Skip to main content

 

Mfahmee Talib

 

มนุษย์โบราณเราไม่รู้หรอกว่ามีจุลชีพเป็นเพื่อนร่วมโลก กว่าเราจะรู้ว่ามีจุลชีพ ก็เป็นยุคสมัยที่เริ่มมีการใช้กล้องจุลทรรศน์ในการขยายภาพ ซึ่งเป็นยุคหลังๆของประวัติศาสตร์มนุษย์ กว่าจะรู้ว่าจุลชีพนั้นก่อโรคได้ก็รอหลังจากนั้นอีกหลายปี และกว่าจะเริ่มคิดค้นวิธีเอาชนะจุลชีพ ก็ใช้เวลาอีกหลายปีเช่นกัน

 

แต่ขณะเดียวกันโรคระบาดนั้นมาก่อนพร้อมกับการสร้างชุมชนของมนุษย์เลย ในประวัติศาสตร์บันทึกการเกิดโรคระบาดตั้งแต่ในภาพเขียนของชาวอิยิปต์โบราณที่เกิดโรคระบาดที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรคคร่าชีวิตคนไปค่อนอาณาจักร เรื่อยมาในประวัติศาสตร์ของหลายๆอาณาจักรในโลกล้วนเคยเผชิญหน้ากับโรคระบาด ในช่วงที่ฝรั่งมีการบันทึกแบบเกือบสมบูรณ์แล้ว ก็ยังคงมีปรากฏการณ์ของโรคระบาดอยู่เรื่อยๆ ที่ใหญ่ที่สุดคือการระบาดของ กาฬโรค ที่คร่าชีวิตชาวยุโรปไปถึง 25 ล้านคน ในช่วงศตวรรษที่ 15

 

ในคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ Jared Diamond ผู้เขียนหนังสือชื่อว่า ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า ได้อธิบายเหตุผลที่ทำให้ชาวยุโรป สามารถเข้าไปรบและเอาชนะชาวอินเดียนแดงในละตินและอเมริกา ทั้งที่ไปรบในพื้นที่ของคนอื่นที่ห่างจากบ้านตัวเองเป็นพันๆกิโลเมตร กำลังคนในกองทัพยุโรปที่มีหลักร้อยหลักพันคน แต่สามารถพิชิตอาณาจักรอินคา และแอซเทค ที่มีประชากรนับสิบล้านคนในสมัยนั้นได้ ด้วยเหตุผลสามอย่างตามชื่อหนังสือเลยว่า เพราะมีปืน มีเชื้อโรค และ เหล็กกล้า (เทคโนโลยี) การมีปืนทำให้กองทัพยุโรปหลักร้อยสามารถเอาชนะกองทัพคนท้องถิ่นที่มีหลักพันได้ทุกครั้งที่ปะทะกัน แต่การฆ่าคนทีละพันคนๆ จนกว่าจะครบสิบล้านคนต้องใช้การปะทะกันถึง 10,000 ครั้ง ซึ่งชาวยุโรปไม่มีปัญญาจะทำอะไรขนาดนั้น แล้วคำถามคือคนพื้นเมืองที่มีเป็นล้านทำไมสุดท้ายตกเป็นเมืองขึ้นของยุโรป สาเหตุที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวแอซเทคและอินคา ณ ตอนนั้นคือ โรคระบาดที่ชาวยุโรปเอามาแพร่ คาดการณ์ว่า 95% ของชาวแอซเทคและอินคา ตายจากโรคฝีดาษและหัด คำถามคือทำไมคนยุโรปไม่ตาย แล้วชาวอินคาจึงตายกันเหมือนใบไม้ร่วง

ตามคำอธิบายของนักจุลชีววิทยาว่าไว้ว่า โรคระบาดนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยสองสาเหตุหลักคือ หนึ่ง โรคระบาดนั้นจะเกิดขึ้นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ชาวยูเรเซีย (เอเชีย+ยุโรป) เป็นเขตพื้นที่อารยธรรมที่เก่าแก่ของโลก มีการเพาะปลูกแบบเกษตรกรรม มีการใช้สัตว์เลี้ยงในการทำการเพาะปลูกและขนส่ง เมื่อมีการผลิตที่ดีจึงมีการสร้างชุมชนที่หนาแน่น เหตุผลที่สองคือ โรคระบาดในคนนั้นส่วนมากพัฒนามาจากโรคระบาดที่อยู่ในสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในชีวิตประจำวัน เช่น โรคหัดและวัณโรคพัฒนามาจากโรคในวัวและควาย ไข้หวัดใหญ่มาจากโรคในหมู โรคฝีดาษมาจากอูฐ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวยูเรเซียมีโรคระบาดมาก่อนภูมิภาคอื่นๆ ก็เพราะเป็นพื้นที่เดียวในโลก ณ สมัยนั้นที่สามารถใช้ปศุสัตว์ในการทำเกษตรกรรมอย่างแพร่หลาย สามารถเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงให้เชื่องได้หลายชนิด ก่อนที่ชาวสเปนจะไปบุกอเมริกาใต้ ยุโรปก็ผ่านพ้นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคไปแล้ว คนที่เหลืออยู่จึงกลายเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อคนเหล่านี้เดินทางไปถึงอเมริกาใต้ จึงนำเอาเชื้อที่ชาวแอซเทคและอินคายังไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปด้วย (ใครไม่เก็ทเรื่องภูมิคุ้มกัน มีเขียนไว้ในตอนที่ 1 ครับ) จึงทำให้เกิดการล้มหายตายจากของคนเกือบทั้งอาณาจักร

 

ชาวยูเรเซียพยายามเอาชนะโรคระบาดอย่างไร?
แต่ก่อนที่เราจะพบวัคซีน มนุษย์รู้จักวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน แต่สมัยนั้นคงไม่ทราบหรอกว่าที่ทำๆนะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่วิธีที่ใช้นะสยดสยองมากเช่น การกินพิษงูเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่องูพิษ การป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการถูกวางยาพิษด้วยการดื่มเลือดเป็ดที่เคยกินยาพิษมาก่อน การรักษาโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการให้ผู้ป่วยกินตับของสุนัขบ้าเป็นต้น ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มสังเกตได้ว่า ถ้าคนใดคนหนึ่งเคยเป็นโรคอะไรมักจะไม่เป็นโรคนั้นซ้ำอีก จึงคิดว่าต้องมีกระบวนการอะไรสักอย่างในร่างกายมนุษย์ที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่ป่วยไข้ในโรคซ้ำเดิม

 

จุดเริ่มต้นจริงๆของการรักษาแบบเอาเชื้อมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันน่าจะเริ่มตั้งแต่สมัย คศ.10 ในการบันทึกของอารยธรรมจีน ที่มีการป้องกันคนเป็นโรคฝีดาษโดยวิธีการขูดเอาผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรค มาสูดเข้าจมูก เพื่อให้เชื่อเข้าสู่ร่างกาย ในอาณาจักรออตโตมัน ช่วงต้น คศ.18 มีการใช้วิธีใกล้เคียงกัน โดยการขูดสะเก็ดหนองของคนเป็นฝีดาษ มาให้เด็กสูดเข้าจมูก ซึ่งทำให้ตุรกีย์สมัยนั้นมีคนเป็นโรคฝีดาษน้อย ทูตอังกฤษท่านหนึ่งซึ่งพาภรรยาไปด้วย เห็นวิธีการนี้ลดฝีดาษในเด็กๆตุรกีย์ได้ จึงให้ลูกชายของเธอไปสูดด้วย และเอาวิธีการนี้กลับมาที่อังกฤษ จึงเป็นการเริ่มบันทึกเรื่องการป้องกันโรคโดยใช้เชื้อโรคของชาวยุโรป ในช่วงนั้นถึงแม้จะมีวิธีการสูดสะเก็ดหนองเข้าไป แต่โรคฝีดาษก็ยังมีคนเป็นกันมาก เพราะวิธีนี้ไม่ได้ใช้กันแพร่หลาย

 

กว่าจะมีคนพิสูจน์เรื่อง เชื้อโรคมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เชื้อตัวเดิม ก็ต้องรอในช่วงปลายๆของ คศ.18 ที่มีแพทย์ที่ชื่อ Edward Jenner ได้บันทึกข้อสังเกตและความสำเร็จของการสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อ Jenner สังเกตว่าคนไข้ของเขาที่เลี้ยงวัว และเป็นโรคฝีดาษวัว (cowpox) มักจะไม่เป็นโรคฝีดาษ (small pox) จึงเริ่มทำการทดลองโดยการใช้หนองจาก แม่บ้านเลี้ยงวัวที่เป็นโรคฝีดาษวัว มาปลูกฝีให้กับเด็กชายคนหนึ่ง แรกเริ่มเด็กชายก็มีไข้เล็กน้อย แต่หลังจากนั้นก็หายดีเป็นปกติ Jenner รอผลการปลูกฝีอีกสองปี ปรากฏว่าเด็กชายไม่เป็นโรคฝีดาษเลย จึงเริ่มทำการทดลองในกลุ่มคนเล็ก ยี่สิบกว่าคน ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน จึงตีพิมพ์ผลงานความสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการปลูกฝี และความสำเร็จนี้ก็แพร่ขยายไปทั่วยุโรป จนกระทั่งไม่มีการระบาดของโรคฝีดาษ สิ่งที่ Jenner ทำ เขาเรียกมันว่า Vaccination หรือการสร้างภูมิคุ้มกันโดย Vaccine ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า Vacca หรือ วัว นั่นเองครับ

 

เมื่อมีการปูทางเริ่มต้นของการศึกษาการสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นแล้ว โรคต่างๆจึงมีการทดลองทำแบบเดียวกับ Jenner ทำ ซึ่งทำให้เราเข้าสู่ยุคที่ป้องกันโรคระบาดด้วยวัคซีนอย่างเต็มรูปแบบอย่างเช่นในปัจจุบัน

 

เอาละตอนนี้ผมตอบคำถามที่ค้างไปสองข้อแล้ว นั่นก็คือ โลกก่อนและหลังมีวัคซีนเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหลืออีกหนึ่งคำถามที่ค้างไว้ เรื่อง ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) คืออะไร ไว้ตอนหน้าถ้าอายุยังยืน งานหลวงยังเดิน ไว้เจอกันนะครับ ขอบคุณที่ตามอ่านครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่านตอนที่แล้ว 

โลกที่ไม่มีวัคซีน (1)

โลกที่ไม่มีวัคซีน (2)