Skip to main content

มลายูที่รู้สึก?

 

โดย Mubarad Salaeh

 

 

เมื่อคืนวาน ผมได้มีโอกาสไปนั่งพูดคุยเสวนากับนักวิชาการและคณาจารย์หลายท่าน ทำให้ผมได้เห็นมุมมองของความคิดเห็นหลายๆอย่างที่อธิบายความเป็นมลายู

 

ซึ่งเมื่อได้ฟังและเข้าใจจนจบงาน ดูเหมือนคำว่ามลายูที่เราเป็นผู้ถือกำเนิดมาตั้งแต่เกิดนั้น มันดูคลุมเครือและไม่ค่อยชัดเจนในความเป็นมลายูมากนัก ตัวผมเองก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนมลายูแท้ๆ ก็ไม่สามารถจะอธิบายคำว่ามลายูได้เช่นกัน ทั้งอย่าง การใช้ภาษา เครื่องแต่งกายวัฒนธรรมและแม้กระทั่งอาหารการกิน มันก็ดูกว้างไป จนยากที่จะหาความหมายหรือคำเฉพาะเจาะจงของคำว่ามลายู

 

ตรงนี้ผมขอพูดถึงเรื่องหนังสือของอาจารย์จุ้ยแล้วละกัน คือผมก็เพิ่งได้เห็นอาจารย์ตัวเป็นจริงก็ในวันนี้ หนังสือที่อาจารย์เขียนสำหรับผมแล้ว มันเป็นไปมากกว่าคำว่ามลายูหรือความเป็นมลายู ด้วยผมมองว่า ในมุมมองของอาจารย์ที่เขาอยากนำเสนอในงานเขียน คือปัญหาของการถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าจะพูดถึงจุดยืนทางวัฒนธรรม

 

ผมเองก็พอจะเข้าใจได้ว่า เมื่อคนนอกคนหนึ่งได้เข้าไปคลุกคลีในชุมชนที่มิใช่ชุมชนของตนเอง ย่อมเห็นความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมในพื้นที่เดียวกัน อาจารย์จุ้ยก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เดินทางจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตดำรงอยู่ที่นี่ เพื่อทำวิทยานิพนธ์ทางด้านมานุษยวิทยาอย่างที่อาจารย์ได้ร่ำเรียนในชั้นปริญญาโท

 

ในหนังสือ มีหลายบทหลายตอนที่ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยและเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทที่ชาวบ้านคนหนึ่งถูกยึดทรัพย์ที่ดินอย่างไม่เป็นทำ ซึ่งชาวบ้านคนนั้นก็คือคนมลายู ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคำว่ามลายูถูกมองว่าเป็นคนนอก ทั้งที่จริงมันก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่อาจเป็นเพราะเราถูกยัดเยียดให้เป็นไทยโดยชาตินิยม จึงถูกกลืนกินทางด้านวัฒนธรรมของคนในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม จนถูกมองข้ามว่าเราก็มีจุดในการแสดงตัวตนของบรรพชนเช่นเดียวกัน

 

หากเรามองว่า การที่ชาวบ้านดังกล่าวถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะเขาเป็นมลายูก็อาจจะใช่ หรือเขาถูกเอาเปรียบเพราะเป็นผู้ที่รัฐไม่แยแส หรือเป็นเพราะเขามิได้เป็นชาติไทยมาก่อน จึงถูกมองข้ามถึงสิทธิความเท่าเทียมของคนในชาติเดียวกันอย่างไม่ยินดียินร้ายอะไรเลย

 

ถึงตรงนี้ ชาวบ้านคนนั้นไม่น่าถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องดังกล่าวเลย เป็นเพราะความรักชาตินิยมสุดโต่ง ทำให้คนทั้งสองฝ่ายถูกกีดกันระหว่างกันโดยอัตโนมัติ

 

ในความเป็นมลายู มันยากเหลือเกินที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นมลายู ตรงนี้ผมมองว่ามันไม่สำคัญอะไรแล้ว เราควรมองค่าความสำคัญของความเป็นคนในสิทธิความเท่าเทียมกัน มากกว่าจะเป็นการแบ่งชนชั้นทางวัฒนธรรม

 

เพราะวัฒนธรรม มันถูกกลืนกินด้วยกาลเวลา เมื่อวัฒนธรรมหนึ่งผ่านไปก็จะถูกทดแทนอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาแทนที่ และมันก็จะเป็นไปอย่างนั้นอยู่เรื่อยในอนาคต จนอะไรที่ผ่านมา ก็เป็นอดีตที่เคยจดบันทึกเพียงเท่านั้น จึงไม่แปลกที่เราเองก็หาความเป็นตัวเราไม่เจอและมันก็ยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลืออีกต่อไป

 

หากจะมองให้เห็นภาพในสิ่งที่ผมพูดถึง ก็ลองให้จินตนาการในมือถือรุ่นหนึ่งที่เคยเป็นยอดนิยมในหมู่ผู้ใช้ อย่างเช่นมือถือ3310 ในยุคนั้นก็เป็นที่ฮือฮาเช่นกัน ส่วนมือถือก็แค่โทรออกโทรเข้าและฟังชั่นเล็กๆน้อยๆที่ไม่ค่อยซับซ้อนหรือเยอะมากมาย แต่เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไป เทคโนโลยีที่เปรียบเหมือนวัฒนธรรม ก็ถูกแทนค่าใหม่ๆในฟังชั่นของโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ทั้งฟังชั่นวิทยุ,เครื่องเล่นMP3, วีดีโอเกม จนไปถึงกล้องถ่ายรูป และอะไรอีกหลายอย่าง

 

ซึ่งปัจจุบันมันแทบล้ำหน้าไปจากอดีตไปอย่างมาก ตัวผมเองก็ตั้งคำถามของความเป็นไอ้เจ้าโทรศัพท์มือถือนี้เช่นกันว่า จริงๆแล้วมันควรเป็นแค่การโทรเข้าโทรออกเพียงอย่างเดียวหรือมันควรเป็นไปทั้งกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์เล็กๆที่สามารถแชท เล่นอินเตอร์เน็ตในคราวเดียวกัน จนสุดท้ายเราเองก็หาบทสรุปไม่เจอว่า ไอ้เจ้าโทรศัพท์มันควรเป็นไปอย่างไหร่ในตัวของมัน ซึ่งวัฒนธรรมก็เฉกเช่นเดียวกัน ไม่ต่างอะไรเลย

 

สุดท้ายแล้วการเสวนาในคืนนั้นก็ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัว เราเพียงได้แค่ลื่นไหลไปตามกระแสแห่งกาลเวลา