บอมอ และ โตะมูเด็ง
Mfahmee Talib
วันนี้ได้มีโอกาสไปร่วมคิตาน (ขริบปลาย) ให้กับเด็กๆที่ อ.บันนังสตาร์ ยะลา ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ผมอยากไปร่วมมากที่สุด เนื่องจากเจ้าภาพจัดร่วมกับ โตะมูเด็ง (หมอขริบชาวบ้าน)
เรื่องการขริบกับโตะมูเด็ง ก็เหมือนกับเรื่องของหมอตำแยกับการคลอด ซึ่งหัตถการที่จำเป็นต้องทำในทุกชีวิตของเพศหญิงและเพศชายในท้องถิ่น ทำให้ทุกชุมชนต้องมีหมอสองประเภทนี้ในชุมชนของตัวเอง
สถานะทางวิชาชีพและสถานะในชุมชนเป็นในลักษณะที่เป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน
ทั้งโตะมูเด็ง และหมอตำแย จะมีจรรยาบรรณที่สำคัญคือ ห้ามปฏิเสธการร้องขอ และห้ามเรียกร้องค่าตอบแทน(แล้วแต่คนไข้จะให้) และความรู้สายนี้มักจะสืบทอดกันทางสายเลือด
การฟ้องร้องเกิดขึ้นหากมีข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากหรือแทบไม่มีเลย เนื่องจากในสายตาชาวบ้าน โตะมูเด็งและหมอตำแย ก็คือผู้เสียสละในชุมชน ที่ได้รับภารกิจสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ความเสียสละและความดีของหมอชาวบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องประจักษ์ที่ทำกันมาแค่ในรุ่นเดียวเท่านั้น
เมื่อการแพทย์สมัยใหม่เข้ามา ความรู้ที่ผ่านการประมวลจากหลายที่หลายแหล่ง ก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆให้ปลอดภัยต่อคนไข้มากขึ้น แม้การรักษาบางอย่างจะมีความเสี่ยงบ้าง แต่วิทยาการก็รวบรวมความรู้ที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดการรักษาที่ดีที่สุดเสมอ
ฟังดูเหมือนการแพทย์สมัยใหม่จะดีเลิศ
แต่วันนี้ไปขริบร่วมกับโตะมูเด็ง เราขนทีมหมอสมัยใหม่ไปสามสิบคน โตะมูเด็งมีสามคนบวกกับลูกมืออีกประมาณห้าคน ปรากฏว่าจากเด็กแปดสิบคน เด็กมาทำกับหมอสมัยใหม่หกสิบคน และเลือกทำกับโตะมูเด็งยี่สิบคน
ทั้งๆ ที่หัตถการของโตะมูเด็งจะไม่ผ่านมาตรฐานการแพทย์แบบสมัยใหม่เลย ตั้งแต่ใช้ มีดเล่มเดิม เข็มฉีดยาเข็มเดียว เข็มเย็บเข็มเดียว ไม่เปลี่ยนไม่ล้างตลอดทริป ซึ่งทางการแพทย์สมัยใหม่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยอมรับความเสี่ยงนี้ และเลือกที่จะขริบกับโตะมูเด็ง แม้เราจะตัดร่วมกันระหว่างหมออนามัยกับโตะมูเด็งมาสามสี่ปีแล้ว สัดส่วนของเด็กที่เข้ามารับการขริบก็เท่าๆนี้ตลอดมา ซึ่งแน่นอนว่าในทัศนะของผู้ปกครองการตัดกับโตะมูเด็งมีข้อดีหลายอย่างที่หมออนามัยทำให้ไม่ได้เช่นกัน
อะไรที่เราคิดว่าดี อาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านคิดว่าดีเสมอไป
ปล. ภาพเด็กที่ต้อนเข้ากลางห้องประชุม เพื่อทำปฏิบัติการจิตวิทยาก่อนตัด วันนี้นายกอบต.ใจดี ให้เด็กปีนข้ามโตะกันสนุกสนานเลย