Skip to main content

Thesis Review II : "การสื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะของคนชายขอบในรายการข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส"

 

สมัชชา นิลปัทม์

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

          งานวิจัยที่จะหยิบยกมารีวิวในครั้งนี้คือผลงานเรื่อง "การสื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะของคนชายขอบในรายการข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส" (2555) ของ "ปาจารีย์ พวงศรี" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร วารสารศาสตรมหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์        

          ข้อเขียนครั้งที่สองนี้ถือเป็นความต่อเนื่องจากการทบทวนวรรณกรรมในครั้งที่แล้วคือเรื่อง "บทบาทขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองผ่านรายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง" (2553) ของ "ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว" ซึ่งเธอได้วางThesis ที่สำคัญผ่านการอภิปรายงานของเธอว่า สสท. ไม่วางอยู่บนหลักการสื่อสาธารณะและอภิปรายว่า สสท.เป็นพื้นที่สาธารณะแบบปลอมๆ (Pseudo Public Sphere) ด้วย Thesis เช่นนี้จึงท้าทายอย่างยิ่งที่ผมอยากจะหางานที่มีการศึกษาในลักษณะใกล้เคียงกันเข้ามาถกเถียง เพื่อเป็น Anti-Thesis ต่องาน ทอแสงรัศมี (2553) โดยอาณาบริเวณที่ผมยังสนใจและให้ความสำคัญอยู่ก็คือ ประเด็น "นักข่าวพลเมือง" และการตีความต่อคอนเซ็ปเรื่อง "พื้นที่สาธารณะ" ของ ฮาร์เบอร์มาส

          แต่ความพิเศษของงานชิ้นใหม่นี้ นอกจากประเด็นที่คาบเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "สื่อพลเมือง" ในองค์กร "สื่อสาธารณะ" ของบ้านเราแล้ว คำสำคัญ (Keywords) ที่นำพามาสู่การถกเถียง-โต้แย้งต่อจากงานของ "ทอแสงรัศมี" ก็คือคีย์เวิร์ดเรื่อง "คนชายขอบ" ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ไร้อำนาจและด้อยโอกาสในสังคม สามารถเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะนี้ได้อย่างไร เขาใช้สื่อพลเมืองในการเป็นเครื่องมือในการ ต่อสู้ - ต่อรอง ผลประโยชน์และอุดมการณ์ของกลุ่มคนชายขอบอย่างไร ตรรกะก่อนหน้านี้ของ "ทอแสงรัศมี" โต้แย้งได้สักแค่ไหน ในเบื้องต้นจึงขอลงไปดูรายละเอียดงานของ "ปาจารีย์" ก่อนว่าเธอทำการศึกษาอะไรบ้าง

 

          "ปาจารีย์" ศึกษาเรื่อง "การสื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะของคนชายขอบในรายการข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส" (2555) โดยมีคำถามนำวิจัย คือ

 

          1. คนชายขอบมีการสื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะ ทางรายการนักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอย่างไร

          2. ปัจจัยใดมีผลต่อการใช้พื้นที่สาธารณะผ่านทางรายการนักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสของคนชายขอบ

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

          1. เพื่อศึกษาการออกแบบการสื่อสารและวิธีการสื่อสารของคนชายขอบผ่านพื้นที่สาธารณะทางรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

          2. เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะและการใช้พื้นที่สาธารณะ ผ่านทางรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสของคนชายขอบ

 

 

          การศึกษาครั้งนี้ได้เก็บข้อมูลผลงานรายการนักข่าวพลเมืองเพื่อศึกษาตัวบท (Textual Analysis) ในช่วงเดือน กรกฎาคม 53 – 31 มีนาคม 55 เป็นเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน และสัมภาษณ์เชิงลึก (Depth Interview) นักข่าวพลเมืองและผู้รับผิดชอบรายการข่าวพลเมืองและสังเกตการณ์ โดยเนื้อหาวิทยานิพนธ์แบ่งออกเป็น 6 ส่วน (1-3 ที่มา, ทฤษฎี, ระเบียบวิธีวิจัย) และบทที่ 4 เรื่องการออกแบบการสื่อสารและวิธีการสื่อสารสื่อสารของคนชายขอบในพื้นที่สาธารณะ บทที่ 5 การเข้าสู่พื้นที่สาธารณะและการใช้พื้นที่สาธารณะ และบทที่ 6 สรุปและอภิปรายผล โดยมุ่งศึกษา บทบาทของนักข่าวพลเมือง 3 กลุ่ม คือ 1. นักข่าวพลเมืองไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบในบริบทของการสร้างรัฐ-ชาติ 2. นักข่าวพลเมืองกลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นคนชายขอบภายใต้บริบทการพัฒนาขนาดใหญ่ 3. นักข่าวพลเมืองกลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน จ.สุรินทร์ คนชายขอบภายใต้บริบทโลกาภิวัฒน์

          กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา ถูกตัดเย็บเข้าด้วยด้วย 4 แนวคิด คือ 1) แนวคิดเรื่องคนชายขอบ  (Marginality) โดยอาศัยเกณฑ์เรื่องกระบวนการทำให้เป็น "ชายขอบ" ของสังคมไทย 3 บริบท ของ สุริชัย หวันแก้ว (2550) มาใช้ในการวิเคราะห์ 2) แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะ ของ เจอรเก็น ฮาร์เบอร์มาส โดยเน้นประเด็น "พื้นที่สาธารณะเพื่อการต่อกร" (a counter public sphere) ว่าบรรดาคนชายขอบจะสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะได้อย่างไร 3) แนวคิดเรื่องข่าวและการผลิตรายการโทรทัศน์ และ 4) แนวคิดเกี่ยวกับรหัสในการสื่อสาร โดยหยิบยกเกณฑ์ Elaborated Code vs. Restricted Code และ Broadcast code vs. Narrowcast Code เพื่อดูระดับของรหัสที่เลื่อนไหลระหว่าง รหัสของความเป็น "มืออาชีพ" และรหัสของ "ชาวบ้าน/ ชายขอบ)

 

งานชิ้นนี้พบอะไร

          งานศึกษาชิ้นได้ตอบคำถามนำวิจัยที่สำคัญคือ

          1) การออกแบบการสื่อสารและวิธีการสื่อสารของคนชายขอบผ่านพื้นที่สาธารณะทางรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยพบว่า การสื่อสารของคนชายขอบมีลักษณะ "สื่อสารด้วยอำนาจ แม้ว่าไร้อำนาจ" กล่าวคือนักข่าวพลเมืองแต่ละกลุ่มมีความสามารถในการใช้ความรู้ งานวิจัย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิม หยิบยกมานำเสนอผ่านรายการสื่อพลเมือง เพื่อ "ต่อรอง" กับอำนาจอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ได้รับสิทธิทางพลเมือง ต่อสู้กับโครงการพัฒนาและการรุกคืบของโลกาภิวัฒน์ โดยอาศัย "การกระทำเชิงภาษา" เป็นเครื่องมือหลักในการต่อสู้่ ตาม แนวคิดของ ฮาร์เบอร์มาส คือ 1. ใช้ภาษาเพื่อแสดงเหตุผล ข้อเท็จจริงและอ้างสถิติ (Constatives) 2. การใช้ภาษาในรูปแบบการออกคำสั่ง การให้สัญญญาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมา (Regulatives) 3. การใช้ภาษาเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก (Avowals) ซึ่งนักข่าวพลเมืองสามารถสามารถปรับใช้กลยุทธได้อย่างลื่นไหล พลิกแพลงตามสถานการณ์และประเด็นการต่อสู้ที่เปลี่ยนไป โดยในแต่ละชิ้นงานอาจมีการ "กระทำเชิงภาษา" (speech act) อยู่มากกว่า 1 รูปแบบ

          ทั้งนี้ยังพบอีกว่า "รหัส" ของการสื่อสารในข่าวพลเมือง ทั้งรหัสของภาษาและรหัสภาพนั้น มีการผสมผสานทั้งรหัสแบบ "ชาวบ้านทั่วไป" (Restricted Code) กับ รหัสแบบ "สื่อมวลชน" หรือ "ชนชั้นกลาง" (Elaborated Code) นอกจากนี้ยังผสมผสานระหว่างรหัสที่สื่อสารกับผู้รับสารจำนวนมาก (Broadcast Code) กับรหัสแบบเฉพาะกลุ่ม (Narrowcast Code) ข่าวพลเมืองจึงเป็นการ "เล่าเรื่อง" ที่มีส่วนผสมระหว่างรหัสของชาวบ้านกับมืออาชีพเอาไว้ด้วยกันหาใช่รหัสแบบชาวบ้านเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

          2) ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะและการใช้พื้นที่สาธารณะ ผ่านทางรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสของคนชายขอบ พบว่า มีปัจจัยที่จำเป็น (necessary factor) ในห้วงเวลาที่เหมาะเจาะ ในการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของคนชายขอบอยู่ 2 ปัจจัย คือ 1) นโยบายของสถานีไทยพีบีเอส ที่ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถือเป็น เงื่อนไขในทางสังคม (Social condition) 2) จิตสำนึกสาธารณะ (Social consciousness) ของคนชายขอบ ส่วนปัจจัยพอเพียง (sufficient factor) คือ ลักษณะของนักข่าวพลเมือง มักเป็นกลุ่มชนชั้นนำ (Elite) เป็นกลุ่มคนที่มี "ทุนความรู้" และประสบการณ์ในการต่อสู้ ต่อรอง กับอำนาจรัฐมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงประเด็นท้องถิ่นให้ขยายไปสู่ประเด็นสาธารณะได้ กอปรกับเทคโนโลยีสื่อ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทำให้ราคาของอุปกรณ์มีราคาถูกลงจนภาคประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จนทำให้กลุ่มคนชายขอบสามารถเข้ามาผลิตรายการโทรทัศน์ได้ง่าย

          การเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับคนชายขอบ เช่่นนี้คือการจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการพลิกบทบาทของคนชายขอบที่เคยเป็นแต่ผู้ชมรายการโทรทัศน์ (receiver) หรือเป็นส่วนหนึ่งของสาร (Message) ที่ปรากฏทางหน้าจอโทรทัศน์ มาเป็นผู้ส่งสาร (sender) เต็มตัว ทั้งยังเป็นการเข้ามาสื่อสารในพื้นที่ "สื่อโทรทัศน์" ซึ่งทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าเป็นอาณาเขตของกลุ่มอำนาจในสังคมและกลุ่มชนชั้นกลาง

          ท้ายที่สุด "ปาจารีย์" เสนอว่า พื้นที่ "สื่อพลเมือง" ไทยพีบีเอส เป็นพื้นที่สื่อที่มีการออกแบบไว้ก่อน เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สื่อโทรทัศน์ มีกรอบเวลาในการออกอากาศ มีขนบและข้อตกลงแบบสื่อโทรทัศน์ มีรหัสเฉพาะทางวิชาชีพที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้รับสารเป็นสำคัญภายใต้กรอบและโครงสร้างเช่นนี้ เดิมเป็นพื้นที่อันแข็งตัวจนเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่กลุ่มคนชายขอบจะสามารถเข้าถึงได้อยู่ก็จริง แต่กระนั้นกลุ่มคนชายขอบก็ยังสามารถที่จะเข้ามามี "สิทธิ" มี "เสียง" ระดับหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว สามารถที่จะผลิต "สาร" ในรูปแบบของตน โดยผ่านการเรียนรู้และ "ต่อรอง" กับสำนักสื่อพลเมืองซึ่งดูแลพื้นที่นี้อยู่ เทคนิคการ "ต่อรอง" ที่สำคัญก็คือ คนชายขอบและสื่อโทรทัศน์ต่อรองกันในระดับ "รหัสการสื่อสาร" เนื่องจากเป็นสนามประลองของชนชั้นที่มีความแตกต่างกัน จึงมีการเผชิญหน้ากันระหว่าง "รหัสแบบชาวบ้าน" (Restricted Code) กับรหัสแบบสื่อมวลชน (Elaborated Code) ผลงาน "สื่อพลเมือง" ที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์จึงพบว่ามีรหัสทั้งสองชุดผสมผสานกัน

                  

วิวาทะงาน ทอแสงรัศมี” VS. "ปาจารีย์"

 

          ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่า ผมอยากจะเทียบเคียงงานศึกษาในลักษณะใกล้เคียงกันมาเป็น Anti-Thesis ต่องาน ทอแสงรัศมี (2553) โดยพบว่ามีความคล้ายคลึงกันบางประการของงานทั้งสองชิ้นก็คือ ความสนใจในการศึกษาบทบาทของ "สื่อสาธารณะ" และ "สื่อพลเมือง" รวมถึงแนวคิดหลักที่ใช้เป็นแกนกลางในการศึกษา คือแนวคิด "พื้นที่สาธารณะ" ของ เจอรเก็น ฮาร์เบอร์มาส ในช่วงเวลาของการศึกษาก็มีความคาบเกี่ยว - ต่อเนื่องกัน โดยงานของ ทอแสงรัศมี ศึกษาในห้วง 2 ปี แรกของการก่อตั้ง สสท. (2551-2553) ในขณะที่งานของปาจารีย์ ศึกษาในห้วง 2553-2555

          จุดร่วมที่สำคัญของงานทั้งสองชิ้นก็คือ กรณีงานของ ทอแสงรัศมี (2553) ชี้ประเด็นที่สำคัญ 2 ข้อคือ  1) รายการเวทีสาธารณะและนักข่าวพลเมือง ใช้พื้นที่สื่อในการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะทางการให้แก่ประชาชน2) การสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองในรายการทั้งสองมีผลกระทบต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่ประชาชน งานศึกษาของเธอก็ระบุลงไปได้ชัดว่า บทบาท ส.ส.ท. สามารถที่จะขับเคลื่อนสองประเด็นนี้สู่สาธารณะให้บรรลุได้ สามารถสร้างให้ "ชาวบ้าน" กลายเป็นตัวแสดงทางการเมือง (Political Actor) ที่คนในสังคมต้องติดตามการขับเคลื่อนและซึ่งเท่ากับการสร้างให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองในทางการเมือง ในประเด็นนี้งานศึกษาของ ปาจารีย์ (2555) ซึ่งได้ศึกษาในห้วงเวลาต่อ ก็ได้ช่วยขยายให้เห็นความสำคัญและการกระบวนสร้างให้ชาวบ้านให้เป็น "ตัวแสดงทางการเมือง" (Political Actor)  ได้อย่างไร กระบวนการของการพลิกบทบาทจากผู้รับสารชายขอบและผู้เป็นเคยเป็นส่วนประกอบของเนื้อหาสาร ให้กลายมาเป็น "ผู้ส่งสาร" รวมถึงการทำให้ "ข่าวพลเมือง" กลายเป็นเครืองมือในการ ต่อสู้ ต่อรอง ในหลายระดับ ทั้งในระดับของประเด็นผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ตนเองสังกัด และการต่อรองกับพื้นที่สาธารณะทางโทรทัศน์โดยใช้ "รหัส" ของการสื่อสารเพื่อทำให้ประเด็นของตนเป็นที่ยอมรับในระดับสาธารณะ

