Skip to main content

จรัญ มะลูลีม

          เห็นด้วยและเห็นต่างของปัญญาชนมุสลิมและผู้คุ้นเคยกับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ (ต่อ)

          ข้อสุดท้าย ผมมีความเห็นไม่เหมือนคนอื่นนะครับ ทั้งๆ ที่ผมเป็นลูกศิษย์ของท่านไพฑูรย์นะ ซึ่งท่านไพฑูรย์ก็เป็นคนสนิทของพลเอกชวลิต

          ผมไม่เห็นด้วยกับคำว่านครปัตตานีเพราะปัตตานีนั้นเป็นชื่อดั้งเดิม ซึ่งมีศักดิ์ศรี มีเกียรติคนยอมรับทั่วโลกเรียกปัตตานี

          ภาษาอาหรับเรียกอัลฟาฏอนี เป็นชื่อซึ่งสมัยบรรพบุรุษเขาตั้งขึ้นมา มีความหมายที่ลึกซึ้ง  ทีนี้พอใส่คำว่านครปัตตานี แล้วมันจะกลายเป็นกลุ่มจังหวัดเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยมีนครเยอะแยะ ซึ่งที่สุดแล้วคำว่าปัตตานีจะจางไป จะกลายเป็นเหมือนนครอื่นๆ ทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ขณะนี้

          ฉะนั้น เฉพาะชื่อนี่ ผมอาจจะเป็นคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย อยากให้ใช้ปัตตานีเหมือนเดิมอาจารย์ชีวินทร์ ฉายาชวลิต กล่าวว่า ผมจะพูดถึงเนื้อหาที่ร่าง พ.ร.บ. ออกมา มีสองฉบับคือของคุณถาวร เสนเนียม และอีกฉบับเป็นขององค์กรเอกชน ออกมาเป็นแนวคล้ายๆ กับที่พลเอกชวลิตเสนอ ทั้งสองเป็นเรื่องของอำนาจกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นเองไม่มีอะไรมากกว่านั้น

          ฉบับของคุณถาวร คนที่แต่งตั้งเลขาธิการศอ.บต. ที่มีอำนาจสูงสุด ไม่ขึ้นต่อใครเลยนอกจากนายกฯ คนเดียว นายกฯ เป็นคนแต่งตั้งโดยกราบทูล แต่โดยการเสนอแนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น มาจากระทรวงล้วนๆ แล้วอำนาจนี้มันก็จะพาดพิงดึงงบประมาณทั้งหมดของกอ.รมน. มาไว้ที่ ศอ.บต.

          เมื่อสักครู่มีคนพูดถึง 4-5 หมื่นล้าน ก็มีการขัดแย้ง พลเรือนกับทหารที่มีหลายคนพูดถึง ที่สำคัญก็คือภาคประชาชนอยู่ที่ไหนมีน้อยมาก ที่มีก็คือ ประธานสภาเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 องค์กรเท่านั้นเอง อาจจะมี 1 คนเข้ามานั่ง คนนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่ ไม่มีการระบุที่ชัดเจนว่ามาจากไหน ไม่มีมาจากองค์กรที่อยู่ในจังหวัดของชายแดนภาคใต้ที่เป็นองค์กรทางศาสนาอิสลามเลย เพราะฉะนั้น ไม่ได้เปิดโอกาสเลยเขาจะทำยังไงก็ได้

          รายละเอียดต่อจากนี้ก็ไประบุว่าเลขาธิการศอ.บต. จะเป็นผู้กำหนด เพียงแต่พูดว่านโยบายของยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ทั้งหมดนี้จัดทำโดย องค์กรเดียวคือ สมช. เป็นผู้กำหนดนโยบายคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อ ครม. พิจารณาออกมาแล้ว

          องค์กรที่ว่าคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับสมัยที่ทำสมานฉันท์ เอาอันนี้เข้ามาเพื่อให้ดูเป็นของประชาชน แล้วทุก 5 ปี สมช. มีอำนาจเสนอทบทวนเปลี่ยนแปลง มีระบุอยู่แค่สามบรรทัดสุดท้ายที่บอกว่า นโยบายนี้มาจากความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

          จะเอามาใช้รึเปล่าไม่ทราบ ไม่ใช้ก็ได้ตรงนี้แหละเป็นหัวใจ เป็นช่องทางที่เหลืออยู่นิดเดียวของภาคประชาชนที่จะเข้าไปถึงที่จะอธิบาย3-4 อย่างที่สำคัญก็คือความไม่เป็นธรรมในสังคม วัฒนธรรมศาสนา และการศึกษา การศึกษาศาสนา รวมอยู่ในช่องเล็กๆ ช่องนี้ครับท่านจะเอาไปใส่ได้อย่างไร จะมี ส.ส. กี่ท่านมาพูด หรือว่าท่านจะพูดถึงดอกไม้หลากสีมากลบทั้งหมด ซึ่งมันไม่ใช่ไง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

          สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอยู่ตรงท้ายนี้แหละที่มีการล็อบบี้ที่ให้เอางบ กอ.รมน. ออกมาทั้งหมด อยู่หน้าสองของบันทึก วิเคราะห์ สรุปคือคำสั่งมันมาจากที่ประชุมของ ครม. ก่อน แล้วถึงจะเข้ามาในนี้ มีการล็อบบี้อยู่ในนั้น จากเอกสารร่างของ คุณถาวร เสนเนียม หน้าสองบรรทัดสุดท้ายของวรรคแรก กินลงมาจนถึงบรรทัดที่เก้า ให้เพิ่มจังหวัดสงขลาเข้าไป แต่ไม่ได้อธิบายในรายละเอียดก็คงจะสรุปแค่นั้นสั้นๆ

          ทั้งหมดนี้มันก็ยังไม่ได้ตอบคำถามและความปรารถนาดีของท่านนาญิบ รอซัก ที่มาเยือนประเทศไทย แล้วลงไปเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงวันที่ 7-9 ธันวาคม 2552 ประเด็นที่สำคัญมันไปปรากฏอยู่ในนี้ ในหนังสือพิมพ์ทางนำ ฉบับเดือนมกราคม หน้า 3

          'เงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ปัญหาภาคใต้ เป็นเรื่องที่ 1 นะครับ

          ท่านนาญิบพูด การให้ความเคารพในภาษาและในการศึกษาแบบอิสลาม ความเคารพในกฎหมายชะรีอะฮ์ เพราะฉะนั้น อีกยาวครับที่ท่านจะต้องเคลื่อนไหว ต้องผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกไปอย่างที่หลายท่านพูดว่าต้องร่วมมือกันต้องมีความคิดสอดคล้องกันก่อนว่า เราจะทำยังไง ต่อจากนี้จะเดินยังไง

          ปรัชญาในเรื่องนี้ถูกระบุอีกครั้งหนึ่งครับ ในหนังสือพิมพ์ทางนำ หน้า 10 ที่ท่านนาญิบพูดว่าให้ภักดีต่อประเทศชาติ พูดถึงชาวมุสลิมทั้งหมด และพูดสนับสนุนปรัชญาที่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ที่ตรงนั้นฟ้าต้องครอบหัวเรา อันนี้คือปรัชญาที่ลึกซึ้งมากใน พ.ร.บ. เหล่านี้ไม่มีปรัชญาหรือเจตนารมณ์เริ่มต้นเลย จริงๆต้องมีเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ก่อนเริ่มมาตราต่างๆ มีการเกริ่นนำ

          รัฐธรรมนูญนี้ถูกร่างแล้วฉีกทิ้งไปหลายครั้งแสดงว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร ฉีกทิ้งได้ แล้วอันนี้ถ้าจะให้มันศักดิ์สิทธิ์จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ผู้นำในหลายระดับ รวมทั้งผู้นำมุสลิมด้วยทั้งในและนอกประเทศที่ใกล้ชิดกัน

          เพราะว่าท่านรอซักพูดชัดเจนนะว่า ไม่มีการสนับสนุนการก่อการร้ายอะไร

          อดีต ส.ส. ณรงค์ ดูดิง กล่าวว่า อยากจะอพูดในส่วนที่เป็นข้อดีเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นเอง ข้อเสียมีอีกเยอะ หากเราจะมองในส่วนที่ดีผมคิดว่า สังคมประเทศไทย โดยเฉพาะสังคมมุสลิมจะได้อานิสงส์จากทางการเมือง

          จากการบริหารคงไม่น้อยกว่าอดีตที่ผ่านมาแล้วมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นจากการที่ผมรับฟังจากผู้หลักผู้ใหญ่ วันนั้นก็ระดับผู้บริหาร ระดับรองนายกฯ ก็ได้พูดถึงว่าเราจะต้องให้มีการบริหารราชการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องของเขาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เขานั้นหมายถึงมุสลิม อันนี้พูดชัดเจน ซึ่งผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย เป็นการพูดในนามส่วนตัว

          สังคมเรา 50-60 ปี มีแต่การเผชิญหน้า ผมอยากให้ค่อยเป็นค่อยไป นโยบายเชิงสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนา สองอย่างนี้มันเกี่ยวข้องกันถามว่า วิถีชีวิตของมุสลิมจะทำ ความเคารพภักดีต่อพระเจ้าต้องมีความมั่นคงไหม ประเทศชาติต้องมั่นคงสงบสุขไหม แต่ถ้าทุกวันนี้จะไปละหมาดยังต้องปิดประตูกันอยู่ จะไปมัสญิดยังไม่กล้า ระดับผู้นำไม่ค่อยกล้าไป ไม่มีความมั่นคงก็ไม่สามารถเข้าสู่อิบาดะฮ์ (การภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) ได้

          และการพัฒนาก็คือหลายๆ ด้าน การศึกษาต้องพัฒนาคนของเราให้ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ ผมเห็นด้วยในการพัฒนา

          อีกร่างหนึ่ง ผมถือว่าเป็นตุ๊กตา มันก็ดี ผมให้เครดิตว่า สามารถทำได้อย่างดี แต่เราไม่รู้เนื้อหา แต่จากแนวคิดที่ อ.อารงพูดถึงผมอยากให้ข้อคิดว่าสังคมมุสลิมของเราเพียงพอ รึยังที่จะเป็นการทดลอง หรือว่าอยากจะเป็นต่อไป

          ผมขอสรุปแบบนี้ว่า สิ่งที่เราจะต้องดูก็คือว่าใครเป็นคนนำเสนอ นำเสนออย่างไรมหานครใครเป็นคนนำเสนอ

          พูดถึงอำนาจในการบริหารของประเทศไทยนั้น พูดถึงสภาความมั่นคงต้องใหญ่กว่าพรรคการเมือง ถามว่าใครคุมอำนาจของสภาความมั่นคง ก็คือพรรคข้าราชการ ซึ่งเป็นพรรคข้าราชการที่ใหญ่กว่าพรรคการเมือง ตอนเป็นข้าราชการไม่ค่อยนำเสนออะไร แต่พอเป็นแล้วมานำเสนอ รวมถึงความมั่นคงก็เช่นกัน

          มาพูดตอนไม่มีอำนาจแล้วก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว จะเป็นกลลวงของประชาชนรึเปล่า

          ดร.ปกรณ์ ปรียากร กล่าวว่า ผมว่าเราคิดแบบนักวิชาการเกินไป ผมอาจจะนอกคอกนิดหนึ่ง สิ่งที่เราพูดทั้งหมดเป็นความคิดที่เหมือนจะล่องลอยเกือบทั้งหมดเลยแล้วเวลาเรากำหนดเป็นกฎหมาย เราก็ไปติดกับดักของเดิม หมายความว่าเราก็ไปหาว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นของเดิมใช้ชื่อว่าอะไรจริงๆ ในรัฐธรรมนูญมันบอกไว้ชัดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อเหมือนเดิม

          ถ้าเราดูตามรัฐธรรมนูญ บอกว่าพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็นการปกครองแบบท้อ งถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึ งถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น เพราะฉะนั้น ชื่อมันอาจจะไม่ต้องเป็นนครด้วยซ้ำไป

          ทีนี้เราก็ต้องยอมรับที่ว่าระบบการปกครองท้องถิ่นแบบเดิมที่ท้องถิ่นภาคใต้มันล้มเหลวผมจะไม่ใช้คำว่า อำมาตย์นะครับ เพราะมันดีเกินไปที่จะใช้ระบบราชการทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ผมใช้คำว่าระบบราชการ พอคนเข้าไปอยู่แล้ว นักการเมืองก็เป็นข้าราชการการเมืองข้าราชการประจำก็ข้าราชการประจำ ท้องถิ่นก็ข้าราชการท้องถิ่น มันตามกันหมดคือมาจากประชาชนแล้วลืมประชาชน ระบบราชการแบบใหม่มันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่

          ที่ผมเห็นด้วยกับ อ.อารง ก็คือว่าถ้าเราไปคิดถึงการปกครอง พิเศษในรูปใดรูปหนึ่ง มันต้องเริ่มจากการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเขา ผมไม่เชื่อว่าคนจังหวัดภาคใต้ไม่มีความสามารถ ในเวลานี้ข้อดีของสิ่งที่มันมีตรงจุดนี้ก็คือว่ามันเป็นความต้องการที่เสนอจากข้างล่างขึ้นมา แล้วเป็นครั้งแรกที่กฎหมายท้องถิ่นจะออกมาจากข้างล่าง

          ความจริงวันนี้ผมคิดว่า ขบวนการแบ่งแยกแยกดินแดนเป็นขบวนการที่อ่อนมาก ในทำนองเดียวกันความรุนแรงที่มาจากรัฐเองก็ต้องระมัดระวังค่อนข้างสูงมาก

          สิ่งที่น่ากลัวก็คือ สื่อมวลชน ซึ่งรุ่นหลังนี่ขาดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมภาษาของภาคใต้โดยสิ้นเชิง แต่ผมไม่อยากให้เราติดกรอบเดิมนะ อาจจะต้องใช้ชื่อการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ยังกล้าที่จะตั้งคำว่ามณฑล แล้วให้คนในพื้นที่เป็นใหญ่มากกว่าคนในส่วนกลาง มีอำนาจเต็มที่ เลือกตั้งจากประชาชน ก็ไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจโดยสมบูรณ์ในการจัดการเกี่ยวกับรายได้และการจัดการบริหารรายจ่าย เป็นเรื่องที่น่าสนใจตรงที่พอปัญหาภาคใต้มันถูกยกระดับขึ้น คนจะพูดเรื่องท้องถิ่นมากขึ้น

          จากนครปัตตานีและเขตบริหารพิเศษไปจนถึงแนวคิดของนักวิชาการและผู้เคยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่มานั่งถกกันในเรื่องที่ว่าด้วยนครปัตตานีกับ พ.ร.บ. ศอ.บต. คงทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงสภาพของปัญหา การแก้ปัญหาและการปกครองในรูปแบบของการบริหารแบบพิเศษ ไม่ว่าจะในชื่อใดก็ตามจะมีความเป็นไปได้แค่ไหนและในภาคปฏิบัติจะต้องพบกับอุปสรรคใดบ้าง

          เวลาและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดต่างๆ ที่นำเสนอกันมานี้จะเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มิ.ย. 2553

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม