Skip to main content

 

อาทิตย์ ทองอินทร์

 

การก่อการร้ายของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ต่อกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ส่งผลสะเทือนให้เกิดความวิตกหวาดกลัวกระจายในสังคมวงกว้าง ทั้งด้วยสัญญะของพื้นที่ที่ถูกโจมตี และขนาดของการก่อเหตุ แต่อันที่จริงแล้ว แบบแผนของการก่อวินาศกรรมครั้งนี้ หลายแง่มุมไม่ต่างกันมากจากเหตุก่อการร้ายต่อตุรกีเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา และอันที่จริงแล้ว มีอีกอย่างน้อย 4-5 เรื่องใหญ่ที่น่าสนใจจะขยายข้อพิจารณาต่อยอดออกไปจากกรณีเหตุการณ์ที่บรัสเซลส์ เพื่อความเข้าใจสถานการณ์ในภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้น

1. การโจมตีบรัสเซลส์ คือ การล้างแค้น แต่มิใช่ล้างแค้นต่อการจับกุมซาเลาะฮฺ อับเดสลาม

การทำความเข้าใจแบบแผนการก่อการร้ายของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) อย่างแม่นยำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาโลกทัศน์และวาระทางการเมืองของพวกเขาผ่านสารที่กลุ่มเผยแพร่ อย่างน้อยที่สุด คือ นิตยสาร Dabiq มิเช่นนั้นแล้ว ความเข้าใจของเราที่จะนำไปสู่ความพยายามป้องกันเหตุและกระทั่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็จะไม่ตรงจุด

ย้อนกลับไปตั้งต้นเมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากการเรียกร้องมุสลิมทั่วโลกให้อพยพเข้ามาเป็นประชากรแห่งรัฐอิสลาม [1] แล้ว ข้อความเผยแพร่จากอบู บักรฺ อัล-บักฮฺดาดี ในวันประกาศสถาปนารัฐอิสลาม เมื่อวันแรกเข้าเดือนรอมฎอน แห่งฮิจเราะฮฺศักราช 1435 (29 มิถุนายน ค.ศ.2014) ยังมีเรื่องของการเรียกร้องการโค่นล้มทำลายตัวแบบทางสังคมการเมืองของตะวันตก และเข้าร่วมการต่อสู้กับไอเอสในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย [2] 

แม้ในแนวคิดอันกำกับปฏิบัติการทหาร ซึ่งสะท้อนผ่านการสื่อสารของอาบู โมฮาเหม็ด อัล-อัดดานีโฆษกของไอเอส จัดลำดับความสำคัญการโจมตีต่อ มุรตัด (มุสลิมที่ตกศาสนา) ว่าเป็นเรื่องจำเป็นอันดับแรกก่อนการสังหารพวก กาเฟร (พวกนอกรีต) ก็ตาม แต่ปฏิบัติการทางการทหารของแนวร่วมตะวันตก นำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์ที่เผชิญหน้าและตอบโต้มากยิ่งขึ้น ถ้าใครติดตามเรื่องไอเอสจริงๆ ก็จะเห็นว่าผู้นำของกลุ่มนี้ประกาศข่มขู่ที่จะโจมตีตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดประกาศว่าได้ส่งสมาชิกไอเอสแฝงตัวไปกับผู้อพยพชาวซีเรียเพื่อมุ่งโจมตียุโรป 

ซึ่งแม้ว่าข้อมูลนี้จะกดดันให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้อพยพเป็นไปในวงจำกัดอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าคำประกาศของไอเอสดังกล่าว มีเค้ามูลที่เป็นจริงอยู่เหมือนกัน เมื่อเราพบว่า มีขบวนการรับจ้างราคาไม่แพง ทำหนังสือเดินทาง และบัตรประชาชนซีเรีย (ที่เป็นเนื้อเอกสารจริงของรัฐบาลซีเรีย ซึ่งขโมยมาได้) อันเอื้อต่อการแฝงตัวเข้าไปยังประเทศต่างๆ ที่รับผู้อพยพ เมื่อรัฐบาลเลบานอนประกาศเตือนว่ามีไอเอสแฝงเข้ามากับผู้อพยพซีเรียอยู่ในค่ายลี้ภัยในเลบานอนและกำลังวางแผนไปยุโรป [3] เมื่อรัฐบาลตุรกีเปิดเผยว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายที่ย่านสุลต่านอาฮฺเหม็ดในอิสตันบูลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แฝงตัวเข้ามาในฐานะผู้ลี้ภัย [4] เมื่อรัฐบาลลิเบียให้ข้อมูลว่ามีนักรบไอเอสแฝงตัวไปกับผู้อพยพทางเรือเข้าสู่ยุโรป [5] และหน่วยงานความร่วมมือทางด้านยุติธรรมของสหภาพยุโรป หรือ ยูโรจัสต์ ยืนยันว่ามีเบาะแสในความเป็นไปได้ดังกล่าว [6] รวมทั้งเมื่อมีข้อมูลแน่ชัดว่า ไอเอสเข้าถึงจุดพื้นที่สำคัญในการใช้ลักลอบขนถ่ายนักรบเข้าไปยังยุโรปก็คือฐานที่มั่นของพวกเขาในลิเบีย [7] และเมืองท่ามัรซะ มัธรูท ของอียิปต์ ซึ่งมีผู้นำราว 10 คนของกลุ่มอันซอรฺ บัยตฺ อัล-มัฆดิซ เครือข่ายของไอเอสในคาบสมุทรซีนาย ดูแลอยู่ [8]

ผมไม่ได้เขียนย่อหน้าข้างต้นเพื่อทำลายกระบวนการอพยพเพื่อลี้ภัยของชนผู้เป็นเหยื่อแห่งสงคราม
แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในมุมมองของไอเอส การทำสงครามกับตะวันตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองแรกเริ่มของการสถาปนาระบอบเคาะลีฟะฮฺใหม่ และภายหลังปฏิบัติการทางการทหารของแนวร่วมตะวันตก ปรากฏหลักฐานยืนยันชัดว่า ไอเอสมีความพยายาม “อย่างยิ่งยวด” ที่จะตอบโต้ทำลายตะวันตก (และประเทศใดใดที่เป็นศัตรูของพวกเขา)

นี่คือที่มาของการวางเครือข่ายเซลล์ก่อการร้ายในพื้นที่ยุโรปและฝังตัวรอจังหวะในการก่อเหตุ

การโจมตีบรัสเซลส์ที่เพิ่งผ่านมานี้จึงนับได้ว่าเป็นการล้างแค้น เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่การล้างแค้นต่อการจับกุมนายซาเลาะฮฺ อับเดสลาม หากแต่เป็นการล้างแค้นต่อการโจมตีของแนวร่วมตะวันตกที่กระทำต่อฐานที่มั่นพวกเขาในซีเรีย รวมทั้งต่อประเทศที่ ‘ร่วมมือกัน’ ต่อต้านปฏิบัติการของไอเอส ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกวางแผนอย่างรอบคอบมานานแล้ว เช่นเดียวกับการก่อการร้ายต่อกรุงปารีส แต่เหตุที่การก่อการร้ายต่อบรัสเซลส์เกิดขึ้นตามมาหลังการจับกุมซาเลาะฮฺได้ไม่นานนั้น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากเซลล์ส่วนที่ยังฝังตัวอยู่และกังวลว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนจะนำไปสู่การขยายผลมายังเครือข่ายที่เหลือ รวมทั้งฝ่ายรัฐจะล่วงรู้แผนการก่อวินาศกรรมของพวกเขา จึงเป็นปัจจัยเร่งให้มีการรีบดำเนินการตามแผนที่วางไว้แล้วเร็วขึ้น

อบู บักรฺ อัล-บักฮฺดดี ผู้นำไอเอสเคยกล่าวภายหลังเหตุการณ์ที่ปารีส อันเปิดเผยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มแบบแผนการก่อเหตุที่ไอเอสจะมีต่อยุโรป ชนิดที่ไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์ความน่าจะเป็นแบบไม่มีข้อมูลในมืออีกต่อไปว่า

“By Allah, we will take revenge! By Allah, we will take revenge! Even if it takes a while, we will take revenge, and every amount of harm against the Ummah will be responded to with multitudes more against the perpetrator.”[9]

ภายหลังเหตุการณ์ที่บรัสเซลส์ กลุ่มไอเอสก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบผ่านสื่อของพวกเขา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำทิศทางเดียวกับข้อความข้างต้น และยืนยันเหตุผล/แบบแผนอันคงเดิมสำหรับการโจมตีต่อยุโรปว่า

“Islamic State fighters carried out a series of bombings with explosive belts and devices on Tuesday, targeting an airport and a central metro station in the center of the Belgian capital Brussels, a country participating in the international coalition against the Islamic State,” [10]

จึงแน่ชัดว่า การโจมตีบรัสเซลส์ และแนวโน้มการก่อเหตุต่อตะวันตกนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดที่จะล้างแค้นตอบโต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของตะวันตก ไม่ใช่การล้างแค้น (โดยฝีมือของสมาชิกส่วนที่เหลือ) จากกรณีนักรบของพวกเขาถูกจับ หากจะเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการจับกุมนายซาเลาะฮฺ ก็ย่อมเป็นไปเพื่อป้องปรามการร่วมมือกันในบรรดารัฐที่เกี่ยวข้องที่ขจัดเครือข่ายของไอเอสในยุโรป

ต้องเข้าใจว่า แม้เซลล์ก่อการร้ายของไอเอสในพื้นที่นอก war zones (ได้แก่ ซีเรีย-อิรัก และปัจจุบันอาจรวมถึงลิเบีย) จะมีโครงสร้าง มูลเหตุจูงใจ และแบบแผนการก่อเหตุแตกต่างกัน แต่ในกรณีเซลล์ของไอเอสที่ฝังตัวเป็น ‘เครือข่าย’ [11] ในยุโรป มีแนวโน้มจะมองตนเองว่าพวกเขาคือ “ทหาร” ของ “รัฐ”  ซึ่งค่อนข้างมีระเบียบ ทำตามแผนในภาพใหญ่ของกลุ่มที่มีความแน่ชัด และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งบักฮฺดาดี ผู้นำไอเอสก็เรียกนักรบของเขาในยุโรปว่า “Knights” (อัศวิน) ไม่ใช่ “Jihadists” (ดังที่อัลกออิดะฮฺนิยมใช้) และไม่ใช่ “Fighters” อันสะท้อนชัดถึงการระบุสถานะตนในรูปแบบของ “รัฐ” และน่าสนใจว่า ภาพการรับรู้ของกองเชียร์ไอเอสในยุโรปจำนวนหนึ่งก็เป็นไปภายใต้สำนึกจินตนาการแห่งความเป็น “รัฐ” (ของกลุ่มไอเอส) อันมีกลไก “ทหาร” ทำหน้าที่คุ้มครองและตอบโต้ผู้เป็นภัยต่อพวกเขาเช่นกัน ดังในทวิตเตอร์หนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่บรัสเซลส์ว่า

“The state will force you to reevaluate your ways a thousand times before you are emboldened to kill Muslims again, and know that Muslims now have a state to defend them.” [12]

ดังนั้น แบบแผนการก่อเหตุที่ลงมือเซลล์ไอเอสที่มีลักษณะเป็น ‘กลุ่ม/เครือข่าย’ ในยุโรป จึงมีความแตกต่างจากแบบแผนของเซลล์ไอเอสในรูปแบบกลุ่ม/เครือข่าย ในพื้นที่อื่นอีกหลายแห่ง เช่น อินโดนีเซีย-มาเลเซีย อัลจีเรีย พรมแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน (คูราซาน) แอฟริกาตะวันตก รวมทั้งคอเคซัสตอนเหนือ ที่พวกหลังมีสำนึกการเป็น “กลุ่ม” ระดับท้องถิ่น มากกว่าสำนึกอยู่ใต้ “รัฐ” ในการนำของบักฮฺดาดี (แม้พวกเขาจะประกาศสวามิภักดิ์ไปแล้วก็ตาม) 

(โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆนี้)

 

อ้างอิง

[1]  “…Therefore, rush O Muslims to your state. … O Muslims everywhere, whoever is capable of performing hijrah (emigration) to the Islamic State…” , ใน A Message to the Mujahidin and the Muslim Ummah in the Month of Ramadan (online). http://www.gatestoneinstitute.org/documents/ baghdadi-caliph.pdf. Access 16 November 2015.   

[2] เพิ่งอ้าง. 

[3] http://www.thairath.co.th/content/525372.

[4] http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/682488.

[5] http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=65861&t=news.

[6] http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/655255.

[7] Mark Piggott. "Isis militants are being 'smuggled to Europe in migrant boats', Libyan government adviser", in International Business Times (online). http://www.ibtimes.co.uk/isis-militants-are-being-smuggled-europe-migran.... Access 8 January 2016.

[8] "Ansar Bayt al-Maqdis members escape to Gaza, Marsa Matrouh", in Egypt Independent (online). http://www.egyptindependent.com/news/ansar-bayt-al-maqdis-members-escape.... Access 8 January 2016.

[9] Dabiq Magazine, Issue 12, Just Terror (online).
http://www.clarionproject.org/docs/islamic-state-isis-isil-dabiq-magazin.... Access 23 March 2016.

[10] http://www.express.co.uk/news/world/654564/Brussels-attacks-Zaventem-air... s-explosions-facts-evacuations-terror?_ga=1.165113917.301445817.1458662078.

[11] แบบแผนนี้อนุมานใช้ได้เพียงเซลล์ก่อการร้ายที่ฝังตัวในลักษณะเป็น ‘กลุ่ม’ หรือ ‘เครือข่าย’ ในยุโรปเท่านั้น ไม่สามารถนำแบบแผนนี้มาใช้วิเคราะห์และคาดการณ์การก่อการร้ายโดย ‘ปัจเจกบุคคล’ ในยุโรปที่สมาทานรับเอาแนวคิดไอเอสได้.

[12] http://www.express.co.uk/news/world/654577/Brussels-terror-attack-Islami... -Belgium-bomb-blasts.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ปัจจุบัน อาทิตย์ ทองอินทร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต. ผู้เขียนวิจัยเรื่อง “ขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State; IS) ในฐานะตัวแสดงระหว่างประเทศ: นัยต่อโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ, 2558. ปัจจุบันเอกสารวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ. 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.prachatai.org/journal