Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

 
แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
ประนามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ภายใน 6 ปี
รัฐต้องนำนโยบายสันติเจรจาทุกระดับ ควรนำประสบการณ์ปรองดองจากต่างประเทศมาปรับใช้
 
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553  เกิดเหตุคนร้ายใช้ระเบิด 20 กิโลกรัมและการยิงทำร้ายจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิต 3 รายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับหมู่บ้านเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2553 สะท้อนแนวโน้มความรุนแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   อีกทั้งรูปแบบการใช้ความรุนแรงนอกจากจะมีการใช้ระเบิด การลอบสังหาร ตามรูปแบบเดิม ยังมีแนวโน้มการสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินในที่สาธารณะ ในเขตเมือง เขตเทศบาล ด้วยรูปแบบการใช้ความรุนแรงใหม่ เช่น กรณีเกิดเหตุระเบิดหลายครั้งด้วยระเบิดมือขนาดเล็ก เป็นต้น ปัจจุบันนับจากยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้องจ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547  กว่า 4,000 ราย เฉลี่ยเสียชีวิตวันละสองคนเป็นอย่างน้อย
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประนามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายทุกกรณีร่วมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ตกเป็นเป้าในการทำร้ายและสร้างความเสียหาย อีกทั้งหลายเหตุการณ์ความรุนแรงก็ส่งผลประชาชนผู้บริสุทธิ์รวมทั้งเด็กจำนวนไม่น้อยตกเป็นเป้าของความเสียหายของการใช้ความรุนแรงที่โหดร้าย   โดยในระยะ 6 ปีที่ผ่านแม้ว่ารัฐจะใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ในหลายรูปแบบ แต่อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงและปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ลดลงเลยโดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,000 คน บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบนับพันๆคนถูกจับกุม และถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 500 คน ความสูญเสียและเสียหายดังกล่าวเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมให้ความขัดแย้งลึกซึ้งและซับซ้อนยิ่งขึ้น หากปล่อยให้ดำเนินต่อไป จะยิ่งยากที่จะแก้ไขเยียวยา
 
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเสนอว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องทบทวนการนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐและค้นหาแนวทางและนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้   โดยเริ่มจากการพิจารณาถึงปมปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของการแก้ปัญหา สร้างกระบวนการเจรจา เพื่อนำความขัดแย้งที่ใช้อาวุธและการเข่นฆ่า ไปสู่ความขัดแย้งที่แก้ไขโดยสันติวิธี โดยอาจนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาศึกษาและถอดบทเรียนอย่างจริงจัง เช่น แนวทางของการสร้างกระบวนการยุติความขัดแย้งโดยมีคนกลาง การสานเสวนากับทุกภาคส่วนด้วยกลไกใหม่ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการเจรจาทุกระดับ เพื่อหาทางออกทางการเมืองด้วยหนทางประชาธิปไตย    พร้อม ๆ กับการใช้มาตรการทางกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมทั้งการปราบปรามและการนำคนผิดมาลงโทษที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ พิจารณาสอบสวนกรณีมีข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังเปิดเผยและลงโทษกรณีพบว่ามีการกระทำตามกระบวนการยุติธรรรม เพื่อป้องปรามการก่อเหตุร้ายอันเป็นภัยต่อชีวิตทุกชีวิตและต่อทรัพย์สินสาธารณะของทุกภาคส่วนซึ่งเป็นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม     
 
                มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการปรองดองแห่งชาติสำหรับกรณีความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่น้อยไปกว่าการสร้างการปรองดองแห่งชาติในระดับประเทศ รวมทั้งการพิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วยมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน