจับและควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เรียน     รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                ภายหลังจากรัฐบาลได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยได้รับการประณามและแสดงความห่วงใยจากประชาสังคมโลก    อันเป็นที่ทราบกันทั่วไปนั้น  ต่อมารัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายจับและควบคุมบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจากการเวปไซด์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีรายงานว่ามีหมายจับและควบคุมดังกล่าว ภายในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตสำนักงานตำรวจภาค 1 จำนวน 99 หมาย แต่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ถูกจับและไม่ระบุสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ตลอดจนไม่มีรายงานของสำนักงานตำรวจภาคอื่นๆ ที่อยู่ในเขตท้องที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่ามีจำนวนผู้ถูกจับตามหมายและถูกควบคุมอยู่ที่ใด เช่นกัน ซึ่งการไม่ทราบรายชื่อผู้ถูกจับและการไม่แจ้งสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ถูกจับและญาติมิตร ที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกจับ จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ และไม่ทราบสภาพความเป็นอยู่ด้วย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยนักกฎหมาย ทนายความและบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผู้มีชื่อท้ายจดหมายนี้ขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและต้องได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณี โดยเฉพาะมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้
ข้อ 7   ห้ามการซ้อม ทรมาน หรือปฏิบัติใดๆอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม
ข้อ 9  ข้อ 2 ย่อย ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม ในขณะถูกจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
    ข้อ 3 ย่อย มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี
ข้อ 14 มีสิทธิมีทนายความที่เลือกเอง หากไม่มี รัฐต้องจัดหาให้ ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด และมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจ ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย รวดเร็ว โดยสื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้
 
สิทธิมนุษยชนตามหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
 
1. ขอให้ประกาศรายชื่อผู้ถูกจับกุมต่อสาธารณะ และประกาศสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที เพื่อป้องกันข้อครหาว่า รัฐบาลซ้อมทรมานผู้ถูกจับ และหากผู้ถูกจับเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษา พยาบาลอย่างเหมาะสม
 
ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2553
ลงชื่อ
            น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์    ทนายความ
            นายพิทักษ์ เกิดหอม      นักกฎหมาย
นายศราวุฒิ ประทุมราช   ทนายความ
            น.ส.ภาวิณี ชุมศรี        ทนายความ
            น.ส.ปรานม สมวงศ์       นักกฎหมาย
            นายนรินทร์   พรหมมา นักกฎหมาย