Skip to main content

 

สมัชชา นิลปัทม์

คณะวิทยาการสื่อสาร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 
 

          งานศึกษาที่ผมเลือกมาครั้งนี้คือวิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองผ่านรายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง" ของ "ทอแสงรัศมี  ถีถะแก้ว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2553

 

          เหตุผลของการเลือกงานชิ้นนี้มาจากความสนใจหลายประการคือ หนึ่งโดยความสนใจผมให้ความสนใจและความสำคัญกับการสื่อสารภาคพลเมืองเป็นพิเศษ นัยว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยภายใต้แนวคิดของการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อการสื่อสาร ประการที่สอง งานศึกษาชิ้นนี้เกี่ยวพันกับองค์การสื่อสารสาธารณะซึ่งเป็นของใหม่มากสำหรับสังคมไทย ประการที่สาม งานชิ้นนี้เป็นงานศึกษาที่มีอาณาบริเวณของการศึกษาไม่ได้สังกัดในสาขาวิชานิเทศศาสตร์โดยตรง แต่ที่น่าสนใจคือเป็นมุมมองศึกษา "องค์กรสื่อ" ที่มาจากสาขาวิชา "เศรษฐศาสตร์การเมือง" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสำนักทางวิชาการที่ให้ความสนใจกับการวิเคราะห์สังคมไทย และสี่ตัวตนของ "ผู้ศึกษา" เป็นบุคคลากรของ "ส.ส.ท" เองด้วย จึงเป็นการคาดหวังว่า "คนใน" จะสะท้อน หรือวิพากษ์วิจารณ์องค์กรที่ตนเองสังกัดอย่างไรบ้าง

 

การศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ในงานศึกษา 3 ประการคือ

          1. ศึกษากระบวนการสร้างสื่อสาธารณะและเจตนารมณ์ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

          2. วิเคราะห์กระบวนการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้แก่ประชาชนผ่านรายการเวทีสาธารณะและรายการนักข่าวพลเมือง

          3. ศึกษาผลของการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองในรายการเวทีสาธารณะและรายการนักข่าวพลเมืองที่มีต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน

 

โดยมีสมมติฐานการวิจัยดังนี้

          1) รายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง ใช้พื้นที่สื่อในการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะทางการให้แก่ประชาชน

          2) การสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองในรายการทั้งสองมีผลกระทบต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่ประชาชน

 

          การศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาในช่วง 2 ปีแรกแล้วนำมาจัดกลุ่มเป็นกลุ่มประเด็นที่ได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่องและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลที่มีส่วนในการผลิตรายการอีก 25 คน

         

          งานศึกษาชิ้นนี้ถูกวางโครงสร้างแบ่งออกเป็น  7 ส่วนหลัก โดย 2 บทแรกเป็นไปตามขนบคือ บทนำและที่มาของการศึกษา บทที่ 2 คือส่วนของปริทัศน์วรรณกรรม โดยตั้งแต่บทที่สามไปจนถึงบทที่หก เป็นผลของการศึกษาคือ บทที่ 3 เรื่ององค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) บทที่ 4 รายการเวทีสาธารณะ บทที่ 5 นักข่าวพลเมือง บทที่  6 การศึกษาเพื่อวิเคราะห์การสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมือง และบทที่ 7 เป็นบทสุดท้ายคือ สรุปผลวิจัยและข้อเสนอแนะ โดยบริบทที่สำคัญของการศึกษาครั้งนี้ก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของ องค์การแพร่ภาพฯ อันเป็นผลพวงภายหลังจากการรัฐประหาร 2549 ห้วงเวลาของการศึกษาเป็นระยะของการ "ตั้งไข่" ขององค์กรในช่วง 2  ปีแรกของการก่อตั้ง ส.ส.ท.

 

          ประเด็นที่ผมจะเน้นเป็นพิเศษจากการ "อ่าน" รายงานวิจัยฉบับนี้ก็คือ ความสนใจในประเด็นของ "สื่อพลเมือง" และประเด็น "พื้นที่สาธารณะทางการเมือง" ตามแนวคิดของ เจอร์เกน ฮาร์เบอร์มาส โดยงานวิจัยของ "ทอแสงรัศมี" งานของเธอมีข้อค้นพบอะไรและงานชิ้นนี้ได้ชวนถกเถียงและใคร่ครวญพิจารณาในประเด็นอะไรบ้าง

 

ข้อค้นพบ

          มีประเด็นที่พิจารณาดังนี้

          1) การวิเคราะห์กระบวนการสร้างสื่อสาธารณะและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ (...) ที่ปรากฏในช่วง 2 ปีแรกของการจัดตั้งองค์การ โดยวางเกณฑ์การวิเคราะห์ดังนี้คือ 1.ความเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากรัฐและระบบตลาด 2. มีพื้นที่ของกลุ่มที่หลากหลายที่สนใจผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม 3.พิจารณาผู้เข้าร่วมในฐานะพลเมืองมากกว่าผู้บริโภค ซึ่งก็พบว่า ตัวองค์การมีการวางกรอบการดำเนินงานที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การกำหนดโครงสร้างประชาสังคม สภาผู้ชมผู้ฟัง การเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ไม่ปรากฏตัวตนอยู่ในสื่อกระแสหลัก คนจน คนชายขอบ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ฯลฯ ส่งผลให้โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรค์ถูกตีกรอบให้ทำงานเพื่อรับใช้สังคมกลุ่มนี้ รวมถึงความพยายามในการสร้างความแตกต่างในฐานะสื่อสาธารณะที่จะต้องมีเนื้อหาแตกต่างไปจากสื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งแต่เดิมประเด็นเหล่านี้มี "ที่ทาง" อยู่เฉพาะพื้นที่ข่าวภูมิภาคเท่านั้น อิทธิพลทางความคิดเช่นนี้ส่งผลไปสู่การวางทิศทางรายการหลัก (Flagship) ซึ่งจะต้องมีเรื่องราวของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย "ทอแสงรัศมี" วิเคราะห์ว่า กระบวนการสร้างสื่อสาธารณะของ ส.ส.ท. ไม่ได้วางอยู่บนหลักการของ "สื่อสาธารณะ" เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ขาดความหลากหลายและความเป็นอิสระ แต่กลับเน้นไปที่กลุ่มคนกลุ่มน้อยในสังคมแค่บางกลุ่ม โดยสื่อสาธารณะควรสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย การเสนอภาพเฉพาะกลุ่มซ้ำๆ คือการผลิตซ้ำภาพความจนและความเป็นชายขอบให้ชัดเจนขึ้นในสังคม

 

          2) กระบวนการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้แก่ประชาชนผ่านรายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง เกณฑ์ที่ถูกวางเพื่อวิเคราะห์คือ 1.กระบวนการผลิตรายการ การกำหนดประเด็น ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ในรายการและมูลเหตุจูงใจที่ให้เข้าร่วมใช้รายการและ 2.รูปแบบของรายการที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง แบบที่เรียกว่า Face to  Face Communication มิใช่เป็นการสื่อสารผ่านผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะปลอมๆ (Pseudo public sphere) ตามแนวคิดของ ฮาร์เบอร์มาส โดยพบว่า รายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง ถูกผลิตขึ้นภายใต้กองบรรณาธิการข่าวสาธารณะและนโยบายสังคม มีการรวบรวมข้อมูลและผ่านกระบวนการคัดเลือกประเด็นข่าว ผู้เข้าร่วม มีการบรรณาธิกรณ์ข้อมูล เธอวางข้อสังเกตว่าพบประเด็นการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งเรื่องฐานทรัพยากรและกลุ่มชาติพันธุ์ ค่อนข้างมาก ขณะที่กลุ่มสังคม ชุมชนและประชาธิปไตยมีสัดส่วนที่น้อยกว่า

          "ทอแสงรัศมี" วิจารณ์ว่าแม้จะมีการเปิดพื้นที่สำหรับนำเสนอกลุ่มคนชายขอบมาเป็นพิเศษ แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรายการเพื่อชาวบ้านหรือเป็นการเลือกข้างทางการเมือง (Partiality) ในฝ่ายของผู้เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการเลือกข้าง เลือกประเด็น เลือกชุมชน เพื่อออกอากาศนั้นเป็นแบบลักษณะตัวแทน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวคิดพื้นที่สาธารณะทางการเมือง แต่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะปลอมๆ (Pseudo public sphere) ที่สื่อมวลชนใช้อำนาจเลือกนำเสนอในกลุ่มที่ตนได้สนับสนุน สร้างความเป็นตัวแทนสาธารณะ (Representative Publicness) ไม่ต่างจากสื่อพาณิชย์เช่นกัน ซึ่งเธอย้ำว่ายังไม่ใช่การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

          3) วิเคราะห์ผลทางการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมือง ผ่าน 3 กรณีศึกษา คือ การเรียกร้องโฉนดชุมชนพื้นที่เกษตรกรรมคลองโยง การเรียกร้องสิทธิพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชน โดยวางเกณฑ์การวิเคราะห์คือ ขอบเขตผลประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะและผลของการใช้พื้นที่สาธารณะ ต้องถูกนำไปเพื่อใช้แก้ปัญหาจริง ซึ่งพบว่า ทั้งสามประเด็นมีลักษณะร่วมกันคือมีความพยายามการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวอยู่แล้วในสังคม แต่ทั้งผู้นำ เครือข่ายและเอ็นจีโอสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง มีการวางการสื่อสารทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่สาธารณะในสื่ออื่นอีกด้วย จึงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าการออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นปัจจัยเดียวให้มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย แต่กระนั้นการนำเสนอประเด็นชาวบ้าน คนชายขอบ นั้นได้สร้างความตระหนักในสิทธิและความภาคภูมิในในอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งถือว่าทีวีไทย(ชื่อที่นิยมเรียกในขณะนั้น) ทำได้เป็นอย่างดี แต่การมุ่งนำเสนอแต่เรื่องราวของชาวบ้านในรายการเวทีสาธาณะและข่าวพลเมืองทำให้ทีวีไทยกลายเป็นสื่อเลือกข้างทางการเมือง จาการสนับสนุนฝ่ายชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบและเป็นผู้ถูกกระทำ

 

          "ทอแสงรัศมี" สรุปย้ำว่า ส.ส.ท. ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้แก่ประชาชนในห้วง 2 ปี แรกของการก่อตั้งองค์กรและเป็นพื้นที่สาธารณะปลอมๆ (Pseudo public sphere) เธอชี้ว่ากองบรรณาธิการยังคงทำหน้าที่เป็น "นายทวารประตูข่าวสาร" ในการกำหนดวาระข่าวสารอยู่ ซึ่งเธอเห็นว่าควรทำให้ "ข่าวพลเมือง" เป็นไปตามการนำเสนออย่างเสรีของชาวบ้าน การเข้าถึงของผู้ใช้สื่อยังไม่มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปะทะสังสรรค์ทางความคิด ทั้งยังอภิปรายโดยอ้างมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมืองในประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการผลิตสื่อ โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเน้นการวางโครงสร้างประชาสังคมและเน้นการมีส่วนร่วมมากกว่าชนชั้นกลางและคนรวย เพราะการผลิตซ้ำคำว่า คนจน คนด้อยโอกาส คนชายขอบและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนที่น่าสงสาร ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งจะเอื้อให้รัฐดำเนินนโยบายด้านนี้และกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ เธอย้ำว่า ส.ส.ท. ต้องยกระดับความรู้เปิดโลกทัศน์ของผู้ชมมากกว่าสื่อพาณิชย์ การยกข่าวกระแสรองขึ้นมาเป็นข่าวกระแสหลัก ไม่เพียงแต่ทำให้ ส.ส.ท. ถูกมองว่าเป็นสื่อชาวบ้านเท่านั้น แต่จะเป็นข้อกังขาว่า บทบาทนี้ ทีวีไทยจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนทุกกลุ่มได้หรือไม่

 

งานของ"ทอแสงรัศมี" ชวนเราขบคิดเรื่องอะไร

          ทุกครั้งที่ผมอ่านงานของ "ฮาร์เบอร์มาส" (J.Harbermas) นั้นจะรู้ทั้งทึ่งและสับสนระคนกันไปเสมอ ประการแรกเราจะทึ่งในการเสนอแนวคิดที่มีความเป็นอุดมคติสูง ซึ่งมักก่อคำถามในใจว่าในทางปฏิบัติว่า "จะทำจริงได้หรือ" แต่ก็จะถูกความคิดอีกด้านเถียง "อุดมคติแล้วไง มีอุดมคติแล้วผิดตรงไหน" เพราะว่าการอ่านงานของ "ฮาร์เบอร์มาส" ทุกครั้งนั้นจะเอ็มพาวเวอร์ตัวเรา ชี้ให้เห็นบทบาทของภาคพลเมืองและประชาสังคมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านพื้นที่สาธารณะทางการเมือง

          ซึ่งเมื่อพิจารณาผ่านสมมติฐานของการศึกษาที่ "ทอแสงรัศมี" วางเอาไว้ สองข้อคือ 1) รายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง ใช้พื้นที่สื่อในการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะทางการให้แก่ประชาชน2) การสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองในรายการทั้งสองมีผลกระทบต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่ประชาชน งานศึกษาของเธอก็ระบุลงไปได้ชัดว่า บทบาท ส.ส.ท. สามารถที่จะขับเคลื่อนสองประเด็นนี้สู่สาธารณะให้บรรลุได้ สามารถสร้างให้ "ชาวบ้าน" กลายเป็นตัวแสดงทางการเมือง (Political Actor) ที่คนในสังคมต้องติดตามการขับเคลื่อนและซึ่งเท่ากับการสร้างให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองในทางการเมือง

          แต่การวิเคราะห์อย่างสำคัญในงานศึกษาชิ้นนี้ก็คือ ตัวแสดงในทางการเมือง (Political Actor) มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับพื้นที่การสื่อสาร กรณีรายการ "เวทีสาธารณะ" และ "นักข่าวพลเมือง" เธอวิจารณ์ว่ายังไม่สามารถที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง เพราะว่าตัวชาวบ้านในฐานะ "พลเมือง" ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เนื้อหา การนำเสนอยังไม่สามารถสร้างบทสนนทนาทางตรงแบบ Face to Face ได้ตามข้อเสนอของ "ฮาร์เบอร์มาส" ทำให้ ส.ส.ท. ยังคงสถานมีภาพ พื้นที่สาธารณะปลอมๆ (Pseudo public sphere) อยู่นั้นสร้างความอึดอัดให้กับคนอ่านพอสมควร

 

          ถ้าเป็นอย่างที่เธอสรุปเช่นนี้จริง คำถามของผมที่เอามาคิดต่ออยู่จนบัดนี้ก็คือ นี่คือการกำลังผจญอยู่กับภาวะแบบ Dilemma ที่ปะทะกันระหว่าง การเป็นพื้นที่ของเสียงอันแท้จริงตามอุดมคติกับธรรมชาติของงานสื่อสารมวลชนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการการประกอบสร้างความจริงในกระบวนการผลิตสื่อไปได้ ซึ่งก็ต้องเอาไปคิดต่อว่ามีกรณีศึกษาที่สื่อสาธารณะที่อื่นๆ (สื่อสาธารณะในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง BBC PBS NHK ABC) ในพื้นที่สื่อสารของภาคพลเมือง ที่ไม่ต้องผ่านการบรรณาธิกรณ์และมีขีดความสามารถในสร้างการสื่อสารแบบ Face to Face ได้จริงตามอุดมคติหรือไม่ หรือจะต้องเตรียมศักยภาพของชาวบ้านธรรมดา ให้เปลี่ยนผ่านไปเป็น "พลเมือง" ที่ต้องมีทักษะการสื่อสารในพื้นที่สื่อมืออาชีพมาก่อนหรือไม่ แล้วเราจะลดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างไร หรือว่าแนวคิดนี้ "พื้นที่สาธารณะ" ไม่เคยจริง แต่มันทำหน้าที่แค่ "อุดมคติ" เป็น "Benchmark” ไว้ให้เราตะเกียกตะกายไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

          หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพราะธรรมชาติและคุณลักษณะพื้นฐานของสื่อสารมวลชนเอง ไม่เหมาะกับการเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ซึ่งเราน่าจะคาดหวังและพัฒนาแนวคิดนี้จากสื่ออื่นๆ น่าจะมีความเหมาะสมกว่า เช่น สื่อขนาดเล็ก สื่อพื้นบ้านและสื่อทางเลือก เป็นต้น ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าจากงานศึกษาอื่นๆ ต่อไปครับ