Original Link Clik Here .
ฐปณีย์ เอียดศรีไชยกับข่าวโจมตีที่เจาะไอร้อง “คนไม่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งจะไม่มีชุดความคิดแบบนี้ พวกเขาเข้าใจดีว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สู้รบ”
ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่อง 3 คนนี้รายงานข่าวเรื่องภาคใต้มาอย่างยาวนาน ล่าสุดรายงานข่าวของฐปณีย์กรณีการก่อเหตุโจมตีกองร้อยทหารพรานที่ 4816 ที่เจาะไอร้อง นราธิวาสมีทั้งบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบวกกับความเห็นจากผู้เห็นต่างกลุ่มมารา ปาตานี แต่ในภาวะที่ข่าวสารเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ การนำเสนอหรือไม่นำเสนอข้อมูลใด แม้แต่นำเสนออย่างไรล้วนเป็นประเด็นทั้งสิ้น วันนี้เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีการบิดเบือนข่าวสารเมื่อมีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องอาวุธที่ใช้และการแต่งกายของบุคคลที่เข้าก่อเหตุ ขณะที่การนำเสนอคลิปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของข่าว 3 มิติ ก็เรียกเสียงวิพากษ์หนาหูจากคนทั่วไปว่าไม่มีสุ้มเสียงโกรธแค้น ส่วนในพื้นที่คำถามของคนเสพสื่อก็มีเป็นจำนวนมากกับกรณีนี้ บีบีซีไทยถามฐปณีย์ว่าเธอคิดอย่างไรกับการทำข่าวกรณีการโจมตีที่เจาะไอร้อง
ฐปณีย์เล่าว่า กรณีเจาะไอร้องน่าจะถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งของพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ก็ว่าได้ เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการยึดโรงพยาบาล เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างซึ่งคนที่ติดตามเรื่องราวในพื้นที่มาโดยตลอดน่าจะมองเห็น บางคนอาจจะคิดไปว่าเป็นความพยายามยกระดับมาตรฐานในเรื่องการปฎิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ “ในแง่ของผู้สื่อข่าวเอง มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ชวนคิด เช่นเหตุใดจึงต้องเป็นเจาะไอร้อง หรือจะเป็นเพราะนี่เป็นหนึ่งในห้าพื้นที่ที่ทางการเสนอให้มีการทดลองเป็นพื้นที่สันติสุข ทำไมพวกเขาเลือกเข้าโรงพยาบาล ทำไมต้องใช้กำลังมากขนาดนี้ ขบวนการจะได้อะไรจากการทำเช่นนี้ ทำไมถึงไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และคนทำคือใคร คือเราเป็นนักข่าวก็ต้องตั้งคำถาม”
ฐปณีย์บอกว่า เธอได้สอบถามไปทางกลุ่มมารา ปาตานี เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเห็นต่างที่ประกาศตัวชัดเจนและยังอยู่ในกระบวนการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลด้วย เพราะว่าเรื่องอาจเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวมาแล้ว “เพราะก่อนหน้านี้อาแว ยาบะ (ประธานกลุ่มมารา ปาตานี) บอกว่าการนำเสนอชื่อห้าอำเภอนั้นไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับมาราก่อน” เธอบอกว่าได้ตั้งคำถามไปตรงๆว่า กรณีนี้มารา ปาตานีเกี่ยวข้องหรือไม่ หรือหากไม่เกี่ยว คิดว่าใครเป็นผู้ลงมือ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นกลุ่มอาร์เคเคหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับมารา ปาตานี และการที่กลุ่มมารา ปาตานี ปฎิเสธว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้คำตอบชัดเจนจากกลุ่มผู้เห็นต่างบางกลุ่มเรื่องบทบาทของพวกเขาในการก่อเหตุ หลังจากที่มีการเรียกร้องกันมานานแล้วว่าหลังก่อเหตุให้มีการชี้แจงกับสาธารณะว่ากลุ่มใดมีส่วนอย่างไร
ฐปณีย์บอกว่า เมื่อมองในแง่นี้ กรณีเจาะไอร้องจึงนับเป็นพัฒนาการที่ดี แต่ยังมีบางประเด็นที่เห็นได้ชัดว่ายัง “ย้อนแย้ง” จาก มุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเรื่องของการปฎิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่อยากเห็นฝ่ายต่างๆประณามการลงมือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่อีกด้านกลับไม่ยอมรับเรื่องการใช้กฎหมายดังกล่าว
ฐปณีย์ยังเล่าด้วยถึงการทำงานลงพื้นที่หนนี้ว่า เธอได้เข้าไปทำข่าวที่โรงพยาบาลหนึ่งวันหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเธอพบว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไปทำงานกันตามปกติ และโรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีคนในวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่
“มีหมอตัวเล็กๆที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยในวันเกิดเหตุ แม้เขาจะตกใจกลัวแต่ก็ยังทำงานต่อไป ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็อายุแค่ 34 ปี หมอสี่คนเป็นผู้หญิงหมด มาจากนราธิวาสทั้งหมด เราก็มองจากมุมมองของผู้หญิงว่าเขากล้าหาญและจิตใจเข้มแข็งมาก ทำหน้าที่ของเขา เป็นที่มาของการสัมภาษณ์หมอเหล่านี้ว่าพวกเขารู้สึกยังไง พวกเขามาในโครงการแพทย์ชนบท เขาก็มีมุมมองต่อเหตุการณ์ เขาไม่ได้เห็นด้วย แต่เขาสื่อสารแบบคนที่ทำหน้าที่ตรงนั้น”
กับกรณีของคลิปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้หญิงของโรงพยาบาลที่ถูกวิจารณ์กันมากเนื่องจากว่าในคลิปสัมภาษณ์นั้นเจ้าหน้าที่ใช้คำแทนผู้ก่อเหตุว่า “พี่” ทั้งยังไม่มีสุ้มเสียงตำหนิติเตียนแสดงอาการเคียดแค้น ฐปณีย์เล่าว่า มีผู้รับสารบางคนรับไม่ได้วิจารณ์ต่างๆนานา บ้างบอกว่าเพราะหวาดกลัวจึงพูดเช่นนั้นเพื่อเอาตัวรอด ในความเป็นจริงแล้ว เธอเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดเพียงเพื่อเอาตัวรอด แต่เป็นคนที่จิตใจดีและเข้าใจในปัญหาในฐานะของคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ “เขามองปัญหาแบบเข้าใจว่าพื้นที่รอบตัวเขาเกิดอะไรขึ้น มองโลกอย่างไม่มีอคติ ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยหรือชอบ เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยและกลัว แต่เขาไม่ได้ใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังเพื่อขยายความขัดแย้งให้มันบานปลาย และมองปัญหาอย่างเข้าใจ พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ของทุกกลุ่ม เขาเข้าใจความเป็นพื้นที่สู้รบ”
“ถ้าไม่อยู่ในพื้นที่จะไม่มีชุดความคิดแบบนี้”