Skip to main content

จากธนาคารเมล็ดพันธุ์สู่ธุรกิจเพื่อสังคม

ร่วมเขียนโดย พี่แพ็บ 'ภาวิณี ไชยภาค' 

               “ทุกคนที่เข้ามาในกลุ่ม คือคนที่สนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์ มีหลายคนชอบปลูก หลายคนชอบกิน บางคนชอบเมล็ดพันธุ์ บางคนอยากปลูกแต่ยังไม่พร้อม จึงรับฝากไปให้คนอื่นปลูกก่อน บางคนต้องการให้เกิดการคุยเรื่องเมล็ดพันธุ์  บางคนก็ต้องการให้มีการทำฐานข้อมูลเมล็ดพันธุ์”

                พี่แพ็บ 'ภาวิณี ไชยภาค' นักวิชาการอิสระ ได้บอกเล่าที่มาการเก็บเมล็ดพันธุ์ของเธออย่างมีความหวัง  ซึ่งการปลูกผักและเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างจริงจัง เกิดขึ้นหลังจากที่เธอมีปัญหาเรื่องสุขภาพจนต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอาหาร ด้วยการกินพืชผักปลูกเองที่บ้านไทรขึง ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2558เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ และการปลูกต่อทำให้เธอรู้จักการเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง จนมีมากพอและเหลือ จึงได้ส่งต่อไปยังคนที่สนใจเหมือนกัน ด้วยความที่เธอเดินทางบ่อยเมล็ดพันธุ์จึงเดินทางไปกับเธอทุกที่เพื่อแบ่งปันในนามของ “เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก” ขณะเดียวกันเธอก็สื่อสารผ่านทางเฟสบุคตัวเองบอกเล่าถึงชนิด สรรพคุณ วิธีการปลูก และความสัมพันธ์ของคนบนพื้นฐานการเพาะปลูก

                เพียงปีกว่าๆ ก็มีเพื่อนสนใจเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์มากขึ้น จากสองสามจนปัจจุบันมีสมาชิกจากทั่วประเทศแล้วถึง 33 คน และมาในนามองค์กร 2 องค์กร คือ มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ประเทศไทย และมีการพัฒนาต่อมาเป็นเพจ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ในการรับฝากส่งต่อเมล็ดพันธุ์อินทรีย์อย่างเป็นระบบ โดยมีการส่งต่อเมล็ดพันธุ์ใน 3 ลักษณะคือ 1) การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ต่อเมล็ดพันธุ์โดยตรงถึงผู้รับและฝากเข้าธนาคาร 2) การฝากเมล็ดพันธุ์ไปปลูกก่อนเมื่อได้ผลผลิตแล้วส่งส่วนหนึ่งกลับมายังธนาคาร และ3) การขอรับเมล็ดพันธุ์ด้วยการสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้ง 3 แบบ มือปลูกที่สนใจจะต้องส่งซองติดแสตมป์พร้อมชื่อที่อยู่มายังธนาคารเมล็ดพันธุ์ก่อนแล้วทางธนาคารจะส่งเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการกลับไปให้ และจากการสมทบกองทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีเงินจากการ “หยิบหยอด” ของการแลกเปลี่ยนดังกล่าวแล้ว 6,000 กว่าบาท และมีการเปิดบัญชีธนาคารร่วม 3  คน จากอาสาสมัครในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

            ปัจจุบันมีการจัดระบบในการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก โดยเฉพาะในการเปิดรับกลุ่มสนใจให้มีทางเลือกในการกินอาหารอินทรีย์ โดยมีฝ่ายการเงิน บัญชี ฝ่ายพัฒนาฐานข้อมูล ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์  สำหรับสมาชิกที่สนใจและปลูกอยู่แล้วจะมีการบันทึกชนิดของเมล็ดพันธุ์พร้อมชื่อสกุลตำแหน่งที่ปลูกลงไปในระบบฐานข้อมูลที่มี พี่หมี 'ภานุมาศ นนทพันธ์' อาสาสมัครช่วยเรื่องการวางระบบการจัดเก็บลงโปรแกรมที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยใช้เว็บไซต์ข้อมูลชุมชนดอทคอมเป็นฐาน ส่วนฉันก็เข้ามาช่วยในการปักหมุด คนปลูก ที่มีภาพนิ่ง ข้อความบรรยายถึงชนิดของเมล็ดพันธุ์ และที่ตั้งของผู้ปลูก ซึ่งตอนนี้มีปักหมุดเข้ามาแล้ว 30 กว่าคนใน 150 ชนิดของเมล็ดพันธุ์ที่มีการส่งเข้ามาฝากที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์เป็นระยะๆ บางชนิดเดินทางมากจากภูฐาน ประเทศที่ประกาศตัวเองเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายชนิดมาจากเมืองหนาวอย่างผักกาดดอย ฝักทองดอย พริกกะเหรี่ยง จากดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงรายของพี่จะแฮ  หรือกระเจี๊ยบเขียวแม่โจ้ ของพี่ต้อมจากเชียงใหม่ ถั่วพูม่วงของอาจารย์โอ๋จาก พิษณุโลก ขี้พล้าไฟป้าเพศจากพึงกาฬ พริกช่อจากหมอน้อยอุบลราชธานี มะม่วงหาวมะนาวโห่จากพี่นุชนารถที่นครปฐม ข้าวดอกมะขามจากชุมพร แตงส้มพี่ปูจากพัทลุง มะเขือหลายชนิดจากกะนูรีดาที่มายอ ปัตตานี จนถึงในหมู่บ้านไทรขึงเอง ฯลฯ

            สำหรับการปักหมุดเมล็ดพันธุ์ที่ฉันร่วมทำชุดแรกใช้เว็ปฐาน http://communeinfo.com/map/6

จะอยู่ในชุดข้อมูลชุมชนสงขลา และข้อมูลธนาคารเมล็ดพันธุ์จะอยู่ทางซ้ายมือ หากคลิกเข้าไปจะปรากฏเป็นหน้าต่างสีฟ้าและมีแผนที่ขึ้นมา แถบบนจะเป็นข้อมูลต่างๆ ของพื้นที่ที่เราต้องการค้นหาสถานที่ ซึ่งเมื่อพิมพ์ชื่อจังหวัดที่ต้องการค้นสามารถพิมพ์เข้าไป แล้วตัวลูกศรจะพาไปค้นหาสถานที่ที่เราต้องการทันทีโดยจะมีหมุดสีแดง และสีเทาเป็นสัญลักษณ์บอกจุดให้คลิกเข้าไปอ่านข้อมูลได้

              จากที่ศึกษาฐานข้อมูลผ่านการปักหมุดด้วยการ คลิกเข้าไปจนปรากฏหน้าต่างสีฟ้า มีรูปแผนที่ ใส่จังหวัดในช่องของการค้นหาด้านบน เมื่อใส่เสร็จแล้ว ลูกศรจะพาไปปักหมุดในจังหวัดที่ค้นแล้วคลิกขวาสองครั้ง จนปรากฏกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวทางด้านขวามือ ที่มีช่องใส่ข้อมูลตามหัวข้อที่ระบุไว้ พิมพ์ข้อมูลเข้าไป ขั้นตอนสุดท้ายคือ การบันทึกชื่อของคนปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ จากนั้นก็คลิกคำว่าบันทึกในกรอบสีแดงเป็นอันว่าเสร็จการบันทึกลงฐานข้อมูล หลายชนิดของเมล็ดพันธุ์ฉันคุ้นเคยดีเพราะอยู่แถวบ้าน และอีกหลายชนิดที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน นับเป็นความรู้แปลกใหม่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย 

             ด้านระบบบัญชี การเงิน มีพี่แพ็บและเพื่อนได้เปิดบัญชผ่านธนาคารไทยพานิชย์ 3 คน นายเฉลิมพล เพชรมณี และ/หรือ นางสาวกมลทิพย์ อินทะโณ และ/หรือนางสาวภาวิณี ไชยภาค (SEED BANK) เลขที่ 5654782444 ธนาคารไทยพานิยชน์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีฝ่ายการเงินที่จัดระบบการจัดการในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการช่วยค่าบำรุงคนเก็บเมล็ดพันธุ์ การจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อาทิ การไปร่วมกันเก็บข้าวเข็มทองในทุ่งคลองเปียะ หรือการชวนเด็กๆ และผู้สูงอายุมาร่วมเก็บเมล็ดพันธุ์ ควบคู่กับการไปเชื่อมเครือข่ายในระดับเอเชียอย่าง เครือข่ายเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชีย (TOA:TOWARD ORGANIC ASIA) ระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดความยั่งยืน  

             ด้านการตลาดและการพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะขยายฐานความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์และจำนวนคนปลูกแบบอินทรีย์จะมีการลงหุ้นจากผู้ที่เห็นร่วมในรูปของธุรกิจขึ้นมาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้มีการพัฒนาตัวแพคเกจ และสินค้าในเชิงการรณรงค์เพื่อให้คุณค่า สร้างความหมายของเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ให้เป็นที่เข้าใจกับสาธารณะ จากนั้นจะรับสมัครสมาชิกเพื่อให้เกิดการส่งต่อเมล็ดพันธุ์ ชุดความรู้ประสบการณ์การปลูกร่วมกันอย่างเป็นระบบ และหมุนเวียนผลผลิตที่ได้กระจายให้เพื่อนๆ ได้อย่างทั่วถึง และขยายเปิดรับเพื่อนเข้ามาจากฐานความรัก ความห่วงใย ในสุขภาพของทุกคน ซึ่งพี่แพ็บเชื่อว่า วิธีนี้น่าจะทำให้เมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ได้ขยายและคงอยู่คู่ผืนแผ่นดินอันอุดมแห่งนี้ต่อไป