เรื่องเล่า…เท่าที่สังเกต
ตอนที่ 1
การสื่อสาร สู่ ความเข้าใจ … เท่าที่เฝ้าดู
โดย สายลมแห่งตักวา
23 เมษายน 2559
ได้ยินข่าวมาว่าจะมีกิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ กอปรกับความลงตัวของเวลา จึงทำให้ข้าพเจ้าเดินทางมาสอดส่องดูความเคลื่อนไหวในฐานะผู้สังเกตการณ์ของคนบางกลุ่มที่นี่
นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งสถาบันปอเนาะญาลันนันบารูแห่งนี้ก็ว่าได้ กับการจัดกิจกรรมเชิญผู้ปกครองนักเรียนทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบมาร่วมประชุม พบปะ หารือเพื่อชี้แจงการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกันของสถาบันปอเนาะและผู้ปกครองนักเรียน และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จะว่าไปแล้วการจัดกิจกรรมดังกล่าวก็สอดแทรกความกระชับสัมพันธ์ผ่านการเยี่ยมเยือนไปด้วยในตัว ผลพลอยได้ที่ได้รับอีกอย่างนั่นก็คือ “ความเข้าใจ”
รูปแบบการจัดกิจกรรมโดยภาพรวมแล้ว ข้าพเจ้ามองเห็นเป็นลักษณะการเสวนามากกว่า สังเกตได้จากการที่ นอกจากจะมีการพูดคุย ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ก็ยังเปิดพื้นที่ในการรับฟัง จากฝ่ายผู้ปกครอง และนักเรียนไปด้วย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการสื่อสารเพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโดยการมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่าย ตรงกับทฤษฎีการสื่อสารในหนังสือ “การสื่อสารกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม” ของ อาจารย์จินตวีร์ เกษมศุข ที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า แนวทางในการพัฒนาชุมชนและสังคมนั้นจำเป็นต้องมีการแสวงหาวิธีการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง (Involvement) ในการตัดสินใจร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาชุมชนนั่นเอง (จินตวีร์ เกษมศุข, 2554)
การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับทุกๆ ฝ่าย นอกจากจะอาศัยความร่วมมือระหว่างกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีความสำคัญไม่น้อยเลยก็คือ เครื่องมือในการสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจ และจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “การสื่อสาร” นั่นเอง ด้วยกลไกและการดำเนินงานในด้านมวลชนจะขาดตัวขับเคลื่อนอย่าง “การสื่อสาร” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักไปไม่ได้เลยทีเดียว และในการหยิบยกแบบแผนมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมของผลงานในด้านดังกล่าวนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะผู้ทำงานที่จะเลือกทฤษฎีการสื่อสารรูปแบบใดมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมและการดำเนินงานนั้นๆ จากเท่าที่สังเกตการณ์ของข้าพเจ้าพอจะสรุปได้ว่าทางสถาบันเลือกที่จะใช้วิธีแบบเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างกันให้มากที่สุดนั่นเอง
การเปิดประชุมเริ่มต้นด้วยการชี้แจงหลักเกณฑ์และกฎข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของเหล่านักเรียนที่นี่ตลอดจนวิธีการฟื้นฟูสภาพจิตใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทางสถาบันปอเนาะ เท่าที่สังเกตการดำเนินกิจกรรมเป็นไปด้วยความผ่อนคลายไม่ตึงเครียด ด้วยกลวิธีในการดำเนินรายการของวิทยากรที่เป็นไปอย่างสนุกสนาน อีกทั้งการเปิดโอกาสให้เหล่าผู้ปกครองและนักเรียนในการพูดคุยเปิดใจเผยถึงความรู้สึกและแสดงความคิดเห็นให้รับรู้แก่กัน กอปรกับสถานที่ที่เป็นธรรมชาติร่มรื่นด้วยเสียงคลื่นและลมพัดเย็นสบาย ช่วยให้กิจกรรมดำเนินไปคล้ายลักษณะการมาพักผ่อนมากกว่า
ความเป็นมาของสถาบันปอเนาะญาลันนันบารูโดยสังเขป …เท่าที่ได้รู้
เริ่มแรกเดิมทีนั้นสถาบันปอเนาะญาลันนันบารูเป็นหนึ่งในสายงานที่ขยายผลมาจากโครงการญาลันนันบารู โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เนื่องด้วยพบปัญหาการติดยาเสพติดของเยาวชนที่เพิ่มจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทางโครงการญาลันนันบารูจึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตงานเพิ่มขึ้นจากการป้องกันสู่การแก้ไขปัญหา จึงได้มีการจัดตั้งสถานศึกษา สถาบันปอเนาะญาลันนันบารู ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานในการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยใช้หลักการอิสลามที่เรียกว่า “ศาสนบำบัด” นั่นเอง
จากใจผู้ปกครอง…เท่าที่ได้ฟัง
1
“เลิกเถอะครับ…ยาเสพติด มันมีแต่ความเลวร้าย ทำลายอนาคตของชาติ
เพราะลูกหลานของเราทุกคนก็คือพลังของชาติ..”
คำพูดจากใจผู้ปกครองของ นายอามีน ปูยุด สะกดให้ทุกคนต้องสดับรับฟังเสมือนความรู้สึกนั้นถูกเชื่อมต่อเข้าถึงหัวใจโดยตรง ความหวังที่อยากจะเห็นลูกหลานมีอนาคตที่ดี เป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศชาติได้พัฒนา คือสิ่งที่เขาเฝ้าวิงวอนต่อองค์ผู้สร้างอยู่เสมอ แม้ในความเป็นจริงปัญหายาเสพติดจะยังคงเป็นต้นตอของอีกหลายปัญหาที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีการให้กำลังใจต่อผู้ติดยาเสพติดก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีด้วยเช่นกัน โดยตัวเขาเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทางสถาบันปอเนาะอย่างเต็มที่
2
“เห็นผิดสังเกต… ก็เริ่มติดตาม ดูๆ ไปแล้วยิ่งไม่ไว้ใจ
กลัวว่าจะไปถึงขั้นที่ร้ายแรง… เลยตัดสินใจพามาที่นี่”
คือคำพูดของผู้ปกครองของนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในสถาบันแห่งนี้ ด.ช. อามีน หนองจิก อายุเพียงแค่ 13 ปี ผู้เป็นแม่ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมของลูกชายทำให้เธอต้องกังวล การคบเพื่อนฝูงที่มีพฤติกรรมล่อแหลม ความก้าวร้าวและการใช้เงินที่มากขึ้น ทำให้เธอกับสามีตัดสินใจพาลูกชายมาสถาบันแห่งนี้ เพื่อหวังที่จะละลายพฤติกรรมและเรียนรู้หลักการศาสนาควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตไปด้วย ดูเหมือนว่าเธอจะพอใจกับการเปลี่ยนแปลงของลูกชายไม่น้อย แม้ว่าจะมาอาศัยอยู่เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้นก็ตาม
3
“ยังไม่ไว้ใจที่จะให้เขากลับบ้าน สบายใจที่เห็นเขาอยู่ที่นี่มากกว่า…”
มารดาของ นายอามีน ยะหา อายุ 16 ปี ได้เล่าถึงพฤติกรรมของลูกชายที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด จนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี ระหว่างนี้ อามีน ก็ยังคงต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ อยู่สม่ำเสมอ ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเยาวชนนั้น มีหลายหนทางสำหรับการจัดการกับเยาวชนผู้กระทำความผิด บางกรณีเยาวชนอาจได้รับการปล่อยให้กลับเข้าสู่สังคมหลังจากที่ได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู แต่บางกรณีเมื่อเยาวชนมีพฤติการณ์อันจะก่อภยันตรายแก่สังคมหรือแก่ตนเอง เยาวชนจะถูกส่งไปควบคุมตัวและพฤติกรรมที่สถานพินิจ ซึ่งในสถานพินิจนั้น เยาวชนอาจถูกควบคุมตามปรกติ หรืออาจถูกขังก็ได้ อย่างไรก็ตามเธอก็รู้สึกพอใจกับการดูแลของสถาบันแห่งนี้ มากกว่าที่จะให้ถูกคุมตัวในสถานพินิจ
ปัจจุบันสถาบันปอเนาะญาลันนันบารู มีนักเรียนมากกว่า 80 คน เฉลี่ยอายุตั้งแต่ 13 – 34 ปี บางรายมีสถานภาพสมรสและมีบุตรแล้ว บางรายยังอยู่ในวัยเรียนแต่ต้องหยุดเรียนกลางคันเพราะปัญหาการเสพยาเสพติด และมีอีกหลายรายที่มาจากสภาพสังคมและปมปัญหาทางครอบครัว โดยสาเหตุหลักๆ ที่เป็นเหตุจูงใจในการใช้ยานั้นคือ ความอยากรู้อยากลอง เพื่อการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน นั่นเอง เท่าที่สังเกตจากการพูดคุยกับนักเรียนหลายๆ คน ช่วงแรกของการทดลอง พวกเขาเหล่านั้นล้วนต่างคิดว่า ตัวเองสามารถควบคุมการเสพได้ จะเสพหรือจะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ จนสุดท้ายกว่าจะรู้ตัวก็มีอาการถึงขั้นที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และบางรายถึงขั้นวิกฤติแสดงออกทางพฤติกรรมและความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
เสียงจากนักเรียน…เท่าที่เล่ามา
1
“ให้อยู่กี่ปีก็ได้ แต่ขอกลับบ้านเดือนละครั้ง ได้มั้ยครับ?”
สุไลมาน โคกโพธิ์ อายุ 18 ปี กล่าวต่อหน้าเวทีการประชุมเป็นการเรียกเสียงหัวเราะจากบรรดาเหล่าผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลไม่น้อยเลย ทำให้เห็นถึงความจริงใจต่อความรู้สึกตนเองและเป็นอีกหนึ่งข้อบ่งชี้ว่าตัวสุไลมานเอง เริ่มมีสติมากขึ้น จากคำพูดที่กลั่นกรองมาจากความรู้สึกนึกคิดของตนและการยอมรับต่อกฎระเบียบข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสถาบันโดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง อีกทั้งยังแสดงถึงความรักความผูกพันต่อพ่อแม่และครอบครัวเขาเอง ภายใต้อีกชื่อหนึ่งที่เขาเรียกว่า “บ้าน” นั่นเอง
2
“รู้สึกว่ายิ่งนานวัน สุขภาพยิ่งแย่ลง คงไม่ดีแน่ถ้าชีวิตยังเป็นแบบนี้ต่อไป
เลยตัดสินใจอยากเปลี่ยนตัวเอง…”
นัสรี ยะลา อายุ 26 ปี เล่าถึงการตัดสินใจของตัวเองในการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและอนาคต อาจเป็นเพราะบทบาทและหน้าที่อีกมุมในฐานะสามีและพ่อของลูกด้วย จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาตัดสินใจเข้ารับการบำบัดสู่การฟื้นฟูทั้งร่ายกายและจิตใจในสถาบันแห่งนี้ เขาเล่าถึงการใช้ยาเสพติดในครั้งแรกด้วยเหตุผลเพียงต้องการแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น กำลังวังชาที่ได้จากการเสพ “ยาบ้า” ทำให้รายได้และค่าแรงเพิ่มขึ้นตามกำลัง แต่หลังจาก “แค่ชั่วครั้งชั่วคราว” ก็พัฒนาความต้องการขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น “ขาดกันไม่ได้เลย” แม้รายได้และค่าแรงจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ต้องเจียดเงินที่ได้ในส่วนนี้เพื่อไปซื้อ “ยาบ้า” มาเสพเพื่อเพิ่มพละกำลังอีก กลายเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุดและนานวันความต้องการในการเสพยาบ้าก็ยิ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นจนตัวเขาเองเริ่มจะควบคุมไม่ได้ อีกทั้งสุขภาพที่ยิ่งแย่ลงอย่างชัดเจนส่งผลให้ศักยภาพในการหารายได้ต้องลดลงตามไปด้วย เป็นเหตุผลหลักให้เขาต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาดสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง จึงเดินทางมาสถาบันแห่งนี้ด้วยความสมัครใจ
3
“เล่นทุกอย่างที่เพื่อนท้า ลองมาหมดยกเว้นผงขาว ชีวิตอยู่แบบนั้นมา 5 ปี
รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรดีเลย สงสารคนที่รักเรา เลยตัดสินใจมาที่นี่”
อัคริน ยะลา อายุ 26 ปี บอกเล่าความหลังให้ข้าพเจ้าฟังก่อนที่จะตัดสินใจมาเข้ารับการบำบัดและฟื้นฟูที่นี่ ความคึกคะนองชอบลอง ติดเพื่อน อยากได้รับความสนใจ ทำให้เขาต้องติดกับดักในวังวนของยาเสพติดอยู่ 5 ปี ความสงสารที่เห็นพ่อแม่ต้องทุกข์ใจคือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเลิกยาเสพติดจริงๆ และการเข้ารับการบำบัดและฟื้นฟูก็เป็นความต้องการโดยสมัครใจของตัวเขาเอง พร้อมทั้งยืนยันเจตนารมณ์อีกด้วยว่าจะไม่มีวันกลับไปหายาเสพติดอีก เขารู้สึกดีและเริ่มผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ จนคิดว่าถ้ามีโอกาส เขาพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลนักเรียนรุ่นใหม่ต่อไป
สรุปผล… เท่าที่ได้ร่วมงาน
นับเป็นปฐมบทที่สวยงามสำหรับกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจต่อกัน โดยการมีส่วนร่วมในทุก ๆ ฝ่าย จากมุมมองของข้าพเจ้านั้น เท่าที่สังเกตและได้พูดคุยกับเหล่าบรรดาผู้ปกครองและนักเรียนบางส่วนนั้น ได้รับเสียงตอบรับที่ดีถือว่าเป็นที่น่าพอใจ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้ปกครองที่จะมามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยกัน แม้ว่ายังมีบางส่วนของผู้ปกครองนักเรียนที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ก็ตาม อาจเป็นเพราะเราต่างมีเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือ การที่เราทุกคนอยากจะเห็นสังคมได้พัฒนาพร้อมการดำรงชีวิตด้วยความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เรื่องเล่าจากญาลันฯ บทที่ 1 ความรัก ความหวัง ทางเลือก
เรื่องเล่าจากญาลันฯ บทที่ 2 ความรักในโอกาส
เรื่องเล่าจากญาลันฯ บทที่ 3 ด้วยจิต...ที่อาสา