Skip to main content

จรัญ มะลูลีม

          เห็นด้วยและเห็นต่างของปัญญาชนมุสลิมและผู้คุ้นเคยกับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ (ต่อ)

          ส.ส. เจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง กล่าวว่า ผมพูดในฐานะ ส.ส. ประเด็นนครรัฐปัตตานี คือครั้งแรกที่พลเอกชวลิตพูดถึงนครรัฐปัตตานี หลังจากนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ ผมเองคือคนที่ออกมาโต้คนแรกเลย ว่าการเอานครรัฐปัตตานี ความหมายของรัฐคือการแยก ซึ่งผิดตามรัฐธรรมนูญ

          การนำเสนอของท่านพลเอกชวลิตน่าจะเป็นประเด็นการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาสร้างกระแสทางการเมืองเพื่อต้องการดึงคะแนนเสียงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

          แต่สิ่งที่เห็นด้วย ณ วันนี้คือ ทุกกลุ่มในตอนนี้ มีความเห็นที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ให้สงบ อย่าเอาการเมืองมาแฝงเอาความตั้งใจและจริงใจมาแก้มันก็ทำได้

          การวางกรอบในการออกกฎหมายก็เหมือนกันทำไมไม่อาศัยช่องทางของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจสามารถทำได้เลย และการร่าง พ.ร.บ. ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่ยากมากกับการทำความเข้าใจกับ ส.ส. ทั้ง 480 คน โดยเฉพาะการเปิดประเด็นนครปัตตานี การร่างกฎหมายต้องใช้มือของส.ส. ถ้าเกิด ส.ส. มีความเห็นที่แตกต่างการที่จะผ่านพ.ร.บ. ตัวนี้มันยากมาก มันมีแต่จะสร้างประเด็น

          การตั้งนครปัตตานีเป็นยังไง โครงสร้างเป็นยังไง ก็ยังไม่มีการพูดถึง ทีนี้ในสภาผู้แทนราษฎรถ้าเราทำกฎหมายยังไงก็แล้วแต่ ถ้า ส.ส. ไม่เห็นด้วยมันไม่มีทางผ่านเลย  ทีนี้ช่องทางที่ผมเคยนำเสนอการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ถ้าจะอาศัยช่องทางของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่วันนี้ ใช้ช่องทางการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงที่ท่านสมชายพูดถึง ใช้ช่องทางตรงนี้แล้วร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งขึ้นมาก็ยังได้ และนักวิชาการทั้งคนทั่วไปก็สามารถจะเข้าใจได้ที่สังคมโดยทั่วไปไม่เข้าใจ เขาเข้าใจว่าต้องการแยกรัฐ การตีความรู้สึกแบบนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับสังคมแล้ว

          ฉะนั้น กระบวนการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมันยาก ทำไมเราไม่คิดในกรอบของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่มันง่ายกว่า ยึดหลักมาตรา 1 ไม่สามารถแบ่งแยกได้ต้องยึดหลักเลยนะครับ กฎหมายรองมันมีอยู่

          แต่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้มันมีหลายปัญหา คนที่ไปแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ตั้งใจไง

          ตั้งแต่ปี 2547 มานี่งบในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มันน้อยมาก พอไปดูการขับเคลื่อนของรัฐบาลขณะนี้เสริมด้วยงบพัฒนาขึ้นมาอีกทำให้โป่งขึ้นมาอีกฉะนั้น ทำยังไงให้งบประมาณลงไปถึงพี่น้องอย่างแท้จริงต้องมีการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร

          ผมดูรู้เลยว่า คนที่ไม่มีคุณภาพถูกส่งไปแก้ปัญหาใต้แล้วเมื่อไหร่มันจะแก้ได้ คนที่รู้เรื่อง คนที่ตั้งใจ เขาไม่ส่งไปผมถึงบอกไงว่าระดับกลไกของรัฐต้องเข้าไปดูแลต้องคนมีคุณภาพและตั้งใจจริงไปแก้ปัญหาต้องเอาข้อเท็จจริงมาก่อนแล้วไปดูกฎหมายในขณะที่ไปตรวจงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนที่ฝ่ายนโยบายลงไปจะพูดเรื่องนโยบายไปแต่กลับพูดเรื่องขาดยามหนึ่งท่าน ขาดคนทำความสะอาด

          เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเราต้องเอามาตั้งตรงกลาง สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยคือการทำอย่างไรอย่าให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้แตกแยกไปกว่านี้ สิ่งที่การขับเคลื่อน การจะเป็นทบวงมันทำยาก กฎหมายนี่เวลาเป็นการเงินยาก ทำไมไม่คิดกฎหมายที่ทำให้เป็นกฎหมายได้ง่ายขึ้น กระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้พี่น้องประชาชน

