Mfahmee Talib
เวลาที่แพทย์แบ่งหน้าที่การทำงานเพื่อลดการเกิดโรค ไม่ว่าโรคอะไรก็ตาม จะเป็นโรคติดต่อหรือไม่ติดต่อ เราจะแบ่งส่วนของกระบวนการลดการเกิดโรคไว้สองส่วนคือ ส่วนของงานป้องกัน (Preventive medicine) และ ส่วนของการรักษา (Curative medicine) ในส่วนของการรักษานั้นเป็นหน้าที่โดยตรงและเป็นงานหลักของแพทย์เลยครับ การที่คนไข้เป็นโรคเบาหวานแล้วต้องกินยาลดน้ำตาลในเลือด การที่คนไข้เป็นโรคหัวใจแล้วต้องทำการผ่าตัดบายพาส การที่คนไข้เป็นมะเร็งต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ตามด้วยให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง การดามกระดูกต่อกระดูกที่หัก ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของการรักษา
หากเป็นการป้องกัน วิธีการลดจำนวนการเกิดโรค ทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง และเพิ่มปัจจัยป้องกัน หรือทำให้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดหายไปเลยก็ดี (ปัจจัยเสี่ยงหายไปหมดเลยคืออุดมคติ ทำจริงๆไม่ได้หรอก) โรคทั้งหลายจะได้ไม่เกิด เช่นถ้าการป้องกันโรคเบาหวานคือการประชาสัมพันธ์ให้คนมาออกกำลังกาย คุมน้ำหนัก ไม่กินหวานจัด ถ้าเป็นการป้องกันโรคหัวใจก็จะเชิญชวนคนมาออกกำลังกาย ชวนให้คนไม่สูบบุหรี่ ชวนให้คนมีจิตใจแจ่มใส ถ้าป้องกันโรคมะเร็งก็จะต้องเชิญชวนคนมากินผักผลไม้ ลดการกินเนื้อสัตว์ ลดกินอาหารหมักดอง ลดการกินอาหารปิ้งย่างที่มีรอยไหม้เยอะ ถ้าป้องกันไม่ให้มีคนเจ็บคนตายจากอุบัติเหตุ ก็ต้องเชิญชวนให้คนขับขี่ยานพาหนะด้วยความระวัง ขับขี่ตามกฎจราจร และสวมหมวกนิรภัย ทั้งหมดที่ว่านี้เราทำกันตอนที่โรคทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น และคำแนะนำทั้งหมดก็มาจากการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของ ปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยป้องกันของตัวโรคนั้นๆ มาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว
วัคซีนนี่ไม่ใช่การรักษานะครับ แต่เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการป้องกันโรคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในนวัตกรรมการแพทย์เกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้ งานของวัคซีนจึงไม่ใช่งานในการทำให้คนเป็นโรคหายจากโรค แต่เป็นการป้องกันไม่ให้โรคที่เราควรระวัง เกิดขึ้นในเขตชุมชนที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างมนุฯย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสัตว์ คำถามที่เคยได้ยินจากพ่อแม่ผู้ปกครองบางคน จึงขอตอบตรงนี้ว่า ที่พ่อแม่ว่าเด็กไม่เคยป่วย ไม่เคยไข้ แล้วทำไมต้องมารับวัคซีน แล้วบางท่านก็ยังบอกอีกว่า ทดลองให้ลูกไม่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็แข็งแรง ปกติดี เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าวัคซีนเป็นการป้องกันนั่นเองครับ ไม่ฉีดก็ได้ครับ เด็กเติบโตตามเกณฑ์ สมบูรณ์ ไม่มีปัญหาอะไร อาการเจ็บป่วยทั่วไปอาจเหมือนเด็กที่ฉีดวัคซีน ซึ่งพ่อแม่ถูกครับ วัคซีนไม่ได้เป็นอะไรที่ทำให้ความเป็นความตายในภาวะปกติเปลี่ยนไป แต่มันจะช่วยในกรณีที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้มีโรคระบาด
