Skip to main content

เรื่องเล่าจากศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๕ สุราษฎร์ธานี

 


รายงานโดย ฝ่ายสื่อสารและรณรงค์ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม


เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙ ทนายความคณะทำงานคดีระเบิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกับตัวแทนศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๕ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อฟังผลการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลและนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๒ ก./๒๕๕๘ ระหว่าง อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๕ โจทก์ นายอับดุลรอนิง ดือราแม จำเลยที่ ๑ และ นายอับดุลเลาะ สาแม จำเลยที่ ๒ 


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทนายความของจำเลยทั้งสอง ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล เพราะไม่เห็นพ้องด้วยที่ให้อำนาจแก่ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงขอให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและทำความเห็นส่งไปที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย เพื่อขอให้ศาลจังหวัดเกาะสมุยทำความเห็นต่อไป แต่เนื่องจากศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๕ ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยของศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ ศาลจึงได้เลื่อนฟังคำวินิจฉัยไปก่อนชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคำวินิจฉัยต่อไป


นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และหัวหน้าคณะทำงานกล่าวว่า “ทนายความไม่เห็นด้วยที่ให้ศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๕ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาและพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากการพิจารณาคดีศาลทหารถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างซึ่งแตกต่างกับคดีพลเรือน ซึ่งมีกฎเกณฑ์และระเบียบหลายอย่างที่แตกต่าง โดยเฉพาะสิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนี้การตรวจสอบสำนวนหรือคัดถ่ายเอกสารไม่สามารถกระทำได้ ทั้งที่คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเช่นเดียวกับคดีในสามจังหวัด ซึ่งมีการพิจารณาโดยศาลพลเรือน ทนายความจึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล แม้จะทำให้กระบวนพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป แต่ก็เห็นว่าอยากให้เกิดบรรทัดฐานในแนวทางเดียวกัน และได้อธิบายทำความเข้าใจจนญาติของจำเลยและชาวบ้านที่มาร่วมฟังการพิจารณาได้เข้าใจแล้ว ขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจกับจำเลยทั้งสอง “


ในวันดังกล่าวญาติของจำเลยทั้งสองได้เดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจกับจำเลยทั้งสอง โดยเฉพาะ จำเลยที่ ๒ นายอับดุลเลาะ สาแม หรือเจ๊ะฆูเลาะ เป็นอดีตครูสอนตาดีกา บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ได้มีญาติ คนในหมู่บ้าน รวมทั้งลูกศิษย์ที่เป็นอดีตนักเรียนตาดีกาและเคยเรียนกับเจ๊ะฆูเลาะ ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ โดยเหมารถบัสคันใหญ่ จำนวนประมาณ ๕๐ กว่าคน แต่ละครอบครัวช่วยกันลงขันเหมารถ ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ให้เยี่ยมครั้งละ ๑๐ คน
เด็กหญิงวันซอบารียะห์ มีเด็ง ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านดาโต๊ะ และเคยเรียนกับเจ๊ะฆูเลาะ กล่าวว่า "รู้สึกดีใจที่ได้มาเยี่ยมเจ๊ะฆู เพราะมีความรู้สึกผูกพันเหมือกับพี่คนหนึ่ง บางครั้งเจ๊ะฆูเป็นคนดุ แต่จะดุในกรณีที่เด็กไม่ตั้งใจเรียน โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเสียงดังในขณะที่สอน คนไหนไม่ตั้งใจฟัง เจ๊ะฆูจะดุมาก จะเคร่งครัดกับนักเรียนในเวลาละหมาด เจ๊ะฆูช่วยเหลือพวกหนูทุกอย่าง หนูเคยทำค่ายกับเจะฆูเลาะ มีเพื่อนคนหนึ่งเคยถูกกระจกบาดเลือดไหล เจ๊ะฆูเลาะช่วยดูแลเหมือนกับพ่อแม่ ดีใจมากที่ได้พูดคุยกับเจ๊ะฆูวันนี้ และรู้สึกเสียใจสงสารที่เจ๊ะฆูต้องถูกดำเนินคดี"


แหล่งข่าวจากฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้กล่าวว่า คดีนี้ที่ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล เหตุผลเพราะเห็นว่า ตามที่ประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดี คำสั่งดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้ผ่านความยินยอมจากทางผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย และได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๒๕ (a) ซึ่งไทยได้ลงนามเป็นภาคีเมือวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ซึ่งการพิจารณาคดีในศาลทหารจะมีข้อแตกต่างกับศาลพลเรือน โดยเฉพาะคดีนี้แนวทางในการสืบสวน แจ้งข้อกล่าวหาและพยานหลักฐาน รวมทั้งการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มีลักษณะเดียวกับคดีความมั่นคงในสามจังหวัด ซึ่งล้วนแต่มีการพิจารณาในสามจังหวัดที่ต้องมีการพิจารณาคดีในศาลพลเรือน ในขณะที่หลังเกิดเหตุผู้มีอำนาจออกมายืนยันว่าเป็นเรื่องการเมืองไม่เกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ค มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม