นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ที่บรรดาผู้นำองค์กรศาสนาอิสลาม จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ประสานงานจุฬาราชมนตรีประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาอูลามาอฟาฎอนีย์ดารุสสลาม ชมรมมุสลิมภราดรภาพ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ และสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ร่วมออกแถลงการณ์เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการยึดที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยา (ปอเนาะญีฮาด) นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามถึงจังหวะก้าวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาถ้อยแถลงแล้วสอดรับกับที่ราชการรัฐไทยได้เสนอข้อมูลความจำเป็นมาโดยตลอด และในแถลงการณ์มีการเชื่อมโยงถึงพี่น้องมลายูที่ร่วมออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีนี้ว่า
“…..ต่อมาภายหลังได้มีกลุ่มเครือข่ายองค์กรต่างๆในพื้นที่ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งจัดเวทีแสดงความคิดเห็นในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และถูกนำไปขยายผลเพื่อกระตุ้นความรู้สึกร่วมว่า รัฐได้ใช้อิทธิพลเข้าคุกคามโรงเรียนปอเนาะ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสันติภาพ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นลักษณะของการชี้นำและบิดเบือนไปจากแก่นแท้ของความจริง ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง…..”
ในขณะที่แรกเริ่มของการมีคำสั่งคดีนี้ ปฏิกิริยาพี่น้องมลายูในพื้นที่สามจังหวัดกับอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เฝ้าติดตามกระบวนการและมาตรการที่ราชการรัฐไทยปฏิบัติต่อสถาบันปอเนาะ ปฏิบัติต่อทรัพย์ที่ได้รับวากาฟ(ทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค) และพี่น้องมลายูมีปฏิกิริยาคัดค้านการปฏิบัติของฝ่ายราชการรัฐไทยอย่างกว้างขวางมีการแสดงออกโดยการร่วมเดินทางเข้าให้กำลังใจกับครอบครัวปอเนาะญีฮาด มีการระดมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือในทุกรูปแบบ พลันที่ปรากฏการณ์แถลงของบรรดาผู้นำองค์กรศาสนาอิสลาม ปฏิกิริยาความไม่พอใจจึงพุ่งเป้าไปที่บรรดาผู้นำโดยฉับพลัน ?
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าแรงเหวี่ยงของเหตุการณ์ปอเนาะญีฮาด แรงเหวี่ยงของปรากฏการณ์ผู้นำองค์กรศาสนาอิสลาม ร่วมนั่งแถลงการณ์เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการยึดที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยา ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม และส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขอความคุ้มครองจากเอกองค์อัลเลาะฮฺให้พ้นจากความเลวร้าย (ฟิตนะห์) ทั้งปวง
เมื่อถึงเวลาต้องเลือกระหว่าง “ กฎหมายบ้านเมือง กับ กฎเกณฑ์ทางสังคม” และเมื่อสังคมตั้งคำถามต่อบรรดาผู้นำศาสนาว่า ทรัพย์วากัฟซึ่งเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮฺ รัฐยึดได้หรือไม่ ? เป็นโจทก์ที่แหลมคมและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
พลันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าให้ที่ดินปอเนาะตกเป็นของแผ่นดิน และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษา ข้อเท็จจริงจึงยุติในขณะนี้เป็นเบื้องต้นว่า คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ไดใชหรือมีไวเพื่อใชหรือสนับสนุนการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายได้ โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์นั้นจะมีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของหรือครอบครองหรือไม่
ข้อท้ายทายในอนาคตสำหรับเจ้าพนักงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายในการยึดทรัพย์ในกรณีเช่นเดียวกันนี้ก็คือ การติดตามตรวจสอบปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาหรือทั่วประเทศ ที่มีรายงานจากการสืบสวนสอบสวน และปรากฏในการนำเสนอเป็นพยานในชั้นพิจารณาของศาลมาโดยตลอดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่รู้กันดีสำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุความไม่สงบ
ไม่ว่าโรงเรียนสอนศาสนาในเขตเมืองยะลาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ราชการรัฐไทยกล่าวหาว่าเป็นผู้นำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรือโรงเรียนที่บุคคลระดับแกนนำในการเจรจาของกลุ่มมารา มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือโรงเรียนที่เคยถูกกล่าวหาจากรายงานสืบสวนของหน่วยงานความมั่นคงว่า เป็นสถานที่บ่มเพาะ หรือใช้เป็นสถานที่ฝึกกองกำลังของกลุ่มขบวนการก่อการร้าย เช่นในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา อำเภอนาประดู่ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนปรากฏชัดเจนในผลการซักถามในชั้นของกฎอัยการศึกหรือพรก.ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับกรณีของปอเนาะญีฮาด และในฐานะคนมลายูมุสลิมคงต้องติดตามการทำงานของราชการรัฐไทยอย่างใจจดจ่อว่าจะมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ยึดทรัพย์ของโรงเรียนหรือปอเนาะดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อไร เพราะข้อท้าทายยิ่งอีกประการสำหรับข้าราชการรัฐไทยคือฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ขอให้กำลังใจกับทุกภาคส่วนที่ตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่อย่างบริสุทธิ์ใจ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://th.macmuslim.com/?p=1122