Skip to main content

“บาบอยอมไม่ได้หากมีคนมาว่า จบปอเนาะจะไปทำอะไร” บาบอได้กล่าวไว้

                 บาบอ สอและ เต๊ะเบ็ญยู่โซะ ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดในสิ่งแวดล้อมปอเนาะ  จนถึงปัจจุบัน บ้านเกิดของท่านเดิมทีเป็นปอเนาะเก่าแก่ ชื่อว่า อะห์มาดียะห์ ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันถูกปรับปรุงหลังจากเป็นที่รกร้างเป็นเวลา 15 ปี  และมีการเปิดสอนมาแล้ว 10 ปี

               บาบอ สอและ ใช้ชีวิตอยู่กับการร่ำเรียนปอเนาะในพื้นที่ปาตานี 22 ปี ได้เห็นบริบทแวดล้อม ในพื้นที่ปาตานีเป็นอย่างไร จึงนำมาประยุกต์ ปรับปรุง ปอเนาะที่บ้านเกิดของตนให้เป็นดั่งปรัชญาที่ท่านได้วางไว้ “ผมต้องการสร้างปอเนาะในฝัน ปอเนาะที่เป็นมือบน ปอเนาะที่ไม่เหมือนคนอื่น”

               ปัจจุบันนอกจากปอเนาะจะมีการสอนกีตาบแล้ว ภายในปอเนาะก็ยังมีการฝึกอาชีพ มีการแกะสลักตอไม้ ทำแหวน ซึ่งสถานที่ฝึกจะอยู่ในปอเนาะ แต่กิจกรรมพิเศษของปอเนาะที่นี่คือ การประกวดปอเนาะสวยงามโดยจะประกวดเดือนละครั้ง หมายถึง  เด็กปอเนาะจะต้องมีการตกแต่งพื้นที่ปอเนาะของตัวเองด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษ  โดยเมล็ดพันธุ์จะได้มาจากชาวบ้านเอามาให้เด็กปอเนาะปลูก เมื่อปลูกแล้วก็จะนำเอาผลไปโรงครัวของปอเนาะ และบริการสำหรับชาวบ้านที่ต้องการผักเพื่อไปรับประทาน เมื่อเหลือจากการบริโภคก็จะนำไปขายที่ร้านเพื่อนำเงินเข้ามัสยิด อีกทั้งบริเวณพื้นที่ของปอเนาะจะไม่ปล่อยให้เป็นที่ว่างเฉยๆ ก็จะมีการปลูกผักปลอดสารพิษ  เลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ด เพื่อเป็นทุนอาหารกลางวันของโรงครัวของปอเนาะอีกด้วย

“บาบอ ชอบต้นไม้ เลยปลูกฝังให้เด็กปอเนาะ ปลูกผักปลอดสารพิษ หน้าปอเนาะของตนเอง ใช้พื้นที่หน้าปอเนาะให้เป็นประโยชน์ เพราะบาบอเชื่อว่า “การปลูกต้นไม้ทำให้ใจเย็นลง”

               ส่วนการบริหารเด็กปอเนาะบาบอจะให้เด็กปอเนาะมีวิธีการจัดการในปอเนาะเอง”เพราะปอเนาะนี้ไม่ใช่ของบาบอคนเดียวแต่เป็นปอเนาะของพวกเราทุกคน” การจัดการของเด็กปอเนาะจะมีการตั้งสภาขึ้นมา โดยมีการเลือกหัวหน้าแต่ละแผนกเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ความสงบสุขภายในปอเนาะ รวมถึงหากพบเจอเด็กบางคนประพฤติตนไม่ควรก็จะมาพบสภาปอเนาะโดยจะมีการตักเตือนโดยการใช้ใบแดง ใบเหลือง แล้วหากสองใบนี้ได้ถูกใช้ไปแล้ว ด่านสุดท้ายก็จะไปเจอบาบอเพื่อขอโอกาสในการอยู่ปอเนาะต่อ

              การประชุมของสภาเด็กปอเนาะจะประชุมเดือนละครั้ง เพื่อพูดคุยเรื่องทั่วไปของปอเนาะ และออกงานในการแสดงสินค้าการแกะสลักไม้ ก็จะมีการแบ่งเด็กเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ปอเนาะ อีกส่วนออกงานขายสินค้า ซึ่งเงินที่ได้จากการขายสินค้าก็จะมาบำรุงปอเนาะ และให้แก่มัสยิด

               สิ่งที่บาบอภูมิใจมากที่สุดคือ “สนามกีฬาของปอเนาะ ได้จากน้ำพักน้ำแรงของเด็กในปอเนาะ โดยการขายไม้แกะสลัก แหวน และน้ำหอม(นำเข้าจากต่างประเทศ) โดยจะแบ่งเด็กปอเนาะเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำสนามฟุตบอลที่ปอเนาะ อีกส่วนออกบูธขายสินค้า ได้เงินมาก็มาสร้างสนามกีฬาเป็นสิ่งที่บาบอและเด็กปอเนาะช่วยกันสร้างมันขึ้นมาสนามกีฬานี้ไม่ใช่มีเพียงแค่เด็กปอเนาะเท่านั้นที่ใช้ แต่เด็กๆ เยาวชนในหมู่บ้านก็มาเล่นสนามกีฬานี้ได้เช่นกัน

               เด็กปอเนาะที่นี่เมื่อออกจากปอเนาะแล้ว เขาสามารถที่จะช่วยตัวเองในการทำอาชีพ เพราะ เด็กที่นี่ก็จะมีศักยภาพแตกต่างกันไป บางคนก็สามารถก่ออิฐ ก่อสร้างได้ บางคนจะมีฝีมือในการแกะสลักไม้ บางคนก็จะทำแหวนเป็น และอีกหลายคนสามารถช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอดในสังคมนี้ได้ และจะไม่ถูกตราหน้าว่า “จบปอเนาะแล้วจะไปทำอะไร”