          หากอ่านงานของ ปาจารีย์ (2555) ดีๆ เราก็จะยิ่งพบว่า ศักยภาพของนักข่าวพลเมืองยิ่งมีความโดดเด่นซึ่งสามารถที่หักล้างข้อเสนอก่อนหน้านี้ของ "ทอแสงรัศมี" ว่า ส.ส.ท. ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้แก่ประชาชนในห้วง 2 ปี แรกของการก่อตั้งองค์กรและเป็นพื้นที่สาธารณะปลอมๆ (Pseudo public sphere) เพราะกองบรรณาธิการยังคงทำหน้าที่เป็น "นายทวารประตูข่าวสาร" อยู่ โดยเธอเห็นว่าควรทำให้ "ข่าวพลเมือง" เป็นไปตามการนำเสนออย่างเสรีของชาวบ้าน การเข้าถึงของผู้ใช้สื่อยังไม่มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปะทะสังสรรค์ทางความคิด แต่งานของปาจารีย์ (2555) กลับชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนชายขอบสามารถที่จะใช้ "การกระทำเชิงภาษา" เข้ามาต่อสู้ ต่อรอง ได้เป็นอย่างดีในพื้นที่สื่อสาธารณะ ผ่าน "ต้นทุน" หลายมิติของนักข่าวพลเมืองที่ประสบการณ์และเป็นกลุ่ม Elite ของคนชายขอบ รวมถึงบรรยากาศของไทยพีบีเอสเองก็เป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการต่อสู้ต่อรองเช่นนี้ด้วย ซึ่งในความเห็นของผมมองว่าการที่นักข่าวพลเมืองสามารถทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการต่อสู้มากแล้ว งานของ ปาจารีย์ ได้สะท้อนให้เห็นเฉดของการต่อสู้ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวแบบเฉดสี (difference in degree) มากกว่าการตีความตามเกณฑ์และทฤษฎีว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" แบบพวกลัทธิเคร่งคัมภีร์ (Dogmatic) ที่มองความแตกต่างแบบเชิงประเภท (difference in kind) มากเกินไป

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้งานของ ทอแสงรัศมี (2553) ยังได้ตั้งคำถามว่า เหตุใด สสท. จึงเน้นการวางโครงสร้างประชาสังคมและเน้นการมีส่วนร่วมมากกว่าชนชั้นกลางและคนรวย เพราะการผลิตซ้ำคำว่า คนจน คนด้อยโอกาส คนชายขอบและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนที่น่าสงสาร ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งจะเอื้อให้รัฐดำเนินนโยบายด้านนี้และกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ เธอย้ำว่า ส.ส.ท.ต้องยกระดับความรู้เปิดโลกทัศน์ของผู้ชมมากกว่าสื่อพาณิชย์ การยกข่าวกระแสรองขึ้นมาเป็นข่าวกระแสหลัก ไม่เพียงแต่ทำให้ ส.ส.ท.ถูกมองว่าเป็นสื่อชาวบ้านเท่านั้น แต่จะเป็นข้อกังขาว่า บทบาทนี้ ทีวีไทยจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนทุกกลุ่มได้หรือไม่" โดยองค์ประกอบเช่นนี้จะทำให้ สสท.เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะแบบปลอมๆ (Pseudo Public Sphere) เท่านั้น

          ข้อเสนอเช่นนี้ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก รวมถึงรู้สึกอึดอัดตามสมควรเพราะเหมือนราวกับว่า ทอแสงรัศมี (2553) มองพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ต้องได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันในกับคนทุกชนชั้น ในขณะเดียวเธออาจจะหลงลืมไปว่า "พื้นที่สาธารณะ" นั้นอาจเป็นพื้นที่ๆ ต้องต่อสู้ ช่วงชิง ให้ได้มา เนื่องจากแต่เดิมความสัมพันธ์ทางอำนาจของแต่ละชนชั้นไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจุดยืนแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองสื่อนั้นก็มักจะย้ำชัดตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าพื้นที่สื่อนั้นถูกครอบงำอย่างเข้มข้นจากทุนชนชั้นนำและกฎุมพี แต่ดูเหมือนท่าทีของทอแสงรัศมี จะมีความหวาดระแวงต่อการเข้ามาของภาคประชาสังคมในพื้นที่สาธารณะเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่การอภิปรายของ ปาจารีย์ (2555) กลับชี้ไปอีกทางหนึ่งว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจตีความได้ว่านี่อาจเป็นการปรากฏ (Emergence) ของพื้นที่ทางอุดมการณ์ที่ทำให้เกิดการรวมตัวเฉพาะกิจของชนชั้น ที่แตกต่างกัน ตามแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ที่เรียกว่า "กลุ่มทางประวัติศาสตร์" (Historical bloc) ที่มองว่าชนชั้นต่างๆ ในสังคมไม่ได้แยกขาดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ แต่ในห้วงเวลาที่เหมาะสมทางประวัติศาสตร์จะเกิดการรวมตัวกันเข้า เป็น "กลุ่ม" (bloc) หรือเกิดกระบวนการที่ทำให้ผู้คนต่างชนชั้นเชื่อมร้อยกันเอาไว้ด้วยอุดมการณ์หรือเป้าหมายทางสังคมร่วมกัน โดยมีข้อต่อที่สำคัญคือ ตัวนักข่าวพลเมืองที่มีสถานภาพแบบชนชั้นผู้นำ (Elite) ในการเชื่อมร้อย ต่อรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นเอาไว้ พื้นที่และเวลาสั้นๆ เพียง 3 นาที ได้กลายเป็น "พื้นที่สาธารณะเพื่อการต่อกร" (a counter public sphere) ของกลุ่มคนเล็กคนน้อยในสังคมท่ามกลางช่วงเวลาหลักในสื่อหลักที่เป็นอาณาบริเวณของชนชั้นกลาง ได้รับรู้ปัญหาของพวกเขาจากการเปล่งเสียงและถ่ายทอดจากตัวเขาเอง

          แล้วเหตุใดการอภิปรายต่อประเด็น "พื้นที่สาธารณะ" ในช่องไทยพีบีเอส จึงมีทิศทางที่แตกต่างเช่นนั้น ข้อสังเกตของผมก็คือ งานของ ทอแสงรัศมี (2553) นั้นเป็นการศึกษาหล่อหลอมฝึกฝนภายใต้กรอบความคิดของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อมวลชน (Political Economy of media) ที่มีความคิดชี้นำว่า "อุตสาหกรรมสื่อ คือ การสะท้อนความต้องการของทุน (Cooperate expression) ไม่ใช่ภาพสะท้อน เสียงของประชาชน หรือเสียงของสาธารณชนแต่อย่างใด" (not public discussion) ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่า "สื่อ คือ เครื่องมือของทุน" (ดู เฮอร์เบิร์ต ชิลเลอร์, 1989)  ด้วยตรรกะเช่นนี้ สื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ จึงถูกวิจารณ์จากนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเมืองว่า พื้นที่เช่นนี้ได้ถูกทุนครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ

          ในขณะที่งานของ ปาจารีย์ (2555) นั้น "ท้าทาย" แนวคิดชี้นำดังกล่าวด้วยคำถามว่าที่ "แล้วพื้นที่เหล่านี้คนกลุ่มอื่นๆ จะสามารถเข้ามาใช้ในพื้นที่ๆ ถูกทุนผูกขาดไว้ได้หรือเปล่า" แล้วกลุ่มของคนชายขอบสามารถจะเข้าไป ต่อสู้ ต่อรอง ช่วงชิง ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้จึงไม่ได้ท้าทายเฉพาะแต่เรื่อง "พื้นที่" แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังท้าทายภายในขบวนของนักคิดค่ายเศรษฐศาสตร์การเมืองเดียวกันเองอีกด้วย ที่มำให้เราได้เห็นความแตกต่างของจุดยืนการอธิบายแบบ Base Structure กับ กลุ่ม Super Structure ต่อการมองและอธิบายสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย ท้ายที่สุดงานของ คุณูปการจากงานของ ปาจารีย์ (2555) ยังชี้ให้เราเห็นพลวัตการถกเถียงว่ายังคงวางอยู่บนกรอบเรื่อง Structure vs. Agencyในสังคมไทยว่า "มนุษย์" มีพลังและศักยภาพในการเข้าไปต่อสู้ ต่อรองกับ "โครงสร้าง" ได้มากน้อยเพียงใด

 

 

อ่าน Thesis Review I ได้ที่ Thesis Review I : บทบาทขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองฯ