Skip to main content

 

Original Link Clik Here .

 

ในพื้นที่สู้รบมันต้องมีศิลปะ : 

เสียงเพรียกหาความเป็นมนุษย์จากพื้นที่ความขัดแย้ง

 

 
 
ชายหนุ่มหน้าเข้มหยิบแหที่กองอยู่กับพื้นออกมาคลี่ “ผมทอดให้ดูเอาไหม” เขาเสนอ
เราเดินไปที่บ่อน้ำ เขาขยับจับแหในท่วงท่าที่พร้อมก่อนที่จะเหวี่ยง.. หรือถ้าจะเรียกในภาษาคนจับปลา ก็ต้องบอกว่า ทอด.. ออกไปยังบ่อน้ำเล็กๆเบื้องหน้า ไม่กี่นาทีต่อมาก็ค่อยๆสาวแหเข้าหาตัวอย่างเบามือ ปลาจำนวนหนึ่งติดมากับร่างแหนั้น “คงจะแกงได้หม้อหนึ่งพอดีแหละ”
 
“ศิลปินฝรั่งที่มาพักด้วยเขาบอกว่า ที่นี่มันคือซูเปอร์มาร์เก็ตชัดๆ” ซูเปอร์มาร์เก็ตของเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ก็คือที่ดินผืนเล็กที่มีบ่อน้ำ มีปลาให้จับ มีผักให้เก็บ ด้านนอกยังมีลำคลองที่ทอดยาวออกไปถึงปากอ่าว ส่วนอีกด้านหนึ่งของที่ดินเป็นทุ่งนา บนที่ดินยังมีอาคารชั้นเดียวรูปทรงคล้ายตัวแอล มันคือหอศิลป์ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่แสดงงานศิลปะ
 
ภายในตัวหอศิลป์เป็นห้องโล่ง นอกจากงานของศิลปินในพื้นที่ บางส่วนเป็นผลงานของศิลปินระดับชาติชื่อดังหลายต่อหลายคน เจะอับดุลเลาะดูจะคุ้นเคยกับพวกเขาเหล่านี้ดี งานของเขาเองก็ได้ไปแสดงในเมืองหลวงมาแล้ว อันที่จริงแล้วเขาเป็นคนแรกๆที่ทำให้คนเมืองกรุงได้รู้จักศิลปะจากดินแดนภาคใต้ หรือศิลปะแบบมลายู การ “แจ้งเกิด” ของเขาอาจจะถือว่าเริ่มที่การคว้ารางวัลจากงานจิตรกรรมบัวหลวงก็ว่าได้ เมื่อปี 2550 เขาเล่าว่า ขณะที่นำผลงานภาพวาดส่วนหนึ่งไปสอบเข้าเรียนปริญญาโท แต่กลับไม่มีเงินพอจะนำภาพขนาดใหญ่เหล่านั้นกลับบ้าน ในช่วงนั้นพอดีมีการแข่งขันประกวดภาพวาดของธนาคารกรุงเทพฯ เขาตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่แล้วก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่าตัวเองได้รางวัลเหรียญทอง นั่นคือจุดเริ่มต้น และหลังจากนั้นเขาได้แสดงผลงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งในต่างประเทศ และเป็นอาจารย์สอนศิลปะ
 
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เขาผ่านการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างหนัก ในวัยเด็กนั้น เพราะความยากจนที่บ้านต้องการให้เขาปิดฉากการเล่าเรียนเพียงที่ป.6 แต่เขายืนยันต้องการจะเรียนต่อจึงตัดสินใจไปอยู่กับพี่ชายที่ทำงานเป็นภารโรงและช่วยพี่ทำงาน ขณะที่พี่ชายสนับสนุนด้วยเงินวันละสิบบาทบ้างยี่สิบบาทบ้างตามแต่จะมีให้ การเข้าเรียนสายศิลปะที่โรงเรียนอาชีวะในตัวเมือง เขาก็อาศัยเงินกู้เพื่อการศึกษา ชีวิตในวัยเรียนช่วงปริญญาผ่านไปได้ด้วยอาหารก้นหม้อจากร้านอาหารที่ไปช่วยทำงาน ทำให้ได้ข้าวกินฟรีเป็นประจำแม้ว่าจะไม่ได้ค่าแรงก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เขาอยู่รอดมาได้โดยตลอด ก็คือคลองข้างบ้าน “เมื่อไหร่ไม่มีเงิน ผมก็จะมาที่คลองนี่แหละ เอาข้าวสารมาสักกำไปเหวี่ยงแล้วก็ทอดแห ไม่นานก็ได้กุ้งสองสามกิโล ได้มาแล้วสองสามร้อยบาท” ทุกวันนี้เขาขอบคุณความยากลำบากที่สร้างให้มีตัวตน “ความลำบากมันทำให้ผมแสวงหา ผมบอกพ่อกับแม่ว่า การที่ผมลำบากต้องหาเงินเรียนเองมันทำให้ผมรู้คุณค่าของมัน ถ้าผมเป็นลูกคนรวยผมอาจจะเรียนไม่จบ เกเรไปแล้วก็ได้”
 
เจะอับดุลเลาะย้อนความหลังสมัยเรียนปริญญาตรี “มีหนหนึ่ง ขาดเงินจริงๆ หาเงินไม่ได้หมดทางออกต้องยอมไปขอที่บ้าน” เขาเล่า “แม่เอากระปุกออมสินออกมาทุบ แล้วเอาเหรียญที่มีที่ออกมานับ รวมแล้วได้สามร้อยบาท ผมบอกแม่ว่าเก็บไว้เถอะ แล้วก็ไปหาทางอื่นเอาจนได้” พ่อกับแม่ดีใจที่เขาเรียนจบและก้าวหน้า “เขาดีใจมาก แม้จะไม่เข้าใจสิ่งที่ผมทำ แต่เขาเห็นผมทำแล้วมีความสุขก็โอเค” มาวันนี้เขาใช้ที่นาของพ่อสร้างหอศิลป์ ลงมือก่อสร้างด้วยตัวเอง ทั้งลงฐานราก ทำตอม่อ ค่อยๆทำทีละเล็กละน้อยใช้เวลาร่วมสองปี ด้วยความช่วยเหลือของพ่อที่เป็นช่างทำเรือมาก่อน การทำหอศิลป์ทำให้ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง “ได้อยู่กับพ่อทุกวัน พ่อมามีส่วนร่วม ได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน มีความสุขมาก เราได้ชดเชยและต่างคนต่างได้ทำหน้าที่ของตัวเอง” และแน่นอนว่า การได้กลับมาอยู่บ้านคือได้กลับมาอยู่กับที่นาและลำคลองที่คุ้นเคย เขาพบว่า อันที่จริงแล้ว ปลาและกุ้งในลำคลองไม่ใช่แค่สิ่งยังชีพเท่านั้น แต่มันยังยึดครองพื้นที่ในใจ “ผมมาย้อนดูตัวเอง เรื่องพวกนี้มันคือชีวิตของเราทั้งนั้น มันออกมาโดยเราไม่รู้ตัว งานที่ออกมามันมีทั้งปลา ทั้งกุ้ง ปลาหมึก” และขณะเดียวกันผลงานของเขาก็สัมพันธ์กับความเป็นคนในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างแยกไม่ได้
 
เขาเปิดหนังสือให้ดูรูปที่ได้รับรางวัลจากธนาคารกรุงเทพฯเป็นรูปเรือกอและ เป็นภาพขนาดใหญ่ 2 เมตรคูณ 1.5 เมตร ช่วงที่ทำนั้น งานชิ้นนี้ถูกวางไว้บนพื้นห้องเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ “เพื่อนสนิทคนหนึ่งมาหา เขาขึ้นไปนั่งบนรูปของผมแล้วก็ชมว่าผมมีเสื่อที่สวยมาก” เพื่อนรักคนนี้ไปร่วมงานรับรางวัลด้วย แต่ตอนนี้เจ้าตัวโดนยิงตายไปแล้ว “เขาไปสมัครเป็นทหารพรานและที่บ้านคงมีเรื่องการเมืองด้วย อันที่จริงแล้วเขาเป็นคนดีมาก” เขาสะท้อนภาพว่า เพื่อนอาจจะไม่ได้เรียนมากมายนักและทางเลือกในชีวิตก็อาจไม่มีมากเท่าใด “ผมดูงานนี้ทีไร น้ำตาจะร่วงทุกที คิดถึงเพื่อน”
 
ขณะที่หลายคนที่เห็นภาพของเขาพยายามอ่านความหมายหลายอย่างที่ซุกซ่อน “ส่วนเราเพียงแต่ต้องการจะนำเสนอความงาม ในเมื่อเกิดเหตุการณ์ คนมองเราในแง่ลบ ผมก็จะรบด้วยดอกไม้ อยากให้คนได้เห็นข้างในของคนที่นี่ให้ได้ ให้เขาเห็นถึงศิลปะ วัฒนธรรมของเรา” แต่การเป็นศิลปินที่นำงานศิลปะของคนมลายูออกสู่ภายนอกไม่ใช่เรื่องง่าย นิทรรศการเดี่ยวของเขามักได้รับคำขอร้องให้เปลี่ยนคำเรียกหาเช่นจากคำว่า “มลายู ให้เป็น “ไทยมลายู” หรือไม่ก็ให้เอาคำว่า “ปาตานี” ออกเสมอ ดูเหมือนหลายคนหวาดเกรงผลกระทบจากผู้ที่มีมุมมองด้านความมั่นคง “ผมเองไม่ได้คิดอะไรมาก แค่ต้องการจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกไปเท่านั้น”
 
เจะอับดุลเลาะบอกว่า ในช่วงแรกๆเมื่อเขาเริ่มเรียนนั้น แทบจะหาศิลปะที่แสดงความเป็นมลายูแทบไม่มี แต่สิบปีมานี้ คนในสามจังหวัดไปคว้ารางวัลด้านศิลปะจำนวนมากและแทบทุกเวที “เพราะว่ามันเป็นสิ่งใหม่ มีอัตลักษณ์ จากปกติที่ศิลปะแบบอิสลามจะมีอิทธิพลอาหรับ แต่งานของคนในดินแดนตอนใต้มีกลิ่นอายมลายูและมุสลิม “อาจเป็นเพราะมันเกิดในพื้นที่ที่เป็นแบบนี้ งานที่นี่เลยโดดเด่น” การเป็นศิลปะร่วมสมัย การใช้วัสดุและเทคนิคที่หลากหลาย เช่นเทคนิคในการผลิตบาติค การใช้วัสดุที่มีทั้งผ้า ไม้ ดิน ทราย แม้แต่อาหาร เช่นโรตี ขนม ข้าวเปลือก ถือว่าเป็นเสน่ห์ของงาน ขณะที่กระแสการผลิตงานศิลปะในพื้นที่ทำให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น หอศิลป์ของเขาได้รับความสนใจอย่างมากจากศิลปินทั้งในและนอกพื้นที่ รวมทั้งผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องศิลปะจากต่างประเทศ รวมไปถึงนักวิจัยที่ต้องการมองสังคมผ่านศิลปะ สำหรับคนในพื้นที่ เขาเชื่อว่างานศิลปะจะช่วยให้ผู้คนได้ระบายความรู้สึก “เยาวชนรุ่นใหม่ที่อยู่แบบศิวิไลซ์มากเกินไป ก็จะได้อยู่กับตัวเองและรกรากของตัวเองบ้าง ศิลปะมันช่วยได้ บางคนอาจมองว่าศิลปะทำอะไรไม่ได้ แต่ศิลปะไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่จะจรรโลงคน และสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นทางออกอีกอันหนึ่ง”
 
“งานศิลปะมันบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ในอดีต คนจะศึกษาประวัติศาสตร์ต้องไปดูงานศิลปะ ศิลปะในยุคของผมมันเกิดในช่วงสถานการณ์พอดี มันประจวบเหมาะมาก และถ้าจะพูดเรื่องสถานการณ์ ก็ต้องมองงานศิลปะร่วมสมัยในช่วงนั้น” เขาว่า

 

“สำหรับผม ศิลปะใกล้เคียงกับศาสนา คือต้องทำด้วยศรัทธา มันเป็นเรื่องของเรากับเขา มันบอกถึงวินัยของเรา ถ้าไม่ทำก็ไม่มีงาน” เขายังเชื่อว่า สามารถเอาหลักคำสอนในศาสนามาปรับใช้ได้ “ความคิดเกิดจากข้างใน ศิลปะเกิดจากข้างใน รู้สึกข้างในก่อนถึงจะแสดงออกมา