Skip to main content

หน่วยงานความมั่นคงสร้างความเข้าใจกับนักศึกษา PerMAS

 

“อัฟฟาน ลาเด๊ะ”

 

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้เปิดเวทีพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) เข้าร่วม ณ ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ในการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ กลุ่มนักศึกษา PerMAS ที่ได้เดินทางมาร่วมได้แก่ นายฮารีฟิน โสะ ประธาน PerMAS, นายฮัสมาดี, นายอิฮซาน, นายซุลกิฟรี, นายอิสมาแอล, นายฮาซัน, นายรอครี และนายอาฟิส ยะโกะ ผอ.สำนักรณรงค์และโน้มน้าว มาร่วมพูดคุย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้เชิญ ดร.สิทธิชัย นันทบุรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เข้าร่วมด้วย โดยมี พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธาน

พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ได้กล่าวว่านับเป็นโอกาสอันดีในการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มนักศึกษา PerMAS ที่มุ่งมั่นในการจัดกิจกรรม และทำงานเพื่อส่วนรวม เช่นเดียวกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่ทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ เรามีประชาชนเป็นศูนย์กลางความคิดร่วมกัน ในพื้นที่ จชต.ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอันดี โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้จัดตั้ง“ศูนย์สันติวิธี”ขึ้นมารองรับขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา จชต.ด้วยแนวทางสันติวิธีอันเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

ในส่วนของการพูดคุยสันติสุขเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ที่ผ่านมาของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมีการบิดเบือนจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก หากมีข้อสงสัยอะไรให้ถามได้ เราอยู่ในสังคมของความขัดแย้งทุกคนจะต้องเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ คิดก่อนแชร์ ที่สำคัญจะต้องอ่านทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน

สังคมของปัญญาชน สังคมของผู้รู้ เป็นสังคมแห่งเหตุและผล ทุกวันนี้สังคมของปัญญาชนอาจถูกชี้นำโดยสื่อได้ง่ายหากเราขาดสติและคิดอย่างมีเหตุผลก่อนเชื่อ

เมื่อเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้สงบ นำไปสู่สันติสุข งบประมาณที่รัฐใช้ในการแก้ไขปัญหาดับไฟใต้ จะแปรเปลี่ยนไปตั้งงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้มีความเจริญ ตามวิถีแห่งสังคมที่ประชาชนต้องการ อย่างเช่นการสนับสนุนการศึกษาสถาบันปอเนาะในพื้นที่ ปีหนึ่งๆ รัฐได้ทุ่มงบประมาณสามพันกว่าล้าน ซึ่งในส่วนนี้ต้องไปดูในรายละเอียดเมื่อรัฐสนับสนุนงบประมาณลงไปได้มีการนำไปพัฒนาหรือไม่ อย่างไร กรณีปอเนาะญีฮาด รัฐตั้งใจในการสร้างปอเนาะต้นแบบให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้เราอาจต้องแยกผิดแยกถูกออกจากกัน

 

 

กระบวนการคิดแท้จริงในสังคมเราเต็มไปด้วยความหลากหลาย ในความหลากหลายจะมีขั้วตรงข้ามที่มีทั้งขัดแย้งกันและหนุนเสริมกัน อย่างเช่นความดี-ความชั่วร้าย ขัดแย้งกัน ต่อสู้กัน แต่ในอีกมิติหนึ่งก็เสริมกัน การรู้ว่าสิ่งนี้คือความชั่วร้าย เราจึงได้รู้ว่าสิ่งนั้นคือความดีงาม หากเราไม่รู้ว่าความดีงามคืออะไร เราก็ไม่รู้ว่าความชั่วร้ายเป็นอย่างไร ในสังคมมนุษย์เราจะต้องมีการแยกผิดแยกถูก ที่สำคัญที่สุดคือ จริยธรรมตามหลักคำสอนของศาสนา ทุกศาสนาจะทำหน้าที่ในการแยกความดีงามออกจากความชั่วร้าย

ความขัดแย้งในพื้นที่ จชต. ตราบใดที่สังคมยังไม่สามารถแยกผิดแยกถูกได้ “สันติภาพ” ย่อมไม่เกิด “สันติภาพ” ในความหมายของศาสนาอิสลามคืออะไร ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เมื่อสังคมแห่งนี้ไม่เรียนรู้ให้ถ่องแท้ เราก็ไม่สามารถสร้างสันติภาพตามวิถีแห่งสังคมของเราได้ หากสันติภาพคือ “ข้อบ่งชี้การอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของสังคมมนุษย์โดยไม่มีการแบ่งแยกและเกลียดชัง”หากสังคมแบ่งแยกและเกลียดชังกัน สันติภาพจะหายไปเหลือแต่การเผชิญหน้ากัน มิติสังคมพหุวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยกึ่งกลางของการก่อเกิดสันติภาพในสังคมนำสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ยังได้กล่าวถึงวาทกรรมที่มีการใช้ในพื้นที่ จชต. วาทกรรมที่ต่างกันย่อมปะทะกัน การปะทะกันของวาทกรรมย่อมนำสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก และการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ เราจะสร้างพื้นที่ให้วาทกรรมต่างกันมาปะทะกันในเชิงบวกอย่างไร ที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม วาทกรรมที่มีการใช้ในปัจจุบันนำมาสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ จชต. เพราะไปสร้างวาทกรรมอยู่ภายใต้เงื่อนไข เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนไปศึกษาให้ดีๆ และจะต้องระมัดระวังในการใช้

ในเรื่องการกำหนดใจตนเอง (Right to Self-determination : RSD ) ขอให้ทางนักศึกษากลับไปศึกษาหลักการกำหนดใจตนเองตามหลักสากลให้ถ่องแท้ก่อน มิเช่นนั้นเราอาจสร้างวาทกรรมที่นำสู่ความขัดแย้งที่ซ้ำซ้อนจากวาทกรรมพื้นฐานที่มีอยู่เดิม อาจอันตรายต่อกระบวนการสร้างสันติภาพที่นำสู่สันติสุขได้

ส่วนกรณีการสั่งระงับเวทีเสวนาในหัวข้อ “สันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานั้น พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ได้กล่าวว่าเป็นเรื่องของการเข้าใจผิดกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นอำนาจการตัดสินใจของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเอง และในการจัดเวทีนั้นจะต้องไม่ผิดกฎหมาย หากไม่ผิดกฎหมายทางมหาวิทยาลัยสามารถอนุมัติได้ แต่หากผิดกฎหมายละเมิดสิทธิผู้อื่นก็ไม่สามารถทำได้

การขอเปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา PerMAS ต้องเป็นพื้นที่กลางที่ให้ทุกภาคส่วน มาแสดงความคิดเห็นได้ แล้วแต่ผู้จัดจะมีความประสงค์ใด แต่ทางที่ดีคือให้วาทกรรมที่ต่างกัน มาปะทะกันในเชิงสร้างสรรค์จะนำสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อสังคมและพี่น้องประชาชน ดังนั้นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองจึงต้องมีความสมดุลของข้อมูลข่าวสารจากทุกภาคส่วน เวทีของน้องๆ ก็จะเป็นพื้นที่กลางในการระงับความขัดแย้งทั้งปวง

นายฮารีฟิน โสะ ประธาน PerMAS ได้กล่าวว่า พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เข้าใจปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา PerMAS หากเจ้าหน้าที่มองจะรู้สึกดุดันในการเคลื่อนไหว แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นักศึกษาส่วนกลางอิจฉานักศึกษาใน จชต. ที่มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าในส่วนอื่นๆ ของประเทศ

การเปิดพื้นที่และเวทีในการพูดคุยเป็นทางออกที่ดีในการนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ จชต. ยิ่งมีความสำคัญยิ่ง หน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ยังคงเปิดโอกาสให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา PerMAS หรือองค์กรภาคประชาสังคมในการแสดงออกด้วยการปฏิเสธความรุนแรง แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีเพื่อไปสู่จุดหมายความสันติสุขที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง.

------------------------