          ในรัฐธรรมนูญมีอยู่แล้ว  ทั้งด้านศาสนา ทั้งด้านวัฒนธรรมต้องส่งเสริมต้องทำอะไรมันมีอยู่แล้วในกระบวนการของรัฐธรรมนูญ เราต้องเอาตรงนี้ออกมาขับเคลื่อนกฎหมายถึงจะออกมาเป็นรูปธรรมได้จี้ทางรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการมารุกตรงนี้ที่จะขับเคลื่อนได้ก็คือ 1. ความแคลงใจของสังคมต่อปัญหาเหล่านี้ ว่ามันจะแยกหรือไม่แยกรัฐเมื่อออกกฎหมายอีกฉบับมันจะไม่เกิดขึ้นไง เพราะที่อ้างอิง มันมีในรัฐธรรมนูญ ในเมื่อรัฐธรรมนูญให้แล้ว ทำไมรัฐบาลไม่ทำ ทำไมนโยบายไม่คิดในเรื่องนี้

          ถ้ามาคิดอยู่ในกฎหมายของ ศอ.บต. ความไม่เข้าใจของการนำเสนอผมค้านในการประชุม เพราะผมเป็นกรรมาธิการอยู่ แม้กระทั่งการนำเสนอความหมายของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงห้าจังหวัดและตามความเหมาะสม คิดได้ไง

          ทีนี้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาคิดรวมแล้วมองถึงตัวเองเป็นประโยชน์ ประชาชนไม่ได้เป็นที่ตั้ง ความหมายของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผมในขณะนี้คือ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูลบวกด้วยสี่อำเภอ

          เหตุผลที่ผมไปบวกสตูล เพราะถ้าเราติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างในการต่อสู้ ทั้งหมดของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต้องยอมรับว่า มีจริง เป้าหมายคือต้องการอีกเรื่องหนึ่งพอเราไปดูโครงสร้างทั้งหมด ก็คือไปบวกเอา สตูล,ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, บวกด้วยสี่อำเภอ ถ้าเขาสามารถปกครองตนเองได้ เขาจะปกครองแบบนี้

          ที่ผมต้องค้านในเรื่องนี้คือ เวลามีกฎหมายเรื่องเหล่านี้ออกมา เรื่องงบประมาณต้องผูกพัน เรื่องบุคลากรในพื้นที่ต้องผูกพัน เวลาเอางบประมาณลงไปถามว่า คนที่จะได้รับอานิสงส์ นอกจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลาต้องได้รับ ทีนี้เวลาส่งเสริมในด้านเศรษฐกิจ ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาของสงขลา, สตูล ด้วย

          ใครจะไปแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วที่เราต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า ณ วันนี้ธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันล้มเหลว แม้กระทั่งการกระจายตัวเม็ดเงินเพื่อที่จะสนับสนุนในเชิงธุรกิจ เรื่องการจัดสัมมนา จริงๆ รัฐบาลให้ ไม่ได้มาจากรัฐบาลนี้นะ หลายๆ รัฐบาลก็พยายามจะจ่ายเงินให้ไป แต่กระบวนการในการทำงาน มันต้องขับเคลื่อนหลายตัว

          กฎหมายทุกตัวไม่ใช่เป็นตัวชี้วัด ไม่ใช่ออกกฎหมายฉบับนี้แล้วเหตุการณ์ภาคใต้สงบ ตัวที่ควบคู่กันไปคือกลไกของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ด้วย ถ้ากลไกไม่มีประสิทธิภาพมันก็แก้ไม่ได้ ส่งคนที่ไม่รู้เรื่องเข้าไปก็เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนาคุณยังไม่เข้าใจเลยต้องไปเริ่มต้นใหม่แล้วคนที่อยู่พื้นที่เขารู้ทุกอย่างแล้ว

          แล้วที่สำคัญคือ ไปสร้างกลไกอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาผมว่ามันไม่ใช่หรอก เงื่อนไขคือ เขาเรียกร้องตลอดอย่างกฎหมายฉบับนี้ที่เสนอคือ กฎหมายนครปัตตานีผมก็งงว่า ทำไมไม่ทำประชาพิจารณ์ก่อนค่อยร่างกฎหมายนครปัตตานีขึ้นมา ทำไมต้องจากข้างบนลงไปข้างล่าง ไม่ใช่จากข้างล่างขึ้นมา กลไกของประชาชนส่วนใหญ่มันไม่ได้มีอยู่ตรงนี้ กลไกที่คนส่วนใหญ่สนใจคือ 1. ความเป็นธรรมเป็นยังไง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาต้องมาทำความเข้าใจ ที่ผมบอกว่ามันอยู่ในตัวกฎหมายหมด อันนี้ง่ายๆ 2 คำ วิถีชีวิตวัฒนธรรม  ศาสนา มันมีความแตกต่าง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมบางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับศาสนาซึ่งทำไม่ได้

          ผมถามว่า วันนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่เกี่ยวกับมุสลิมมีกี่ฉบับที่ออกสู่พี่น้องประชาชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนกฎหมายเรื่องซะกาต (ภาษีศาสนา) ผมก็ยื่นแล้ว แต่พวกไดโนเสาร์ มันทำให้มีปัญหาไง ที่จริงพี่น้องชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิม ถ้าจริงใจแล้วเข้าใจเขาประชาชนเขามีความบริสุทธิ์ เขาให้ความสำคัญกับผู้นำ

          เงื่อนไขคือกลไกของรัฐไปสร้างปัญหา เวลาทำนโยบายแทนที่นโยบายจะโอนไปสู่ประชาชน แต่ต้องกลับมาสู่หน่วยนโยบาย

          ส.ว.วรวิทย์ บารู กล่าวว่า ผมบอกได้เลยว่ามาถึงส.วันนี้ประชาชนไม่ยอมแล้ว การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นมันสะท้อนภาพอะไรในวันนี้  เขาไม่ยอมให้ใครมาปกครองเขาในลักษณะไหนก็ได้เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากการศึกษา โดยความรู้โดยเทคโนโลยี โดยการสื่อสารกับโลก มันสะท้อนภาพในวันนี้ หนึ่งการใช้ความรุนแรงเข้าไปแก้ปัญหา เขาไม่ยอมเหมือนกันเพราะร้อยกว่าปีได้นี้ ตั้งแต่ปี 1902 มาจนวันนี้ 108 ปีได้แค่นี้หรือข้าราชการในพื้นที่ 94 ต่อ 6 ดังนี้หรือสิ่งเหล่านี้ข้อมูลเหล่านี้มีครับ เขาไม่ยอมครับ

          อีกทางหนึ่งก็อย่างที่ ส.ส.เจ๊ะอามิง พูดคือการใช้แนวทางของการเมืองเข้าสู่สนามการเมือง จะหาวิธีการโดยการเสนอผ่านรัฐธรรมนูญ บางครั้งเราก็สร้างความกดดันเพื่อที่จะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา มันก็มีหลากลาย นี่คืออาการของสิ่งซึ่งไม่ยอม ซึ่งบอกว่าจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้

          หลักการที่ อ.สมชายได้พูดนั้น 3 รูปแบบ องค์กร23 องค์กร ทางภาคใต้เดินตามรัฐธรรมนูญการเมืองภาคพลเมืองเดินแบ่งสายกัน ส.ว. กับ ส.ส.มีส่วนรับผิดชอบที่จะประสาน  NGO กระทรวงเกษตรฯ เขาเดินอยู่ในแนวทางที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย ไม่เกี่ยวกับพรรคไหนไม่ได้เกี่ยวกับที่ใครเสนอ เป็นภาคประชาชนซึ่งเราทำกันมานานแล้ว

          ปรากฏว่ามีรูปแบบ 3 รูปแบบที่ชัดเจน มีทบวงของ อ.ศรีสมภพ ที่ผ่านการศึกษาวิจัย มีของอุดม ที่เสนอเป็นมหานคร แล้วก็มีของคุณอัคชา ที่ลอกเลียนเอาจากกทม.  มาใส่เข้าไปเพราะฉะนั้นมันไม่ผิดถ้าใครจะเสนอเข้ามา เพราะการเคลื่อนไหวแบบนี้มันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ผมว่า วันนี้เรามีทางเลือกใดบ้าง เราจะเลือกเดินอย่างไร มีพี่น้องเรา 23 องค์กรนี่ถ้าเขาเลือกเดินแบบนี้ เดินไปทำความเข้าใจตามอำเภอต่างๆ ในการเมืองภาคพลเมือง

          เมื่อคนเหล่านี้เดินเข้าไปพบปะชาวบ้านพบกลุ่มนักวิชาการ  กลุ่มเยาวชน กลุ่มคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส สตรีเขาแยกเป็นสายเลยสิบกว่าสายเพื่อที่จะไปเจอแล้วกลั่นกรอง วิเคราะห์แนวทาง และประชาพิจารณ์แล้วก็มีแนวทางที่จะเสนอโดยประชาชน

          สิ่งเหล่านี้มันปลอดจากการเมือง รัฐบาลค้าน แต่เราจะต้องดำเนินการต่อไป

หมายเหตุ: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 พ.ค. 2553