ในยุคสมัยที่มีการบันทึกข้อมูลดีแล้ว ทีมสาธารณสุขฝรั่งก็ทำการรวบรวมข้อมูลตัวเลขของคนที่เคยป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคระบาด ในช่วงก่อนจะมีวัคซีนและเทียบหลังจากที่มีวัคซีน ผมขอยกตัวอย่างในอเมริกา เพราะที่นั่นเป็นที่แรกๆที่มีกฎหมายบังคับใช้ให้รับวัคซีนพื้นฐานก่อนเพื่อน ว่ากันว่าก่อนมีวัคซีน จะมีเด็กทุกคนในอเมริกาเคยเป็นโรคหัด และทุกปีๆจะมีเด็ก 100 คน โดยเฉลี่ยที่ตายจากโรคนี้ ก่อนปี 2014 อเมริกาเป็นประเทศที่ไม่เจอโรคหัดเลยแม้แต่รายเดียว (ปล.หลังจากมีลัทธิต่อต้านวัคซีนในอเมริกา บางพื้นที่ที่เด็กไม่รับวัคซีนกันมาก มีรายงานของการพบโรคหัดแล้ว),ช่วงก่อนปี 1921 จะมีเด็กที่ตายด้วยโรคคอตีบในอเมริกาเฉลี่ยประมาณ 15,000 แต่หลังจากที่เด็กได้รับวัคซีนคอตีบเกือบร้อยเปอร์เซ็น ในช่วงสิบปีตั้งแต่ 2004-2014 มีรายงานของโรคคอตีบเพียงรายเดียวเท่านั้น
ในช่วงปี 1964-1965 โรคหัดเยอรมันแพร่ระบาดในอเมริกา ทำให้มีคนติดโรคนี้ถึง 12.5 ล้านคน มีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 2,000 คน และทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์แท้งไปถึง 11,000 ราย แต่หลังจากวัคซีนได้แพร่กระจายทั่วถึง มีการรายงานว่าพบคนที่เป็นโรคนี้แค่ 9 รายเท่านั้น
นี่ไง ผมถึงบอกว่าวัคซีนเป็นนวัตกรรมของการป้องกันโรคที่ประสบความสำเร็จที่สุดของประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ ที่ลดจำนวนคนเป็นโรคจากหลักสิบล้านคน เหลือแค่หลักสิบ ลดจำนวนคนตายจากนับหมื่นๆคนต่อปี ทำให้ไม่เหลือเลย บางทีพ่อแม่สมัยนี้ไม่ทันได้เกิดในยุคที่มีโรคระบาด เลยไม่เข้าใจว่า การเห็นคนนับพันนับหมื่นคนตายไปพร้อมๆกัน ด้วยสาเหตุเดียวกัน มันน่าสะพรึงแค่ไหน ยิ่งถ้ามีใครที่เรารักต้องพิการ ล้มตาย จากโรคระบาดด้วย จะรู้ซึ้งถึงความน่ากลัวของโรคระบาด ดีไม่ดี เจ้าลัทธิไม่เอาวัคซีนที่โย่วๆกันในปัจจุบัน ถ้ามีการระบาดของโรคระบาดขึ้นมาจริงๆ อาจเป็นคิวแรกๆที่ไปขอวัคซีนก็เป็นได้ คนที่เกิดทันยุคโรคระบาดที่ฆ่าเด็กตายไปทีละเยอะๆ คนรุ่นนั้นแหละที่ตื่นตัวกับวัคซีน จนทำให้จำนวนผู้รับวัคซีนในยุคนั้น 100% มายาวนาน คนยุคใหม่ที่ไม่มีโรคระบาดแล้ว อาจเหลาะแหละกับวัคซีนไป ซึ่งแน่นอนว่าผลเสียโดยตรงที่มีต่อเด็กนั้นมีผลแน่นอนหากมีการเกิดโรคระบาดดังที่เรียนไปข้างบนนั่น แต่นอกจากผลกระทบระดับปัจเจกแล้ว การที่สังคมสังคมหนึ่งมีคนไม่รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อภาวะภูมิคุ้มกันในสังคมโดยรวมด้วยเช่นกันครับ เราเรียกภาวะภูมิคุ้มกันประเภทนี้ว่า Community หรือ Herd immunity
Herd immunity คืออะไร?
ในอุดมคติของวัคซีน ถ้าชุมชน(สังคม)ใดชุมชนหนึ่งมีคนได้รับวัคซีนโรค A (ซึ่งต้องเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้นด้วยนะ) ครบ 100% ชุมชนนี้จะมี Herd immunity = 100% เราจะเชื่อว่าชุมชนนั้นๆจะไม่มีการเกิดโรค A เลย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า คนทุกคนมีภูมิคุ้มกันหมดแล้ว หากมีเชื้อก่อตัวในตัวของใครคนใดก็ตาม เชื้อจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกายคนนั้นทันทีเลย จึงไม่มีโอกาสแพร่ขยายเชื้อตัวก่อโรคต่อไป แต่สมมติว่า วัคซีนที่ให้มันเสื่อมประสิทธิภาพลง หรือ มีใครบางคนไม่รับวัคซีน หรือ มีคนคนใหม่เข้ามาในชุมชนนั้นๆ และไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จำนวนคนในชุมชนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะลดลงน้อยกว่า 100% ทันที เอาละเราตัดกรณีของวัคซีนของเสื่อมไปก่อน เพราะเป็นกรณีที่ไม่ใช่ข้อผิดพลาดทีเกิดจากคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน เราจะพูดถึงกรณีที่มีคนในชุมชนไม่ยอมรับวัคซีน ถ้าในชุมชนจาก 100% มีแค่ 1-5% ก็โอเค เชื้อที่เข้ามาอาจจะแพร่กระจายได้ยาก เพราะโรคติดต่อนั้นมีขีดความสามารถในการนำพาเชื้อโรคติดไปสู่คนรอบข้างได้จำกัด ส่วนใหญ่ถ้าคนคนหนึ่งเป็นโรค อาจจะนำเชื้อไปแจกคนรอบข้างได้แค่ 5-18 คน แล้วแต่โรค (ค่าการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างนี้เรียกว่า Basic reproduction number หรือ R0) ก็จะหมดความสามารถในการแพร่เชื้อ ถ้าคนในชุมชนมีภูมิคุ้มกันกันมาก สมมติว่ามีคนติดเชื้อคนหนึ่งเดินเข้ามาในชุมชนที่คนเกือบ 100% มีภูมิคุ้มกัน สมมติว่าคนมีเชื้อแพร่เชื้อให้คนรอบข้างไป 10 กว่าคน แต่ไปโดนคนมีภูมิคุ้มกันหมดเพราะชุมชนนี้คนมีภูมิยังเยอะอยู่ เชื้อมันก็ซีเหงเก๋ หยุดที่คนนำเชื้อมาคนเดียว ไม่มีการแพร่ระบาดในชุมชนนั้นๆ
แต่ถ้ากลับกัน คนไม่รับวัคซีนหรือไม่มีภูมิซัก 30 คน จาก 100 คนขึ้นมาละ (โรคติดต่อส่วนมาก ถ้ามี Herd immunity มากกว่า 80% จะมีโอกาสแพร่ระบาดได้น้อย) คนที่นำเชื้อเข้ามาในชุมชนแล้วแจกจ่ายให้คนรอบข้างไป 10 กว่าคน อาจจะโดนคนไม่มีภูมิคุ้มกันไปซะ 3-4 คน แล้ว 3-4 คนนี้ก็จะแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ ไปอีกรอบละ สิบกว่าคนๆๆไปเรื่อยๆ คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะโดนเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของการระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อตัวนั้นๆ นั่นเองครับ
เหตุที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองเราก็ได้แก่ โรคคอตีบที่หายจากประเทศไทยไปนานถึง 17 ปี จากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ปัจจุบันได้กลับมาเป็นโรคระบาดอีกครั้ง ซึ่งเดาไม่ยากเลยครับว่าจะระบาดในพื้นไหนบ้าง คำตอบคือพื้นที่ที่มีคนไปรับวัคซีนคอตีบต่ำนั่นเองครับ โดยพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ สามจังหวัดชายแดนใต้ และภาคอีสานตอนเหนือ จากที่เราไม่เจอโรคมา 17 ปี แต่ตั้งแต่ปี 2555-2558 แค่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีคนป่วยเป็นโรคนี้ถึง 80 กว่าคน และคร่าชีวิตคนไปแล้วถึง 10 รายด้วยกัน
จากตอนนี้คงเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า วัคซีนไม่ใช่แค่การป้องกันบุตรหลานเราจากโรคระบาด แต่เป็นการแสดงถึงความเอาใจใส่ในการอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันของเราๆกันเองด้วย ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าผลข้างเคียงของวัคซีนมีอะไร ทำไมบางครั้งดูเหมือนวัคซีนอันตรายมาก ฉีดแล้วตาย ฉีดแล้ว พิการจริงหรือไม่ ถ้าผมยังไม่หมดอายุ โปรดติดตามกันต่อนะครับ
อ่านตอนที่แล้ว
โลกที่ไม่มีวัคซีน (1)
โลกที่ไม่มีวัคซีน (2)
โลกที่ไม่มีวัคซีน (3)