Skip to main content

 

“มองอนาคตมุสลิมอีสาน ปี 2030”

 

อิมรอน  โสะสัน

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ถ้าจะวิเคราะห์ถึง “อนาคต” (future) ของสังคมหนึ่งๆในฐานะ “องค์กร” (As an organization) เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปได้ในการวางทิศทางองค์กรในอนาคตทั้งระยะสั้น กลาง ยาว นักยุทธศาสตร์ (Strategists) ส่วนใหญ่ ได้อธิบายแนวทางการวิเคราะห์ไว้ 4 แนวทางหลักๆ ได้แก่ ข้อแรก ต้องวิเคราะห์สภาพ อดีต/ปัจจุบันองค์กรอย่างถึงรากในทุกมิติ       ข้อสอง ต้องมีการวาดภาพอนาคตบนฐานความเป็นจริงและความเป็นไปได้ ข้อสาม จะทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตได้ ข้อสุดท้าย ต้องเข้าใจว่าอะไรคือข้อจำกัด อุปสรรค ความท้าทายที่จะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดภาพอนาคตที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งผมขอประยุกต์หลักการวิเคราะห์นี้มาขยายภาพอนาคตของสังคมมุสลิมอีสานอย่างคร่าวๆดังต่อไปนี้

 “สังคมมุสลิมอีสาน” ได้ผนวกกลายส่วนหนึ่งของประชาคม (อุมมะฮ์) มุสลิมไทย อาเซียน และของโลกอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้นไม่นานนัก หมายถึงว่า ความเคลื่อนไหวของมุสลิมอีสานถูกขยายความและถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น มีการรับรู้ แลกเปลี่ยน เยี่ยมเยือน และร่วมทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นทางการกับประชาคมมุสลิมนอกภูมิภาคถี่ขึ้นอย่างชัดเจน เช่น งานเปิดมัสยิด เปิดอาคารเรียน งานสังคมสงเคราะห์ ค่ายเยาวชนฤดูร้อน กิจกรรมสตรี และ กิจกรรมมุอัลลัฟ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ภาพกิจกรรมที่กล่าวมาอาจดูไม่ชัดนัก เป็นเพราะความรู้สึกร่วมของมุสลิมนอกภูมิภาค และความสนใจของสื่อต่างๆที่ไม่มากพอต่อวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของมุสลิมอีสานในลักษณะที่มีผลกระทบต่อความเป็นไปของสังคมมุสลิมหรือสังคมไทยโดยภาพรวม ซึ่งพอจะมองอย่างหยาบๆได้ว่า ประการแรก ภาคอีสานเป็นภาคที่ไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานของมุสลิม ขาดโครงสร้างทางสังคม เช่น มัสยิด ร้านอาหาร โรเรียนสอนศาสนา กุโบร์ ฯลฯ ที่จะรองรับการขยายตัวของประชากรมุสลิม ทั้งๆที่ความเป็นจริงมุสลิมอาศัยในภูมิภาคนี้มานานกว่าร้อยปี หรือมากกว่านั้น ประการต่อมา มุสลิมอีสานอาจไม่ได้แสดงบทบาทนำ หรือดึงดูดให้สื่อได้เห็นและเข้าใจในวิถีชีวิต ซึ่งอันที่จริง พวกเขาอาศัยร่วมกับชุมชนอื่นๆด้วยความสงบและขันติมาช้านาน  ประการที่สาม ความเข้าใจที่ว่า ภูมิภาคอีสานยังเป็นภาคที่ยากจน ขาดการพัฒนา จนกลายเป็นภาพมายาคติให้มุสลิม (แม้แต่คนทั่วไป) ที่ไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสมาก่อนมีจินตนาการต่างๆนานาออกไป ส่งผลไปถึงการตัดสินใจ ทำให้เกิดอาการปิดกั้นตัวเองจนนำไปสู่การไม่เรียนรู้และรับรู้ภาพจริงที่เกิดขึ้นในอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากกว่า 21 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของไทย จัดว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมากที่สุดภาคหนึ่งเช่นกัน

เมื่อมองไปยังบริบท (Context) ของประเทศ และระหว่างประเทศ มุสลิมอีสานมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมเพื่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างถึกราก เนื่องด้วยขณะนี้ ภาคอีสานกำลังได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคม ขนส่งกับระบบเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขง (Mekong Sub-region Countries) อีกทั้งการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับประเทศต่างๆในอาเซียนที่เรียกว่า “ASEAN Connectivity” ผ่านระบบราง การขยายถนน และเส้นทางการบิน ฯ ในด้านของประชาคมระหว่างประเทศ ได้มีการตกลงกันที่จะกำหนดวาระการพัฒนาโลกขึ้น โดยกำหนดวาระที่เรียกว่า “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยื่น ปี 2030 หรือ The Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศษฐกิจ การกำจัดปัญหาความยากจน ความหิวโหยให้หมดไป การตั้งเป้าให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การหาพลังงานทางเลือกและทดแทนให้กับโลก ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด การเพิ่มงานทำ การสร้างนวัตกรรมการพัฒนา การสร้างกระบวนการยุติธรรมและสันติภาพ การสร้างความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาชุมชนยั่งยื่น การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล และเป้าหมายอื่นๆมากถึง 17 เป้าหมาย โดยถือว่าเป็นการบ้านให้ทุกประเทศดำเนินการในอีก 15 ปีนับจากนี้ไป เหล่านี้คือแนวโน้ม (Trends ) ที่ทุกประเทศกำลังให้ความสนใจ วางแผน วางยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยตัวอย่างที่กล่าวมานั้น คือ ภาพใหญ่ที่มนุษยชาติได้พยายามกำหนดเอาไว้ในอีก 15 ปีข้างหน้าเพื่อความอยู่รอดของเผาพันธุ์มนุษย์เอง ส่วนจะเป็นจริงได้มากน้อยอย่างไร อันนั้นค่อยประเมินกันอีกครั้ง

หันกลับสู่สังคมมุสลิมอีสาน (อาจเป็นสังคมไทยด้วยซ้ำไป) คำถามใหญ่ข้อหนึ่งคือ สังคมได้มีการวิเคราะห์ทิศทางของประเทศ ภูมิภาค และแนวโน้นของโลกอย่างไรบ้าง? จะมีเครื่อมมือ แนวทางอะไรที่จะรับมือต่อแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น? อุปสรรคที่จะกีดกันการพัฒนาสังคมมีอะไรบ้าง? สิ่งนี้จะกลายเป็นโจทย์สำคัญ(a big Question) ข้อหนึ่งต่อการกำหนดอนาคตของมุสลิมอีสานและมุสลิมไทยในที่สุด ด้วยเหตุนี้ การขยายภาพอนาคตของมุสลิมอีสานอาจมีความจำเป็นสำหรับการกำหนดทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนของมุสลิมอีสานในอนาคตขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งผมจะพยายามลองฉายภาพบางภาพให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่าที่ความรู้ของผมจะพึงมีดังนี้

 

ภาพที่หนึ่ง การขยายตัวของประชากรมุสลิมในภาคอีสาน

ตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ (United Nations) ภายใน 15 ปีข้างหน้า มนุษยชาติจะเพิ่มจำนวนเป็น 8,500 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรทั่วโลกรวมทั้งมุสลิมอีสานด้วย ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรมุสลิมในอีสานมีประมาณ 30,000 คน มีมุสลิมที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอาศัยประมาณ 3,000 คน ตัวเลขนี้เป็นแค่การประเมินคร่าวๆเท่านั้น แต่ในอนาคตมุสลิมที่อาศัยในภาคอีสานจะขยายตัวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าบริบทของภูมิภาคต่างๆหรือประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่เอื้อต่อการทำมาหากินและอยู่อาศัย ภาคอีสานอาจจะกลายเป็นเป้าหมายของการตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งหนึ่ง (Settlement) ของมุสลิมจากภาคอื่นๆและมุสลิมจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายตัวเครือข่ายทางด้านเศษฐกิจ (Economic Expansion)  เนื่องจากความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐาน และโอกาสในการทำมาหากิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับนักแสวงหาได้ตั้งตัวและที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย (Secure) สูงในระดับหนึ่งที่จะเป็นเครื่องการันตีความเป็นอยู่ที่ดีได้ ด้วยเหตุนี้ การขยายตัวของมุสลิมจึงมีความเป็นไปได้สูงถึงเท่าตัว นั่นหมายถึงอีก 15 ปี ข้างหน้า มุสลิมอีสานอาจจะมีถึง 50,000 คน หรือมากกว่า ในทางกลับกัน ความซับซ้อน ความหลากหลายของประชากรก็จะมีสูงขึ้น รวมถึงการแย่งยิงทรัพยากรน้ำ ที่อยู่อาศัย อาหาร การมีงานทำฯ เพื่อความอยู่รอด และถ้าไม่ระวังและวางแผนเรื่องทรัพยากรให้ดี อาจกลายเป็นวิกฤตอื่นๆตามมาจากการขยายตัวของประชากรในสังคมไทย

 

ภาพที่สอง การเพิ่มขึ้นของจำนวนปัญญาชนในระดับสถาบันการศึกษาชั้นสูง

ภาคอีสานถือว่ามีสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศหลายแห่งที่มีนักศึกษามุสลิมให้ความสนใจเป็นทางเลือกเพื่อการศึกษาระดับสูงของพวกเขา นักศึกษามุสลิมเหล่านั้นอาจมีความตั้งใจจริง หรือเป็นเพราะเงื่อนไขของทุนต่างๆที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ที่จะมาศึกษาในภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ในรอบเกือบๆสิบปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษามุสลิมได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง สถาบันการศึกษาทั้งภูมิภาคเริ่มเปิดโอกาสให้นักศึกษามุสลิมมีพื้นที่ในการศึกษาและกำหนดอนาคตของพวกเขาได้ ประเด็นสำคัญคือ ถ้าโอกาสทางการศึกษาของประเทศยังเอื้อต่อการศึกษาของเยาวชนมุสลิมต่อไป ชุมชนมุสลิมรอบๆสถาบันการศึกษา จำเป็นจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับโอกาสด้านการพัฒนาที่ปัญญาชนเหล่านั้นจะมีส่วนร่วมในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า นักศึกษาและชุมชนจะมีการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการพัฒนาชุมชนที่พวกเขาอาศัยร่วมกันอย่างไร จะจัดระบบการทำงานร่วมกันอย่างไร  ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเวลาสั้นๆไม่กี่ปี แต่ถ้าชุมชนและปัญญาชนในรั้วสถาบันการศึกษามีวิธีคิด การจัดการให้เป็นระบบและช่วยกันวางแผนที่ดี โอกาสที่ชุมชนมุสลิมในจังหวัดต่างๆจะได้ประโยชน์ก็มีไม่น้อย ซึ่งบางจังหวัดในขณะนี้มีการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและชุมชนได้ดี ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนเยาวชนวันเสาร์อาทิตย์เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และส่งผลถึงกิจกรรมอื่นๆในชุมชน เป็นต้น

 

ภาพที่สาม อีสานคือรูปแบบ (A model ) ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

คุณลักษณะที่โดดเด่นประการหนึ่งของมุสลิมอีสานคือสามารถเข้าใจและยอมรับความหลากหลายที่ดำรงอยู่ของคนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยที่พวกเขาถือเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมขนาดใหญ่ในภาคอีสาน และลักษณะสภาพการณ์แบบนี้ได้ธำรงอยู่มาช้านาน แต่...ในอนาคตอันใกล้ภาพของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมอาจถูกกระทบได้ไม่น้อย อันเนื่องจากการขยายตัวของแนวคิดสุดโต่งและความระแวงสงสัยที่เกิดขึ้นจากการไม่เรียนรู้และไม่แลกเปลี่ยนทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ในมุมกลับ การขยายตัวของมุสลิม ศาสนาสถานฯ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ หรือกลายเป็นสิ่งแปลกแยกของสังคมที่ยากจะทำความเข้าใจ ถ้าหากว่าขาดกระบวนการสร้างความเข้าใจที่ดีพอระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน นับว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวที่จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ไม่น้อย

 

ภาพที่สี่ ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มมุสลิมด้วยกัน

ในที่นี้ พอจะอนุมานคร่าวๆได้ว่า จากฐานความคิดเดิม ความหลากหลายของการตีความข้อปฏิบัติต่างๆในศาสนาอิสลามคือความสวยงามและความสะดวกให้มุสลิมได้ใช้เพื่อการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าตามข้อจำกัดและความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ถ้าประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพียงเพื่อเหตุผลต้องการเอาแพ้ เอาชนะ นั่นอาจส่งผลสะเทือนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของความเป็นมุสลิมอีสานไม่น้อย ดังนั้น การเคารพ ให้เกียรติในความต่างภายในกลุ่มมุสลิมอีสานต้องรักษาและธำรงไว้ให้ถึงที่สุด ประชาคมมุสลิมอีสานควรมองภาพใหญ่ที่จะนำมาซึ่งความเป็นเอกภาพบนความหลากหลาย เป็นวาระสำคัญในการประคองความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะรูปแบบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของมุสลิมอีสานตลอดมา

 

ภาพที่ห้า อีสานคือโอกาสการดะอ์วะฮ์อิสลามที่น่าสนใจ

การที่มุสลิมอีสานมีจำนวนไม่มากและมีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเพื่อนต่างศาสนิกในการดำเนินชีวิตประจำวันถือว่าเป็นความเมตตาที่สำคัญจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานให้กับมุสลิม ในการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องต่างศาสนิกผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิม การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของอิสลามให้กับเพื่อนบ้านต้องเป็นภารกิจอับดับหนึ่งของความเป็นมุสลิม ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองค์กรศาสนาควรแสดงคำสอนอิสลามผ่านกิจกรรมการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมและให้เกียรติเพื่อนบ้าน เช่น การจัดตั้งโครงการศึกษาอิสลามแก่ผู้สนใจทั่วไป การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีทั้งชาวพุทธ มุสลิม ชาวคริสต์ และอื่นๆสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ การเปิดพื้นที่ศาสนสถานให้เพื่อนต่างศาสนิกได้สัมผัสและเข้าใจวิถีอิสลาม การเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน และกิจกรรมอื่นๆตามความถนัด ส่วนการเปิดใจที่จะเข้ามาสู่ร่มเงาอิสลามของเพื่อนบ้านขอให้เป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า องค์กรมุสลิมในทุกระดับรวมทั้งส่วนบุคคลจะต้องให้ความสำคัญกับแนวทาง เครื่องมือที่เหมาะสมและเห็นคุณค่าของผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เราจะต้องให้เกียรติและเคารพ

 

ภาพที่หก เส้นทางการค้า การลงทุน การบริการและอาหารฮาลาล

สืบเนื่องจากที่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนให้มีการติดต่อและการแข่งขันระหว่างกันนั้น รัฐบาลจากประเทศสมาชิก GMS จึงได้กำหนดแนวพื้นที่เศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงจำนวน 9 เส้นทางหลัก ให้เป็นแนวพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของอนุภูมิภาค และหนึ่งในเส้นทางที่ขณะนี้กำลังเริ่มปรากฎผลเชิงรูปธรรมได้แก่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) EWEC มีระยะทางยาว 1,450 กม. อยู่ในเขตไทยเป็นระยะทางยาวที่สุดคือประมาณ 950 กม. (ส่วนหนึ่งจะผ่านภาคอีสานของไทย) เชื่อมต่อระหว่างทะเลจีนใต้ที่เวียดนามและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยเหตุนี้ โอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุนและการบริการจึงเปิดกว้างสำหรับมุสลิมที่จะต้องคิดแบบยุทธศาสตร์โดยคิดถึงส่วนแบ่งการตลาด การค้า การลงทุน การบริการด้านต่างๆ และอาหารฮาลาล ให้กับนักลงทุน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่จะมีการเคลื่อนย้ายผ่านเส้นทางเศรษฐกิจนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากเปิดประชาคมอาเซียนแล้วเขตภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศได้เปลี่ยนไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามุสลิมจะฉวยโอกาสนี้อย่างไร

 

ภาพที่เจ็ด “สังคมแห่งผู้แบ่งปัน” หรือเรียกว่า Community of Sharing

ภาพสุดท้ายของผมคือ มุสลิมอีสานในทศวรรษหน้าจะต้องเป็นสังคมที่มีวุฒิภาวะ (Maturity) มีความพร้อมและมีคุณภาพในด้านต่างๆเพียงพอที่จะได้ชื่อว่า “ผู้แบ่งปัน” (Contributors to the Public) แก่สังคมส่วนใหญ่ มุสลิมสามารถแบ่งปันการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้การบริการต่างๆด้วยคุณภาพและใส่ใจ ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคมในทุกสาขาวิชาชีพ ให้ความเป็นธรรมและความเมตตาต่อผู้อื่น สามารถสร้างสังคมมุสลิมที่มีดุลยภาพ มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่พลเมืองอย่างถึงที่สุด และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเป็นความหวังของประเทศในที่สุด (อินชาอัลลออ์)

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือความพยายามของผมที่จะทำความเข้าใจภาพอนาคตสังคมมุสลิมอีสานที่ได้อาศัยและให้โอกาส เป็นเพียงภาพอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้เพียงใด ผมคิดเสมอว่า เรายังมีโอกาสในการแต่งแต้มอนาคตของเราตามความรู้ ความสามารถและศักยภาพที่แต่ละคนพึงมี และเข้าใจว่า “เครื่องมือที่ดีที่สุด” ในการกำหนดอนาคตคือตัวของพวกเราทุกคน

ปี 2030 ถ้ามองว่าไกลก็ไกล แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นกำหนดท่าที เป้าหมาย และอนาคตของตัวเรา สังคมของเราให้เป็นระบบ และคิดเพียงว่า อย่างไรเสียปี 2030 ก็ต้องมาถึง และเมื่อวันนั้นมาถึงจริง เราอาจจะกลายเป็นบุคคลหรือสังคมที่ถูกทิ้งไว้กลางทางก็เป็นได้....

 

....วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะห์กัม....