Skip to main content

 

การฟื้นฟูนิติศาสตร์อิสลาม

 

Prof.Dr.Jasser Auda เขียน

ศิริวัฒน์ ฮะยีเลาะ แปลและเรียงเรียง

 

 

ความหมายของตัญจดีดและบทบาทของตัญจดีดในโลกปัจจุบัน

ระหว่างการเปลี่ยนแปลงและการฟื้นฟู

        ประการแรก มีความแตกต่างกันระหว่างการเปลี่ยน (ตัฆยีร) และการฟื้นฟู(ตัญจ์ดีด) [1]เมื่อเราคิดเปลี่ยนบ้าน  อย่างพื้นฐานที่สุดที่คุณต้องทำคือการย้ายบ้าน หรือบางทีต้องพังบ้านและสร้างใหม่ขึ้นมา

        แต่เมื่อคุณซ่อมแซมบ้าน คุณยังต้องเก็บเสาบ้าน ผนังและสภาพภายนอกทั่วไป แล้วสร้างสิ่งใหม่บนสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้วเพื่อปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านด้วยกับกาลเวลาที่ผ่านไป

        ในทำนองเดียวกัน มีผู้คนซึ่งเรียกร้อง “การฟื้นฟู” อิสลาม ในมิติของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด หรือรื้อถอดโครงสร้างหรือตัวอาคาร  การฟื้นฟูประเภทดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกร้องในคำตอบครั้งนี้

 

การฟื้นฟูและโลกทัศน์

        นักเขียนหลายท่านเขียนเกี่ยวกับ “การฟื้นฟู” และวางประเด็นจากแง่มุมที่หลากหลาย นี่เป็นหัวข้อที่กว้าง อย่างไรก็ตาม ในขอบข่ายที่อนุญาตให้มีการถกเถียง ข้าพเจ้าตั้งประเด็นนี้จากแง่มุมผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า “โลกทัศน์”  โลกทัศน์ คือ ความเข้าใจที่มีต่อโลก (Sire, James W. Naming the Elephant. DOWNERS Grove, IL: Inter Varsity Press, 2004, p.19-20)

        โลกทัศน์เป็นชุดของ “กรอบอ้างอิงสำหรับประสบการณ์ของมนุษย์” (O. B. Jenkins, What Is Worldview?, 1999, and 'a system of belief.' Richard DeWitt, Worldviews: An Introduction to the History and Philosophy of Science (Malden, MA: Blackwell, 2004, p.3.)

        ดังนั้น โลกทัศน์ คือ ผลขององค์ประกอบจำนวนหนึ่งที่ก่อให้มนุษย์นั้น “รับรู้”ถึงโลก

ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของ “ทฤษฎี” ที่สร้างโลกทัศน์ให้กับมนุษย์

1.   พระเจ้า, โลก, มนุษย์, ชีวิตหลังความตาย, ความรู้, จริยธรรม และประวัติศาสตร์  (Ninian Smart, Worldviews: Cross-cultural Explorations of Human Beliefs, 3rd ed., Prentice Hall, 1999, p.19-20)

2.   เทพนิยาย, คำสอน, จริยธรรม, พิธีกรรม และสังคม  (Smart, Worldviews)

3.   ความเชื่อ, มโนทัศน์, มโนธรรม, การสร้างสังคม, บทบาทและแบบอย่าง และการอบรมทางจริยธรรม (Jenkins, What Is Worldview?)

4.   โลกธรรมชาติ, จริยธรรม, การเมือง, ชีววิทยา, จิตวิทยา, วิธีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และ ปัจจัยอื่นๆมากมาย (DeWitt, Worldviews)

5.   พระเจ้า, ตัวตน , ธรรมชาติ, จักรวาล และเวลา (Abdul-Fattah, Saif. 'On Imam Mohamed Abdu's Worldview' Paper presented at the Centennial of Sheikh Mohamed Abdu, Bibliotheca Alexandrina, Alexandria, Egypt Dec., 2005, p. 7)

ทฤษฎีข้างต้นทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์ที่ก่อเกิดจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา จากศาสนา, ประสบการณ์ส่วนตัว, สภาพภูมิศาสตร์, สภาพแวดล้อม, การเมือง, เศรษฐกิจและภาษา

เมื่อใช้คำว่า “วัฒนธรรม” ในความหมายที่กว้าง  โลกทัศน์ได้เป็นตัวแทนของการรับรู้ทางวัฒนธรรม (Sire, Naming p. 28, Naugle, Worldview: The History of a Concept, p. 29) โดยที่การรับรู้ทางวัฒนธรรมเป็นโครงสร้างทางความคิดและความรู้สึกที่เป็นจริงผ่านความคิดของผู้คนและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

       

ประเพณีกับนิติศาสตร์อิสลาม

        โดยปกติแล้ว พื้นทางของประเพณี (อัล-อุรฟ) ในทางทฤษฎีของนิติศาสตร์อิสลามใช้รับมือกับการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก  อิมามอบูหะนีฟะฮฺ  (699–767) หนึ่งในสี่นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของสำนักคิดนิติศาสตร์อิสลาม วางหลักการพื้นฐาน กล่าวว่า “เงื่อนไขที่เป็นนัยตามประเพณีนั้นคล้ายคลึงกับเงื่อนไขที่ชัดเจนตามตัวบท” (Al-Majala, Majallat Al-Ahkam Al-Adliyah (Journal of Justice Rulings) item 43, 45, see also: Ibn `Abdeen, Al-Hashiyah (Side Notes) vol. 4, p.556)

        สำนักนิติศาสตร์จำนวนมากเห็นพ้องกันกับหลักการตรงนี้ในการวางลำดับเพื่อนำไปใช้เมื่อไม่มีตัวบทเฉพาะกาลในการอ้างอิง วัตถุประสงค์เบื้องหลังของการใช้ “ประเพณีแรกเริ่ม” ของนักนิติศาสตร์ก็เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ของผู้คนบางส่วนที่มีความแตกต่างจากประเพณีของอาหรับ   (Masoud Ibn Musa Flousi, Madrasat Al-Mutakalimeen, Riyadh: Maktabat al-Rusd, 2004, p. 354)

        อย่างไรก็ตาม  การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางปฏิบัติของประเพณี (อัล-อุรฟ) เกี่ยวกับฟิกฮฺโดยตัวของมันแล้วนั้นมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร  ตัวอย่างต่างๆที่เป็นบรรทัดฐานที่กล่าวไว้ในหนังสือ อูศุล อัลฟิกฮฺ (หลักนิติศาสตร์อิสลาม (Principle of Islamic Jurisprudence)) ในสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นประเพณี“อัล อุรฟ” ในนิติศาสตร์อิสลาม คือ ค่าสินสอดสมรส  การใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยนทางการค้า  การปกปิดหรือไม่ปกปิดศีรษะ, และการใช้คำศัพท์อาหรับบางคำ  ตัวอย่างเช่น ‘วะลัด’ สามารถมีความหมายได้ทั้งเด็กหรือเด็กผู้ชาย และ ‘ละหฺมฺ’ เนื้อวัวหรือทั้งเนื้อวัวและนกตามลำดับ ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและสำนวนภาษาของที่ใดที่หนึ่ง

         เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าตัวอย่างบรรทัดฐานเหล่านี้มิได้มีผลและแนวทางสำคัญอื่นใดต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมนุษย์มากไปกว่า โลกอาหรับยุคกลาง  (โลกอาหรับในสามศตวรรษแรกหลังจากท่านนบี r)

         ดังนั้นกฎเกณฑ์อิสลามจำนวนมากยังคงเชื่อมโยงกับประเพณีอาหรับในสามศตวรรษแรกของ และด้วยกับยุคสมัยทางเขตแดนทางการเมือง, ภูมิศาสตร์, อาหาร, ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และระบบสังคม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ โลกทัศน์

        ตัวอย่างเช่น รูปแบบของการจ่ายซะกาต (ฟิฏเราะฮฺ) ที่ให้กับคนยากจนในช่วงท้ายของเดือนรอมฏอนนั้นยังคงถูกกำหนดให้เป็นอาหารหลักนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7  ที่กล่าวถึงในหะดีษ นั้นคือ  อินทผาลัม ผลองุ่นแห้ง และข้าวบาร์เลย์

ตามความเห็นของผู้รู้จำนวนมากแม้ในปัจจุบัน ฟัตวาจำนวนหนึ่งยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของเขตแดนทางการเมือง ระหว่างดินแดนแห่งอิสลาม และดินแดนแห่งสงครามมาอย่างต่อเนื่อง (Ibn al-Qayim, Ahkam Ahl Al-Dhimmah  vol. 2, p. 728)

ตามระบบนิติศาสตร์อิสลามที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมดได้รับการผลักดันจากสำนักนิติศาสตร์อิสลาม เช่น หญิงสาวไม่สามารถแต่งงานจนกว่าหล่อนจะแต่งตั้งพ่อของเธอเป็นตัวแทน (หรือ ผู้ปกครองชายที่เป็นมะฮหรอม) ประกาศสัญญานิกะฮฺ (อีญาบ (สำนวนมอบ)) ในนามตัวแทนของหล่อน ซึ่งในฐานะที่เป็นประเพณีอาหรับ โดยปกติแล้ว การทำสัญญานิกะฮฺย่อมจะกล่าวเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น

        การจ่ายค่าดิยัต (ค่าสินไหมทดแทน(เงินเลือด)) สำหรับการฆาตกรรมโดยไม่เจตนายังคงเป็นความรับผิดชอบของชนเผ่าใดเผ่าหนึ่ง (Aqilah) แม้แต่ในระบบสังคมที่ไม่ใช่ชนเผ่า  (Sayyed Sabiq, Fiqh Al-Sunnah, vol.3, p. 29)

        ในทำนองเดียวกัน ในพื้นที่ห่างไกล  การจ่ายค่าดิยัต(ค่าสินไหม) สำหรับการฆาตกรรมที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดให้ยึดตามหลัก “เกาะสามะฮฺ” (รูปแบบของการจ่ายค่าดิยัต (ค่าสินไหม) ในดินแดนที่เกิดการฆาตกรรม)  ตามสำนักคิดหะนะฟีย์และซัยดียะฮและจ่ายดิยัตให้กับญาติลำดับถัดไป  ตามส่วนหนึ่งของสำนักคิดดั้งเดิม (Peters, Rudolph. "Murder in Khaybar: Some Thoughts on the Origins of the Qasama Procedure in Islamic Law", in Islamic Law and Society VOl. 9, No. 2, 2002, p. 133.)

 

บทบาทของนักนิติศาสตร์

        อัลกรุอานและอัซซุนนะฮฺ มีความเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติ เป็นแหล่งอ้างอิงที่นักนิติศาสตร์นำมาใช้และยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ของนักนิติศาสตร์ อีกด้วย องค์ประกอบอื่นๆ ของโลกทัศน์ของนักนิติศาสตร์ ได้ผสมผสานกับแหล่งที่มา (Sources) เพื่อที่จะผลิตฟิกฮฺขึ้นมา

        อย่างไรก็ตาม “โลกทัศน์ต้องมีความเฉียบคม” นั้นก็คือ สร้างบนพื้นฐานที่เป็นระบบ ตามการอธิบายต่อไปนี้ นักนิติศาสตร์ที่ปราศจากโลกทัศน์ที่เฉียบคม ย่อมไม่มีสามารถเพียงพอในการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

        ความสามารถนี้เป็นการขยายทักษะอื่นๆ ของฟิกฮฺ อัลวากิอฺ (ความเข้าใจในสภาพความเป็นจริง) ซึ่งอิมาม อิบนุกอยยิม วางเงื่อนไขสำหรับความสามารถในการอิญจติฮาด  (Ibn al-Qayyim, Al-Turuq Al-Hukmiyah  vol. 1, p. 5) ในข้อเสนอที่มีผลกระทบต่อนิติศาสตร์ 2 ทิศทาง ดังนี้

1. การใช้ตัวบทของนิติศาสตร์อิสลาม

        ประการแรก เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในโลกทัศน์ของนักนิติศาสตร์ จะทำให้การยึดตามตัวบทน้อยลงในนิติศาสตร์อิสลาม ตัวบทตามหลักการจะย้อนกลับไปสู่ “การปฏิบัติศาสนกิจ” บางประเภท ข้าพเจ้าขอแย้งว่า จำเป็นที่การรักษาคงไว้ซึ่งพื้นที่ของ  “การปฏิบัติศาสนกิจ” ในบทบัญญัติอิสลาม เช่น การละหมาด การถือศีลอด การทำฮัจย์

        อย่างไรก็ตาม เป็นการกล่าวเกินจริงที่ว่า พื้นที่ของการปฏิบัติศาสนกิจ มักจะทำให้เกิดความสูญเสียในเจตนารมณ์ที่มากกว่าของบทบัญญัติอิสลาม การสมดุลระหว่างบทสรุปทั้งสองจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูที่สมดุลกัน

        ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นภาพในประเด็นนี้  เจตนารมณ์เบื้องหลังการจ่ายซะกาตฟิตรในช่วงท้ายเดือนรอมฏอน คือ การช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งมีรายงานจากท่านนบีมุหัมมัด r  กล่าวว่า จงให้ทำคนจนมีความพอเพียงเพราะพวกเขาจะได้ไม่ต้องเร่ร่อนขอในวันนี้ (Ibn Hajar, Fath Al-Bari Sharh Sahih Al-Bukhari, p. 375)    

อย่างไรตาม   การจ่ายซะกาตนี้ถูกวางภายใต้ประเภทของ “การปฏิบัติศาสนกิจ”  ดังนั้นการใช้ในทุกๆที่ทุกๆ เวลาตามตัวอักษร เมื่อสภาพภูมิประเทศและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอินทผาลัม ผลองุ่นแห้งและข้าวบาร์เลย์ กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับคนยากจน อีกต่อไป รูปแบบการจ่ายซะกาตตามตัวบท ย่อมจะทำให้เจตนารมณ์ของการจ่ายซะกาตนั้นสูญเสียไป

        ในทำนองเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาบางส่วนที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ ญาติของบุคคลหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายดิยัต (ค่าสินไหม) สำหรับการฆาตกรรมโดยไม่เจตนา เนื่องจากพวกเขามีคาดหวังเป็นเขาหรือเธอในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบร่วม ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

        แต่ถ้าเกิดประเด็นเพียงน้อยนิดเกิดขึ้นยังชนเผ่าหนึ่งหรือกลุ่มทางชาติพันธ์หนึ่ง     เนื่องจากโลกทัศน์ที่แตกต่างในโครงสร้างทางสังคม  เมื่อนั้นการใช้ตัวบทของ อัล-อากิละฮฺ (ครอบครัว,ชนเผ่า, ชุมชน) จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งความยุติธรรมในตัวของมันเอง

        ท้ายที่สุด การทำสัญญานิกะฮฺและการคุตบะฮฺในวันศุกร์(ด้วยภาษาอาหรับ) ในชุมชนที่มิได้พูดภาษาอาหรับซึ่งไม่เป็นที่เข้าใจ และนี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในมัสยิดส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษที่ข้าพเจ้าเคยเข้าไป

        การปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ด้วยภาษาอาหรับเนื่องจากบทบัญญัติที่กำหนดว่า การสัญญานิกะฮฺ และการคุตบะฮฺเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับโดยตัวของมัน ดังนั้น ความหมายที่ลึกซึ้งของการสัญญานิกะฮฺและความหมายทางสังคม (ในภาษาอื่นๆ) ควรมีการประนีประนอมซึ่งกันและกัน

        การวิเคราะห์นี้มิได้ต้องการเสนอว่า การกระทำอิบาดะฮฺและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติขัดแย้งกัน  “อิบาดะฮฺ”เป็นเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในตัวของมัน อย่างไรก็ตาม มันต้องมีความสมดุลด้วยเจตนารมณ์ทางสังคมอื่นๆ ด้วย

2. นิติศาสตร์อิสลามกับสังคมศาสตร์

        ผลกระทบประการที่สองของเงื่อนไขที่ถูกเสนอให้พิจารณาถึงโลกทัศน์อันหลักแหลมนั้น คือ การเปิดกว้างต่อระบบแห่งนิติศาสตร์ที่ก้าวเข้าไปในศาสตร์ทางธรรมชาติและสังคม การตัดสินตามสภาพที่เป็นอยู่หรือความเป็นจริงบางส่วนนั้นไม่สามารถกล่าวอ้างได้อีกต่อไปโดยปราศจากการวิจัยที่ถูกต้อง ซึ่งวางรากฐานอยู่บนวิธีวิทยาที่เป็นกระบวนการทางความรู้ที่ถูกต้องและเป็นรูปธรรมหรือวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์

        บางประเด็นในนิติศาสตร์อิสลามที่เกี่ยวข้องกับความสามารถ (ซึ่งมิได้กำหนดตายตัว) ตามหลักนิติศาสตร์ เช่น  อาการของคนใกล้เสียชีวิต การตั้งครรภ์ระยะสุดท้าย การแยกตามช่วงอายุ หรือ ช่วงอายุวัยหนุ่มสาวนั้น โดยปกติแล้วจะถูกตัดสินไปบนพื้นฐานของการสอบถามบนการคาดคะเนของผู้คน

สำหรับวิธีการในการตรวจสอบหาความจริงอย่างเป็นหลักเกณฑ์นั้น แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ของคนหนึ่ง  (DeWitt, Worldviews, p. 5) ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า “การสอบถามบนพื้นฐานการคาดคะเนของผู้คน”ในปัจจุบัน นั้นไม่สามารถนำมาอ้างได้โดยปราศจากการพิสูจน์ทางสถิติที่ถูกต้องแม่นยำ หรือกรณีศึกษาทางสังคม

        ดังกล่าวนี้ได้นำเราไปสู่ขอบเขตของศาสตร์ (ทั้งธรรมชาติและสังคม) และกำหนดกลไกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างนิติศาสตร์อิสลามและความรู้แขนงต่างๆ

        ดังนั้น นักนิติศาสตร์อิสลามควรจะขอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ การเมืองและในด้านต่างๆ และสอบถามพวกเขาเพื่อที่จะกำหนดข้อเท็จจริงสำหรับเขา ซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์จะต้องมีอิทธิพลในพื้นที่นี้ แม้ว่ามันจะอยู่ในความคลุมเครือตามตรรกะแบบดั้งเดิมก็ตาม

        เป็นความจริงที่ว่า ศาสตร์จะพัฒนาไปตามกาลเวลา และต้องรับข้อมูลใหม่ๆอย่างสม่ำเสมอในการตัดสินใจและการหาคำตอบอย่างเป็นหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการของศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตามธรรมชาติแห่งโลกทัศน์ของนักนิติศาสตร์อิสลามและจะต้องสะท้อนให้เห็นบทบัญญัติอย่างกลมกลืน ซึ่งดังกล่าวนี้จะต้องรักษาไว้ซึ่งความตรงไปตรงมาพร้อมการฟื้นฟูในระบบนิติศาสตร์อิสลาม

        หากบทบาทของการฟื้นฟูเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ดังที่กล่าวไว้ในคำถามส่วนที่สอง ซึ่งจะต้องได้รับการนำเสนออย่างถูกต้อง มากกว่าที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของอิสลามเสียหาย ดังนั้นการนำเสนอชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในเรื่องการฟื้นฟู

 

แหล่งอ้างอิง

Jasser Auda. (2013). Renewal of Islamic Law. Retrieved July 24, 2015, from  Web site: http://www.jasserauda.net/en/read/articles/400-renewal-of-islamic-law.html

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สนทนากับ ‘ศ.ดร.ยะซิร อูดะฮฺ’ : เมื่อ“ชะรีอะฮ์” เท่ากับ“ความยุติธรรม”?

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

“เสรีภาพ” ในมุมมองอิสลาม โดย เชค ดร.ยูสุฟ อัล-เกาะเราะฎอวีย์

ทำความเข้าใจทางการเมืองเบื้องต้นในอิสลาม สรุปจากหนังสือ “State in Islam” ของ เชค ดร.ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฏอวีย์

 


[1] การฟื้นฟู (อัต-ตัจญดีด) ในทางวิชาการหมายถึง การทำสิ่งหนึ่งให้ใหม่ ดังนั้นการตัจญดีดศาสนาหมายถึง การรื้อฟื้น การฟื้นฟูในสิ่งที่ถูกลบเลือนหายไป ทั้งในแง่ของแนวทางและองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาแล้วเผยแพร่แก่ประชาชนทุกคน ซึ่งการฟื้นฟูหรือตัจญดีดนั้นไม่ใช่การเพิ่มสิ่งใหม่ๆ จากเดิมที่ศาสนามีอยู่ หากแต่เป็นการกลับสู่หลักการเดิมที่ลบเลือนเท่านั้น (ทวีศักดิ์ อุปมา. การอธิบายความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ผ่านทฤษฎีกลุ่มฟื้นฟูในอิสลาม : การกำหนดทฤษฎีและการศึกษาเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา) เพิ่มเติมจากผู้แปล