Skip to main content

 

กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง : ชุมชนจัดการตนเอง ดินแดนครูเปาะสู แห่งเมืองรามันห์

 

เขียนโดย  ลม้าย  มานะการ

 

จุดเริ่มและการก่อตัวของกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง  : บททดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า

        เมื่อใดที่มนุษย์เจอความยากลำบาก เท่ากับเจอบททดสอบจากพระเจ้า มนุษย์จะฝ่าฝันไปได้หรือไม่ ในที่สุด ปี 2535  บททดสอบของชุมชนครั้งสำคัญ ก็มาถึง เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนาความเป็นสมัยใหม่  ความแข็งแกร่งของชุมชนและกลุ่มคน  ได้ปรากฏ  เมื่อจะมีการสร้างเขื่อนสายบุรี จากนโยบายการพัฒนาของรัฐ กรณี โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง ของกรมชลประทานที่กล่าวอ้าง ว่าเป็น”โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ผู้นำศาสนา ผู้อาวุโสทั้งหลายในบ้านจะรังตาดง จัด “สภาซูรอ” ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างลุ่มลึก ทบทวนถึงข้อกล่าวหาความเป็นกบฏของชุมชนในอดีต  ข้อกล่าวหาใหม่ที่อาจจะเกิดในปัจจุบันว่า “ขัดขวางการพัฒนา” ตั้งคำถามกับจุดยืนที่เหมาะสมของ “โลกปริทรรศน์ : การอนุรักษ์กับการพัฒนา” ตั้งคำถาม ตอบคำถาม เรียนรู้จากคนนอกเพื่อตอบคำถามที่เกินกำลังของคนใน : ป่าพรุ หนอง คลอง บึง ดูซง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กูโบร์ มัสยิด ลูกหลานจะอยู่อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  เมื่อเกือบทุกตารางนิ้วของพื้นที่กลายเป็นเขื่อน.. เราบอกว่าเราไม่เอาได้ไหม เขาอ้างว่าเป็นโครงการ “เฮาะราญอกีตอ” โครงการของในหลวงของเรา  .. เราปฏิเสธไม่ได้หรือ

 

พระราชดำรัสในหลวงของเรา  เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ : การสร้างพลังการต่อรองของกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี

        พระราชดำรัส ในปี 2534 ของในหลวงของเรา “โครงการที่ประชาชนไม่เอาเพราะเดือดร้อน ไม่ต้องทำ” เป็นแรงขับสำคัญในการส่งเสียงและปฏิเสธการพัฒนา  กระบวนการปฏิเสธการพัฒนาของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติและวิถีชุมชน และอ้างว่ามาจากพระราชดำริ  จึงเกิดขึ้นที่นี่ โดยกลุ่มคนที่ถูกขนานนามว่า  “นักอนุรักษ์”  หรือ  “นักต่อต้าน”

        โดย การใช้แนวทางของการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้ และเดินทางหามิตร จากชุมชนที่จะมีผลกระทบจาก  โครงการสร้างเขื่อนและกัลยาณมิตรใกล้ไกลเหนือ-ใต้-ออก-ตก จนกลายเป็นกลุ่มแกนสำคัญ  ทำการประท้วงอย่างสันติ  เรียกร้องต่อพ่อเมือง ผู้ว่าราชการยะลา ณ ศาลากลางจังหวัด  ในปี 2535  เพื่อให้หยุดและยกเลิกการสร้างเขื่อนสายบุรี และทำงานสร้างเครือข่ายพื้นที่ ปฎิเสธการสร้างเขื่อนอย่างต่อเนื่องและก่อตัวเป็น  “องค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี”  ที่เข้มแข็ง  ซึ่งต่อมาเข้าร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของคนจนทั่วประเทศ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในนาม  “สมัชชาคนจน”  ในปี 2540 หรือ ที่รู้จักกันในนามการประท้วง 99 วัน

 

20 ปี ของการยกเลิกการสร้างเขื่อนสายบุรี : การแปลงงานร้อนเป็นงานเย็น สู่ชุมชนจัดการตนเอง

        วันนี้  เกือบ 20 ปีแล้ว  เขื่อนสายบุรียังไม่เกิด   กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง ยังคงเป็นกำลังสำคัญของชุมชนและองค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี  โดยการนำชุมชนและเครือข่าย  แปลงงานร้อนเป็นงานเย็น ด้วยการรวมตัวกันทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ดูและรักษาพื้นที่และทรัพยากรส่วนรวม หรือ “เฮาะออแฆฆามา” อย่างต่อเนื่อง เพื่อประกาศต่อรัฐ สังคมและลูกหลานว่า  ผู้ใหญ่ของชุมชนตัดสินใจร่วมกันอย่างถูกต้อง และไม่หยุดนิ่งที่จะจัดการตนเองในวิถีที่ร่วมกันเลือกรวม  และร่วมกันสร้างสรรค์ สืบทอดให้ลูกหลานเข้าใจธรรมชาติและผู้คน และอยู่อย่างเพียงพอ ผูกพันและพึ่งพิงกันระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และเหนือสิ่งอื่นใด ยังคงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

การสืบทอดจากคนรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่  :  การ  “เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา”   และ   “ คนรุ่นใหม่แต่หัวใจโบราณ”

        การสืบสาน สืบทอด จากผู้ใหญ่รุ่นบุกเบิก สู่คนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาชุมชนและทรัพยากรส่วนรวม เป็นงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งด้านสังคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการพื้นที่เกษตรของครอบครัว ระหว่างคนหนุ่มสาวและแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง หล่อหลอมให้เยาวชนรุ่นต่อมากลายเป็น  “คนรุ่นใหม่แต่หัวใจโบราณ” คือ ยังคงมีสำนึกรักท้องถิ่น ดำรงชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง มีความร่วมไม้ร่วมมือกับชุมชน ในขณะที่เปิดตัวเองเรียนรู้โลกภายนอก

        มีเครื่องมือในการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการเรียนรู้ชุมชนผ่านงานวิจัยด้วยตัวเองอย่างเหมาะสมกับวิถีชุมชนมุสลิม  เยาวชนชายเก็บเกี่ยว วิจัยเรื่องพันธุ์ปลาน้ำจืดในแม่น้ำสายบุรี  ทำให้สัมผัสความเป็นจริงของแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและระบบนิเวศพรุ และแหล่งน้ำจืดของพื้นที่หากิน ว่าอยู่ในสภาพการณ์ใด และได้ตระหนักว่าต้องร่วมกันฟื้นฟูรักษาแหล่งอาหารของชุมชนอย่างไร ในขณะที่เยาวชนหญิง ศึกษาเรื่องผักพื้นบ้านในสวนดูซง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ผู้หญิงเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้โดยตรง นับเป็นความชาญฉลาดของแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ชี้แนะทิศทางการทำงานของเยาวชน ที่ทำให้เยาวชน  “เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา”

 

รู้จักบ้านจะรังตาดง   ตำบลท่าธง  อำเภอรามัน  จังหวัดยะลา 

        บ้านจะรังตาดง ชุมชนเกษตรกรรมเก่าแก่ ในพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำสายบุรี ก่อกำเนิดมาจากการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตรแบบหมุนเวียน พัฒนาการมาสู่เกษตร “ดูซง” ระบบวนเกษตรสวนป่า ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช  มีระบบนิเวศที่เป็น ป่าพรุและแหล่งน้ำจืดที่สมบรูณ์  ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงน้ำจืด  เป็นดินแดน “ครูเปาะสู”   เปาะสู วาแมดีซา ผู้นำธรรมชาติ ที่ในอดีตรัฐตีตราว่า “เป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน”  แต่เป็น  “นักพัฒนาที่ชาวบ้านชอบ”  เพราะเป็นนักพัฒนาชุมชน ที่เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง และนำพาชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

        ผู้คนที่จะรังตาดง อยู่อย่างเพียงพอ  ผูกพันและพึ่งพิงกันระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ด้วยพื้นฐานของหลักศรัทธาในเอกองค์อัลลอฮ  “ผู้ประทานสรรพสิ่งแก่มนุษย์” มนุษย์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่งอย่างระมัดระวังในขณะที่ต้องมีหน้าที่อนุรักษ์ ทำนุบำรุงให้สมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ในอนาคต “ น้ำจะไม่หมดจากฟ้า ปลาจะไม่หมดจากน้ำ เมื่อมนุษย์ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า”  

 

พื้นที่อนุรักษ์สำคัญ บ้านจะรังตาดง

พรุลานควาย

   พรุลานควาย หรือพรุโต๊ะพราน หรือบึงโต๊ะพราน หรือ พรุน้ำดำ พรุนี้ มีเรียกแตกต่างออกไปในแต่ละหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำขัง มีร่องน้ำ ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำสายบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 หมู่บ้าน ใน อำเภอ.ทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ชุมชนใช้ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ นาข้าว ทำการเกษตร และเป็นแหล่งประมงที่มีปลาอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในชุมชนรอบพรุ ทำการประมงทั้งเพื่อยังชีพและอาชีพหลัก

 

วังปลาแม่น้ำสายบุรี บ้านจะรังตาดง 

        วังปลาบ้านจารังตาดง มีปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ กว่า 30 ชนิด โดยการเว้นพื้นที่จุดศูนย์กลางประมาณ 10 ไร่ อยู่ริมแม่น้ำสายบุรี ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน และปลูกหรือปล่อยให้ต้นไม้ที่มีผลที่ปลากินได้ เช่น มะเดื่อ เติบโต  และมีการบอกกล่าวกันเป็นข้อตกลง ว่าชาวบ้านจะไม่จับสัตว์น้ำในบริเวณนี้ ปล่อยให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ชาวบ้านจะหากินดักปลาด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นจุดขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำในแม่น้ำสายบุรี  ปัจจุบันมีหลายชุมชนในเขตริมน้ำแม่น้ำสายบุรีนำแนวคิดนี้ไปใช้ นับรวมทั้งชาวบ้านในชุมชนที่มีสวนติดริมแม่น้ำ ก็เริ่มหันทำเขตอนุรักษ์หรือวังปลาเล็ก ๆ มากขึ้น

 

ดูซง

           ดูซง (Dusong / Multiple Cropping System) หมายถึง เกษตรแบบสวนป่า ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช ที่เกิดเองตามธรรมชาติและปลูกเพิ่ม มีระบบการจัดการและใช้ประโยชน์ร่วมกันเชิงเครือญาติ ที่สืบต่อกันมาอย่างน้อยหนึ่งชั่วคน กรรมสิทธิ์ที่ดินอาจถือครองโดยคนใดคนหนึ่งหรือถือครองร่วมกัน แต่มีการจัดสรรผลผลิตร่วมกันในหมู่เครือญาติและสายตระกูล  ทำให้ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์และการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์จากพื้นที่ร่วมกัน  ตามที่ตกลงกันไว้ โดยที่ดินและสินทรัพย์ในที่ดิน อาจมีเจ้าของเป็นส่วนบุคคลหรือเป็นเจ้าของร่วมกัน  ส่วนสินทรัพย์  ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถือเป็น “เฮาะออแฆฆามา” ทุกคนในชุมชน สามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตแต่ไม่ให้เกิดความเสียหาย ถ้าสินทรัพย์นั้นเกิดจากคนสร้างขึ้น ถือเป็นสมบัติ  หรือ “วอเฆะ”  ของพี่น้องในตระกูลมีสิทธ์ใช้ประโยชน์

 

บทสรุป

           ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลก  และตำแหน่งแห่งที่ของชุมชนที่อยู่ท่ามกลางความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  รวมทั้งเรื่องราวในอดีต บ้านจะรังตาดง ยังคงถูก
ตีตราว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่อันตราย  แต่อยากให้สังคมรับรู้ว่ามี  “กลุ่มคนเล็กๆ”  ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการชี้นำและนำพาองคาพยพของพื้นที่  “ชุมชนลุ่มน้ำสายบุรี” นั่นคือ “กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง”