คำประกาศเจตนารมณ์และแถลงการณ์
ฉบับที่ 3
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้
เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีของการจัดตั้ง
28 เมษายน 2559
ว่าด้วยข้อเสนอเรื่อง “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคน”
=========================
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ( Women’s Agenda for Peace / PAW ) เกิดจากการรวมตัวของกลุ่ม/องค์กรผู้หญิง ที่เป็นนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้นำชุมชน ทั้งชาวพุทธและ
มุสลิม รวม 23 องค์กร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อร่วมสร้างสันติสุขและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทางสันติวิธี
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 12 ปี มีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้หญิง ในสถานะที่เป็นทั้งแม่ เมีย ลูกสาว พี่สาวน้องสาว ฯลฯ ที่ต้องแบกรับภาระและปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ตระหนักถึงความทุกข์ยากลำบากอันแสนจะยืดเยื้อยาวนานที่ผู้หญิงต้องแบกรับ จึงใคร่ครวญถึงหนทางที่จะหยุดยั้งผลกระทบที่เกิดแก่ผู้หญิง และสร้างสภาวการณ์ใหม่ที่พึงปรารถนา โดยการจัดเวทีสานเสวนาประชาหารือ เพื่อรับฟังเสียงของผู้หญิงจากภาคประชาสังคมและในชุมชนที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ประมาณ 500 คน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนเมษายน 2559 รวมระยะเวลา 7 เดือน ผลจากการรับฟังความเห็น พบว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ตลาด/ร้านรวงต่างๆ ถนนหนทางที่สัญจรไปมา โรงเรียน รวมไปถึงศาสนสถาน อย่างมัสยิดและวัด สำหรับผู้หญิงแล้วพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีคุณค่าและความหมายต่อผู้หญิงมาก เพราะนอกจากจะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้หญิงรวมไปถึงมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและค้ำประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกนานัปการ รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงทุกศาสนาจำเป็นต้องใช้งานเพื่อตอบสนองต่อภารกิจของแม่ เมีย ลูกสาว น้องสาว ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างกรณีตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงรักและต้องการให้ปลอดภัยมากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เพราะตลาดในมุมมองและความรู้สึกของผู้หญิง เป็นมากกว่าตลาดที่เป็นพื้นที่จับจ่ายใช้สอย ทำมาหากิน หรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ แต่ผู้หญิงยังบอกด้วยว่า ตลาดช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกมีอำนาจ ทั้งอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ อำนาจในการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอย เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงต้องใช้ประโยชน์มาก เนื่องจากผู้หญิงมีบทบาททางเพศที่ต้องดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่บ้านทำกับข้าว ซื้อหาสินค้าส่วนตัว และจัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว นอกจากนั้นตลาดยังเป็นจุดพบปะสังสรรค์ เข้าสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลาดนัดเป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ มีความสุข ผ่อนคลาย อีกทั้งตลาดยังเป็นพื้นที่กลางของผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งศาสนา เพศ วัย และชาติพันธุ์
อย่างไรก็ตามเราพบว่าที่ผ่านมา เกิดเรื่องน่าเศร้าและน่าตระหนกตกใจ เพราะพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ กลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เกิดเหตุรุนแรงที่ทำให้เด็ก ผู้หญิง และประชาชนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งที่โดนลูกหลงและเจาะจง
ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงขอประกาศเจตนารมณ์ และข้อเรียกร้องที่จะปกป้องรักษาพื้นที่สาธารณะให้ปลอดภัย โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
ข้อเสนอต่อผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ ขอให้ 1.ยุติการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมประกาศให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดอาวุธ 2.ขอให้แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และให้นำประเด็นพื้นที่สาธารณะปลอดภัยของผู้หญิงเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย และ 3.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ เพราะที่ผ่านมามีผู้หญิงนักกิจกรรมที่ถูกหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตาจากหน่วยงานความมั่นคงและผู้เห็นต่างจากรัฐ จนทำให้รู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัย รวมทั้งถูกแทรกแซงจนขาดอิสระในการทำงาน
สำหรับข้อเสนอต่อชุมชน กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ขอเชิญชวนท่านซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของผู้หญิงเรา 1.ให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงทั้งในพื้นที่ของการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมและการทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ตลอดจนช่วยผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้เป็นวาระสำคัญที่คู่ขัดแย้งต้องรับพิจารณานำไปสู่โต๊ะการพูดคุย และ 2.ขอให้ท่านเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยกันพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะในเขตของท่าน ตามบริบทพื้นที่ ดังเช่นตัวอย่างที่ดีของการช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัยแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนตลาดเทศวิวัฒน์แห่งนี้ จนทำให้ตลาดแห่งนี้ยังคงมีความปลอดภัย และมีมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหล โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่กลาง ที่ผู้คนหลายศาสนา ทั้งที่เป็นชาวตลาดเอง และคนที่มาจับใช้จ่ายซื้อของ ได้มาพบปะและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะแต่ละแห่ง ที่ผู้หญิงจากชุมชนต่างๆเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ และความมั่นคง รายละเอียดอยู่ในเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย ขอให้หน่วยงานภาครัฐ และความมั่นคง ได้รับไว้พิจารณา เพื่อทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะ มาจากการรับฟังเสียง และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะเสียงและมิติของผู้หญิงที่มักถูกมองข้ามเสมอมา ทั้งๆที่ผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงจากพื้นที่ดังกล่าว และจะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกันหากพื้นที่ดังกล่าวนี้ไม่ปลอดภัย
ประกาศ ณ ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 เทศบาลเมืองปัตตานี
28 เมษายน 2559
บทกวี " ผู้หญิงกับพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย "
ด้วยสองมือ หญิงนี้ ที่สร้างโลก
กำจัดทุกข์ ขจัดโศก ให้แจ่มใส
ปลายด้ามขวาน เร่าร้อน ดังฟอนไฟ
หลายชีวิต จากไป ก่อนวัยควร
เราต่างหลั่ง น้ำตา มามากแล้ว
ทนดูแก้ว แตกยับ กับความป่วน
เราทนฟัง เสียงร้องร่ำ คร่ำครวญ
เราทน..จวน..ใจจะขาด..อนาถนัก
เวลานี้....
เป็นเวลา แห่งศักดิ์ศรี ที่ตระหนัก
มืออันเคย เห่กล่อม ล้อมด้วยรัก
ลุกขึ้นเพื่อ ฟูมฟัก สันติชน
เราจึงมี พื้นที่ สาธารณะ
ให้ทุกฝ่าย ร่วมลดละ ความปี้ป่น
ให้ทุกฝ่าย เห็นความงาม ความเป็นคน
ให้รอยยิ้ม ได้แย้มยล ไปยาวนาน
ลุกขึ้นเถิด ผองเพื่อน ผู้ร่วมสู้
มาช่วยกัน กอบกู้ ปลายด้ามขวาน
ให้แผ่นดิน อันแตกร้าว มายาวนาน
ถึงเวลา ต้องประสาน ด้วยน้ำใจ
สร้างพื้นที่ สีขาว ให้แผ่กว้าง
คืนความฝัน สดสล้าง ชีวิตใหม่
มาเถิดมา ผองเพื่อน ร่วมเรือนใจ
เราจะเริ่ม พื้นที่ใหม่ อันงดงาม
บทกวี โดย
เทียนทัดดา วรรณลักษณ์
27 เมษายน 2559
ดาวน์โหลด
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
- แถลงการณ์
- บทกวี