นายอับดุลกอฮาร์ หะยีวัง
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ในระหว่างที่ผมกำลังฝึกหัดว่าความคดีความมั่นคงในชมรมนักกฎหมายมุสลิมกับทนายสมชาย นีละไพจิตร ผมมักถามพี่สมชายเสมอว่าทำไมพี่ถึงให้ความช่วยเหลือคดีความมั่นคงทางภาคใต้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีอยู่ครั้งหนึ่งพี่สมชายเคยบอกเหตุผลกับผมว่า เพราะคดีความมั่นคงเป็น “ คดีการเมือง “
ด้วยความที่เป็นทนายใหม่ ยังไร้เดียงสาทางความคิด ประกอบกับขณะนั้นมุ่งที่จะฝึกหัดให้เชี่ยวชาญในการว่าคดีในศาล ไม่ค่อยสนใจอะไรที่เป็นแนวคิดทางวิชาการเท่าใดนัก สำหรับทนายใหม่คิดอย่างเดียวว่า การจะมีความเชี่ยวชาญต้องอาศัยการปฏิบัติให้มาก หมั่นศึกษาในทางเทคนิคโดยการฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งความคิดในลักษณะเช่นนี้ไม่แตกต่างกับทนายความใหม่ทั่วไปที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบปี ๒๕๔๗ ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกในภาคใต้ เท่าที่ผมจำได้พี่สมชายได้ทิ้งภารกิจสองอย่าง ที่เป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ทางความคิด นอกจากการร้องขอความเป็นธรรมให้กับห้าผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมทรมานในคดีปล้นปืนจนเป็นเหตุให้สูญหายไป
นั่นคือเดินทางไปรัฐสภาเพื่อขอพบนักการเมืองมุสลิมในนามกลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีอำนาจมากในขณะนั้น โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว เพราะเคยเป็นสหายทำกิจกรรมด้วยกันในอดีต เพื่อขอหารือแนวทางในการแก้ปัญหา และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กับอีกภารกิจหนึ่งคือ ล่ารายชื่อเพื่อขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก โดยทำจดหมายเปิดผนึก กลุ่มเป้าหมายคือผู้นำศาสนา และบุคคลทั่วไป โดยเน้นมุสลิมทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในสามจังหวัดเท่านั้น แต่ทั้งสองภารกิจผมก็ยังไม่เข้าใจความคิดอยู่ดี
เท่าที่ทราบ ทั้งสองภารกิจไม่ได้รับการตอบรับจากทั้งจากนักการเมืองและผู้นำศาสนา จนพี่สมชายรู้สึกท้อใจและบ่นให้ฟังในทำนองถอดใจ
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๑๒ ปี เมื่อนั่งทบทวนความหมายของ “ คดีการเมือง “ กับการกระทำบางอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว พอจะอ่านความคิดได้ว่า คดีการเมืองเป็นคดีที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางความคิด ผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นอาชญากรโดยกมลสันดาน (ผมเข้าใจเอง) การให้ความช่วยเหลือไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยกับความคิด หรืออยู่ในฐานะที่ชี้ขาดว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด เพียงแต่ในมุมมองของนักกฎหมายเห็นว่า กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือในการวัดความถูกผิดได้ ในคดีประเภทนี้ได้
ภารกิจสองอย่างที่พี่สมชายได้ดำเนินการในขณะนั้น แม้จะไม่สำเร็จ แต่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่านอกจากให้ความช่วยเหลือทางคดี ในคดีการเมืองยังต้องการพลังทางสังคมในการร่วมกันปกป้องสิทธิอันชอบธรรม ที่เกิดจากการละเมิดของกฎหมาย เพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้ระบบของกฎหมายสร้างความอธรรมแล้ว คู่ขัดแย้งต้องหาทางออกนอกระบบของกฎหมาย
ที่สำคัญภารกิจดังกล่าวต้องอาศัยกลไกทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง และผู้นำศาสนา เพราะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคม การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ในการขับเคลื่อนจะทำให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพและทรงพลัง สุดท้ายพลังทางสังคมจะทำหน้าที่ในการต่อรองถ่วงดุลกับพลังอำนาจของรัฐ
แนวความคิดของพี่สมชายดังกล่าวจึงเป็นแนวความคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
ภายหลังการหายตัวไปของพี่สมชายในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ กำนันอนุพงษ์ พันธชยางกูร หรือกำนันโต๊ะเด็ง ได้ออกแถลงข่าวทางสื่อมวลชน ซัดทอดนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ ว่ามีการประชุมวางแผนปล้นปืน ออกสื่อกระแสหลักทุกช่อง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งมีการจับกุมผู้นำศาสนา ตรวจค้นปอเนาะ สร้างกระแสกล่าวหาว่าเป็นแหล่งซ่องสุมก่อการร้าย ผู้นำศาสนาหลายคนตกเป็นผู้ต้องสงสัย มีการปิดล้อมตรวจค้นและออกหมายจับ สุดท้ายเรื่องราวกำนันโต๊ะเด็งเป็นเพียงแค่ปาหี่ ในขณะที่จากเดิมปอเนาะเป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย ปัจจุบันคือ แหล่งอารยธรรมสันติภาพ (ตามแถลงการณ์ผู้นำศาสนา ณ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ฉบับลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙) ทั้งหมดคือภาพมายาที่มีเป้าหมายทำลายพลังทางสังคม
เนื่องในวันครบรอบการหายตัวไปของพี่สมชาย ในปีที่ ๑๒ ทำให้ผมกลับมารำลึกถึง และใคร่ครวญความคิดผ่านทางภารกิจที่ได้ทิ้งไว้ จึงเริ่มเข้าใจว่าที่พี่สมชายได้ดำเนินการมาทั้งหมดเป็นภารกิจที่สำคัญ และมีความคิดที่ก้าวหน้ามากในยุคที่สังคมไทยขณะนั้นน้อยมากที่จะรู้จักคำว่า “ สิทธิมนุษยชน “
เพราะพี่สมชายเป็นมุสลิมกรุงเทพฯ ไม่ได้มีความเป็นมลายูโดยสายเลือด ไม่มีคุณสมบัติแม้จะมีสิทธิเป็นสมาชิกของขบวนการใดในภาคใต้ สิ่งที่ได้ทำไปจึงมีเจตนาบริสุทธ์ อีกทั้งให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรัฐไทยมาเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งก่อการร้ายสมัยใหม่เจไอที่พุ่งเป้าไปที่คณะใหม่วาฮาบีย์
พี่สมชายไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่เป็นผู้นำศาสนา แต่มีความศรัทธาและจิตวิญญาณที่เสียสละสูงมาก รับผิดชอบต่อวิชาชีพ ดังที่อัลลอฮฺได้บัญญัติไว้ในโองการอัลกุรอานที่ว่า “ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง ” (4:135)
เหตุการณ์ความไม่สงบดำเนินมายาวนานจนถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งคือพลังทางสังคมอ่อนแอ พลังทางสังคมไม่มีอำนาจต่อรอง อย่าว่าแต่จะมีพลังในการปกป้องความเป็นธรรมเลย แม้แต่ปัญหาสังคมที่เป็นอบายมุข ยาเสพติด วัยรุ่นหนุ่มสาว สังคมยังไม่มีพลังในการปกป้องเลย การสร้างพลังทางสังคมต้องอาศัยต้นทุนสูงมาก ยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน แม้จะทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลก็ไม่เป็นผล ตราบใดที่คู่ขัดแย้งไม่ยอมวางมือจากการต่อสู้ทั้งอาวุธและทางการเมือง
ระลึกถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร1 http://th.macmuslim.com/?p=600
เผยแพร่ครั้งแรกทาง http://th.macmuslim.com/?p=1111#more-1111