Skip to main content

“เสรีภาพ” ในมุมมองอิสลาม

ตอบคำถาม โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล-เกาะเราะฎอวีย์

ศิริวัฒน์ ฮะยีเลาะ แปลและเรียบเรียง

 

ขอบคุณภาพจาก Facebook : Shaykh Yusuf al-Qaradawi

 

อิสลามกล่าวถึง “เสรีภาพ” อย่างไรบ้างและการจำกัดขอบเขตใน “เสรีภาพ” มีหรือไม่

 

คำตอบ...  อิสลามเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพและสันติภาพซึ่งมายังผู้คนพร้อมด้วยกับการมอบเสรีภาพให้ โดยไม่มีระบอบใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเทียบเท่าได้ อัลกุรอาน อัสสุนนะฮฺ (แนวทางของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) และแนวทางการปฏิบัติของคอลีฟะฮฺ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อิสลามให้ความสำคัญกับเสรีภาพในทุกแง่มุมชีวิตทั้งในเรื่องจิตวิญญาณ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อิสลามมาเพื่อสนับสนุนหลักการเสรีภาพ อาทิเช่น เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออกและอื่นๆ อิสลามปฏิเสธการบังคับให้ศรัทธา แม้กระทั่งในตัวสาสน์ อัลกุรอานชี้แจงในสารัตถะ เกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาว่า “ไม่มีการบังคับใดๆ (ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม แน่นอนความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัลบากอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 256)

เหตุผลยกประกอบในอายะฮฺ “คุณค่าของเสรีภาพ” ดังกล่าว ก็คือ สองเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมาดีนะฮฺ  คือ เผ่าเอาซ์และคอซรอจญ์ ซึ่งก่อนการเข้ารับอิสลามได้ทำสัญญาร่วมกันว่า ถ้าหากบรรดาภรรยาพวกเขาให้กำเนิดทารกชาย พวกเขาจะให้ทารกนั้นเป็นยิว นี่เป็นวิธีการที่ทำให้สมาชิกบางส่วนของสองเผ่าอาหรับเหล่านั้นกลายเป็นยิว

อย่างไรก็ตามเมื่อชาวอาหรับได้รับความโปรดปรานด้วยอิสลามแล้วและสองเผ่านั้นเข้ารับอิสลาม สมาชิกของครอบครัวเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนลูกหลานพวกเขาออกจากยิวเข้าสู่อิสลาม แต่ทั้งนี้อิสลามปฏิเสธความคิดในการบังคับผู้คนออกจากยิว แม้ว่าขณะนั้นจะมีสงครามระหว่างมุสลิมและยิวที่เกิดขึ้นก็ตาม

อิสลามสนับสนุนหลักการเช่นนี้ ในขณะที่จักรวรรดิโรมันบังคับผู้คนในการเลือกเข้ารีตคริสเตียนหรือรับโทษประหารชีวิต และจักรวรรดิเปอร์เซียใช้วิธีการทรมานนักปฏิรูปศาสนาของตน ในสถานการณ์เช่นนี้ อิสลามกลับประกาศยืนยันหลักการเสรีภาพทางศาสนา

หลักการเสรีภาพมิได้มาในฐานะผลพวงจากการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางสังคม แต่มาจากสิ่งที่เหนือกว่านั้น นั่นคือ มาจากฟากฟ้าเพื่อนำพาผู้คนบนโลกนี้ให้สูงส่ง 

หลักการเสรีภาพทางศาสนา คล้ายกับหลักการเสรีภาพอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีขอบเขต ในขณะที่อิสสามประกาศหลักการเสรีภาพ อิสลามยังต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางศาสนาเช่นเดียวกัน

อีกทั้งอิสลามยังคัดค้านความคิดของยิว โดยเมื่อพวกเขากล่าวและอัลกุรอานก็ได้โต้ตอบ ความว่า “และกลุ่มหนึ่งจากหมู่ผู้ได้รับคัมภีร์กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกให้ลงมาแก่บรรดาผู้ศรัทธา ในตอนเริ่มแรกของกลางวัน (เช้า) และจงปฏิเสธศรัทธาในตอนสุดท้ายของมัน (เย็น) เพื่อว่าพวกเขาจะได้กลับใจ” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อาละอิมรอน อายะฮ ที่ 72)

ดังนั้น ผู้ซึ่งรับอิสลามจะต้องเชื่อมั่นในสาสน์และยืนหยัดความเชื่อของตน เมื่ออัลลอฮฺได้ให้เสรีภาพยังผู้คน แม้กระทั่งเรื่องราวในจิตวิญญาณ  ดั้งนั้น ผู้ปกครองกล้าดีอย่างไรที่จะปฏิเสธเสรีภาพพื้นฐานแก่ผู้คน นี่คือสิ่งที่ท่านอุมัร (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้เรียกร้องออกมา 

ท่านอุมัร อิบนุค็อฏฏ็อบ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นอมตะในขณะกล่าวต่อผู้ปกครองอียิปต์ ว่า “ตั้งแต่เมื่อใดที่ท่านทำให้ผู้คนกลายเป็นทาส ขณะที่มารดาของพวกเขาได้ให้กำเนิดพวกเขาเป็นอิสระชน” 

อาลี อิบนุอบีฏอเล็บ  (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) กล่าวเช่นกันว่า “จงเป็นตัวของท่านเอง อัลลอฮฺสร้างท่านเป็นสิ่งถูกสร้างที่เป็นอิสระ”  อัลลอฮฺได้ให้มนุษย์เป็นอิสระเนื่องจากอัลลอฮฺสร้างพวกเขาให้เป็นอิสระ

ฉะนั้นอิสลามจึงมาเพื่อปลดปล่อยผู้คนจากการเป็นทาสในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าการเป็นทาสทางความคิด  การเมือง สังคม ศาสนา และการเป็นทาสทางเศรษฐกิจ

เสรีภาพที่สำคัญประการต่อมา คือ เสรีภาพทางความคิด อิสลามเรียกร้องผู้คนใคร่ครวญถึงจักรวาลและรู้จักซึ่งวิทยปัญญาเบื้องหลังการสร้าง อัลกุรอานกล่าวว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ฉันขอเตือนพวกท่านเพียงข้อเดียวว่า พวกท่านจงยืนขึ้นเพื่ออัลลอฮฺ (ครั้งละ) สองคนและคนเดียว แล้วจงไตร่ตรองดู (ก็จะประจักษ์ว่า) สหายของพวกท่านนั้น มิได้เป็นบ้า แต่เขาเป็นผู้ตักเตือนพวกท่าน ถึงการเผชิญหน้ากับการลงโทษอย่างสาหัสเท่านั้น” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ สะบะฮฺ อายะฮที่ 46)

อัลกุรอาน กล่าวอีกเช่นกัน ความว่า

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) พวกท่านจงดูว่ามีอะไรในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินและสัญญาณทั้งหลาย และการตักเตือนทั้งหลายจะไม่อำนวยผลแก่กลุ่มชนที่ไม่ศรัทธา” (อัลกุรอานสูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺ ที่ 101) 

“พวกเขามิได้ออกเดินทางในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อหัวใจจะได้พิจารณาเพื่อพวกเขาเอง หรือมีหูเพื่อสดับฟังมัน เพราะแท้จริงการมองของนัยน์ตานั้นมิได้บอดดอก แต่ว่าหัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากที่บอด ( อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัลฮัจยฺ อายะฮฺ ที่ 46)

เช่นเดียวกัน อิสลามเรียกร้องบนอิสรภาพของผู้คนภายใต้ความคิดของพวกเขา อิสลามปฏิเสธข้อโต้แย้งของผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น ซึ่งอาจกล่าวว่า

“พวกเราได้รับผลจากผู้นำของเรา ซึ่งชี้นำเราไปทางที่ผิด” เช่นเดียวกัน อัลกุรอานปฏิเสธข้อโต้แย้งของพวกเหล่านั้น ซึ่งตั้งบนความเคลือบแคลงและคำโกหกมดเท็จ

อิสลามใช้วิธีการที่เป็นเหตุเป็นผลในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนที่ดำเนินตามสาสน์ (ริสาละฮฺ) ของตน  นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมความเป็นเหตุเป็นผล ในอิสลามเข้ากันได้กับอัลวะหยู อิสลามยังสนับสนุนเสรีภาพในการอภิปรายและการสนทนา อีกทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและสร้างความคิดใหม่ๆ   

ภายใต้สังคมอิสลามประชาชนมิได้ถูกกดขี่ข่มเหง พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างอิสระ  นี่คือสิ่งว่าทำไมสำนักคิดอิสลามอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับผู้อื่นในบรรยากาศด้วยความใจกว้างและความปรองดอง

อิสลามสั่งสอนมุสลิมให้แก้ไขสิ่งที่ผิดและส่งเสริมสิ่งที่ถูกต้อง  อีกทั้งสั่งสอนมุสลิมให้ปกป้องเสรีภาพทางศาสนาและความคิดของพวกเขา แม้ว่าจะต้องทำสงครามก็ตาม

อัลลอฮฺ ผู้ทรงเดชานุภาพ กล่าวความว่า “และหากว่าอัลลอฮฺทรงขัดขวางมิให้มนุษย์ต่อสู้กันและกันแล้ว บรรดาหอสวดและโบสถ์ (ของพวกคริสต์) และสถานที่สวด (ของพวกยิว) และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮฺ ถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน และแน่นอนอัลลอฮฺ จะทรงช่วยเหลือผู้ที่สนับสนุนศาสนาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัลฮัจย์ อายะฮที่ 40)

นับตั้งแต่การเริ่มต้นของอิสลาม  มุสลิมได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องในการปกป้องเสรีภาพ มุสลิมปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองทั้งหมดในรัฐอิสลาม คริสเตียนและยิวได้รับการเอาใจใส่และคุ้มครองอย่างดี พวกเขาอยู่ภายใต้สันติภาพและความปรองดองกับมุสลิม

สรุปได้ว่า... อิสลามสนับสนุนเสรีภาพทุกรูปแบบที่วางอยู่บนความรับผิดชอบ เสรีภาพที่เคารพผู้อื่น และเคารพแนวทางจากชะรีอะฮฺ เป็นเสรีภาพ “ส่วนรวม” มิใช่เสรีภาพส่วนตนที่เห็นแก่ตัว 

ดังนั้น เสรีภาพที่ทำลายตนเอง ครอบครัว ความมั่นคั่ง และสังคมทั้งชายและหญิง จึงไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง  เสรีภาพต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานของการ “ไม่ทำลาย” นั่นคือ ไม่ทำลายตนเองและผู้อื่น